Key Takeaway
|
เราต่างก็ถูกสังคมหล่อหลอมให้คิดว่าอาชีพเกี่ยวกับศิลปะนั้น ‘ไส้แห้ง’ แต่ศิลปะเป็นอะไรที่มากกว่าเรื่องเงิน เพราะศิลปะคือสิ่งที่ช่วยหล่อหลอมจิตใจ ช่วยให้เข้าใจนัยยะบางอย่างได้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาเป็นคำพูด และในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันนี้ การมีอยู่ของศิลปะนั้นสำคัญต่อการมีอยู่ของใครหลายๆ คนด้วยเช่นกัน
มาทำความรู้จัก กราฟฟิตี้ (Graffiti) หรือศิลปะข้างกำแพง ที่ไม่ใช่แค่ศิลปะการขีดเขียนเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกไปด้วยประเด็นสังคม หากสงสัยว่าการเปิดเผยตัวตนผ่านศิลปะแบบนี้คืออะไร บทความนี้มีคำตอบ!
กราฟฟิตี้ ศิลปะข้างกำแพง มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร
กราฟฟิตี้ หรือ Graffiti มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกโบราณ ‘Grafito’ มีความหมายว่าการเขียนหรือการวาด รูปแบบของศิลปะนี้มีประวัติย้อนไปถึง 30,000 ปีก่อน โดยมีหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดคือภาพวาดบนผนังถ้ำทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นงานศิลปะถ้ำที่มีความเก่าแก่และได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยค้นพบ ต่อมากราฟฟิตี้ก็เริ่มนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากวัฒนธรรมฮิปฮอปในอเมริกาที่นิยมพ่นชื่อตัวเองบนผนังรถไฟใต้ดิน
กราฟฟิตี้ เป็นรูปแบบงานศิลปะที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะ ส่วนใหญ่เป็นการวาด พ่นสี หรือเขียนข้อความลงเท่ๆ ข้างกำแพง อาคาร หรือพื้นผิวต่างๆ โดยงานกราฟฟิตี้มีหลายรูปแบบตั้งแต่การเขียนชื่อแบบง่ายๆ ไปจนถึงงานศิลปะที่มีความซับซ้อน ศิลปะแนวนี้มักใช้สีสเปรย์หรือสีอะคริลิกในการสร้างสรรค์ผลงาน และมีสไตล์ที่หลากหลายทั้ง Wild Style, Bubble Style และ 3D Style
นอกจากกราฟฟิตี้จะเป็นการแสดงออกทางศิลปะแล้ว ยังสะท้อนความคิด ประเด็นสังคม และการเคลื่อนไหวทางสังคม แม้ว่าการทำกราฟฟิตี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจะผิดกฎหมายในหลายๆ ประเทศ แต่ปัจจุบันก็มีพื้นที่จำนวนมากที่เปิดโอกาสให้ศิลปินได้แสดงออกได้อย่างถูกกฎหมาย
ความแตกต่างระหว่าง Graffiti กับ Street Art
Street Art คือรูปแบบศิลปะที่รวมหลากหลายเทคนิคเข้าด้วยกันทั้งการเพนต์ ปั้น และพ่นสี โดยผลงานมักถูกสร้างสรรค์ในพื้นที่สาธารณะอย่างผนังตึกหรือข้างกำแพง ผู้สร้างสรรค์ผลงานไม่จำเป็นต้องเป็น Street Artist โดยเฉพาะ แต่อาจเป็นศิลปินทั่วไปที่หันมาสร้างงานในรูปแบบนี้ก้ได้เช่นกัน
เมื่อเทียบกับ Graffiti แล้ว Street Art จะมีเนื้อหาที่นุ่มนวลกว่า เน้นความสวยงามมากกว่าการเสียดสีสังคม แม้บางครั้งอาจแฝงประเด็นทางสังคมไว้ในผลงานบ้างตามที่ศิลปินจะสื่อสาร ที่สำคัญคือการสร้างผลงาน Street Art มักได้รับการอนุญาตจากเจ้าของสถานที่ จึงไม่ผิดกฎหมายเหมือนกราฟฟิตี้
กราฟฟิตี้ ศิลปะของคนชายขอบ ส่งผลต่อสังคมอย่างไร
กราฟฟิตี้มักพูดถึงประเด็นสังคมที่กำลังเป็นประเด็นร้อน หรืออาจเป็นเรื่องที่สังคมลืมไปแล้ว แล้วศิลปะแบบกราฟฟิตี้ส่งผลต่อสังคมอย่างไร ไปดูกัน
สะท้อนประเด็นสังคม
กราฟฟิตี้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมทั้งการทำงานของรัฐบาล สะท้อนความไม่เท่าเทียม การเรียกร้องประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน กราฟฟิตี้ยังนำเสนอปัญหาความเหลื่อมล้ำ วิพากษ์ระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม สื่อถึงปัญหาความยากจน การแบ่งชนชั้นในสังคม การเหยียดเชื้อชาติ ความเท่าเทียมทางเพศ และประเด็นสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่างานกราฟฟิตี้สามารถหยิบเอาทุกประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมออกมาตีแผ่ให้ลูกรู้ผ่านกำแพงที่เป็นเหมือนกระดาษขนาดใหญ่ได้เลยทีเดียว
เป็นช่องทางการสื่อสารของคนชายขอบ
กราฟฟิตี้เป็นช่องทางการแสดงออกของคนชายขอบเพื่อให้พวกเขาได้สื่อสารผ่านศิลปะ ทั้งปัญหาที่พบเจอ ความต้องการต่างๆ และการมีตัวตนในสังคมที่กำลังจะจางหายไป รวมถึงเป็นพื้นที่ในการต่อต้านกระแสหลัก ท้าทายบรรทัดฐานทางสังคม และสร้างพื้นที่สื่อทางเลือกให้กับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย
ทำให้ศิลปะเข้าถึงง่ายขึ้น
กราฟฟิตี้ได้ทำให้ศิลปะเข้าถึงง่ายขึ้นมาก เริ่มจากการนำศิลปะออกจากพื้นที่จำกัดอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ มาสู่พื้นที่สาธารณะที่ผู้คนพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้คนที่ไม่เคยสนใจหรือไม่มีโอกาสเข้าถึงงานศิลปะได้ลองสัมผัสกับศิลปะโดยไม่มีข้อจำกัด นอกจากนี้ รูปแบบการนำเสนอของกราฟฟิตี้ที่มักสื่อสารด้วยภาพและสัญลักษณ์ที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา เป็นตัวช่วยให้ผู้ชมได้เข้าถึงความหมาย และแนวคิดโดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านศิลปะมาก่อน
เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง
กราฟฟิตี้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการรับชมงานศิลปะ เมื่อผู้คนสามารถถ่ายรูปไปแชร์ลงในโซเชียลมีเดียและแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองและการตีความที่หลากหลาย รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบของตัวเองโดยไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบหรือกฎเกณฑ์แบบดั้งเดิม
เป็นจุดแลนด์มาร์กให้ชุมชน
กราฟฟิตี้สร้างเอกลักษณ์เท่ๆ ให้กับพื้นที่ต่างๆ ผ่านงานศิลปะที่มีสีสันและรูปแบบเฉพาะตัว ทำให้สถานที่ที่อาจดูธรรมดากลายเป็นจุดถ่ายภาพและจุดเช็กอินยอดนิยม ดึงดูดให้คนเข้ามาเยี่ยมชมและแชร์ภาพในโซเชียลมีเดีย ช่วยให้พื้นที่นั้นเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
นอกจากนี้ การมีงานกราฟฟิตี้ในชุมชน ยังช่วยสร้างบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา กระตุ้นให้เกิดร้านค้า ร้านอาหาร หรือธุรกิจท้องถิ่นต่างๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ชุมชนนั้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจมากขึ้นนั่นเอง
ตัวอย่างผลงานกราฟฟิตี้จากศิลปินชื่อดังทั่วโลก
มาดูตัวอย่างผลงานกราฟฟิตี้จากศิลปินชื่อดังทั่วโลก ที่เคยทำให้ทั่วโลกสั่นสะเทือนและถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายกันมาแล้ว จะมางานไหนน่าสนใจบ้าง ไปดูเลย
Banksy ศิลปินกราฟฟิตี้ชาวอังกฤษ
Banksy ศิลปินนิรนามชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดดเด่นด้วยงานกราฟฟิตี้ที่ใช้เทคนิคสเตนซิล (Stencil) ในการพ่นสี ส่วนใหญ่เป็นภาพขาวดำที่มีการเพิ่มสีสันเพียงหนึ่งหรือสองสีเพื่อเน้นจุดสำคัญ ผลงานของเขามักสอดแทรกประเด็นทางการเมือง สังคม และวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม
ผลงานที่โด่งดังที่สุดคือ ‘Girl with Balloon’ ภาพเด็กผู้หญิงปล่อยลูกโป่งหัวใจสีแดง ซึ่งสร้างความฮือฮาเมื่อภาพวาดได้ทำลายตัวเองทันทีหลังการประมูลเสร็จสิ้นในปี 2018 และ ‘Love is in the Air’ ภาพชายโยนช่อดอกไม้แทนระเบิดที่สื่อถึงการต่อต้านความรุนแรง
แม้ไม่มีใครรู้ว่า Banksy เป็นใคร แต่อิทธิพลของเขาต่อวงการศิลปะและสังคมนั้นปฏิเสธไม่ได้ ผลงานของเขาไม่เพียงมีความสวยงามทางด้านศิลปะเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้ผู้คนตั้งคำถาม และตระหนักถึงปัญหาสังคม Banksy จึงกลายมาเป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก
King Robbo ศิลปินกราฟฟิตี้ชาวอังกฤษ
King Robbo เป็นที่รู้จักกันในนามของ Graffiti Writer ชาวอังกฤษ ที่เป็นคนเบิกทางงานศิลปะแนว Graffiti ให้กับอังกฤษในช่วงปี 80 ในยุคสมัยที่ Graffiti ยังถูกเหมารวมว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจที่แสดงถึงการบุกรุก การต่อต้าน ที่ถูกนำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา
ผลงานที่โด่งดังของเขาคือ ‘Regent’s Canal’ (1985) เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา อยู่ใต้สะพานในคลอง Regent’s Canal เขต Camden กรุงลอนดอน เป็นหนึ่งในกราฟฟิตี้ที่เก่าแก่ที่สุดในลอนดอนที่อยู่มานานกว่า 24 ปี มีลักษณะเป็นตัวอักษรสไตล์ Old School จากยุค 80 ต่อมาในปี 2009 Banksy ได้วาดทับผลงานชิ้นนี้ จนเกิดเป็นสงคราม ‘Graffiti War’
King Robbo คือคู่ปรับตลอดกาลของ Banksy ที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับงาน Graffiti เสียดสีสังคมที่โด่งดังในเรื่องของความแสบสันที่เรียกเสียงฮือฮาในสังคมอยู่ทุกครั้งไป โดยสงครามของคู่ปรับคู่นี้ถูกแบ่งเป็น Team Banksy และ Team Robbo ซึ่งกินระยะเวลาหลายปี เกิดเป็นเรื่องราวที่โจษจันกันมากในวงการ แถมยังถูกเล่าต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้
Blek le Rat ศิลปินชาวฝรั่งเศส
Blek le Rat หรือ Xavier Prou ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งสตรีตอาร์ต’ เขาเป็นผู้บุกเบิกการใช้เทคนิคสเตนซิลในงานกราฟฟิตี้มาตั้งแต่ปี 1981 โดยเน้นการสร้างภาพขนาดเท่าคนจริงและชอบวาดภาพหนูจนเป็นที่มาของชื่อ
ผลงานที่โดดเด่นได้แก่ ‘The Man Who Walks Through Walls’ ภาพชายในชุดสูทเดินทะลุกำแพงที่สื่อถึงเสรีภาพ ‘David with Kalashnikov’ ที่ดัดแปลงจากรูปปั้น David ถือปืน AK-47 เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรง และ ‘Beggar Series’ ที่สะท้อนปัญหาคนไร้บ้านและความเหลื่อมล้ำในสังคม
Blek le Rat เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังอย่าง Banksy จุดเด่นของเขาคือการสร้างงานที่มีคุณค่าทางสังคม โดยใช้พื้นที่เมืองเป็นแกลเลอรี่กลางแจ้งทำให้ศิลปะเข้าถึงคนทุกระดับ ซึ่งผลงานของเขายังคงมีอิทธิพลต่อวงการสตรีตอาร์ตมาจนถึงปัจจุบัน
Lady Pink ศิลปินจากนิวยอร์ค
Lady Pink หรือ Sandra Fabara ศิลปินกราฟฟิตี้หญิงผู้บุกเบิกระดับโลก เกิดในเอกวาดอร์และเติบโตในนิวยอร์ก เริ่มสร้างผลงานตั้งแต่อายุ 15 ปี โดยเฉพาะการเพนต์รถไฟใต้ดินในช่วงปี 1979 – 1985 งานของเธอโดดเด่นด้วยการใช้สีสันสดใส โดยเฉพาะโทนสีชมพูซึ่งเป็นที่มาของชื่อ และการผสมผสานศิลปะชิคาโน่กับสตรีตอาร์ตแบบนิวยอร์กเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
มีผลงานสำคัญได้แก่ ‘The Death of Graffiti’ ภาพบนรถไฟใต้ดินที่สะท้อนการต่อสู้ของวัฒนธรรมกราฟฟิตี้ ‘Women’s Work Series’ ที่ท้าทายภาพจำแบบเดิมๆ ของผู้หญิง และโครงการ ‘Pink Lady’ ที่ร่วมงานกับ Jenny Holzer ผสมผสานกราฟฟิตี้กับศิลปะคอนเซ็ปชวล
ปัจจุบัน Lady Pink เป็นทั้งศิลปินและครูสอนศิลปะ ผลงานของเธอถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก เธอเป็นแบบอย่างของการยกระดับงานกราฟฟิตี้สู่วงการศิลปะกระแสหลัก โดยยังคงรักษาจิตวิญญาณของสตรีตอาร์ และการสนับสนุนสิทธิสตรีไว้ได้อย่างเข้มแข็ง
HEADACHE STENCIL ศิลปินจากเมืองไทย
Headache Stencil ศิลปินกราฟฟิตี้ชาวไทยที่มีชื่อเสียงจากผลงานวิพากษ์การเมืองและสังคม เขามักสร้างผลงานที่สื่อความหมายตรงไปตรงมา ใช้ภาพล้อเลียนและการเสียดสีเพื่อวิจารณ์ประเด็นร่วมสมัยจนได้รับฉายาว่า ‘Banksy เมืองไทย’
ผลงานที่โดดเด่นของเขานั้นรวมถึงภาพนาฬิกาข้อมือหรู ‘Black Panther’ ที่วิพากษ์ประเด็นนาฬิกาหรูของนักการเมือง ภาพ ‘เสือดำ’ ที่สะท้อนการล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง และ ‘ริษยาไม่มีวันจบ’ ที่แสดงภาพการต่อสู้ระหว่างคนรุ่นเก่า และรุ่นใหม่
ปัจจุบัน Headache Stencil ยังคงสร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง แม้จะเคยถูกคุกคามจากการวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจแต่เขาก็ยังใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองและสะท้อนปัญหาสังคมจนกลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีอิทธิพลที่สุดในประเทศไทย
รวม 5 องค์กรสนับสนุนการสร้างศิลปะในไทย ที่น่าสนใจ
มาดู 5 องค์กร ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างศิลปะในไทย เพื่อให้ศิลปะยังคงอยู่คู่กับคนไทยไปอีกนานๆ
1. บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ให้คำนิยามของ ‘ศิลปะ’ ว่าไม่เพียงหมายถึงการวาดภาพ แต่ยังรวมถึงการแสดงออกถึงศักยภาพ พลังความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการที่สร้างความประทับใจให้ผู้อื่น นอกจากนี้ ศิลปะยังช่วยสร้างสมาธิ ความมั่นคงทางจิตใจ และพัฒนาอารมณ์ ทำให้ทั้งผู้สร้างและผู้ชมรู้สึกผ่อนคลายไปพร้อมกัน
จากแนวคิดนี้ ‘ART STORY’ จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะธุรกิจเชิงสังคมของกลุ่มเด็กและบุคคลออทิสติก ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิออทิสติกไทย พวกเขาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ลายเส้น งานออกแบบ งานฝีมือ กาแฟ เบเกอรี่ และดนตรีไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะ และเตรียมความพร้อมให้เด็กพิเศษ สามารถประกอบอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน และพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต
- ที่อยู่: ซอยบางพรม 29 แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
- เบอร์ติดต่อ: 062-662-6639
- เว็บไซต์: https://artstorybyautisticthai.com/
2. Kanz by thaitor
Kanz by thaitor เป็นแบรนด์เสื้อผ้าบาติกร่วมสมัยที่ก่อตั้งโดย กานต์ศิริ พิทยะปรีชากุล ด้วยแนวคิด One of a Kind Piece ที่สร้างสรรค์ผลงานชิ้นเดียวในโลกที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ โดยใช้เทคนิคการทำบาติกแบบเฉพาะ ผสมผสานกับการใช้วัสดุเหลือใช้และเทคนิคดั้งเดิม ใช้ผ้าธรรมชาติในท้องถิ่นและนวัตกรรมผ้าที่ผสมผสานจากวัตถุดิบธรรมชาติ
แบรนด์นี้ยึดหลัก Slow Fashion โดยทำงานร่วมกับชุมชนบ้านร่องซ้อ จังหวัดแพร่ เพื่อสร้างงานฝีมือที่มีคุณภาพและยั่งยืน ผสมผสานผ้าไทยจากภาคต่างๆ เข้ากับงานบาติกสมัยใหม่เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจผ้าไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่น และร่วมกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดแพร่ สร้างความยั่งยืนทั้งด้านงานฝีมือ และชุมชนไปพร้อมๆ กันนั่นเอง
- ที่อยู่: ถนนร่องซ้อ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ แพร่
- เบอร์ติดต่อ: 092-191-4462
- เว็บไซต์: https://kanzbythaitor.com/
3. ยาหยี (Yayee)
ยาหยี (Yayee) เป็นแบรนด์ชุดผ้าปาเต๊ะที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2008 โดย วาสิตา น้อยประดิษฐ์ ด้วยความตั้งใจที่จะยกระดับผ้าปาเต๊ะซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของจังหวัดภูเก็ตสู่ระดับสากล แบรนด์นี้โดดเด่นด้วยการผสมผสานแฟชั่นร่วมสมัยเข้ากับลวดลายผ้าปาเต๊ะดั้งเดิม ออกแบบให้มีความเรียบหรูแต่ยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้อย่างลงตัว
ทุกชิ้นงานของยาหยีผลิตด้วยความพิถีพิถัน เลือกใช้เนื้อผ้าคุณภาพดี ตัดเย็บด้วยมือผ่านเครื่องจักรอย่างประณีต และเป็นสินค้า Home Made ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำผ้าปาเต๊ะมาพัฒนาต่อยอดเป็นแฟชั่นร่วมสมัยนี้ ไม่เพียงช่วยอนุรักษ์มรดกท้องถิ่นให้คงอยู่เท่านั้น แต่ยังทำให้วัฒนธรรมภูเก็ตเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนกลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต และประเทศไทยเลย
- ที่อยู่: เซ็นทรัล ภูเก็ต ฟลอเรสต้า ชั้น G ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต ภูเก็ต
- เบอร์ติดต่อ: 061-929-8996
- เว็บไซต์: https://www.yayeephuket.com/
4. Bangkok 1899
Bangkok 1899 เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นในปี 2019 โดยองค์กรศิลปะนานาชาติ (Creative Migration) มีภารกิจในการผสมผสานการทูตทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความร่วมมือในชุมชน
Bangkok 1899 เป็นศูนย์รวมของกิจกรรมที่หลากหลาย ประกอบไปด้วยพื้นที่จัดอีเวนต์ ศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม คาเฟ่ปลอดขยะที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น สวนหย่อม พื้นที่สำนักงานและที่พักสำหรับศิลปินนานาชาติ โดยมีโครงการแลกเปลี่ยนศิลปินระหว่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินไทยและต่างชาติได้ร่วมงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ช่วยเปิดโอกาสให้ศิลปินไทยได้แสดงผลงานในเวทีนานาชาติ
- ที่อยู่: ถนนนครสวรรค์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพ
- เบอร์ติดต่อ: –
- เว็บไซต์: https://bangkok1899.org/
5. Marionsiam
Marionsiam เป็นแบรนด์เสื้อผ้าผ้าบาติกที่ก่อตั้งในปี 2019 โดย ทยิดา อุนบูรณะวรรณ ด้วยแนวคิด Modern Craft ที่นำงานหัตถกรรมมาพัฒนาในรูปแบบร่วมสมัย เรียบง่าย แต่ให้ความสำคัญกับรายละเอียดการตกแต่งที่พิถีพิถัน โดยเฉพาะการเลือกใช้สีธรรมชาติ เช่น สีฟ้าจากครามสกลนคร สีชมพูอ่อนจากเปลือกมะพร้าว เป็นต้น
แรงบันดาลใจในการสร้างแบรนด์เกิดจากการสังเกตเห็นความคล้ายคลึงกันของลวดลายผ้าบาติกและผ้ามัดย้อมในท้องตลาด แบรนด์จึงต้องการสร้างความแตกต่างโดยนำความรู้จากชุมชนมาพัฒนาต่อยอดและออกแบบให้เป็นเสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ยังคงรักษาเสน่ห์ของงานหัตถกรรมดั้งเดิมไว้ได้ สะท้อนให้เห็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการออกแบบสมัยใหม่ได้อย่างกลมกลืน
- ที่อยู่: ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา
- เบอร์ติดต่อ: 093-756-3396
- เว็บไซต์: https://www.marionsiam.com
สรุป
กราฟฟิตี้เป็นงานศิลปะที่แสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ด้วยการวาด พ่นสี หรือเขียนข้อความลงข้างกำแพง อาคาร และพื้นผิวต่างๆ โดยใช้สีสเปรย์หรือสีอะคริลิกในการสร้างสรรค์ผลงาน และมีหลายสไตล์ทั้ง Wild Style, Bubble Style และ 3D Style นอกจากจะเป็นการแสดงออกทางศิลปะแล้ว ยังสะท้อนความคิด และประเด็นทางสังคม เป็นช่องทางในการสื่อสารของคนชายขอบ ช่วยให้ศิลปะเข้าถึงคนหลากหลายกลุ่ม นำมาสู่การแลกเปลี่ยนความคิด และกลายเป็นจุดแลนด์มาร์กสำหรับการพบปะของผู้คนได้อีกด้วย
Cheewid ขอเป็นอีกหนึ่งแรงในการเชี่ยมโยงระหว่างผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง หรือองค์กรต่างๆ กับผู้สนับสนุน เพื่อสนับสนุนศิลปะ ให้อยู่คู่กับคนไทยไปอีกนานๆ พร้อมขับเคลื่อนแนวคิด ให้ศิลปะไม่ได้เป็นเพียงศาสตร์ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าถึงได้เท่านั้น แต่เป็นการที่คน ‘ทุกกลุ่ม’ สามารถเข้าถึงได้ด้วย
Reference:
- ไทยโพสต์. อลังการกราฟฟิตี้ พลิกโฉมโคราชเมืองศิลปะ. thaipost.net. Published 1 December 2023. Retrieved 11 November 2024.
- CREATIVETHAILAND. “ศิลปินกราฟฟิตี้” ผู้เสียดสีสังคมยามค่ำคืน. creativethailand.org. Published 30 April 2024. Retrieved 11 November 2024.
- SGEPRINT. กราฟฟิตี้ คืออะไร ศิลปะน่ารู้ชวนค้นหา. sgeprint.com. Published 28 April 2021. Retrieved 11 November 2024.
- SPACEBAR. กราฟฟิตี้ คืออะไร ศิลปะน่ารู้ชวนค้นหา. spacebar.th. Published 30 January 2024. Retrieved 11 November 2024.
- THEREPORTERS. กราฟฟิตี้ ศิลปะ? ว่าด้วยการเมืองบนพื้นที่สาธารณะ. thereporters.co. Published 3 June 2023. Retrieved 11 November 2024.
- MGRONLINE. เจาะวิถี “กราฟิตี้” ลึกว่ารอยขีดข้างถนน คืองานศิลป์ระบายความอัดอั้น-ปัญหาสังคม!!. mgronline.com. Published 25 May 2023. Retrieved 11 November 2024.