หากจะพูดถึงอาชีพที่เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ ทั้งยังมีความตั้งใจจริงในการพัฒนาสังคม หนึ่งในอาชีพที่ต้องขอแนะนำให้ทำความรู้จักเลยคือนักพัฒนาสังคม ซึ่งเป็นอาชีพดีๆ ที่มีบทบาทเพื่อสังคม แต่แสงกลับส่องไปไม่ถึง และมีคนส่วนน้อยมากที่รู้จักอาชีพนี้
นักพัฒนาสังคม คือใคร
นักพัฒนาสังคม คืออาชีพที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความทุกข์ในสังคม เป็นการทำงานผ่านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นอาชีพที่เริ่มต้นด้วยความสมัครใจในการทำงานด้านจิตอาสาเป็นหลัก เหมาะกับผู้ที่ต้องการช่วยเหลือ เปลี่ยนแปลง และพัฒนาสังคม
อาชีพนักพัฒนาสังคมมีหน้าที่หลักๆ คือการนำความรู้ ความสามารถ และจิตใจที่หนักแน่น มาเริ่มต้นโครงการช่วยเหลือสังคมได้อย่างตรงจุด พร้อมให้การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่มีปัญหา หรือดูแลเคสปัญหาใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่องที่เป็นอีกหนึ่งโครงการขององค์กรด้วยเช่นกัน
ไขข้อสงสัย นักพัฒนาสังคม กับนักพัฒนาชุมชน ต่างกันอย่างไร
นักพัฒนาสังคมมีหน้าที่หลักๆ คือการเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ และผู้ที่มีปัญหาความทุกข์ในด้านต่างๆ เพื่อเข้าช่วยเหลือโดยตรง ด้วยการสนับสนุนปัจจัย การแก้ไข หรือการจัดตั้งศูนย์บรรเทาทุกข์
ส่วนนักพัฒนาชุมชนมีหน้าที่สร้างกิจกรรมต่างๆ ให้ชุมชนที่มีปัญหา เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการใช้ชีวิต และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น จุดประสงค์ของการเข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาสังคมของนักพัฒนาสังคมกับนักพัฒนาชุมชนมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน รวมถึงมีวิธีการดำเนินงานที่ต่างกันด้วยเช่นกัน
หน้าที่ของนักพัฒนาสังคม ต้องทำอะไรบ้าง
นักพัฒนาสังคมมีหน้าที่ในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มผู้มีปัญหาทางสังคม โดยมีการเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเข้าช่วยเหลืออย่างตรงจุด ซึ่งอำนาจในการดำเนินงานที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของนักพัฒนาสังคมปฏิบัติการมีดังนี้
- จัดทำโครงการ เพื่อสวัสดิการของกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อระดมทุน หรือหาผู้สนับสนุน ซึ่งเป็นสวัสดิการหลักขององค์กร เพื่อผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสอย่างชัดเจน
- การให้ความคุ้มครองกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาทางสังคม ในกรณีที่ต้องมีการดูแลต่อเนื่องระยะยาว
- เข้าตรวจสอบกลุ่มผู้มีปัญหาทางสังคม ลงพื้นที่ จัดเก็บข้อมูลเพื่อมาดำเนินโครงงาน และเริ่มต้นแผนงานด้านการพัฒนาสังคม
- เป็นผู้ประสานงานหลักของทั้งองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนโดยตรง
- ดำเนินโครงการตามพระราชประสงค์ และโครงการอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมายมาจากฝ่ายรัฐบาล ฯลฯ
- บริหารจัดการทรัพยากรด้านสวัสดิการทางสังคม
งานนักพัฒนาสังคม มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
เพราะสังคมไม่ได้มีแค่กลุ่มก้อนเดียว แต่หมายถึงผู้คนหลายๆ คน หลายๆ กลุ่มก้อนเข้ามารวมกัน ทำให้มีปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นได้หลากหลาย ดังนั้น นักพัฒนาสังคมจึงต้องรับหน้าที่ในการช่วยพัฒนาสังคมในหลายๆ ด้าน ซึ่งจะมีการทำงานเกี่ยวกับด้านใดบ้าง ไปดูกัน
งานบริหารและการจัดการ
งานด้านการบริการ และการจัดการ จะมีบทบาทเป็นผู้นำที่ต้องเริ่มต้นโครงการ ดูแลสวัสดิการความเรียบร้อยของทรัพยากรให้เพียงพอต่อโครงการช่วยเหลือสังคมต่างๆ และเป็นฝ่ายที่ต้องเข้าติดต่อประสานงานหลักระหว่างทุกภาคส่วน ทั้งการติดต่อกับทางองค์กรเอกชน หน่วยงานรัฐ และภาคส่วนประชาชน เพื่อการดำเนินงานอย่างมีแบบแผน ซึ่งฝ่ายนี้ต้องมีการจัดการแผนงาน และความรู้เกี่ยวกับนโยบายทางสังคม การให้บริการทางสังคมกับทุกภาคส่วนด้วยเช่นกัน เพื่อให้องค์กรของนักพัฒนาสังคมสามารถดำเนินงานต่อเนื่องในอนาคตได้สะดวกมากขึ้น
งานจัดระเบียบชุมชน
หน้าที่ด้านการจัดระเบียบชุมชน จะเป็นการจัดการสร้างความเท่าเทียมด้านโอกาสทางสังคมให้เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการติดต่อประสานงาน และสนับสนุนระหว่างองค์กรนักพัฒนาสังคม ฝ่ายภาคส่วนองค์กรต่างๆ รวมถึงฝ่ายประชาชนด้วยเช่นกัน
งานพัฒนาสังคมผู้สูงอายุ
นักพัฒนาสังคมที่รับผิดชอบในส่วนงานของการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุ จะเข้าช่วยเหลือด้านการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรือผู้ที่ขาดที่พึ่งพิง ให้ได้มีการใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสมทั้งด้านร่างกาย ความเป็นอยู่ และสภาพจิตใจ
งานพัฒนาสวัสดิการเด็ก
นักพัฒนาสังคมที่ดูแลด้านงานพัฒนาสวัสดิการเด็ก จะมีหน้าที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กมีปัญหาด้านต่างๆ ตั้งแต่เด็กมีปัญหาครอบครัว ขาดโอกาสการเลี้ยงดูให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขาดการสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงเคสความรุนแรงอื่นๆ ที่ทางหน่วยงานด้านการพัฒนาสังคมต้องเข้าไปช่วยเหลือ
งานพัฒนาสวัสดิการผู้พิการ
นักสังคมสงเคราะห์ที่ดูแลงานสวัสดิการด้านผู้พิการ จะช่วยดูแลในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางสังคมที่ควรจะได้รับ เพื่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น และสนับสนุนการเข้าถึงสิทธิ์ด้านอื่นๆ ให้กับผู้พิการทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาสังคมผู้พิการ ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากที่สุด
งานพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพ
นักพัฒนาสังคมที่ดูแลงานด้านสุขภาพโดยตรง จะเป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทางสังคม ที่มีปัญหาสุขภาพ และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยที่ขาดการรับสิทธิ์ในการรักษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางสังคม เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ สามารถได้รับการรักษาได้อย่างเหมาะสม
งานพัฒนาระหว่างประเทศ
หน้าที่ของนักพัฒนาสังคมในด้านงานพัฒนาระหว่างประเทศ เป็นการให้บริการช่วยเหลือกลุ่มผู้ลี้ภัย การสนับสนุนการช่วยเหลือของรัฐบาลแห่งชาติ ที่ต้องมีการประสานงาน และดำเนินการผ่านองค์กรของภาครัฐแต่ละประเทศ เพื่อรับการช่วยเหลือ และการสนับสนุนสวัสดิการในการใช้ปรับปรุงปัญหาทางสังคมให้ดีมากขึ้น
งานพัฒนาด้านความยุติธรรม
นักพัฒนาสังคมที่ดูแลงานด้านความยุติธรรม จะดูแลให้บริการเกี่ยวกับด้านกฎหมายความเท่าเทียม และใช้กฎหมายในการเข้าแทรกแซงกลุ่มที่มีปัญหาทางสังคมที่รุนแรงมากๆ ได้ตามกระบวนการที่ถูกต้อง
งานพัฒนาด้านสุขภาพจิต
นักพัฒนาสังคมด้านงานสุขภาพจิต จะเข้าให้การช่วยเหลือบำบัดสุขภาพจิตใจโดยผู้ชำนาญตรงสาย ทั้งในเขตตัวเมือง และเขตชนบท เข้าถึงกลุ่มผู้มีปัญหาทางด้านจิตใจ อาการซึมเศร้า เพื่อการรักษาอย่างต่อเนื่อง
งานพัฒนาด้านสุขภาพจิต และการใช้สารเสพติด
นักพัฒนาสังคมด้านสุขภาพจิต และการใช้สารเสพติด จะมีหน้าที่เพิ่มเติมจากงานพัฒนาด้านสุขภาพจิตโดยตรง คืองานในส่วนการเข้าช่วยเหลือฟื้นฟูกลุ่มผู้ติดสารเสพติด ให้การเข้าบำบัดรักษาทั้งด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการติดสุรา ยาเสพติด การใช้สารเสพติดทุกประเภทในทุกกลุ่ม และทุกวัย
งานพัฒนาด้านความเป็นอยู่ของลูกจ้าง
นักพัฒนาสังคมที่ดูแลด้านความเป็นอยู่ของลูกจ้างจะจัดหางาน และอาชีพมาส่งเสริมช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทำมาหากิน ให้มีอาชีพในการดำรงชีวิตของตัวเองได้อย่างถูกกฎหมาย และตรงแบบแผนปฏิบัติงาน
งานพัฒนาด้านประชาสงเคราะห์
นักพัฒนาสังคมด้านประชาสงเคราะห์จะเป็นฝ่ายที่ศึกษาขอบเขตของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาวิเคราะห์ พัฒนา ปรับปรุงแผนการดำเนินงานต่างๆ ให้ตรงกับนโยบาย และเสนอแนวทางปฏิบัติงานให้กับฝ่ายปฏิบัติการ
งานสังคมสงเคราะห์ในโรงเรียน
งานสังคมสงเคราะห์ในโรงเรียนจะดูแลเกี่ยวกับขอบเขตกิจกรรมการพัฒนาสังคมภายในโรงเรียน เช่น การจัดกลุ่มกรรมการนักเรียน การจัดตั้งชมรมต่างๆ เพื่อให้สังคมภายในโรงเรียนมีความก้าวหน้า และมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งยังส่งเสริมความเป็นผู้นำภายในกลุ่มเป้าหมายตามธรรมชาติของช่วงวัยอีกด้วย
งานด้านนโยบายและการวางแผน
นักพัฒนาสังคมด้านงานนโยบาย และการวางแผน จะจัดการดูแลด้านการวางแผนงานต่างๆ ทั้งการจัดตั้งโครงการ การบริหารทรัพยากรสวัสดิการสาธารณะ การฝึกอบรมพนักงานองค์กรให้เข้าช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายทางสังคมได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการดูแลด้านการประเมินมาตรฐานงานแต่ละโครงการด้วยเช่นกัน
งานด้านการเมือง
นักพัฒนาสังคมด้านการเมือง จะดูแลเกี่ยวกับการประสานงานไปยังภาครัฐ และดำเนินการตามกฎหมาย แบบแผน ขั้นตอนต่างๆ รวมถึงจุดประสงค์ในการเข้าจัดตั้งโครงการเพื่อสังคมให้สอดคล้องกับแนวทางโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ
ได้อะไรจากการเป็นนักพัฒนาสังคม
สิ่งที่นักพัฒนาสังคมจะได้รับจากการดำเนินเส้นทาง หน้าที่ของสายงานด้านองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มีดังนี้
สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
การสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในส่วนของงานนักพัฒนาสังคมนั้น จะเป็นการเข้าช่วยเหลือ และแก้ไขกลุ่มปัญหานั้นๆ โดยตรงทันที ด้วยการสนับสนุนปัจจัยที่ต้องการไปยังเป้าหมายโดยตรง ทำให้จัดการปัญหาหลักออกไปได้ในทันที ไม่ต้องให้กลุ่มผู้มีปัญหานั้นต้องดำเนินการจัดการใดๆ เพื่อแสวงหาความยั่งยืนตามแนวทางของตัวเองอีกในภายหลัง
มีความสุขจากการทำงาน
เรียกได้ว่าความสุขจากการทำงานสำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือกับนักพัฒนาสังคมนั้น จะเป็นเหมือนการเติมเต็มความต้องการที่ได้มอบความสุข และความสำเร็จจากเป้าหมายเล็กๆ ให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมนั่นเอง
ได้ทักษะการทำงานที่หลากหลาย
ได้รับทักษะ ประสบการณ์ และการประยุกต์ใช้ความสามารถด้านต่างๆ ได้อย่างหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการติดต่อสื่อสาร การประสานงาน และการเริ่มต้นแผนปฏิบัติงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบาย และแนวทางทั้งหมด และทักษะการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านต่างๆ
เป็นการลงทุนที่ดี เพื่ออนาคต
การให้ความช่วยเหลือสังคมที่ขาดโอกาสนั้น เป็นการลงทุนที่ดีสำหรับนักพัฒนาสังคม โดยเฉพาะเรื่องของการมีคอนเนคชั่นที่ดี การแลกเปลี่ยนโอกาสต่างๆ กับทุกภาคส่วน รวมถึงการได้รับทักษะความสามารถในเรื่องการดูแลสุขภาพ และการเข้าใจในบริบททางสังคม หรือโอกาสทางสังคม และอุตสาหกรรมมากขึ้นจากการติดต่อประสานงาน และการดำเนินงานต่างๆ ในการทำงานตรงนี้
สร้างโอกาสมากกว่างานนั่งโต๊ะ
การลงพื้นที่เพื่อการเข้าช่วยเหลือสังคม เพิ่มโอกาสในการได้รับสิ่งตอบแทนจากองค์กร หรือโอกาสที่เป็นปัจจัยภายนอกเข้ามาได้ตลอดเวลา และยังได้มองเห็นถึงปัญหา แนวทางการแก้ไข พร้อมวิธีการปฏิบัติต่างๆ เพื่อการรับมืออย่างถูกวิธี
อยากเป็นนักพัฒนาสังคม ต้องเรียนอะไร
การเป็นนักพัฒนาสังคมนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เฉพาะตำแหน่งนักพัฒนาสังคม ดังนั้น การเรียนให้ตรงสายหลักๆ จะเป็นสาขาอาชีพเกี่ยวข้องโดยตรง ดังนี้
- ด้านสังคมศาสตร์ สาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคม สังคมสงเคราะห์ หรือชุมชนโดยตรง
- ด้านมนุษยศาสตร์ สาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านภาษา จิตวิทยา ฯลฯ
- การศึกษาที่เกี่ยวกับนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์
- การศึกษาภาคสาขาวิชาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือเฉพาะด้าน
สาขาข้างต้นนี้ ก็เป็นตัวอย่างแนวทางสู่ความรู้เฉพาะด้านสังคม สำหรับผู้ที่จบสาขาอื่นๆ มา แล้วสนใจทำงานเป็นนักพัฒนาสังคม ก็สามารถฝึกฝน ศึกษา และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการเข้ามาทำงานด้านนี้ได้ เพียงแค่ต้องเป็นผู้ที่มีจิตใจและความสนใจที่พร้อมในการทำงานดังกล่าวนั่นเอง
สรุป
นักพัฒนาสังคม คืออาชีพที่ทำหน้าที่ในการดูแลผู้ประสบปัญหาทางด้านสังคม และมีหน้าที่การทำงานเกี่ยวกับการจัดการสนับสนุนช่วยเหลือโดยตรงให้กับกลุ่มผู้ยากไร้ ผู้ประสบปัญหาด้านจิตใจ และการใช้ชีวิต ผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ในสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนใครที่ต้องการเป็นนักพัฒนาสังคม ควรมีความตั้งใจที่สำคัญที่สุดคือเรื่องจิตใจ ที่พร้อมจะทำงานจิตอาสาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะจบภาคสาขาวิชาไหนมาก็ตาม
แม้ไม่ใช่นักพัฒนาสังคม แต่หากคุณคือองค์กรเพื่อสังคม หรือกำลังมองหาช่องทางช่วยเหลือสังคม ให้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น ร่วมช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน และกำลังต้องการความช่วยเหลือ ผ่านช่องทางของ Cheewid ตัวกลางการสนับสนุนผู้สร้างผลกระทบเชิงบวกเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย