โดยปกติแล้ว สัตว์ป่า หมายถึง สัตว์ที่มีการดำรงชีวิตกันอยู่ตามธรรมชาติ หรืออยู่ในป่าที่ถือว่าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตหากินอย่างสงบสุขตามสภาพแวดล้อม รวมถึง เป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตไปตามระบบนิเวศ มีการขยายพันธุ์เองตามฤดูกาล ส่วนสัตว์ป่าที่มีพระราชบัญญัติคุ้มครองอยู่นั้น จะมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าที่ขึ้นชื่อบัญชีคุ้มครองจากกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันว่า สัตว์ป่าคุ้มครอง
ทำความเข้าใจ สัตว์ป่าสงวน กับ สัตว์ป่าคุ้มครอง ต่างกันยังไง
-
สัตว์ป่าสงวน
ข้อมูลล่าสุดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2562 ก็ยังคงมีการระบุบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าสงวน 19 ชนิด ไว้เช่นเดิม เหมือนกับพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2535 โดย สัตว์ป่าสงวนจะเป็นกลุ่มสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือมีความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และเป็นกลุ่มสัตว์ที่หาได้ยากมาก เช่น เต่ามะเฟือง แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ กวางผา และอื่นๆ รวมกันกว่า 19 ชนิด ดังนั้น กฎหมายคุ้มครองจึงออกมาเพื่อช่วยเหลือในด้านการอนุรักษ์และสงวนสายพันธุ์สัตว์ป่าหายากเหล่านี้ไว้ โดยห้ามผู้ใดมาล่า หรือมีไว้ในครอบครองโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังมีชีวิตหรือเป็นซากสัตว์แล้วก็ตาม
-
สัตว์ป่าคุ้มครอง
ส่วนกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น จะมีรายชื่อคุ้มครองจากกฎกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะสัตว์ป่ากลุ่มนี้จะมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก และเพื่อไม่ให้ระบบนิเวศเสียสมดุลไป จึงต้องมีการคุ้มครองไว้เพื่อไม่ให้ปริมาณตามธรรมชาติมีน้อยเกินไป หรือถูกภัยคุกคามจากมนุษย์มาปั่นป่วนได้ แต่กรณีของสัตว์ป่าคุ้มครองบางชนิดยังสามารถเลี้ยงได้ แต่ต้องมีใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อน
หลายๆ คน อาจยังไม่เคยรู้จักรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง กันเท่าไรนัก เพราะการคุ้มครองจริงๆ แล้วครอบคลุมไปมากกว่าหลายพันชนิด สามารถยกตัวอย่างประเภทหลักๆ ที่คุ้นเคยกันได้ เช่น ช้าง ชะมดเช็ด พังพอน โลมา ไก่ป่า นกเอี้ยงควาย นกฮูก อีกา ตุ๊กแกบ้านสีเทา ตะกวด งูเหลือม งูจงอาง และอื่นๆ อีกมากมายหลายพันรายชื่อ
ดังนั้น ความแตกต่างของการสงวน และการคุ้มครองสัตว์ทั้ง 2 ประเภทนี้ มีจุดประสงค์หลักๆ ที่ไม่เหมือนกันอย่างชัดเจน เพราะกลุ่มสัตว์ป่าสงวนจะอนุรักษ์ไว้เพราะใกล้สูญพันธุ์ โดยใช้กฎหมายข้อบังคับที่เคร่งครัดมากที่สุด และมีเพียงแค่ 19 ชนิดเท่านั้น ส่วนสัตว์ป่าคุ้มครองยังคงสามารถเลี้ยงได้บางชนิด หากได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นกลุ่มสัตว์ที่คุ้มครองไว้เพื่อไม่ให้ระบบนิเวศเสียสมดุลตามหลักการของห่วงโซ่อาหารด้วยนั่นเอง
ทำไมต้องเป็นสัตว์ป่าสงวน รู้ได้อย่างไรว่าใกล้สูญพันธุ์
การประเมินความเสี่ยงของสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือสัตว์ป่าที่เริ่มมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามนั้น จะใช้เกณฑ์การวัดจากหลักการมาตรฐานสากลที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โดยจะมีการประเมินความเสี่ยงตามสถานภาพสัตว์สายพันธุ์นั้นๆ จากการดูแลพื้นที่แต่ละเขตท้องถิ่นที่หน่วยงานรับผิดชอบอยู่
โดยจะมีการประเมินทุกๆ 5 – 10 ปี หลังจากนั้นจึงมีการประกาศบัญชีรายชื่อ Red list ออกมาเพื่อยืนยันข้อมูลสถานภาพความเร่งด่วนในการต้องอนุรักษ์ร่วมกันทั้งในภาคส่วนของหน่วยงานที่ดูแลด้านนี้ และภาคส่วนของประชาชนด้วยเช่นกัน ส่วนทางด้าน IUCN Red List of Threatened Species ได้แบ่งสัตว์ใกล้สูญพันธุ์โดยใช้เกณฑ์ 5 เหตุผล ดังนี้
-
จำนวนประชากรสัตว์ที่ลดลง
ตัวเลขจำนวนความเสี่ยงที่ลดลงนั้น อาจไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนได้ แต่กลุ่มสัตว์ป่าสงวนมักจะเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการค้นพบเพียงแค่ 28 % จากทั้งหมด 40,000 กว่าชนิดเท่านั้น
-
ช่วงทางทางภูมิศาสตร์
สัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์มักพบได้เพียงแค่พื้นที่จุดเดียว หรือไม่ถึง 20 % ของภูมิภาคนั้นๆ แม้ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมแบบเดียวกันก็ตาม
-
สปีชีส์นั้นมีจำนวนประชากรอยู่น้อยอยู่แล้วหรือไม่
แต่เดิมทีกลุ่มสัตว์ป่าสงวนเคยมีจำนวนที่เหมาะสมกับพื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ แต่ด้วยภัยคุกคามจากการออกล่าของมนุษย์ และภัยคุกคามตามธรรมชาติ รวมถึงโรคระบาดต่างๆ ทำให้สัตว์กลุ่มนี้มีจำนวนน้อยลงมากจนเสี่ยงสูญพันธุ์ จึงสามารถวิเคราะห์จากอัตราการลดลงของจำนวนสัตว์ชนิดนั้นๆ ได้
-
สปีชีส์นั้นมีจำนวนน้อยและอาศัยอยู่ในพื้นที่เล็กๆ หรือไม่
สัตว์ป่าสงวนสามารถจำกัดพื้นที่การตรวจสอบได้ง่าย โดยใช้หลักการอ้างอิงจำนวนประชากรที่น้อยอยู่แล้วจากข้อข้างต้น รวมถึงพื้นที่อยู่อาศัยที่ค่อนข้างจำกัด และสัตว์ป่าสงวนมักจะอาศัยอยู่เพียงแค่พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งของป่าตามภูมิภาคนั้นๆ เพียงอย่างเดียว ไม่มีการขยายพันธุ์ไปถิ่นอื่นที่ไกลมากขึ้นได้
-
พิจารณาจากโอกาสที่จะสูญพันธุ์
ในการประเมินโอกาสใกล้สูญพันธุ์ของสัตว์ป่าสงวน จะใช้ข้อมูลตามบัญชีรายชื่อ Red list ขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่า หรือ IUCN โดยบัญชีรายชื่อของสัตว์แต่ละประเภทตาม Red list จะแบ่งจากปัจจัยข้างต้นเป็นหลัก และจะถูกบันทึกพร้อมเผยแพร่ให้กับสาธารณชนได้รับทราบร่วมกัน ซึ่งมีระดับความเสี่ยง ดังนี้
- EX (Extinct) เป็นระดับที่สูญพันธุ์ไปแล้ว หมายถึงจำนวนของสัตว์ป่าสายพันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้วทั้งหมด
- EW (Extinct in the Wild) เป็นระดับการสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ แต่บางสายพันธุ์ยังคงมีจำนวนเล็กๆ น้อยๆ จากการอนุรักษ์ดูแลอยู่บ้างในสถานที่คุ้มกัน
- CR (Critically endangered species) เป็นระดับความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์สูงมากที่สุด โดยมีจำนวนที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากการดำรงอยู่ตามธรรมชาติ
- EN (Endangered species) เป็นระดับความเสี่ยงที่ใกล้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติ
- VU (Vulnerable species) เป็นระดับความเสี่ยงที่เริ่มเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์จากแนวโน้มของจำนวนที่ลดลงมากขึ้นตามธรรมชาติ
- NT (Near Threatened) เป็นระดับความเสี่ยงสูญพันธุ์ในอนาคตจากทั้งภัยคุกคามของมนุษย์และทางธรรมชาติ
- LC (Least Concern) เป็นระดับความเสี่ยงสูญพันธุ์ที่ค่อนข้างต่ำมาก สามารถพบเห็นได้ทั่วไป
- DD (Data Deficient) เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มไม่สามารถประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ เนื่องจากข้อมูลยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งมักพบบ่อยกับประเภทสัตว์น้ำ สัตว์ตามท้องทะเล หรือพื้นที่ที่ค้นพบได้น้อยมาก
- NE (Not Evaluated) เป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และยังไม่ได้ระบุข้อมูลอื่นๆ ที่แน่ชัด
จากข้อมูลการประเมินขององค์กรผู้ดูแลอนุรักษ์ทั้งหมดจากทั่วโลก สามารถสรุปได้ว่า ความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้เอง เป็นตัวทำให้สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์กลายมาเป็นสัตว์ป่าสงวน ที่ต้องอนุรักษ์และปกป้องไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์ในที่สุด
ปัจจัยคุกคาม ทำไมสัตว์ป่าสงวนถึงใกล้สูญพันธุ์
หากพูดถึงปัจจัยหลักๆ ที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าสงวนมากที่สุด มักมาจากภัยคุกคามของมนุษย์ และยังมีภัยคุกคามตามธรรมชาติอีกมากมายหลายปัจจัยด้วยเช่นกัน ทั้งการคุกคามพื้นที่อยู่ที่อาศัย ภัยธรรมชาติต่างๆ รวมถึง ภัยเรื่องโรคระบาดที่สายพันธุ์ของสัตว์นั้นๆ ไม่สามารถต้านทานหรือฟื้นฟูได้เอง สามารถกล่าวโดยสรุปได้จาก 2 กรณีใหญ่ๆ ที่ร้ายแรงมากที่สุด ดังนี้
-
การสูญเสียถิ่นที่อยู่
ในทุกวันนี้เผ่าพันธุ์มนุษย์มีการขยายเขตพื้นที่อยู่อาศัย และเขตพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ทางธุรกิจกันมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายไปอย่างรวดเร็ว เป็นเหตุที่ทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์กันง่ายมากขึ้น และเมื่อเหล่าสัตว์ป่าย้ายถิ่นอยู่ต่างที่ก็เกิดการปรับตัวที่ยากลำบาก รวมถึงการแย่งชิงพื้นที่กันเองของสัตว์ป่าเจ้าถิ่นเดิม จึงเป็นเหตุผลหลักที่ร้ายแรงนั่นเอง ตัวอย่างสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ด้วยเหตุนี้ ได้แก่ หมีแพนด้า ช้างแอฟริกา กอริลลา เสือดาว เป็นต้น
-
การสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม
เป็นสาเหตุการสูญพันธุ์ที่ค่อนข้างร้ายแรงจากปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกัน เช่น การที่สัตว์ป่าถูกล่าโดยมนุษย์ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถือว่าส่งผลกระทบร้ายแรงทั้งสิ้น การต่อสู้กันเองของสัตว์ป่าระหว่างสัตว์เจ้าถิ่นและสัตว์ที่เข้ามารุกราน อาจเกิดจากทั้งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือเกิดจากการรุกรานพื้นที่อยู่อาศัยเดิมจากมนุษย์ ทำให้สัตว์กลุ่มรุกรานต้องย้ายพื้นที่อยู่อาศัยใหญ่ ตัวอย่างสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ด้วยเหตุนี้ ได้แก่ ลิ่น เต่าทะเล เต่ามะเฟือง กอริลลา ควายป่า เป็นต้น
หากใครต้องการดูรายละเอียดเพิ่มเติมอื่นๆ เกี่ยวกับสาเหตุการสูญพันธุ์และความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการสูญพันธุ์ที่เพิ่มสูงขึ้นของสัตว์ป่ามากมาย จนต้องมีการอนุรักษ์กันมากขึ้น ทั้งความร่วมมือของภาคหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนด้วยกันเอง สามารถติดตามอ่านจากบทความของทาง Cheewid ได้ที่นี่ สัตว์ใกล้สูญพันธุ์
รวมรายชื่อ สัตว์ป่าสงวน 19 ชนิดในไทย มีอะไรบ้าง
สำหรับข้อสงสัยที่หลายๆ คน กำลังให้ความสนใจกันมากขึ้นกับ สัตว์ป่าสงวนมีกี่ชนิด ในบทความนี้ทาง Cheewid จะมาให้ข้อมูลรายชื่อตัวอย่างสัตว์ป่าสงวนในไทย 19 ชนิด ดังนี้
1. กระซู่
กระซู่เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่จัดอยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกับแรด แต่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากแรดทั่วไปตรงที่ขนาดตัวของกระซู่จะเป็นเหมือนแรดตัวเล็ก มีขาสั้น และมีขนสีน้ำตาลแดงยาวทั่วทั้งตัว โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Dicerorhinus sumatrensis และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ CR (Critically Endangered) คือ ระดับความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์สูงมากที่สุดอีกด้วย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระซู่ มีดังนี้
- ลักษณะ จะมีการแบ่งกระซู่ของแต่ละโซนทวีป หากเป็นกระซู่เอเชียจะมี 2 นอ และมีหนังสีน้ำตาลเข้มพร้อมขาที่ดูแข็งแรงเหมาะกับสภาพแวดล้อมทางเอเชีย ส่วนกระซู่ตะวันตก และกระซู่ตะวันออก ปัจจุบันคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วเรียบร้อยทั้งหมด
- ที่อยู่อาศัย กระซู่ชอบป่าที่มีลักษณะเป็นป่าฝนเขตร้อน และมีความชื้นจากแหล่งน้ำ รวมถึงมีมอสปกคลุม
- การกิน กระซู่จะกินผลไม้ป่าและยอดอ่อน รวมถึงใบไม้ต่างๆ เป็นหลัก โดยมีเวลาออกหาอาหารช่วงเช้ามืดและช่วงหัวค่ำ
- ฤดูผสมพันธุ์ ไม่มีช่วงเวลาที่แน่ชัด แต่มักจะมีการพบลูกกระซู่ในช่วงฝนตกชุก ตั้งแต่ตุลาคมถึงพฤษภาคมอยู่บ่อยๆ ซึ่งกระซู่จะออกลูกเพียงครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น จึงทำให้เป็นสัตว์ป่าสงวนที่มีจำนวนน้อยและเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อย่างมาก
2. กวางผา
กวางผา หรือมีอีกชื่อเรียกคือ ม้าเทวดา เป็นสัตว์ป่าสงวนอยู่วงศ์ตระกูลเดียวกันกับแพะ และเป็นสัตว์ประเภทเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Naemorhedus caudatus และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ VU (Vulnerable) คือ ระดับความเสี่ยงที่เริ่มเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์ ถือเป็นความเสี่ยงสูญพันธุ์ตามธรรมชาติ
- ลักษณะ ถึงแม้ว่ากวางผาจะดูคล้ายกับเลียงผา แต่ขนาดตัวของกวางผาเล็กกว่ามากหลายเท่า มีสีขนน้ำตาลหม่น และเป็นขนหยาบทั่วลำตัว มีเขาสีดำโค้งไปด้านหลัง และจะมีสีของใต้คางที่เป็นน้ำตาลอ่อน ๆ
- ที่อยู่อาศัย กวางผาจะอยู่บริเวณภูเขาสูงตั้งแต่ 3,300 ฟุต ไปจนถึงระดับ 13,500 ฟุต และมักอาศัยแบบหลบซ่อนตัวตามหินผา จึงเป็นสัตว์ที่พบเจอได้ค่อนข้างยากมาก
- การกิน อาหารของกวางผาจะเป็นพืชหญ้า ใบไม้ และผลไม้ที่พบเจอตามพื้นที่เขาสูง
- ฤดูผสมพันธุ์ กวางผาจะออกลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น โดยมีฤดูผสมพันธุ์อยู่ประมาณช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม
3. กรูปรี
กรูปรี เป็นสัตว์สงวนประเภทเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่จัดอยู่ในวงศ์ตระกูลเดียวกับวัว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Bos sauveli และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ CR (Critically Endangered) คือ ระดับความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์สูงมากที่สุด จึงอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 สัตว์สงวนของประเทศไทย
- ลักษณะ กรูปรีจะแตกต่างจากวัวทั่วไปตรงที่เหนียงคอห้อยยานของกรูปรีจะเป็นจุดเด่นสำคัญ ซึ่งกรูปรีตัวผู้เหนียงจะยานได้เยอะมากจนถึงขั้นติดพื้นดิน เขาของตัวผู้จะโค้งยาวและแตกปลายเป็นเหมือนพู่ ส่วนลักษณะกรูปรีตัวเมียจะคล้ายตัวผู้ แต่มีขนาดเล็กกว่าในทุกๆ สัดส่วน
- ที่อยู่อาศัย กรูปรีมักจะอาศัยตามทุ่งหญ้าป่าเปิดสลับกับป่าทึบ สามารถพบเห็นได้ตามเขตชายแดนไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชาเท่านั้น
- การกิน อาหารของกรูปรี คือ หญ้า ข้าวเปลือก ไผ่ และมักจะออกหากินในเวลากลางคืนเท่านั้น
- ฤดูผสมพันธุ์ ช่วงเวลาฤดูผสมพันธุ์ของกรูปรีจะอยู่ตั้งแต่เดือนเมษายน และจะออกลูกช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนธันวาคม จนถึง กุมภาพันธ์ โดยออกลูกเพียงแค่ครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น
4. เก้งหม้อ
เก้งหม้อ มีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า เก้งดง หรือ กวางเขาจุก เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Muntiacus feae และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ VU (Vulnerable) คือ ระดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์
- ลักษณะ รูปลักษณ์ทั่วไปของเก้งหม้อจะดูคล้ายกับเก้งธรรมดาทั่วไป แต่มีสีที่เข้มกว่าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะส่วนของสันหลังที่จะเข้มมากที่สุด สาเหตุที่เก้งหม้อมีอีกชื่อเรียกว่า กวางเขาจุก เพราะเก้งหม้อตัวผู้มีลักษณะเขากิ่งหน้าที่สั้นมากและถูกขนหนาบริเวณโคนเขาคลุมไว้จึงดูเป็นกระจุกเล็กๆ
- ที่อยู่อาศัย ถิ่นที่อยู่อาศัยหลักของเก้งหม้อจะเป็นบริเวณเทือกเข้าสูงและเป็นป่าดิบทึกบนเทือกเขา สามารถพบได้ตั้งแต่ระดับความสูง 2,500 เมตรขึ้นไป โดยมีพื้นที่หลักๆ พบเห็นได้บ่อยจะอาศัยอยู่บริเวณเทือกเขาตระนาวศรีชายแดนไทย-พม่า
- การกิน เก้งหม้อจะหากินหญ้า ใบไม้ ผลไม้ป่าต่างๆ ที่ตกตามธรรมชาติ และเป็นสัตว์ป่าสงวนที่แยกกันออกหากินตอนกลางวัน
- ฤดูผสมพันธุ์ มีฤดูผสมพันธุ์ที่ไม่แน่ชัด แต่เก้งหม้อตัวเมียจะใช้เวลาในการตั้งท้อง 180 วัน และคลอดลูกทีละ 1 ตัว
5. ควายป่า
ควายป่า เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีนิสัยที่ค่อนข้างดุร้าย โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Bubalus bubalis และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ EN (Endangered species) คือ ระดับความเสี่ยงที่ใกล้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติและค่อนข้างสูง เพราะสาเหตุการสูญพันธุ์ของควายป่าหลักๆ จะเป็นเรื่องการผสมข้ามสายพันธุ์ไปรวมกับควายบ้าน ทำให้เกิดความเสี่ยงสูงเรื่องสายพันธุ์
- ลักษณะ รูปร่างภายนอกดูคล้ายกับควายทั่วไป แต่ขนาดของควายป่าจะตัวใหญ่มาก มีน้ำหนักมากถึง 800–1,200 กิโลกรัม และมีเขากว้างมากที่สุด ลำตัวเป็นสีดำ หรือสีเทาเข้มมากๆ ส่วนบริเวณขาทั้ง 4 ข้างจะเป็นสีอ่อนกว่า จนถึงสีขาว และในบริเวณหน้าอกจะมีรอยคล้ายกับพระจันทร์เสี้ยวอยู่
- ที่อยู่อาศัย ควายป่าชอบพื้นที่ป่าโปร่งและทุ่งหญ้าชื้นแฉะ มีโคลนหรือหนองน้ำ
- การกิน อาหารหลักของควายป่า คือ หญ้า และพืชในหนองน้ำที่แช่ตัว
- ฤดูผสมพันธุ์ ช่วงฤดูฝนจะเป็นฤดูผสมพันธุ์ของควายป่า แต่ควายป่าตัวเมียใช้เวลาตั้งท้องนานถึง 300–340 วัน และคลอดลูกทีละ 1 ตัวเท่านั้น
6. แมวลายหินอ่อน
แมวลายหินอ่อน เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เคยมีการพบเห็นและมีหลักฐานเป็นรูปถ่ายของประเทศไทยที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาแล้วเมื่อช่วงปี พ.ศ.2547 โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pardofelis marmorata และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ NT (Near Threatened) คือ ระดับความเสี่ยงใกล้เข้าสู่การถูกคุกคามให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั้งจากมนุษย์และโดยธรรมชาติ เพราะเป็นสัตว์ป่าที่มีการลักลอบค้าขายหรือจับไปอย่างผิดกฎหมายเยอะมาก
- ลักษณะ รูปลักษณ์ทั่วไปคล้ายกับแมวบ้าน แต่จะมีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นลายที่คล้ายกับเสือลายเมฆ เป็นสีพื้นฐานที่ไปทางน้ำตาลและมีลายพาดที่ดูคล้ายเสือมากๆ จะมีหางฟูและยาวมากกว่าหรือเท่ากับขนาดลำตัว
- ที่อยู่อาศัย ด้วยธรรมชาติของแมวลายหินอ่อนที่เป็นสัตว์ป่า จะอาศัยอยู่บริเวณป่าทึบและภูเขาสูง ซึ่งถิ่นกำเนิดหลักๆ จะพบในทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย จนถึงภูเขาสูงเนปาล ส่วนปัจจุบันมักพบเจอได้ในป่าที่หลากหลายประเภทมากขึ้น
- การกิน อาหารของแมวลายหินอ่อนจะเป็นการล่าจับสัตว์เล็กมากินเป็นอาหาร เช่น หนู กระรอก นก รวมถึงสัตว์เล็กอื่นๆ ตามพื้นดินในป่า
- ฤดูผสมพันธุ์ ช่วงเวลาของฤดูผสมพันธุ์ไม่ได้มีไว้อย่างแน่ชัด เพราะการผสมพันธุ์ของแมวลายหินอ่อนมักจะมาจากพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เพียงแค่คู่เดียว ไม่มีการผสมไปทั่ว โดยการออกลูกจะคลอดครั้งละ 1–4 ตัว และใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 81 วัน
7. แรด
แรด เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นข้อมูลรายชื่อสัตว์ป่าสงวนที่หลายๆ คนอาจยังไม่ทราบ เพราะถือว่ายังมีการพบเห็นได้อยู่บ่อยๆ แต่แรดเป็นสัตว์ที่ถูกล่าเยอะมากที่สุดจากมนุษย์ เพราะความเชื่อของการใช้อวัยวะต่างๆ เป็นยารักษาโรค หรือยาบำรุงร่างกาย จึงตั้งให้เป็นสัตว์ป่าสงวนนั่นเอง โดยแรดมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Rhinoceros sondaicus และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ CR (Critically Endangered) คือ ระดับความเสี่ยงที่ใกล้จะสูญพันธุ์สูงมากที่สุด
- ลักษณะ แรดจะมีกีบเท้าข้างละ 3 กีบ มีผิวหนังที่หนา จุดเด่นของแรด คือ นอแหลมที่อยู่เหนือจมูกที่ปกติจะมีความยาวเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้เป็นนอแหลมยาวอะไรมากมาย ส่วนแรดตัวเมียจะไม่มีนอและมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าตัวผู้ โดยแรดเป็นสัตว์ที่หูกับจมูกดีมากเป็นพิเศษ แต่มีสายตาที่ไม่ค่อยดีนัก
- ที่อยู่อาศัย พื้นที่ที่แรดชอบอาศัยอยู่จะเป็นป่าฝนทึบและต้องมีแหล่งน้ำ แหล่งโคลน สำหรับให้อยู่อาศัย
- การกิน อาหารหลักของแรดจะเป็นการหากินผลไม้ป่า และใบไม้กับยอดอ่อนตามป่า
- ฤดูผสมพันธุ์ แรดจะไม่มีฤดูผสมพันธุ์ที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแรดตัวเมีย และจะทิ้งช่วงระยะเวลาในการคลอดลูกไปนานถึงรอบละ 4–5 ปี ก่อนจะผสมพันธุ์ครั้งต่อไป โดยแรดจะออกลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น
8. พะยูน
พะยูน หรือชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ หมูดุด ปลาหมู หรือ ดุหยง เป็นสัตว์ป่าสงวนที่จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในน้ำ โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Dugong dugon และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ VU (Vulnerable) คือ ระดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์
- ลักษณะ พะยูนจะเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ คล้ายโลมา แต่มีตัวอ้วนโตกว่า และมีผิวลื่นสีเทา ส่วนพะยูนแก่จะมีสีผิวที่เปลี่ยนเป็นสีแดงอิฐด่างขาว จะมีขาหน้าที่เป็นใบใหญ่ ยาว และกว้าง เพื่อให้เคลื่อนที่ในน้ำอย่างสะดวก รวดเร็ว แต่ขาหลังจะหดกลายเป็นกระดูกเล็กๆ ที่แทบจะมองไม่เห็น
- ที่อยู่อาศัย บริเวณที่พะยูนอยู่อาศัยจะเป็นทะเลเขตร้อน หรือทะเลเขตกึ่งร้อน
- การกิน อาหารของพะยูนจะเป็นหญ้าทะเลที่อยู่แนวน้ำตื้น ค่อนข้างใกล้ฝั่ง รวมถึง หญ้าทะเลบริเวณแนวหญ้าใต้ทะเลลึก และปลิงทะเลก็เป็นอาหารของพะยูนด้วยเช่นกัน
- ฤดูผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์ของพะยูนจะเกิดขึ้นเมื่อตัวเมียพร้อม หรือมีอายุถึง 13 ปีเป็นต้นไป โดยใช้เวลาตั้งท้อง 13 เดือน และออกลูกครั้งละ 1 ตัว
9. เลียงผา
เลียงผา เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่จัดเป็นสัตว์หายากมากทุกวันนี้ โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Capricornis Sumatraensis และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ VU (Vulnerable) คือ ระดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์สูงมาก
- ลักษณะ รูปลักษณ์ของเลียงผาจะดูคล้ายแพะ ส่วนบริเวณเท้าและรอยเท้าจะคล้ายกับเก้ง แต่จุดเด่นของเลียงผา คือ ลำตัวสีดำ ตัวเล็กสั้น และมีขนที่ชี้ฟูไปทั่วตั้งแต่หัวจนถึงลำตัวทั้งหมด มีหูใบใหญ่ที่ตั้งขึ้นอย่างโดดเด่น และกีบเท้าจะมีลักษณะขนานกัน ต่างกับกีบสัตว์ชนิดทั่วๆ ไปอย่างชัดเจน
- ที่อยู่อาศัย สามารถพบเลียงผาได้จากป่าหลากหลายประเภท แต่พื้นที่ที่เลียงผาชอบอยู่มากที่สุดจะเป็นภูเขาเปิดโล่ง หรือบริเวณพื้นที่สูงต่างๆ รวมถึงต้นไม้
- การกิน อาหารหลักจะเป็นหญ้า ยอดไม้ และใบไม้
- ฤดูผสมพันธุ์ ช่วงฤดูผสมพันธุ์ของเลียงผาจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน และใช้เวลาตั้งท้องนาน 7 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว
10. สมเสร็จ
สมเสร็จ เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ยากมาก และยังเป็นสายพันธุ์ของสัตว์ดึกดำบรรพ์ โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Tapirus indicus และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ EN (Endangered species) คือ ระดับความเสี่ยงที่ใกล้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติและค่อนข้างสูง เพราะสมเสร็จมักถูกมนุษย์ตามล่า หรือตามดักจับมาเลี้ยงไว้ จึงต้องขึ้นทะเบียนให้เป็นสัตว์ป่าสงวนทันที
- ลักษณะ รูปร่างดูเผินๆ จะคล้ายกับหมูขายาว ซึ่งสมเสร็จจะมีลักษณะตัวที่อ้วนตัน และมีจมูกเป็นงวงคล้ายกับช้าง แต่เป็นงวงเล็กที่เข้ากับรูปร่าง และมีสีดำทั่วลำตัว ยกเว้นบริเวณท้องจนถึงสะโพกที่จะเป็นสีขาวหม่นๆ เป็นสัตว์ไม่ดุร้าย ดูแล้วค่อนข้างน่ารักจากลักษณะท่าทางต่าง ๆ
- ที่อยู่อาศัย สมเสร็จอาศัยอยู่ได้ทั้งป่าสูง และป่าต่ำ ที่มีลักษณะเป็นป่ารกทึบ และจะมีการเดินทางอยู่ตลอดเวลา
- การกิน สมเสร็จเป็นสัตว์กินพืช สามารถกินได้ทุกอย่างที่เป็นพืชตามป่า เช่น ผลไม้ ใบไม้ พืชน้ำ หญ้า ยอดไม้ ไม้พุ่มเตี้ย เป็นต้น
- ฤดูผสมพันธุ์ สมเสร็จจะตั้งท้องครั้งละ 13 เดือน และออกลูกครั้งละแค่ 1 ตัว โดยไม่มีช่วงเวลาฤดูผสมพันธุ์ที่แน่ชัด
11. สมัน
สมัน เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จัดอยู่ในตระกูลกวาง และเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนที่สูญพันธุ์ไปแล้วเรียบร้อย หรือจัดอยู่ในความเสี่ยงของบัญชี Red list ในกลุ่ม EX (Extinct) คือ สูญพันธุ์ไปแล้วทั้งหมด โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Rucervus schomburgki แต่ปัจจุบันยังคงใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่าสงวนกับสมันเพื่อดูแลรวมไปถึงซากสัตว์ด้วย เป็นการสูญพันธุ์จากการรุกรานและการออกล่าของมนุษย์เป็นสาเหตุหลัก
- ลักษณะ สมันคือกวางที่มีลักษณะเขาสวยงามมากที่สุดของโลก และเป็นกวางชนิดเดียวที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ซึ่งสมันจะมีลำตัวยาวถึง 180 เซนติเมตร รูปร่างสง่างาม มีขนหยาบสีน้ำตาลเข้มชัดเจน และมีขนช่วงใต้ลำตัวกับช่วงแก้มเป็นสีจางอ่อนๆ ส่วนเขาของสมันจะมีการแตกกิ่งที่เยอะมาก มีลักษณะเขาหงายขึ้น และมีการแตกกิ่งเป็น 2 กิ่งอย่างโดดเด่น
- ที่อยู่อาศัย สามารถพบสมันได้ที่ประเทศไทย บริเวณจังหวัดที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น
- การกิน อาหารหลักของสมัน คือ หญ้า
- ฤดูผสมพันธุ์ ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับฤดูผสมพันธุ์ที่ชัดเจน แต่ด้วยความที่สมันตัวเมียจะไม่มีเขา แล้วดูคล้ายละมั่ง จึงทำให้มีความเชื่อต่อกันมาว่า สมันจะมีเฉพาะตัวผู้เท่านั้น หรือเพราะสมันผสมกับละมั่ง ก็จะมีลูกเป็นสมันหรือละมั่งก็ได้
12. ละมั่ง
ละมั่ง หรือชื่อเรียกอีกอย่างว่า ละอง เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม จัดเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกันกับกวาง โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Rucervus eldii และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ EN (Endangered species) คือ ระดับความเสี่ยงที่ใกล้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติและค่อนข้างสูง เพราะยังคงถูกล่าอยู่บ่อยๆ เนื่องจากมนุษย์หลายกลุ่มชอบออกล่ากวางกันด้วยเหตุผลต่างๆ มากมาย
- ลักษณะ ละมั่งเป็นกวางขนาดกลางที่จะมีรูปร่างลำตัวสวยงามมาก โดยมีขนสีน้ำตาลแดงสว่างชัดเจนตอนฤดูร้อน และสีขนจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลเข้มในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งละมั่งจะมีขนบริเวณสันหลังลากยาวเป็นขนสีดำ พร้อมกับมีเขาโค้งยาวที่ลักษณะโน้มทั้งหน้าและหลัง จึงดูเป็นกวางชนิดที่มีเขาใหญ่และรูปลักษณ์โดยรวมสวยงามอย่างมาก ส่วนละองบ้างก็ว่าจะตัวเล็กกว่าละมั่ง แต่ค่อนข้างคล้ายกัน
- ที่อยู่อาศัย ละมั่งหรือละอง จะชอบอยู่บริเวณพื้นที่ป่าเปิดโล่ง และมีแม่น้ำอุดมสมบูรณ์
- การกิน อาหารหลักของละมั่ง คือ หญ้า ยอดไม้ พืชน้ำ
- ฤดูผสมพันธุ์ ระยะเวลาที่เข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ของละมั่งหรือละองจะอยู่ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม และใช้เวลาตั้งท้องนานมากถึง 220–240 วัน โดยคลอดลูกครั้งละ 1 ตัว
13. วาฬบรูด้า
วาฬบรูด้า หรืออีกชื่อเรียกคือ วาฬแกลบ เป็นประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่อาศัยอยู่ในทะเล โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Balaenoptera edeni และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ NT (Near Threatened) คือ ระดับความเสี่ยงใกล้เข้าสู่การถูกคุกคามให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ทั้งจากมนุษย์และโดยธรรมชาติ เพราะวาฬบรูด้ายังคงถูกลักลอบออกล่าอยู่เรื่อยๆ ในทุกวันนี้ รวมถึง ผลกระทบมลพิษทางท้องทะเลอีกมากมายที่เกิดจากมนุษย์
- ลักษณะ ครีบของวาฬบรูด้าจะเป็นจุดเด่นอย่างมาก เพราะบริเวณครีบของวาฬบรูด้าจะค่อนไปอยู่ทางท้ายๆ ลำตัว และมีรูปร่างโค้งไปทางปลายหาง ส่วนครีบคู่หน้าจะมีปลายที่แหลม รูปร่างลำตัวค่อนข้างเพรียว และมีสีเทาดำสลับกับด่างมีขาวแต้มบริเวณใต้ช่วงคอลงไป
- ที่อยู่อาศัย วาฬบรูด้าสามารถพบเห็นได้ตามทะเลที่เป็นเขตร้อนและเขตกึ่งร้อนทั้งหมด รวมถึงประเทศไทยก็เคยพบวาฬบรูด้าแล้วเช่นกัน
- การกิน อาหารหลักของวาฬบรูด้าจะเป็นฝูงปลาขนาดเล็กต่างๆ เช่น ปลากะตัก ปลาทูขนาดเล็ก และอื่นๆ เป็นต้น
- ฤดูผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์ของวาฬบรูด้าจะเกิดขึ้นเมื่อวาฬบรูด้าตัวเมียพร้อมในช่วงอายุ 9 – 13 ปี และคลอดลูกครั้งละ 1 ตัวในทุกๆ 2 ปี
14. วาฬโอมูระ
วาฬโอมูระ เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และเป็นสัตว์ที่อาศัยในท้องทะเล ซึ่งวาฬโอมูระเป็นสัตว์สายพันธุ์หายากมาก จึงทำให้ทาง IUCN ได้จัดสถานการณ์ประเมินความเสี่ยงไว้ที่ระดับ DD (Data Deficient) คือ สัตว์ที่อยู่ในกลุ่มไม่สามารถประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ เนื่องจากข้อมูลยังมีไม่เพียงพอ โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Balaenoptera omurai
- ลักษณะ รูปลักษณ์ของวาฬโอมูระจะคล้ายกับวาฬบรูด้าอย่างมาก และยังเป็นสายพันธุ์ที่ค้นพบได้ยากมากที่สุด แต่ลักษณะที่วาฬโอมูระแตกต่างจากวาฬบรูด้าอย่างชัดเจน คือ วาฬโอมูระที่เต็มวัยแล้วมีขนาดที่เล็กกว่าวาฬบรูด้าเยอะมาก และมีครีบที่ไม่ได้ตกไปจนถึงช่วงหางหรือช่วงปลายลำตัว จะมีครีบที่ยังเห็นได้ชัดเจนและโค้งน้อยกว่าแต่ขนาดครีบสูงกว่า
- ที่อยู่อาศัย ในการพบเจอวาฬโอมูระแต่ละครั้ง ยังไม่มีใครได้บันทึกแหล่งที่อยู่หรือแหล่งที่พบเจอไว้อย่างชัดเจน และเหมือนกับวาฬโอมูระสามารถว่ายน้ำไปได้หลายพื้นที่ท้องทะเล ซึ่งปัจจุบันยังคงไม่มีการพบเห็นวาฬโอมูระอีก ไม่แน่ชัดว่าอาศัยใต้ทะเลลึกมากหรือสูญพันธุ์ไปแล้ว
- การกิน อาหารหลักของวาฬโอมูระจะเป็นกลุ่มปลาขนาดเล็ก และเคย
- ฤดูผสมพันธุ์ ไม่พบข้อมูลฤดูผสมพันธุ์หรือการขยายพันธุ์ของวาฬโอมูระ
15. ปลาฉลามวาฬ
ปลาฉลามวาฬ เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์เลือดเย็น ตระกูลเดียวกับปลา โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Rhincodon typus และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ EN (Endangered species) คือ ระดับความเสี่ยงที่ใกล้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติและค่อนข้างสูง เพราะได้รับผลกระทบจากการทำประมงอยู่ตลอด และมักมีการล่าครีบของฉลามวาฬไปลักลอบขายอีกด้วย
- ลักษณะ ในตอนนี้ปลาฉลามวาฬจัดว่าเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด และเคลื่อนที่ช้ามาก โดยมีขนาดตัวถึง 8–17.5 เมตร มีน้ำหนักมากกว่า 21–35 ตัน และมีขนาดหัวที่ใหญ่กว่าลำตัวมาก มีช่องเหงือกในการหายใจ 5 ช่อง จะมีลำตัวสีเทาดำ และใต้ท้องจะเป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน
- ที่อยู่อาศัย ปลาฉลามวาฬจะอาศัยอยู่บริเวณทะเลเขตอบอุ่น หรือเขตร้อน ลึกลงไปตามแนวปะการังไม่เกิน 700 เมตร ซึ่งในทางฝั่งอ่าวไทย และทะเลอันดามันของประเทศไทยเราก็เคยพบปลาฉลามวาฬด้วยเช่นกัน
- การกิน อาหารหลักของปลาฉลามวาฬจะกรองกินภายในปากและช่องกรอง โดยมีอาหารเป็นแพลงก์ตอน
- ฤดูผสมพันธุ์ ยังไม่ทราบข้อมูลช่วงฤดูผสมพันธุ์ของปลาฉลามวาฬที่แน่ชัด
16. เต่ามะเฟือง
เต่ามะเฟือง เป็นสัตว์ป่าสงวนที่จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลาน โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Dermochelys coriacea และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ VU (Vulnerable) คือ ระดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์สูง
- ลักษณะ เต่ามะเฟืองมีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งขนาดโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักมากถึง 800–900 กิโลกรัม และความยาวตั้งแต่ 1.5–2.5 เมตร ซึ่งจุดเด่นของเต่ามะเฟืองที่ต่างจากเต่าอื่นๆ จะเป็นกระดอง เพราะกระดองเต่ามะเฟืองจะเป็นหนังมาหุ้ม ไม่ได้เป็นกระดองแข็งเหมือนกับเต่าทั่วไป ไม่สามารถหดหัวเข้ากระดองได้ ร่องสันหลังของกระดองจะนูนเป็น 7 สัน ดูคล้ายกับผลมะเฟือง จึงชื่อว่า เต่ามะเฟือง
- ที่อยู่อาศัย เต่ามะเฟืองจะอยู่ในน้ำเท่านั้น และมักจะอยู่พื้นที่ทะเลลึก โดยสามารถอยู่ใต้น้ำลึกถึง 1,280 เมตร แต่จะขึ้นบกมาเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่เท่านั้น
- การกิน อาหารหลักของเต่ามะเฟืองจะเป็นแมงกะพรุน
- ฤดูผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์และการวางไข่ของเต่ามะเฟืองจะขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมของชายหาดในการวางไข่ ซึ่งเต่ามะเฟืองจะวางไข่ครั้งแรก 66–104 ฟองต่อหลุม แต่อัตราการเกิดและรอดชีวิตของลูกเต่านั้นมีค่อนข้างน้อยมาก
17. นกกระเรียน
นกกระเรียน เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์ปีก และเป็นนกที่บินได้สูงที่สุดในโลก โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Grus antigone และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ VU (Vulnerable) คือ ระดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเข้าข่ายใกล้สูญพันธุ์สูง
- ลักษณะ นกกระเรียน เป็นนกที่มีขนาดใหญ่มากถึง 176 เซนติเมตรเป็นต้นไป และมีความกว้างของปีกใหญ่มากถึง 240 เซนติเมตร มีสีลำตัวเป็นเทาอ่อน และส่วนลำคอกับใบหน้าไม่มีขน เป็นหนังที่เป็นสีแดงหรือส้มแก่บริเวณใบหน้า
- ที่อยู่อาศัย นกกระเรียนสามารถอาศัยอยู่ได้ทุกลักษณะพื้นที่ แต่สำหรับพื้นที่อยู่อาศัยที่ชอบจะเป็นพื้นที่หนองน้ำ แอ่งน้ำเล็ก ๆ
- การกิน อาหารหลักจะเป็นหัวพืชที่อยู่ใต้ดินต่างๆ รวมถึง สัตว์บนพื้นดินขนาดเล็ก
- ฤดูผสมพันธุ์ ช่วงฤดูผสมพันธุ์ไม่มีชัดเจน แต่แม่นกกระเรียนจะวางไข่ครั้งละ 2 ฟอง โดยใช้เวลาฟักกกไข่อีกประมาณ 31–34 วัน
18. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรืออีกชื่อคือ นกตาพอง เป็นสัตว์ป่าสงวนที่มีการพบเห็นน้อยมากทุกวันนี้ และยังไม่มีการบันทึกอย่างเป็นหลักฐานชัดเจนของการพบเห็นในพื้นที่ที่มีโอกาสได้เจอมากที่สุด จึงทำให้ทาง IUCN ได้จัดอยู่ในความเสี่ยงของบัญชี Red list ในกลุ่ม EX (Extinct) คือ สูญพันธุ์ไปแล้วทั้งหมด ถึงแม้ยังไม่ทราบสถานะจำนวนที่ชัดเจนอยู่ก็ตาม โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pseudochelidon sirintarae
- ลักษณะ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นประเภทนกนางแอ่นขนาดกลาง ขนาดประมาณ 12 – 13 เซนติเมตร โดยมีสีดำเหลือบด้วยเขียวเข้มทั้งตัว และมีแถบพาดขาวบริเวณตะโพก ส่วนหางจะเป็นขนคู่ที่ยื่นออกไปอย่างเรียวยาว และมีปากเป็นสีเหลืองสด
- ที่อยู่อาศัย นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีการบินย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ แต่ละฤดูกาล แต่มักพบได้ตามพื้นที่เปิดโล่งและมีแหล่งน้ำจืด หากในประเทศไทยจะพบได้ที่บริเวณบึงบอระเพ็ด ส่วนปัจจุบันไม่มีรายงานการพบเห็นเลย
- การกิน อาหารหลักเหมือนกับนกนางแอ่นทั่วไป คือ การกินแมลงที่บินตามอากาศ
- ฤดูผสมพันธุ์ ข้อมูลของแหล่งผสมพันธุ์และวางไข่มีระบุไว้น้อยมาก
19. นกแต้วแล้วท้องดำ
นกแต้วแล้วท้องดำ เป็นสัตว์ป่าสงวนประเภทสัตว์ปีก เป็น 1 ใน 12 ชนิดของนกแต้วแล้วที่พบในประเทศไทย โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pitta gurneyi และทาง Red list ของ IUCN ได้จัดความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ระดับ EN (Endangered species) คือ ระดับความเสี่ยงที่ใกล้สูญพันธุ์ตามธรรมชาติค่อนข้างสูง
- ลักษณะ เป็นนกเล็กที่ตัวอ้วน คอสั้น มีลำตัวยาว 22 เซนติเมตร โดยจุดเด่นอยู่ที่สีของนกพันธุ์นี้ จะมีหลังคอกับหางเป็นสีน้ำเงินเหลือบฟ้า ท้องและลำตัวจะเป็นสีเหลืองสดสลับพาดกับดำเป็นริ้วไปเรื่อยๆ ค่อยข้างเป็นสีที่สวยมาก
- ที่อยู่อาศัย บริเวณที่นกแต้วแล้วท้องดำอาศัยอยู่จะเป็นพื้นที่ป่าดิบราบต่ำ อยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำชื้นแฉะ
- การกิน อาหารหลักจะเป็นแมลงบนพื้นดิน รวมถึง การขุดหาไส้เดือนมากิน และในบางครั้งก็สามารถกินกบหรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็กอื่นๆ ได้ด้วย
- ฤดูผสมพันธุ์ นกแต้วแล้วท้องดำจะมีระยะเวลาฤดูผสมพันธุ์ช่วงเดือนมีนาคม จนถึง เดือนมิถุนายน และวางไข่ครั้งละ 3–4 ฟอง
สรุป
เมื่อทำความรู้จักกับเหล่าสัตว์ป่าสงวนไปแล้วว่ามีอะไรบ้าง พร้อมเรียนรู้ว่าทำไมสัตว์เหล่านั้นถึงมีจำนวนลดลง จะเห็นได้เลยว่ามนุษย์เองก็มีส่วนทำให้สัตว์เหล่านั้นใกล้สูญพันธุ์ ส่งผลให้สัตว์หลายชนิด หลายสายพันธุ์ ต้องเป็นสัตว์สงวนที่อยู่ในการอนุรักษ์ไปอีกนานกว่าจะมีจำนวนมากขึ้น
องค์กรCheewid ของเราเป็นตัวกลางที่รวบรวมองค์กรต่างๆ ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เปิดรับบริจาคให้กับองค์กรเหล่านั้นได้ไปต่อ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์สัตว์สงวนได้ง่ายๆ ผ่านการบริจาคให้กับองค์กรเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ต่างๆ แล้วเปลี่ยนโลกให้เป็นพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและสงบสุข
Reference
- สำนักงานข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (NATIONAL NEWS BUREUA OF THAILAND). “สัตว์ป่าสงวน” กับ “สัตว์ป่าคุ้มครอง” ความเหมือนหรือแตกต่าง. thainews.prd.go.th. Published 18 July 2018.
- Twinkl. เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ สัตว์ป่าสงวน (Reserved Wild Animals). twinkl.co.th.
- Twinkl. IUCN Red List of Threatened Species. twinkl.co.th.
- โลกสีเขียว. รายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง. verdantplanet.org. Published 27 October 2021. Retrieved 26 December 2022.
- Iucnredlist. Red List of Threatened Species. iucnredlist.org.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ระดับความเสี่ยงบัญชีแดงไอยูซีเอ็น – IUCN Red List. th.wikipedia.org. Published 9 November 2009
- โลกสีเขียว. กระซู่. verdantplanet.org. Published 25 August 2021. Retrieved 25 August 2021.
- โลกสีเขียว. กวางผา. verdantplanet.org. Published 24 August 2021. Retrieved 6 January 2023.
- โลกสีเขียว. กรูปรี. verdantplanet.org. Published 23 August 2021. Retrieved 23 August 2021.
- โลกสีเขียว. เก้งหม้อ. verdantplanet.org. Published 24 August 2021. Retrieved 27 September 2021.
- โลกสีเขียว. ควายป่า. verdantplanet.org. Published 24 August 2021. Retrieved 29 August 2021.
- โลกสีเขียว. แมวลายหินอ่อน. verdantplanet.org. Published 29 August 2021. Retrieved 29 August 2021.
- โลกสีเขียว. แรด. verdantplanet.org. Published 25 August 2021. Retrieved 14 October 2022.
- โลกสีเขียว. พะยูน. verdantplanet.org. Published 24 August 2021. Published 24 August 2021.
- โลกสีเขียว. เลียงผา. verdantplanet.org. Published 24 August 2021. Published 27 September 2021.
- โลกสีเขียว. สมเสร็จ. verdantplanet.org. Published 23 August 2021. Published 23 August 2021.
- โลกสีเขียว. สมัน. verdantplanet.org. Published 25 August 2021. Published 20 August 2023.
- โลกสีเขียว. ละมั่ง. verdantplanet.org. Published 25 August 2021. Published 28 September 2021.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. วาฬบรูด้า. th.wikipedia.org. Published 23 September 2008.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. วาฬโอมูระ. th.wikipedia.org. Published 21 August 2017.
- Inspirerunner. วาฬโอมูระ. inspirerunner.com.
- Inspirerunner. ปลาฉลามวาฬ. inspirerunner.com.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. ปลาฉลามวาฬ. th.wikipedia.org. Published 22 January 2009.
- Inspirerunner. เต่ามะเฟือง. inspirerunner.com.
- โลกสีเขียว. นกกระเรียน. verdantplanet.org. Published 24 August 2021. Published 24 August 2021.
- โลกสีเขียว. นกแต้วแล้วท้องดำ. verdantplanet.org. Published 24 August 2021. Published 29 August 2021.
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร. th.wikipedia.org. Published 17 December 2006.