การดูแลผู้สูงอายุไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง เนื่องด้วยผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี ควรดูแลด้วยความเข้าใจ และช่วยระมัดระวังความปลอดภัยให้รอบด้าน ที่สำคัญหากคุณมีผู้สูงอายุในครอบครัว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในครอบครัวอย่างเห็นคุณค่า
สาเหตุที่ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
สาเหตุที่ผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัยควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบเชิงลบมากกว่าบวก ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่เริ่มเสื่อมถอย สังเกตได้จากการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน เป็นต้น หรือในด้านจิตใจเองก็มีความแปรปรวนเนื่องจากฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ตลอดจนด้านความรู้สึกที่เป็นผลพวงมาจากปัจจัยเหล่านี้ รวมถึงปัจจัยทางสังคมอื่นๆ
ข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ ให้คำนิยามว่า “ผู้สูงอายุคือบุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป” จึงเท่ากับว่า ผู้สูงอายุคือบุคคลที่เกษียณอายุงานแล้ว ความเคยชินจากการทำงานถูกเปลี่ยนผ่านไปยังการว่างงาน ซึ่งอาจพ่วงมาด้วยความเหงา และความรู้สึกไร้ค่า จึงจําเป็นที่ครอบครัวและสังคมต้องให้ความสําคัญและวางแผนดูแลผู้สูงอายุเป็นพิเศษ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและสามารถดํารงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในบั้นปลาย
เตรียมพร้อมให้ผู้สูงอายุดูแลตนเองก่อน
การที่ผู้สูงอายุสามารถดูแลตัวเองได้นั้น นับเป็นสิ่งที่ดีกับทุกคนในบ้าน ฝ่ายคนในครอบครัวก็จะได้สบายใจว่าอย่างน้อยผู้สงอายุยังพอดูแลตัวเองได้บ้าง ส่วนผู้สูงอายุเองจะได้ไม่รู้สึกว่าตัวเองป่วยหรือจำเป็นต้องมีคนดูแลอยู่ตลอด เพราะแม้อายุที่มากขึ้นจะส่งผลให้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้น้อยลงและช้าลง แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ ซึ่งครอบครัวสามารถเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุได้ดังนี้
เตรียมพร้อมทางร่างกาย
การเตรียมความพร้อมทางร่างกายให้กับผู้สูงวัย จะเป็นการดูแลเรื่องต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้ เช่น ที่อยู่อาศัย การกิน การพักผ่อน การออกกำลังกาย เป็นต้น ไม่ควรให้ผู้สูงอายุทำงานหนักหรือทำอะไรต่างๆ ที่หักโหมเกินร่างกายตัวเอง ลูกหลานควรช่วยแบ่งเบาภาระเพื่อให้ผู้สูงอายุได้พักผ่อนและจัดสรรเวลาเพื่อพาผู้สูงอายุในบ้านไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ
เตรียมพร้อมทางจิตใจ
ผู้สูงอายุมักมีอารมณ์แปรปรวน ทั้งสุข ทั้งเศร้า และวิตกกังวล โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติของวัย หรือเกิดจากการที่ผู้สูงอายุต้องปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงหลายด้านพร้อมกัน หรืออาจเกิดจากการเจ็บป่วย บางครั้งอาจแสดงออกเป็นความหงุดหงิด หรือบางรายก็อาจเฉื่อยชาสิ่งที่ควรเตรียมพร้อมคือต้องเข้าใจในอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของพวกท่าน อย่าทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเราเหนื่อยในการดูแล ควรหันมาสนใจในตัวผู้สูงอายุให้มากขึ้น เน้นพูดคุยและรับฟังให้ได้มากที่สุด เพื่อให้จิตใจของท่านแจ่มใส รับรู้ถึงความใส่ใจจากคนรอบตัว และหากมีอาการที่น่ากังวล ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและคำแนะนำเพิ่มเติม
เตรียมพร้อมทางสังคม
คนในครอบครัวอาจสนับสนุนกิจกรรมจรรโลงใจที่ผู้สูงอายุชื่นชอบและสามารถทำได้ เช่น การเข้าร่วมชมรมกีฬาผู้สูงอายุ หรือคอมมูนิตี้สร้างสรรค์ที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เห็นคุณค่าในศักยภาพของตน ทั้งยังได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนวัยเดียวกัน ซึ่งจะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีการพัฒนาทักษะทางสังคม ความคิด และอารมณ์อย่างรอบด้าน
นอกจากนี้ ครอบครัวไม่ควรละเลยความสำคัญของกฎหมาย สิทธิและผลประโยชน์ที่ผู้สูงอายุพึงได้รับจากภาครัฐและภาคสังคมด้วย แต่ควรเรียนรู้ไปพร้อมกันกับผู้สูงอายุ โดยอาจศึกษาได้จากสื่อและช่องทางตัวอย่างเหล่านี้
- เติมรู้ เตรียมพร้อม ก่อนสูงวัย คู่มือสร้างความตระหนักรู้ 5 ด้าน (สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี) เพื่อเตรียมความพร้อมสู่วัยสูงอายุ โดยกองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ
- ลุยไม่รู้โรย สื่อที่ช่วยให้เราได้ทำความเข้าใจผู้สูงวัย ตื่นรู้พร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต จาก Thai PBS
วิธีดูแลผู้สูงอายุ
วิธีการดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับความอบอุ่นและมีความสุขอยู่ในบ้านกับลูกหลานได้ทุกวัน ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่งในครอบครัว แต่คือหน้าที่ของทุกคน ไปดูกันว่ามีวิธีอะไรบ้างที่จะช่วยดูแลร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุให้สดชื่นแจ่มใส่อยู่เสมอ
1. ให้ความสำคัญในเรื่องอาหาร
คนในครอบครัวต้องมีการดูแลผู้สูงอายุ โดยเลือกเมนูอาหารที่ดี มีประโยชน์ ส่งผลดีกับร่างกายของผู้สูงอายุ อาหารที่ทานได้ต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกอย่างดี มีไขมันที่พอเหมาะ ส่วนโปรตีนกินได้แต่ไม่ควรมากเกินไป ต้องเสริมด้วยวิตามิน แร่ธาตุเพื่อเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ตลอดจนอาหารที่เคี้ยวหรือย่อยยาก
2. พาผู้สูงอายุออกกำลังกาย
คนในครอบครัวควรดูแลผู้สูงอายุโดยพาผู้สูงอายุออกไปสัมผัสบรรยากาศนอกบ้านบ่อยๆ ยิ่งทุกวันยิ่งดี โดยแนะนำให้นำผู้สูงอายุเดินเหยาะๆ เล็กน้อยในระยะทางสั้นๆ ถือเป็นการกระตุ้นการเต้นของหัวใจให้แข็งแรง รวมไปถึงบริหารส่วนต่างๆ ในร่างกาย
ส่วนการออกกำลังกายที่ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาดคือ การออกกำลังกายที่ต้องใช้แรงเยอะเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการยกสิ่งที่มีน้ำหนักมาก การวิ่งในระยะไกล การว่ายน้ำ และกีฬาจำพวกผาดโผนหรือผจญภัย เนื่องจากกีฬาเหล่านี้ต้องใช้ส่วนข้อเข่า ข้อแขนเป็นหลัก ซึ่งอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและข้อเสื่อมได้ง่ายในผู้สูงอายุ ทั้งยังอาจไปกระตุ้นความดันโลหิตให้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน
3. ควบคุมน้ำหนักของผู้สูงอายุ
การควบคุมน้ำหนักของผู้สูงอายุเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจตามมา ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า โดยทั่วไปผู้สูงอายุต้องการพลังงานแตกต่างกับวัยอื่นอย่างชัดเจน โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้สูงอายุต้องการพลังงานต่อวันราว 1,600 กิโลแคลอรี่ ในขณะที่วัยรุ่นและวัยกลางคนต้องการพลังงานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรี่ และ 2,200 กิโลแคลอรี่ สำหรับผู้ที่ใช้พลังงานมากจากการทำงานหรือเล่นกีฬา
ครอบครัวควรหมั่นสังเกตและดูแลปริมาณอาหารและพลังงานที่ผู้สูงอายุควรได้รับต่อวัน ควบคู่ไปกับการดูแลให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสม เพราะหากได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อวัน อาจก่อให้เกิดภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ หรือหากได้รับมากเกินไปอาจส่งผลให้น้ำหนักเกิน และเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
4. หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เมื่อสามารถควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดีแล้ว การหลีกเลี่ยงในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถือเป็นสิ่งที่ควรทำตามด้วยเช่นกัน คนในครอบครัวเองควรมีการดูแลผู้สูงอายุไม่ให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ หรือหากคนในบ้านสูบบุหรี่ก็ไม่ควรสูบใกล้กับผู้สูงอายุ เพราะควันบุหรี่จะลามถึงระบบหายใจของผู้สูงอายุได้
5. ระวังการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม
เมื่ออายุมากขึ้นปัญหาการมองเห็นเริ่มมาเยือน ผู้สูงวัยบางคนเมื่อหยิบยามากินเองอาจหยิบผิดหยิบถูก หรืออาจหยิบเกินจำนวนที่ควรรับประทานได้ จึงควรช่วยกันดูแล จัดยาไว้ให้ผู้สูงอายุให้ถูกต้องตามจำนวนที่ควรรับประทาน
อีกกรณีคือ ควรระวังการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ควรให้ผู้สูงอายุกินยาประเภทกระตุ้นหัวใจรุนแรง เพราะจะทำให้ผู้สูงอายุกระตุก เกร็ง หรือมีอาการช็อกได้
6. ตรวจสุขภาพประจำปี
คนในครอบครัวควรพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหรือเมื่อพบโรคจะได้รักษาอย่างทันท่วงที แต่หากคนในครอบครัวไม่ค่อยมีเวลา มีภาระงานมาก ทาง Joy Ride Thailand ก็มีบริการรถรับส่งพาผู้สูงอายุไปหาหมอในวันที่ญาติไม่อยู่บ้าน โดยบริการดูแลผู้สูงอายุด้วยความใส่ใจทุกขั้นตอน จริงใจดุจญาติมิตร ญาติต้องการอะไรแบบไหนก็สามารถรีเควสได้ เพื่อให้เกิดความอุ่นใจได้ว่าผู้สูงวัยของคุณจะได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีทุกๆ ปีตามเวลาที่เหมาะสม
7. ทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้สูงอายุ
การทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุได้ โดยคนในครอบครัวควรหาเวลาอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากันให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าลูกหลานไม่ได้หายไปไหน เมื่ออยู่ด้วยกันแล้วก็ลองหากิจกรรมอะไรง่ายๆ ทำร่วมกันดู อย่างการทำงานบ้าน หรืออาจจะเป็นการเล่นเกมที่ผู้สูงวัยสามารถทำได้ เล่นแล้วมีโอกาสชนะ เพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้สูงอายุว่าอย่างน้อยตัวเองก็ยังสามารถเล่นเกมชนะได้ในวัยนี้ อีกทั้งการทำกิจกรรมร่วมกันยังช่วยให้ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุมากขึ้นอีกด้วย
8. ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
สิ่งที่คนในครอบครัวไม่ควรมองข้ามในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน คือการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เมื่อกลายเป็นผู้สูงอายุ การได้รับอากาศดีๆ สดชื่นผ่อนคลายจากแมกไม้ จะทำให้ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี อีกทั้งควรจัดพื้นที่ในบ้านให้ผู้สูงอายุเดินเหินได้สะดวก เพื่อเอื้อต่อการอยู่อาศัยรวมไปถึงความปลอดภัย ควรเตรียมห้องของผู้สูงอายุให้อยู่ใกล้ชิดกับทุกคนในบ้าน รวมถึงควรอยู่ใกล้กับห้องน้ำเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุเดินไกล มีรองเท้ากันลื่นในห้องน้ำ ภายในบ้านต้องหมั่นทำความสะอาดมากกว่าเดิม ไม่ควรให้มีฝุ่นหนาเกาะบนผ้า เพราะอาจจะส่งผลต่อระบบหายใจของผู้สูงอายุได้
9. ดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุ
การดูแลสภาพจิตใจของผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ผู้สูงอายุมักต้องการกำลังใจและคำพูดดีๆ จากคนรอบข้าง ยิ่งเป็นคนในครอบครัวด้วยแล้วยิ่งต้องพยายามประนีประนอมกับความผิดพลาดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุน้อยใจ วิตกกังวล เครียด หรือหงุดหงิดง่าย
คนในบ้านอาจเสริมด้วยการหาอะไรให้ผู้ใหญ่ที่บ้านทำเพื่อคลายเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เต้นรำ ซึ่งเราสามารถช่วยดูแลหรืออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุได้หากผู้สูงอายุมีกิจกรรมอะไรที่อยากทำ หรืออาจพาท่านออกจากบ้านบ้างเพื่อไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนวัยเดียวกันก็ได้เช่นกัน
10. หมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ของผู้สูงอายุ
คนในครอบครัวต้องช่วยกันสังเกตพฤติกรรมหรือความผิดปกติของผู้สูงอายุที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการเบื่ออาหาร พูดคุยน้อยลง ฯลฯ การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านก็เหมือนกับมีเด็กเล็กอยู่ในบ้าน ไม่ใช่ในแง่ความซุกซน แต่เป็นการดูแลให้อยู่ในสายตา หากมีสิ่งใดผิดแปลกไปทางครอบครัวจะได้สามารถรับมือและป้องกันสิ่งต่างๆ ได้ทันท่วงที
11. ดูแลเรื่องสุขอนามัย
ไม่ว่าจะวัยไหนๆ เรื่องสุขอนามัยก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ยิ่งกับผู้สูงอายุยิ่งต้องดูแลสุขอนามัยให้ดีเป็นพิเศษ ด้วยเป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันเริ่มต่ำลง ทำให้คนรอบข้างและตัวผู้สูงอายุต้องรู้จักดูแลตัวเองเป็นอย่างดี มีการทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกินก็ต้องถูกหลักอนามัยเช่นเดียวกัน
12. ระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
คนในครอบครัวต้องมีการดูแลและช่วยกันระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ เพราะเมื่อไรที่เกิดขึ้นแล้ว การฟื้นฟูส่วนที่ถูกกระทบกระเทือนจะกลายเป็นเรื่องยาก อย่างที่ทราบกันดีว่าร่างกายของผู้สูงวัยเริ่มเสื่อมลงตามช่วงวัยที่มากขึ้น ไม่ว่าเป็นการกระทบกระเทือนเล็กน้อยหรือรุนแรงล้วนไม่เป็นผลดีทั้งนั้น คนรอบข้างจึงควรช่วยกันระมัดระวังให้มากที่สุด
13. ควรให้ผู้สูงอายุได้ร่วมตัดสินใจ
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คนในครอบครัวควรจะใส่ใจ คือควรทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกว่าไม่มีใครมาบงการชีวิตตัวเองเหมือนตอนเด็ก อย่าไปลดทอนความสามารถ ความคิดความอ่านของท่าน คนในครอบครัวหรือคนรอบข้างควรทำการดูแลโดยให้ผู้สูงอายุได้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่คิดว่าผู้สูงอายุในบ้านก็ตัดสินใจได้ ถือเป็นการให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุได้เห็นคุณค่าในตนเองว่ายังคงเป็นที่พึ่งให้กับคนในครอบครัวได้อยู่ อีกทั้งคนในครอบครัวควรเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่ผู้สูงอายุได้ตัดสินใจไป หากมีอะไรที่ไม่เห็นด้วยจริงๆ ก็ควรอธิบายให้ผู้สูงอายุเข้าใจ และลองให้เขาเลือกวิธีใหม่ที่ดีกว่าเดิมในภายหลัง
สรุป
การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวอาจดูไม่ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป ทุกอย่างต้องเริ่มจากการเรียนรู้ ทำความเข้าใจในธรรมชาติของผู้สูงอายุ เมื่อครอบครัวมีจุดเริ่มต้นที่ดี เส้นทางการดูแลก็จะเป็นไปด้วยความราบรื่น คนในครอบครัวจำเป็นต้องใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด ดูแลด้วยความเข้าใจและยังเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุอยู่เสมอ เพื่อให้ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจ ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข สามารถอยู่กับลูกกับหลานไปได้นานๆ
Reference
- นางสาวยมลภัทร เทศนา, นางสาวละอองดาว เครือวงษ์. โภชนาการสำหรับผู้สูงอายุ. nutrition2.anamai.moph.go.th. Retrieved 22 March 2024
- กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. เติมรู้ เตรียมพร้อม ก่อนสูงวัย. dop.go.th. Published September 2019. Retrieved 22 March 2024
- มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่. บทที่ 4 อาหารและโภชนาการสำหรับบุคคลในวัยต่าง ๆ. gened2.cmru.ac.th. Retrieved 22 March 2024