องค์กรและหน่วยงานนั้นมีอยู่อย่างหลากหลายรูปแบบ ซึ่งหนึ่งในรูปแบบองค์กรที่น่าสนใจคือ “องค์ไม่แสวงหาผลกำไร” หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินและรู้จักองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแล้ว แต่บางคนก็อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยและไม่ค่อยแน่ใจว่าองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรคืออะไร ทำหน้าที่อะไร และมีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร ซึ่งเราจะมาทำความเข้าใจว่าองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรคืออะไรผ่านบทความนี้กัน
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรคืออะไร
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หรือ Non Profit Organization (NPO) คือ องค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อมอบผลประโยชน์ให้แก่สังคมและส่วนรวม โดยผลประโยชน์จะถูกจัดส่วนแบ่งปันให้แก่สมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน และเพื่อตอบสนองและให้การช่วยเหลือสังคมเป็นหลัก โดยองค์กรเหล่านี้มักเป็นอิสระจากรัฐแม้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐก็ตาม เนื่องจากเป็นองค์กรที่ปกครองตนเองและมีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ด้วยตนเอง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรได้แก่มูลนิธิ สมาคม สหภาพ หรือพรรคการเมือง เป็นต้น
ลักษณะขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
การที่จะสร้างให้เกิดเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้นประกอบไปด้วยหลากหลายองค์ประกอบ โดยองค์ประกอบที่สำคัญมีดังนี้
-
มีเป้าหมายเพื่อส่วนรวมและสาธารณประโยชน์
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรคือองค์กรที่มุ่งเน้นประโยชน์ของสมาชิก และสังคมโดยรวมเป็นหลัก ซึ่งองค์กรต่างๆ มักเกิดขึ้นจากความต้องการที่จะตอบสนองและสร้างผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกที่ร่วมองค์กร ดังนั้นแน่นอนว่าเป้าหมายขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรคือผลประโยชน์สูงสุดของสมาชิกและสังคมโดยรวม
-
มีอำนาจในการบริหารงบประมาณด้วยตนเอง
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมีอำนาจในการบริหารงบประมาณขององค์กรตนเอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยถึงแม้ว่าแหล่งที่มาของงบประมาณบางแหล่งจะมาจากการสนับสนุนของภาครัฐ ประชาชน หรือภาคส่วนต่างๆ ดังนั้นองค์กรจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการบริหารงบประมาณภายในองค์กร
-
การจัดตั้งเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกและกลุ่มทางสังคม
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมีลักษณะการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง เช่น องค์การสาธารณกุศล หรือ องค์กรตามกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อสนับสนุนกลุ่มของสมาชิก และเพื่อผลประโยชน์โดยรวม ซึ่งจะไม่ใช่เพื่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ
-
การดำเนินงานอย่างเป็นเอกเทศ
การบริหารงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้นเป็นการบริหารงานด้วยตัวขององค์กรเอง และไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดๆ ทั้งการวางแผน การกำหนดนโยบาย หรือการดำเนินกิจการต่างๆ ขององค์กร เพื่อทำให้องค์กรมาสามารถตอบสนองต่อความต้องการของสมาชิกกลุ่มตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งได้
ประเภทและตัวอย่างขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็นหลากหลายประเภท ซึ่งหากแบ่งตามประเภทสามารถแบ่งได้ ดังนี้
- หอการค้าและสมาคมการค้า
เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการสนับสนุนทางการค้า อุตสาหกรรม เกษตรกรรม การเงินและเศรษฐกิจ โดยจะไม่ได้ดำเนินการเพื่อการหากำไรหรือการนำรายได้มาแบ่งปันกัน ตัวอย่างเช่น สมาคมเพื่อส่งออกข้าวไทย สมาคมสิ่งทอไทย และ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นต้น
- บริการสังคมหรือสังคมสงเคราะห์
สามารถแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ เพื่อการช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง เพื่อการบรรเทาสาธารณภัย และเพื่องานการสนับสนุนการครองชีพและเสริมรายได้ ตัวอย่างเช่น มูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก มูลนิธินิมิตใหม่เพื่อชีวิต และ มูลนิธิที่อยู่อาศัยแห่งประเทศไทย เป็นต้น
- ศาสนา
เป็นองค์กรที่ทำงานในด้านกิจกรรมทางศาสนาและความเชื่อ ทั้งการเผยแพร่ การดูแลศาสนพิธี ในทุกศาสนา รวมถึงลัทธิและนิกายต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย, มูลนิธิพุทธปรัชญา และ มูลนิธิมุสลิมเพื่อสันติ เป็นต้น
- สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์
จัดตั้งเพื่อทำการสงเคราะห์ในเรื่องของการดูแลและจัดการศพรวมไปถึงครอบครัว โดยไม่ได้เป็นการแสวงหากำไรเพื่อแบ่งปันกัน ตัวอย่างเช่น สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย เป็นต้น
- การกุศลและอาสาสมัคร
เป็นการดำเนินกิจการเพื่อการบริจาคและให้ความช่วยเหลือสนับสนุนสังคมในด้านต่างๆ อาจผ่านการบริจาคทุนทรัพย์ สิ่งของ เครื่องใช้ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น มานา วิสาหกิจเพื่อสังคม และ มูลนิธิเวิร์คพอยท์เพื่อการกุศล เป็นต้น
- การศึกษาและวิจัย
เพื่อการสนับสนุนและดูแลสถาบันทางการศึกษา โดยจะช่วยให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนเรื่องงานวิชาการและการวิจัยด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา ศูนย์การเรียน นวัตกรรมเพื่อความสุข และ มูลนิธินิติศาสตร์ มสธ. เป็นต้น
- วัฒนธรรมและสันทนาการ
เป็นการดำเนินการเพื่องานทางด้านศิลปและวัฒนธรรม การกีฬา หรือกิจกรรมงานสันทนาการต่าง ๆ ของสังคม ตัวอย่างเช่น Silpa Heartist และ มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เป็นต้น
- สิ่งแวดล้อม
องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานและกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรวมไปถึงให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองและดูแลสัตว์ด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น Get Well Zone, Glean Thailand และ Little Big Green เป็นต้น
- พัฒนาเมืองและชนบท
มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อทำการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาและแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และ ออมสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม
- สุขภาพอนามัย
องค์กรจะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาทางด้านสุขภาพ การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาล สถานบริการเพื่อสุขภาพร่างกาย หรือสถานบริการทางด้านสุขภาพจิต รวมไปถึงสถานพยาบาลทั่วไป และสถานีอนามัย ตัวอย่างเช่น สมาคมการค้าและการบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย ปัญญาไทคลินิดการแพทย์แผนไทย และ มูลนิธิส่งเสริมวิจัยทางการแพทย์ เป็นต้น
- สมาคมนายจ้าง
จัดตั้งเพื่อการดูแลและคุ้มครองทางด้านการจ้างงานเพื่อการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อีกทั้งเพื่อการติดต่อสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มนายจ้างด้วยกันเอง ตัวอย่างเช่น สภาองค์กรนายจ้างแห่งประเทศไทย เป็นต้น
- สหภาพแรงงานและแรงงานรัฐวิสาหกิจ
เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งว่าด้วยการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งสามารถมีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้เพียงสหภาพแรงงานเดียวเท่านั้น และลูกจ้างภายใต้รัฐวิสาหกิจนั้นๆ ก็จะสามารถเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจได้เพียงแห่งเดียว ตัวอย่างเช่น สำนักงานแรงงานสัมพันธ์
- กฎหมาย การเมือง และการรณรงค์
สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มประชาสังคมหรือภาคประชาสังคม และอีกกลุ่มคือที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางสังคม การรณรงค์ในด้านวาระต่างๆ ของสังคม ตัวอย่างเช่น ILaw เป็นต้น
- กิจกรรมระหว่างประเทศ
เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมระหว่างประเทศทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศเป็นต้น ตัวอย่างเช่น สหประชาชาติ ประเทศไทย และ unicef Thailand เป็นต้น
วัตถุประสงค์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
วัตถุประสงค์ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้นมีด้วยอยู่ด้วยกันหลากหลายวัตถุประสงค์ ตามแต่ลักษณะการจัดตั้งของแต่ละองค์กร หากแต่วัตถุประสงค์ที่มีร่วมกันมีด้วยกัน 5 วัตถุประสงค์หลัก ดังนี้
1. บริการและช่วยเหลือสังคม
การช่วยเหลือและการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ขององค์กรไม่แสวงหากำไร โดยจะช่วยให้การอนุเคราะห์และสนับสนุนให้แก่กลุ่มผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือหรือดูแลตนเองได้ เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่มั่นคงและก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
2. ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของสังคม
การช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคม สามารถดำเนินการได้ผ่านการรณรงค์หรือสร้างขบวนการการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อทำให้คนในสังคมเกิดการตระหนักรู้ จนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเล็กๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้
หน้าที่ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
หน้าที่และบทบาทขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีหน้าดังต่อไปนี้
- เป็นตัวกลางในการช่วยเหลือประชาชน และช่วยให้เสียงของประชาชนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
- ช่วยตรวจสอบการดำเนินนโยบายของภาครัฐ เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสในการพัฒนาประเทศ
- ช่วยให้บริการและอุดรอยรั่วในการให้ความช่วยเหลือในส่วนที่ภาคเอกชนและภาครัฐไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึง
- ช่วยเหลือภาครัฐและส่งเสริมภาครัฐในการพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้า
รายได้ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
แน่นอนว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีปัจจัยทางด้านทุนทรัพย์ในการขับเคลื่อนแผนงานขององค์กร โดยรายได้หรือรายรับขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้นมีหลากหลายช่องทาง ดังนี้ การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ การได้รับการแลกเปลี่ยนทางการค้าตามข้อตกลง และจากการได้รับเงินบริจาค โดยเงินบริจาคเองก็มาจากหลากหลายช่องทาง อาทิ ภาครัฐ เอกชน กองทุน หรือปัจเจกชน รวมไปถึงผ่านการระดมทุน หรือ Crowdfunding ซึ่งจะช่วยให้ผู้คนสามารถทราบถึงกิจกรรมขององค์กรและเข้ามาร่วมสนับสนุนแผนงานที่น่าสนใจขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรได้เช่นกัน
-
การบริจาคและงบประมาณสนับสนุน
งบประมาณเพื่อการสนับสนุนแผนการดำเนินการขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมักมาจากการบริจาค โดยเงินบริจาคนั้นมาจากหลากหลายช่องทางด้วยกัน เช่น เงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รายรับจากการจัดจำหน่ายสินค้าเพื่อการกุศล รายได้จากการบริจาคของสมาชิก หรือส่วนต่างจากค่าธรรมเนียมของสมาชิก เป็นต้น
-
รายได้จากส่วนอื่น
รายได้และงบประมาณในส่วนอื่นๆ ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอาจได้มาจากความช่วยเหลือและการให้การสนับสนุนการดำเนินการโดยภาครัฐ เนื่องจากในบางองค์กรนั้นเป็นการทำงานโดยการร่วมมือและประสานงานกันกับภาครัฐจึงทำให้ได้รับการสนับสนุน หรือบางองค์กรก็ได้รับเงินงบประมาณที่มาจากการดำเนินธุรกิจขององค์กรผ่านการแลกเปลี่ยนและการค้าขายตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง โดยงบประมาณที่ได้มานั้นก็เพื่อการนำกลับไปใช้เพื่อผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมนั่นเอง
ความต่างระหว่าง NPO vs NGO
NPO หรือ non profit organization คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร ซึ่งจุดเด่นคือเป็นการรวมกลุ่มกันของสมาชิกที่มีความเหมือนกันในด้านต่างๆ อาทิ การรวมกลุ่มกันทางอาชีพ การประกอบธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเกื้อหนุนกันจากการรวมตัวกันและส่งเสริมให้เกิดเป็นการพัฒนาในวงกว้างได้ในที่สุด
ขณะที่ NGO หรือ non governmantal organization คือองค์กรภาคเอกชนที่ทำงานอย่างเป็นเอกเทศและไม่ข้องเกี่ยวกับภาครัฐ ซึ่งจะทำงานเพื่อการช่วยเหลือสังคมโดยตรงทั้งช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ผู้ยากไร้ หรือคนรากหญ้า ซึ่งเป็นการอุดรอยรั่วของสังคมและส่งเสริมให้เกิดเป็นความเท่าเทียม
ความแตกต่างของทั้งสององค์กรนี้คือลักษณะการจัดตั้งขององค์กร โดย NPO เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความเหมือนกันเพื่อทำให้เกิดเป็นการเกื้อหนุนระหว่างกันจนนำไปสู่การพัฒนาของสังคม ในขณะที่ NGO เกิดขึ้นจากคนหรือกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันเพื่อที่จะช่วยเหลือคนอื่นๆ ในสังคมที่เขาต้องการความช่วยเหลือ อีกทั้ง NPO อาจมีการได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและนโยบายบางส่วนจากภาครัฐ ในขณะที่ NGO เป็นองค์กรที่เป็นเอกเทศแยกการดำเนินการออกจากภาครัฐโดยสิ้นเชิง
สรุป
อาจกล่าวได้ว่าองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรนั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่มีความเหมือนกัน จนนำไปสู่การดำเนินแผนการและกิจการขององค์กรที่จะส่งเสริมสมาชิกและสังคมชุมชนให้ได้รับผลกระทบอันดี โดยการดำเนินการนั้นจะไม่มีการแสวงหาผลกำไร หรือแบ่งผลประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่จะเป็นการสร้างผลประโยชน์ที่ดีให้แก่กันและกัน
เนื่องด้วยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเหล่านี้เป็นองค์กรที่มีงบประมาณมาจากการบริจาคและการระดมทุนจึงจะทำให้กิจการขององค์กรสามารถดำเนินต่อไปได้ Cheewid ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในการประชาสัมพันธ์และระดมทุนเพื่อการดำเนินการขององค์กร
หากท่านใดสนใจร่วมสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรก็สามารถเข้ามาร่วมกันกับเราเพื่อสนับสนุนและส่งมอบกำลังใจให้แก่องค์กร จนนำไปสู่การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ของสังคม
Reference:
- สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ. แนวคิดเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร. Doi.nrct,go,th. Retrieved 9 November 2023.
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ. คำนิยาม องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร.service.nso.go.th. Retrieved 9 November 2023.