ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมากมายไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า สัตว์น้ำ สัตว์บก รวมไปถึงสัตว์ปีก การสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านี้เป็นปัญหาที่มนุษย์โลกไม่ควรมองข้าม หากการมีอยู่ของสัตว์สิ่งมีชีวิตที่เคยอาศัยอยู่บนโลกค่อยๆ หายไปทีละนิดทีละน้อยจนสูญพันธ์ุ แล้วความสมดุลของระบบนิเวศในธรรมชาติจะเป็นอย่างไรต่อไป?
อัตราความเสี่ยงการสูญพันธุ์ของสัตว์
ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญอัตราความเสี่ยงการสูญพันธุ์ของสัตว์อย่างไม่หยุดนิ่ง และตัวเลขก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากการรายงานของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ International Union for Conservation of Nature (IUCN) ให้ข้อมูลว่าปัจจัยที่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์เกิดจากเหตุผลหลายประการ ดังนี้
หากจะแบ่งประเภทความเสี่ยงการสูญพันธุ์ควรรับรู้ว่าสิ่งมีชีวิตกลุ่มใหญ่ประสบปัญหาร้อยละเท่าไรกันบ้าง ซึ่งทาง IUCN ได้ประเมินสถานะความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกตามบัญชีแดงในปัจจุบัน ได้มีการประเมินสิ่งมีชีวิตไปแล้วกว่า 128,500 ชนิดโดยมีชนิดที่ถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์กว่า 33,500 ชนิด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 41% สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 27% ไม้สน 34% นก 13% ฉลามและกระเบน 37% แนวปะการัง 36% กุ้ง 28% สัตว์เลื้อยคลาน 21% และปะการัง 69%
ปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์
ก่อนที่จะไปดูว่ามีสัตว์ชนิดใดบ้างบนโลกนี้ที่ใกล้สูญพันธุ์ และสัตว์ชนิดใดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว มาดูสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านั้นกันก่อน โดยจะมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้
-
ถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่
การรุกป่าของผู้คนเพื่อสร้างหรือขยายพื้นที่เพื่อทำอุตสาหกรรม หรือเพื่อสร้างโรงงานต่างๆ สิ่งเหล่านี้เกิดมาช้านานแล้ว และยังมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ พฤติกรรมดังกล่าวเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์อย่างมาก เพราะเมื่อไรที่สัตว์ไม่มีที่อยู่ ไร้แหล่งอาหาร พวกสัตว์ก็ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ต่อไป ซึ่งจะมีกลุ่มสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากถูกบุกรุกถิ่นที่อยู่ ได้แก่ ปลาแซลมอน หมีแพนด้า ช้างแอฟริกา นกเค้าแมว เต่าเกาะปินตา หรือนกพิราบป่า
-
ภาวะโลกร้อน กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ปัญหาโลกร้อน เป็นปัจจัยต่อเนื่องที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้ธรรมชาติขาดความสมดุล ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศของโลกได้ทันที ซึ่งจะมีกลุ่มสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากภาวะโลกร้อน กับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ หมีขั้วโลก เสือดาวหิมะ หมีแพนด้า เสือ ผีเสื้อจักรพรรดิ เต่าทะเล ช้างแอฟริกา กอริลลา หรือเสือดาว
-
ถูกล่าโดยมนุษย์
การล่าสัตว์ของมนุษย์มีจุดประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อการค้า ทำเป็นอาหารหรือยา การนำสัตว์ไปทดลองยาส่งผลเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสต่อสัตว์ เพราะเมื่อไรที่มีการทดลองก็ถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงทางใดทางหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นสัตว์ก็อาจล้มตายได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ว่าเป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้สัตว์เหล่านั้นเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้นไปอีก มีกลุ่มสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากถูกล่าโดยมนุษย์ ได้แก่ ลีเมอร์ กอริลลา เสือดาวหิมะ ลิ่น แรด เสือ เต่าทะเล และช้าง ในส่วนของประเทศไทยก็มีการถูกล่าจนสูญพันธุ์เช่นเดียวกัน ได้แก่ ลิ่น เต่ามะเฟือง นกแต้วแล้วท้องดำ พะยูน นกชนหิน และมหิงสา (ควายป่า)
-
ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species)
การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศของโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีสิ่งมีชีวิตประเภท หอยเชอร์รี่ ผักตบชวา หรือไมยราบยักษ์ ซึ่งทั้งสามตัวอย่างสิ่งมีชีวิตนี้เป็นกลุ่มที่ไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ พวกมันสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว และการมีอยู่ของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเหล่านี้อาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคที่ไม่คุ้นเคยมาสู่สัตว์ต่างๆ ในพื้นที่ จนทำให้สัตว์เหล่านั้นล้มตายได้ทีละจำนวนมากๆ
สัตว์โลกที่ใกล้สูญพันธุ์
ในโลกใบนี้มีสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์มากถึง 28 % ตัวเลขที่เห็นอาจจะดูไม่เยอะ แต่หากคิดเป็นจำนวนพันธุ์ของสัตว์ที่จะไม่ได้เห็นอีกต่อไปบนโลกก็จะพบว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เพียงแค่พันธุ์เดียวที่สูญไปก็ทำให้สีสันในธรรมชาติบนโลกหายไปหนึ่งสี และยังส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศอย่างห่วงโซ่อาหารของสัตว์ในบริเวณนั้นๆ อีกด้วย มาดูตัวอย่างสัตว์โลกที่ใกล้สูญพันธุ์ทั้งหมด 9 ชนิด ดังนี้
1. แรดชวา
แรดชวาเป็นสัตว์ที่หนังพับ หนังย่นเหมือนกับช้าง ซึ่งรอยพับมีอยู่ 5 แห่ง คือ บริเวณช่วงคอถึงหัวไหล่ หรือจะเป็นโคนขาที่ทบไปข้างหน้าและพาดต่อไปถึงโคนขาหน้าอีกด้านหนึ่ง ส่วนบริเวณโคนขาหลังด้านหนึ่งจะผ่านสะโพกยาวไปถึงโคนขาหลังไปอีกด้านหนึ่ง และบริเวณโคนหาง และที่โดดเด่นสำหรับแรดตัวนี้คือบริเวณเหนือจมูกจะมีนอสั้น ๆ หนึ่งนอ และเป็นแรดที่นอเล็กกว่าแรดชนิดอื่น มีกีบเท้า 4 ข้าง ข้างละ 3 กีบ มีริมฝีปากที่งุ้มงอยทำหน้าที่คล้ายมือในการเอาของกินเข้าปาก
แรดชวามีถิ่นที่อยู่อาศัยตามเกาะอินโดนีเซีย ไทย พม่า เวียดนาม ลาว บังกลาเทศ และอินเดีย ระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ถึง 27% จำนวนเหลืออยู่ในไทยไม่สามารถระบุได้ ส่วนเหลืออยู่โลก 72 ตัว
2. เสือโคร่งสุมาตรา
เสือโคร่งสุมาตราจะมีลักษณะแตกต่างจากเสือโคร่งสายพันธุ์อื่นๆ คือ บริเวณต้นคอของมันจะมีลักษณะที่หนามาก และยังมีลวดลายที่มากกว่าด้วย บางเส้นมีความเด่นแตกเป็นคู่และสีเข้มที่สุด แต่มีขนาดลำตัวเล็ก ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวเริ่มต้นจากหัวยันหางถึง 2.4 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 100-140 กิโลกรัม กลับกันตัวเมียจะมีความยาวเพียง 2.2 เมตร และหนักแค่ 91 กิโลกรัมเท่านั้น
ถิ่นอาศัยจะกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะเกาะสุมาตราเท่านั้น ล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นหมูป่า กวาง รวมไปถึงลิงอุรังอุตัง ระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ถึง 27% จำนวนที่เหลืออยู่ในไทยประมาณ 400-450 ตัว และเหลืออยู่ทั่วโลกที่ 200 กว่าตัว
3. ช้างป่า
ช้างป่าเป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน ลักษณะของมันมีความโดดเด่นตรงจมูกที่พัฒนาการยื่นยาวออกจากหน้าถึง 2 เมตร ซึ่งเรียกว่า “งวง” ภายในจะบรรจุด้วยเส้นประสาทและกล้ามเนื้อทั้งสิ้น รวมๆ แล้วเป็นหมื่นมัดได้ งวงจึงมีความอ่อนนุ่มใช้หายใจได้ อีกทั้งในช่วงฤดูแล้ง งวงของช้างป่าสามารถรับรู้ถึงกลิ่นน้ำไกลกิโลเมตร ฟันของช้างป่าตัดคู่บนหน้า 1 คู่ โดยจะมีชุดใหญ่ขนาด 6 ซี่ ลักษณะจะเชื่อมติดกันที่กรามบนและล่าง และความพิเศษของหนังช้างป่า คือ นุ่ม ย่น และหนา
ช้างป่าสามารถพบได้ในประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ไทย พม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย และสุมาตรา ช้างป่าจัดเป็นสัตว์กินพืชกินใบไม้เป็นอาหารหลัก อ้อย หน่อไม้ เป็นต้น ช้างป่าอยู่ในระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ที่ 27 % โดยปัจจุบันเหลืออยู่ทั่วไทยไม่ถึง 3,000 ตัว ส่วนทั่วโลกยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด
4. แพนด้า
ลักษณะของหมีแพนด้าจะมีเอกลักษณ์ตรงขนสีดำและสีขาว ส่วนหัว คอ สะโพกจะเป็นลักษณะสีขาวรอบดวงตาทั้งสองดวง ส่วนไหล่ หู ขาหน้า ขาหลังจะมีสีดำ ซึ่งหัวของหมีแพนด้าจะใหญ่เทียบสัดส่วนของตัว เท้าหน้ามี 6 นิ้ว พร้อมที่จะกางออกทุกครั้งเมื่อต้องปะทะ หรือปีนต้นไม้หาอาหาร
แพนด้าจะอาศัยอยู่ที่ระดับสูงถึง 1,200 – 3,500 เมตร ชอบอยู่ในป่าที่มีต้นไผ่หนาแน่น ส่วนใหญ่พบได้ในประเทศจีน แนวเขตราบสูงของทิเบต และอาหารของแพนด้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากต้นไผ่ อาจมีพืชอื่นๆ ด้วยแต่เป็นส่วนน้อย และมีกินเนื้อบ้างเล็กน้อย ระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ถึง 27% ณ ปัจจุบัน จำนวนแพนดาที่เหลืออยู่ทั่วโลกมีจำนวน 2,000 – 3,000 ตัว
5. นกเงือก
นกเงือกเป็นนกที่มีรูปร่างหน้าตาโบราณโดยมีอายุถือกำเนิดบนโลกนี้ไม่น้อยกว่า 50 ล้านปี เป็นนกที่ไม่ได้มีสีสันสะดุดตา ขนมีเพียงแค่สีดำ-ขาวทั้งตัว แต่ก็มีบางตัวมีขนสีน้ำตาล หรือเทา บางตัวที่สีสันฉูดฉาดจะเป็นส่วนของหนังเปลือย เช่น หนังบริเวณขอบตา คอ และจะพบสีเหลืองจัดตรงปากและโหนกของนก นกเงือกจะกินผลไม้และสัตว์เล็กเป็นอาหาร แต่หลักๆ ก็จะเป็นผลไม้
ถิ่นที่อยู่ของนกเงือกจะอยู่ป่าที่ราบต่ำ และป่าพรุทางใต้ ซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุกได้ง่าย ทำให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ของนกเงือกอยู่ที่ 13% จำนวนที่เหลืออยู่ในไทยข้อมูลในปี 2563 ทางการศึกษานิเวศได้ทำรังออกลูกนกถึง 232 โพรงรัง ทำให้ได้ลูกนกมากถึง 268 ตัว ส่วนจำนวนทั้งโลกไม่สามารถระบุได้
6.เต่ามะเฟือง
เต่ามะเฟืองจัดเป็นเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดโตเต็มวัยถึง 1.5 – 2.5 เมตร และมีน้ำหนัก 800 – 900 กิโลกรัม ลักษณะกระดองจะเป็นหนังหุ้ม ต่างจากเต่าชนิดอื่นที่มีกระดองแข็ง ลักษณะเป็นตีนพายเพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ในน้ำ หัวของมันใหญ่ไม่สามารถหดเข้ากลับกระดองได้เหมือนเต่าตัวอื่น และที่สำคัญกระดองหลังของมันจะเป็นลักษณะร่องสันนูนตามยาว 7 สันคล้ายกับผลมะเฟือง
เรามักจะพบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่เฉพาะบริเวณชายทะเลฝั่งอันดามันด้านตะวันตก จังหวัดพังงา ภูเก็ต และเกาะตะรุเตา เต่ามะเฟืองจะกินแมงกะพรุนอาหารหลัก ระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์จะอยู่ที่ 41% และปัจจุบันจำนวนที่เหลืออยู่ในไทยเหลือเพียง 300-400 รังต่อปี ส่วนจำนวนทั้งโลกไม่สามารถระบุได้
7. โลมาวากีตา
สำหรับเจ้าโลมาวากีตา เป็นโลมาที่ใครเห็นต่างก็หลงรัก เพราะมันเป็นโลมาขนาดเล็กที่พบได้เฉพาะตอนเหนือของอ่าวแคลิฟอร์เนีย หรือชายฝั่งทะเลเม็กซิโก ตัวโตเต็มวัยมีความยาวถึง 1.2-1.5 เมตร ซึ่งมีขนาดพอๆ กับเด็กอายุ 14 ขวบ และหนักประมาณ 40-45 กิโลกรัม โดยตัวเมียจะใหญ่กว่าตัวผู้ โลมาวากีตามีวงแหวนสีดำรอบดวงตา ส่วนริมฝีปากสีดำโดดเด่นมาก ร่างกายส่วนบนจะเป็นสีเทาเข้ม ด้านข้างจะเป็นสีเทาอ่อน ส่วนล่างจะขาว มีครีบที่ใหญ่และกระโดงโค้งกว่าโลมาทั่วไป
ถิ่นที่อยู่อาศัยของมันอย่างที่ทราบจะอยู่ชายฝั่งเม็กซิโกเป็นหลัก แต่อยู่รวมกันเป็นฝูง หากพวกมันสูญพันธุ์ก็เท่ากับว่าเม็กซิโกสูญเสียเสน่ห์อย่างหนึ่งไปเลย ส่วนการกินของโลวากีตาจะกินจะกินปลาและหมึกเป็นหลัก ระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ 37% และจำนวนที่เหลืออยู่ในทั่วโลกจากข้อมูลล่าสุดเหลือเพียง 10 ตัวเท่านั้น
8. วาฬสีน้ำเงิน
วาฬสีน้ำเงินมีส่วนหัวเป็นสีเงินสม่ำเสมอ ตัวของมันส่วนหลังจะเป็นสีน้ำเงินอมเทา ท้องจะสีจางกว่าเล็กน้อย ด้านหลังและข่างมีลายน้ำเงินและเทาอ่อนเป็นดวงๆ เป็นรอยด่าง ตัวจะเพรียวยาว หัวกว้างคล้ายตัวยู มีสันกลางหัว 1 สัน โตเต็มวัยยาวถึง 29 เมตร มีน้ำหนัก 72-135 ตัน หนักที่สุด 180 ตันอายุยืนถึง 80-90 ปี
วาฬสีน้ำเงินจะอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง และจะอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ระยะไกล เคยพบในไทย 3 ครั้ง คือที่หมู่เกาะสุรินทร์ เกาะลิบง และหมู่เกาะสิมิลัน ส่วนการกินของมันหลักๆ จะเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กไปถึงกลาง ระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ 27% จำนวนที่เหลืออยู่ทั่วโลกประมาณ 10,000 – 25,000 ตัว
9. ฉลามหัวค้อน
ฉลามหัวค้อนเป็นฉลามที่มีรูปร่างแปลกตาไปจากฉลามพันธุ์อื่น ส่วนหัวของมันจะแบนราบแผ่ออกข้างคล้ายกับปีก และดูคล้ายกับค้อนทั้งสองข้าง โดยจะมีตาอยู่สุดปลายทั้งสอง ซึ่งได้มีการสันนิษฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าความพิเศษของดวงตาจะช่วยให้พุ่งตัวขึ้นในแนวดิ่งได้ดีขึ้น ลำตัวจะเป็นสีเทาอมน้ำตาล หรืออมดำ ใต้ท้องเป็นสีขาวมีปากเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยวอย่างโดดเด่นอยู่ด้านล่างของหัว
ฉลามหัวค้อนจะกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกของทะเลแถบอบอุ่น อาหารการกินจะกินจำพวกปลากระดูกแข็งขนาดเล็ก ปลากระดูกอ่อนอย่างกระเบน และยังชอบกินหมึก กุ้ง ปู และหอย และอาจมีการล่าโลมาหรือแมวน้ำด้วย ระดับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อยู่ที่ 27% และจำนวนที่เหลืออยู่ในไทยไม่มากนัก เพราะในทะเลไทยถูกเฉือนตายแล้วถึง 75%
จะเกิดอะไรขึ้นหากสัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์
เมื่อเกิดไล่ล่า ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตจนสัตว์เหล่านั้นสูญพันธุ์ ย่อมมีผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน โดยผลกระทบจากการสูญพันธุ์ของสัตว์ มีดังนี้
- ปริมาณออกซิเจนน้อยลง เพราะสัตว์บางชนิดจะคอยหมุนเวียนแร่ธาตุสำคัญให้กับแพลงก์ตอนพืช ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวหลักในการผลิตออกซิบนโลก เช่น วาฬสีน้ำเงิน หรือวาฬอื่นๆ
- สัตว์บางชนิด เช่น ช้าง เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดโครงสร้างป่า หากสิ่งมีชีวิตเกิดสูญพันธุ์จะทำให้ห่วงโซ่อาหารพัง ระบบนิเวศแย่ลง ทำให้สัตว์อื่นล้มตายตามไปด้วยในเวลาต่อมา
ร่วมกันลดความเสี่ยงสูญพันธุ์ของสัตว์
มนุษย์โลกเราสามารถช่วยกันลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของเหล่าสัตว์ได้ด้วยง่ายๆ และใครก็สามารถร่วมมือช่วยกันได้ ดังนี้
-
สนับสนุนพรบ.คุ้มครองสัตว์ป่า
เป็นพรบ.ที่ต้องการรักษาคุณค่าธรรมชาติไว้ เพราะสัตว์ป่านั้นมีค่าต่อผืนป่ามาก โดยมีการห้ามล่าสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่ทำด้วยความจำเป็นเพื่อป้องกันชีวิต หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษจากการล่าจะต้องระวางจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
-
ลดความเสี่ยงภาวะโลกร้อน
หากต้องการลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน จะต้องเกิดการผลักดันระดับย่อยไปจนถึงระดับใหญ่ เช่น การออกกฎกติกา เช่น ห้ามตัดไม้ทำลายป่า ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำหรือถิ่นอาศัยของสัตว์ทุกชนิด ไปจนถึงการสนับสนุนพ.ร.บ.อากาศสะอาด หากฝ่าฝืนมีโทษที่รุนแรงชัดเจน
-
ไม่สนับสนุนผลิตภัณฑ์จากสัตว์
ไม่สนับสนุนสินค้าที่เกิดจากการทรมาณ หรือทดลองกับสัตว์ (Cruelty Free) เช่น เครื่องสำอางค์ หรือยาบางประเภท ตลอดจนการล่าสัตว์เพื่อนำมาทำเป็นวัสดุสำหรับสินค้าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ฆ่าช้างเอางวง ฆ่าเสือเอาหนัง ทุกฝ่ายต้องช่วยเป็นหูเป็นตาต่อผู้ลักลอบเหล่านี้ให้ถึงที่สุด
-
สนับสนุนองค์กรสนับสนุนสวัสดิภาพสัตว์
ด้วยกันช่วยกันศึกษาทำความเข้าใจถึงเป้าหมายขององค์กร และส่งต่อข้อมูลข่าวสารดีๆ ให้ผู้ได้ทำตามเป็นวงกว้างในการช่วยเหลือสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกผ่านการบริจาคให้องค์กรมีกำลังสนับสนุนคุ้มครองสัตว์ได้
สรุป
เมื่อได้รู้จักกับเหล่าสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์พร้อมทั้งสาเหตุแล้ว หากคุณอยากจะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ของสัตว์เหล่านั้น คุณสามารถทำตามวิธีต่างๆ ที่บทความนำเสนอไปได้ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยส่งเสริมองค์กรที่อนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้ผ่าการบริจาคผ่านเว็บไซต์ของ Cheewid ที่รวบรวมเอาองค์กรเหล่านี้มาให้เรียบร้อย สะดวกต่อการเลือกบริจาค และสามารถมั่นใจได้ว่าทุกบาททุกสตางค์นั้นถูกบริจาคไปยังองค์กรเพื่อสังคมโดยตร มาช่วยปกป้องสัตว์โลกที่น่ารักไปด้วยกันเพื่อความงดงามและสมบูรณ์ของโลกให้น่าอยู่กันเถอะ
Reference:
National Geography Thai. การถูกคุกคามของสายพันธุ์. ngthai.com. Published on 03 June 2022. Retrieved 28 July 2023.
IUCN Red List. IUCN Red List of Threatened Species. iucnredlist.org. Retrieved 21 July 2023.
USGS Science for a Changing World. Why do animals and plants become endangered?. www.usgs.gov. Retrieved 21 July 2023.
Emma Davies. How To Help Endangered Species? Take Action to Conserve Wildlife!. Popticles.com. Published on 27 January 2023. Retrieved 21 July 2023.