Key Takeaway
|
ในปัจจุบัน ผู้คนมักให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ป่าไม้ อนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และอนุรักษ์สัตว์ป่าสงวน จนลืมไปว่า ‘ทะเล’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ควรร่วมมือกันอนุรักษ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งปัญหามลพิษทางทะเล มักส่งผลร้ายแรง ทั้งกับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในทะเลต่างๆ รวมไปถึงระบบนิเวศในทะเล แล้วสาเหตุปัญหาทางทะเลมีอะไรบ้าง ส่งผลกระทบอย่างไร มีแนวทางการแก้ไขและป้องกันอย่างไร ไปดูกัน!
ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลมีอะไรบ้าง
มลพิษทางทะเลไม่ได้มีแค่ขยะ แต่ปัญหาหาทางทะเลมีอะไรบ้าง มาดูกัน!
ปัญหาปิโตรเลียมรั่วไหล
ปัญหาปิโตรเลียมรั่วไหลก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศในทะเล โดยเฉพาะพืชทะเลที่ไม่สามารถเคลื่อนหนีได้เหมือนสัตว์ทะเลบางชนิด เมื่อคราบน้ำมันปกคลุมผิวน้ำ จะขัดขวางทั้งการละลายของออกซิเจนและการส่องผ่านของแสงลงสู่ใต้น้ำ ส่งผลให้พืชทะเลไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ คราบน้ำมันยังสร้างปัญหาให้กับสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยการเกาะติดตามผิวภายนอก ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากสัตว์ทะเลกลืนกินเข้าไป
ปัญหาสารปรอท
สารปรอทเกิดจากการเผาถ่านหินในอุตสาหกรรม ซึ่งสารปรอททำให้เกิดปัญหามลพิษทางทะเล เพราะเมื่อเกิดการเผาไหม้ ไอของปรอทจะเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและถูกชะล้างลงสู่ทะเล เมื่อสารปรอทถูกสะสมในระดับสูงๆ จึงทำให้ปลาหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในทะเลนั้นปนเปื้อน หากสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนสารปรอทถูกนำไปเป็นอาหารให้กับมนุษย์ ก็อาจจะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์
ปัญหามลพิษทางชายฝั่ง
ปัญหามลพิษทางชายฝั่งเกิดจากของเสียอุตสาหกรรม น้ำทิ้งจากภาคเกษตรกรรม ยาฆ่าแมลง และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ส่งผลให้สาหร่ายที่มีอันตรายเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว สาหร่ายเหล่านี้จะผลิตสารพิษอย่างซิกัวเตราและกรดโดโมอิค ซึ่งจะสะสมในตัวปลาและถ่ายทอดสู่มนุษย์ผ่านการบริโภค เมื่อมนุษย์ได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย อาจก่อให้เกิดอาการร้ายแรงหลายประการ ทั้งภาวะสมองเสื่อม อัมพาต และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งการสูดดมสารพิษเหล่านี้ยังอาจทำให้เกิดโรคหอบหืดได้อีกด้วย
ปัญหาจุลินทรีย์อันตราย
ปัญหาจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่มักเกิดจากการรวมตัวกันของมลพิษบริเวณชายฝั่ง หรือเกิดจากน้ำทะเลที่ร้อนขึ้น ทำให้เกิดการแพร่กระจายของจุลินทรีย์บางชนิด อย่างเช่น แบคทีเรีย วิบริโอ สปีชีส์ (Vibrio spp) ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อวิบริโอซิส ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
ปัญหาขยะพลาสติก
ปัญหาขยะพลาสติกส่งผลให้เกิดการแตกตัวเป็นอนุภาคไมโครพลาสติก จนถูกสะสมอยู่บริเวณชายฝั่งและในทะเลลึก ซึ่งไมโครพลาสติกมีสารเคมีที่เป็นพิษอันตรายหลายชนิด อาจรบกวนต่อระบบฮอร์โมนและอาจทำให้เกิดมะเร็งได้ เมื่ออนุภาคไมโครพลาสติกเหล่านี้ถูกสะสมในสัตว์ทะเล แล้วมนุษย์บริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนเข้าไป สารเคมีเหล่านั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ด้วยนั่นเอง
ปัญหาคุณภาพน้ำทะเล
เมื่อชุมชนเมืองได้ขยายตัวขึ้น มีผู้คนเข้ามารุกล้ำพื้นที่มากขึ้น จนเกิดเป็นท่าเทียบเรือ สถานที่ท่องเที่ยว หรือโรงแรม ทำให้เกิดปัญหาการระบายน้ำเสียทิ้งลงสู่ทะเล การปล่อยน้ำเสียจากชุมชนเมือง โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมลงสู่ทะเลโดยไม่ผ่านการบำบัด ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษและสารอาหารมากเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาน้ำทะเลไม่มีคุณภาพ เสี่ยงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล แม้จะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ไม่ได้รุนแรงมากนัก แต่ก็ไม่ควรข้ามเลย
ปัญหาปะการังฟอกขาว
ปัญหาปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในน้ำทะเล ความเป็นกรด-ด่าง คุณภาพน้ำทะเล หรือมลพิษทางทะเลต่างๆ แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาปะการังฟอกขาวคือการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำทะเล เมื่อเกิดการฟอกขาวในช่วงแรกนั้น ปะการังจะยังไม่ตายในทันที แต่จะอ่อนแอลง หากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นลดลงก็จะกลับสู่สภาวะปกติ ปะการังสามารถฟื้นตัวได้เอง แต่ถ้าอุณหภูมิน้ำยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะส่งผลให้ปะการังตายได้ในที่สุด
ปัญหาน้ำทะเลเปลี่ยนสี
ปัญหาน้ําทะเลเปลี่ยนสี หรือที่เรียกว่า ‘ขี้ปลาวาฬ’ เป็นปัญหาทางทะเลที่เกิดจากแพลงก์ตอนของพืชบางชนิดที่รับธาตุอาหารเฉพาะไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเพิ่มจํานวนขึ้น ทําให้น้ําทะเลมีสีที่เปลี่ยนไป จนส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนน้อยลงและทำให้สัตว์น้ําต่างๆ ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น และชายฝั่งสกปรก ส่งผลต่อทัศนียภาพและการท่องเที่ยวได้
ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นตลอดเวลาจากการกัดเซาะของคลื่นและลม ทำให้แนวของชายฝั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการกัดเซาะชายฝั่งทำให้สูญเสียแนวชายหาดเดิมที่เคยมี เกิดตะกอนทับถมบนแนวปะการัง และหญ้าทะเล ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงไปจนส่งผลกระทบถึงสมดุลของระบบนิเวศ
มลพิษทางทะเล กับผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต
ปัญหามลพิษทางทะเลส่วนใหญ่คือปัญหาน้ำเสีย ที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ซึ่งน้ำที่เน่าเสียมีสิ่งที่ก่อให้เกิดการนำเชื้อโรค สารปนเปื้อน และขยะต่างๆ ลงสู่ทะเล ทำให้เกิดการฟอกขาวของปะการังและทำให้สัตว์ทะเลไม่สามารถอยู่ได้เพราะไม่มีออกซิเจนที่เพียงพอ
ทั้งนี้ ปัญหาน้ำเน่าเสียยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ ทั้งอุณหภูมิในทะเล ค่า pH ความเค็ม และระดับของออกซิเจน จึงส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางชีวภาพและสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่มีความจำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในทะเล
แนวทางการแก้ไขและป้องกันปัญหามลพิษทางทะเล
การแก้ไขและป้องกันปัญหามลพิษทางทะเลสามารถทำได้ง่ายๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต โดยมีแนวทางดังนี้
- เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง เช่น หลอด และช้อนส้อมพลาสติก
- พกพาแก้ว ขวดน้ำส่วนตัว หรือใช้กระเป๋าผ้า เพื่อช่วยลดขยะประเภทพลาสติกได้
- เลือกใช้หรือซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้
- ควรแยกขยะทุกครั้ง เพื่อให้ขยะได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธี
- ควรมีการรณรงค์ร่วมกันเก็บขยะบริเวณชายหาดหรือป่าชายเลน
- ติดตั้งทุ่นสำหรับดักขยะจากบริเวณปากแม่น้ำที่ระบายน้ำลงสู่ทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเล
รวม 5 องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล
มาดูทั้ง 5 องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล ดังนี้
1. Greenpeace Thailand
Greenpeace Thailand ก่อตั้งเมื่อปี 2000 เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์เพื่อปกป้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกันกับชุมชนและเครือข่ายประชาชนต่างๆ เพื่อต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมายและส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงนิเวศ
- ที่อยู่: แคปปิตอล แมนชั่น ชั้น 1 ถนนพหลโยธิน แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ
- ติดต่อ: 02-357-1921
- เว็บไซต์: https://www.greenpeace.org/thailand/
2. POSITIV GROUP Social Enterprise / GuideGURU
POSITIV GROUP Social Enterprise / GuideGURU เป็นบริษัทนำเที่ยวที่มุ่งสร้างสะพานเชื่อมระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนผ่านการร่วมมือกับมัคคุเทศก์และเจ้าบ้านในพื้นที่ที่ดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งไม่เพียงช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างแท้จริงอีกด้วย
- ที่อยู่: The Villa 199/72 ถนนกาญจนาภิเษก ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง นนทบุรี
- ติดต่อ: 083-703-4564
- เว็บไซต์: https://guideguru.live
3. ReReef
ReReef เป็นธุรกิจเพื่อสังคม เน้นดำเนินงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มุ่งหวังที่จะทำการเปลี่ยนแปลงวิถีของการผลิต และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้คนคำนึงถึงความสำคัญในการรักษาและอนุรักษ์ปะการังในทะเล
- ที่อยู่: วิภาวดี กรุงเทพฯ
- ติดต่อ: 02-001-5997
- เว็บไซต์: https://www.facebook.com/Re4Reef/
4. ปลาออร์แกนิก
ปลาออร์แกนิก เป็นวิสาหกิจเพื่อชุมชน จำหน่ายอาหารทะเลจากการทำประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียนสัตว์ทะเลต่างๆ โดยตั้งใจสร้างเป็นโมเดลให้เห็นว่าชาวประมงนั้นเป็นเจ้าของทุกอย่าง และสิ่งที่สำคัญคือไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมด้วย ชาวประมงอยู่รอดและผู้บริโภคก็ได้กินอาหารที่ดีด้วย
มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสารเคมีในอาหารทะเล ทำให้วิถีประมงพื้นบ้านมีจุดยืนในสังคมมากขึ้น และสร้างตลาดสินค้าอาหารทะเลที่มีคุณภาพดี ปลอดสารเคมี ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
- ที่อยู่: ซอยวิภาวดี 22 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
- ติดต่อ: 090-004-2401
- เว็บไซต์: https://www.facebook.com/pla.organic/
5. แมวกินปลา
แมวกินปลา เป็นแพลตฟอร์มขายอาหารทะเลของจังหวัดพังงา เน้นให้ความสำคัญกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้แน่นอน และในส่วนของผู้บริโภคก็จะได้กินอาหารที่ดี มีคุณภาพ ส่งผลให้สุขภาพดีไปด้วย และสิ่งแวดล้อมของทะเลก็จะดีไปด้วย
- ที่อยู่: อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
- ติดต่อ: 081-908-8345
- เว็บไซต์: https://cateatfish.co/
สรุป
ทะเลและบริเวณชายฝั่งถือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ ด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่และชายฝั่งทะเลเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและเกิดปัญหามลพิษทางทะเล ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศทางทะเล และสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างสูง
ดังนั้น ทุกคนในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงนักท่องเที่ยว ควรช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกันเก็บขยะทุกครั้งที่ไปเที่ยว หรืองดใช้ถุงพลาสติก
Cheewid ก็ขอเป็นสื่อกลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และการสนับสนุนส่งเสริม เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางทะเล โดยเป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางที่จะช่วยให้การบริจาคเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน รวมถึงทุกคนสามารถเป็นอาสาสมัครและใช้ทักษะของตัวเองเพื่อตอบแทนให้กับสังคมได้ด้วย
Reference:
- ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี. 11 เรื่อง ‘มลพิษ’ ทาง ‘ทะเล’ ที่เราอาจไม่เคยรู้ ใน ‘วันทะเลโลก. bangkokbiznews.com. Published 8 June 2021. Retrieved 10 December 2024.
- Marine Knowledge Hub. ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล. mkh.in.th. Retrieved 10 December 2024.
- Reef Resilience Network. ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล. reefresilience.org. Retrieved 10 December 2024.
- GENERALI. วิธีการรับมือกับมลพิษทางทะเล. generali.co.th. Published 15 September 2021. Retrieved 10 December 2024.
- อัคตัรมีชี อาหามะ. แนะ 5 แนวทางแก้ปัญหาทิ้งขยะพลาสติกลงทะเล (Motion Graphic). thaihealth.or.th. Published 29 June 2023. Retrieved 10 December 2024.