เข้าสู่ระบบ

Table of Contents
Recent Post
กราฟฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะข้างกำแพง รอยขีดเขียนแห่งการเสียดสีสังคม
กราฟฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะข้างกำแพง รอยขีดเขียนแห่งการเสียดสีสังคม

บทความนี้ CHEEWID จะพาทุกคนมารู้จักกับ กราฟฟิตี้ (Graffiti) หรือศิลปะข้างกำแพง ที่ไม่ใช่การขีดเขียนเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังแทรกไปด้วยประเด็นสังคม การเผยตัวตนผ่านศิลปะนี้คืออะไร บทความนี้มีคำตอบ!

รวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์
รวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์

รู้หรือไม่? ทำบุญบริจาคให้โรงพยาบาลสงฆ์ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ บทความนี้ CHEEWID ได้รวบรวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์ มาให้แล้ว!

มัดรวม! 10 องค์กรพัฒนาชุมชน เพื่อให้สังคมก้าวสู่การพัฒนาในอีกระดับ
มัดรวม! 10 องค์กรพัฒนาชุมชน เพื่อให้สังคมก้าวสู่การพัฒนาในอีกระดับ

ใครที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการเพื่อชุมชน และสังคม กิจกรรมจิตอาสาในชุมชน CHEEWID ได้รวบรวมมาให้แล้วถึง 10 องค์กรพัฒนาชุมชน เพื่อการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้น

สังคมผู้สูงอายุ aging society กับการเปลี่ยนแปลงต่อนาคต ในเชิงสังคม และเศรษฐกิจ
สังคมผู้สูงอายุ กับการเปลี่ยนแปลงต่อนาคต ในเชิงสังคม และเศรษฐกิจ

เมื่อคนหนุ่มสาวไม่นิยมมีลูก จึงเกิดสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ขึ้น CHEEWID ชวนพาทุกคนไปรู้จักกับสังคมผู้สูงอายุ ว่าคืออะไร มีวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ให้สังคมอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีการหยุดพัฒนา

ผลกระทบของภาวะโลกร้อน ต่อสถานการณ์โลกและไทย

Cheewid ได้รวมข้อมูลผลกระทบและความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นพร้อมให้ทุกคนตระหนักรู้ และส่งต่อข้อมูลตลอดจนหน่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมแนวทางรับมือแก้ไขไปพร้อมกัน
ผลกระทบของภาวะโลกร้อน ต่อสถานการณ์โลกและไทย
Table of Contents

ภาวะโลกร้อน เป็นภาวะที่อุณหภูมิภายในโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนทั่วโลกกำลังเผชิญกันอยู่ ในบทความนี้ Cheewid จะพาไปเจาะลึกว่าภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อสิ่งใดบ้าง และมีแนวโน้มเป็นอย่างไรในอนาคตอันใกล้นี้

ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อธรรมชาติ

ภาวะโลกร้อนไม่เพียงส่งผลต่อสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อธรรมชาติอีกด้วย จะเห็นว่าทุกวันนี้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไป ภัยพิบัติต่างๆ เกิดขึ้นตามมาเรื่อยๆ อย่างไม่จบสิ้น ดังนี้

ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อสภาพอากาศ

ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อสภาพอากาศ

การที่โลกของเราไม่สามารถระบายความร้อนออกไปได้เหมือนเดิม ทำให้อุณหภูมิภายในโลกเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี เรามักเห็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งเป็นผลกระทบจากโลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พายุหิมะถล่มในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี 2022 ที่ผ่านมา คร่าชีวิตชาวเมืองไปมากกว่า 50 คน 

วิกฤติสภาพอากาศในประเทศไทย 

ในประเทศไทยเอง เมื่อช่วงต้นปี 2023 กรมอุตุฯ ได้มีการรายงานค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ในแต่ละภูมิภาคพุ่งสูงเกิน 54 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงความร้อนที่รุนแรง สามารถก่อให้เกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ส่งผลให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ผลกระทบของโลกร้อนต่อสภาพอากาศในอนาคต 

จากรายงานของ Climate Change ในปี 2021 ได้ระบุว่าหากสถานการณ์ภาวะโลกร้อนยังไม่ดีขึ้น ผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีต่อสภาพอากาศก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น สภาพอากาศก็จะแปรปรวนมากกว่าปกติ ส่งผลให้สภาพอากาศผิดแปลกไปจากเดิม เช่น เกิดภัยแล้งเป็นระยะเวลานานกว่าปกติหรือเกิดเหตุฝนตกก่อนฤดูกาล เกิดวิกฤตน้ำท่วม ฯลฯ  

ภัยแล้ง ผลจากโลกร้อน

ภัยแล้ง

ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบให้เกิดฝนทิ้งช่วง อันเป็นปัจจัยหลักๆ ที่ก่อให้เกิดภัยแล้ง The Washington Post รายงานว่า ในขณะนี้แอฟริกาตะวันออกกำลังเผชิญวิกฤติภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ความชื้นระเหยออกจากภูมิประเทศทำให้พื้นที่เพาะปลูกแห้งแล้ง ส่งผลให้คนและสัตว์จำนวนมากล้มตาย

ภัยแล้งในประเทศไทย 

ในประเทศไทยมักประสบปัญหานาแล้งแทบทุกปี และมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี จากตัวอย่างในจังหวัดพิจิตรเมื่อ ปี 2022 ที่ผ่านมา ต้นข้าวที่ปลูกไว้ได้แห้งตายจนหมด น้ำในแม่น้ำยมบางส่วนแห้งขอด และที่รุนแรงมากกว่านั้นคือ ในปี 2023 ที่ฤดูฝนของไทยเรามาช้ากว่าปกติ น้ำในแม่น้ำหลายสายแห้งแล้ง ผลผลิตขาดช่วงและพืชพรรณยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก บางแหล่งไม่มีน้ำเพียงพอที่จะผลิตน้ำประปาไว้ใช้ตามครัวเรือน

ผลกระทบของโลกร้อนต่อภัยแล้งในอนาคต 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) เปิดเผยว่า จากการประมาณการว่า มีโอกาส ร้อยละ 60 ที่จะเกิดปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม และมีโอกาสร้อยละ 80 ที่จะเกิดเอลนีโญภายในสิ้นเดือนกันยายน ปี 2023 นี้ โดยที่ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิตได้คาดการณ์ภาพรวมของภัยแล้งที่เกิดขึ้นในไทยเอาไว้ว่า หากไทยเรายังไม่สามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่านี้ จะเกิดปัญหาภัยแล้งถี่ขึ้นและบ่อยขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งจากการศึกษาข้อมูลยังพบว่าความรุนแรงของภัยแล้งนั้น ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปีอีกด้วย

โลกร้อนทำให้น้ำท่วม น้ำทะเลร้อนและสูง

น้ำท่วม น้ำทะเลร้อนและสูง

ไม่เพียงแต่ปัญหาความแห้งแล้งที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก แต่น้ำท่วมสูงเป็นหนึ่งในผลกระทบของภาวะโลกร้อนเช่นกัน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเรามักได้ยินเรื่องการละลายของภูเขาน้ำแข็ง ตลอดจนแผ่นน้ำแข็งทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปอาร์กติกหดตัวรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดน้ำทะเลหนุนสูง และหลากหลายประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบ เกิดน้ำท่วมสูงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

วิกฤติน้ำท่วมในประเทศไทย

ในประเทศไทยเองก็เคยเกิดวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีเดียวกัน ที่เกิดจากภาวะน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลหนุนตัวสูงบริเวณอ่าวไทย ประจวบกับพายุใต้ฝุ่นที่เข้ามาพร้อมกัน และไม่ได้มีการเตรียมรับมือที่เหมาะสม จนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่มีพื้นที่ประสบภัยมากถึง 77 จังหวัด 87 อำเภอ 6,670 ตำบลทั่วไทย กินระยะเวลานานหลายเดือน สร้างความเสียหายมากกว่า 1.44 ล้านล้านบาท

ผลกระทบของโลกร้อนต่อสถานการณ์น้ำท่วมในอนาคต

ปัญหาน้ำท่วมในไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งและมีความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ องค์กร Green Peace ได้คาดคะเนว่า กรุงเทพมหานครจะเป็น 1 ใน 7 เมืองที่อาจเกิดวิกฤติทางน้ำอย่างหนักในอนาคต อาจมีค่า RCP ถึง 8.5 ซึ่งค่า RCP ในระดับ 8.5 ถือว่าเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุดของสถานการณ์น้ำท่วม โดยคาดคะเนว่าปัญหาน้ำท่วมน่าจะเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2030 อาจจะกินพื้นที่ความเสียหายของกรุงเทพมหานครถึง 96% จากพื้นที่ทั้งหมด

ไฟป่า

ไฟป่า

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นส่งผลให้อินทรียวัตถุในป่าแห้ง ซึ่งมักเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่เผาไหม้และกระจายเพลิงให้กว้างออกไป ข้อมูลจาก C2ES (Center for Climate and Energy Solutions) กล่าวว่า ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา จำนวนไฟขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าระหว่างปี 1984 และ 2015 นอกจากนี้เมื่อปี 2020 ในประเทศออสเตรเลีย ก็เกิดเหตุไฟป่าที่กินพื้นที่มากกว่า 6 รัฐ สร้างความเสียหายมากกว่า 8,400 ตารางกิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูก บ้านเรือน รวมถึงที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

ไฟป่าในประเทศไทย

ในประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สนเทศ (องค์การมหาชน) ไฟป่ามักเกิดขึ้นในบริเวณภาคเหนือที่เป็นภูเขาสูงและมีที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ โดยคิดเป็น 83% จากเหตุไฟป่าทั่วประเทศ แม้ไฟป่าในไทยเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยที่ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วและกินพื้นที่กว้างขวางนั้นเป็นผลพวงมาจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งจากสภาพอากาศโลกแปรปรวน

ผลกระทบของโลกร้อนต่อสถานการณ์ไฟป่าในอนาคต

จากงานวิจัยหลายๆ แห่งได้มีการคาดคะเนออกมาว่าผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อธรรมชาติจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยอ้างอิงจากการวิเคราะห์ของ UNEP คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จะเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้นอีก 14% และหากอุณหภูมิของโลกเรายังขยับสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2050 อัตราการเกิดไฟป่าจะเพิ่มขึ้นอีก 30%  

ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความหลากหลายทางชีวภาพ คือ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ ซึ่งปัญหาภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและการดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์โดยตรง

Cheewid จะพามาดูว่า ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อพืชและสัตว์อย่างไร? ไปจนถึง ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร? 

ทำลายความเสถียรของระบบนิเวศธรรมชาติ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผลพวงจากการแปรปรวนของสภาพอากาศโลกส่งผลให้ระบบนิเวศบนบก (Terrestrial Ecosystem) ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ทำให้วงจรชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มสัตว์ที่อาศัยฤดูกาลในการอพยพ ผสมพันธุ์ วางไข่ ฯลฯ บางส่วนจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่บางส่วนก็ไม่สามารถอพยพไปได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่อยู่อาศัยประจำถิ่น และไม่มีเส้นทางให้กับสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นได้ลี้ภัยจากธรรมชาติที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

สำหรับระบบนิดเวศในน้ำ (Aquatic Ecosystem) นอกจากปัญหาเรื่องฤดูกาลที่ส่งผลกระทมีอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือปัญหาปะการังฟอกสี ซึ่งเกิดจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงเกินกว่าปกติประมาณ 1-2 องศาเซลเซียสจากภาวะโลกร้อน ทำให้สภาพแวดล้อมของมหาสมุทรเปลี่ยนแปลง เนื้อเยื้อของปะการังมีสีซีดหรือจากลง เนื่องจากสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี ส่งผลให้ปะการังไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ สีสันของปะการังซีดลงจนกลายเป็นสีขาวโพลน และตายลง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เนื่องจากแนวประการังที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลหลากหลายสายพันธุ์

วิเคราะห์ผลกระทบในอนาคต

U.S. Climate Resilence Toolkit ให้ความเห็นว่า สภาพอากาศในปัจจุบันนั้นแปรปรวนเกินขอบเขตที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ระบบนิเวศมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น ในขณะที่การแก้ปัญหา หรือช่วยให้ระบบนิเวศกลับมาในสภาพดีนั้นเป็นไปอย่างช้า และยากกว่า เช่น ในอดีตอาจใช้เวลาฟื้นฟูแนวปะการังได้ภายใน 25-30 ปี แต่ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมได้เสื่อมโทรมลง ทำให้การฟื้นฟูแนวปะการังนั้นใช้เวลานานขึ้นและอาจจะมากกว่า 30 ปี 

สัตว์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ส่งผลสัตว์นานาชนิดใกล้สูญพันธุ์และเลวร้ายยิ่งกว่านั้น ยกตัวอย่างในช่วงปี 2019 ที่หนูเมโลมีมส์ (Bramble Cay melomys) ซึ่งเป็นหนูชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนเกาะเล็กๆ แถวออสเตรเลียตอนเหนือ ได้กลายเป็นสัตว์สูญพันธุ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเกาะที่พวกมันอาศัยอยู่ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ จนท่วมพื้นที่อาศัย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงจนท่วมเกาะ 

สำหรับในประเทศไทยเองนั้น กรมปศุสัตว์เริ่มมีประกาศเตือนภัยแล้งที่เป็นอันตรายต่อสัตว์เลี้ยง เนื่องจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียสมาตั้งแต่ปี 2019 และยังมีประกาศต่อมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นข่าวประกาศเตือนภัยให้ช่วยกันดูแลสัตว์ในช่วงอากาศร้อนจัด เพราะสัตว์ต่างๆ เองก็มีภาวะความเครียดจากสิ่งแวดล้อมหรือเกิดภาวะลมแดดจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

วิเคราะห์ผลกระทบในอนาคต

หากสภาพอากาศยังเป็นแบบนี้ต่อไป ทั้งในไทยและต่างประเทศจะต้องมีเหตุการณ์สัตว์สูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อ้างอิงจากรายงานของมหาวิทยาลัยคอนเนคทิคัตในปี 2015 ระบุว่า หากอุณหภูมิยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจะทำให้มากกว่า 8% ของสิ่งมีชีวิตทั่วโลกอาจสูญพันธุ์ได้ จึงควรรีบแก้ไขปัญหา เพื่อลดผลกระทบภาวะโลกร้อนให้ได้มากที่สุด

ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อมนุษย์

ภาวะโลกร้อนที่ส่งผลต่อมนุษย์

หลายๆ คนคงรู้สึกว่าปัญหานี้ส่งผลกับสิ่งแวดล้อมหรือส่งผลกับสัตว์มากกว่า แต่ที่จริงแล้วปัญหาภาวะโลกร้อนนั้นได้ส่งผลกระทบกับมนุษย์หลายด้านโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่เรื่องสุขภาพไปจนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ 

สุขภาพ

ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อสุขภาพ ร่างกายของคนเราก็เหมือนกับสัตว์ที่จะต้องมีการปรับตัว ซึ่งอากาศที่ร้อนจัดได้ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ทุกเชื้อชาติ จะสังเกตได้จากข่าวต่างประเทศที่มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากภาวะลมแดดมากขึ้นเรื่อยๆ และสำหรับในประเทศไทยที่เป็นประเทศเมืองร้อนอยู่แล้ว บางคนอาจจะรู้สึกว่าอากาศร้อนขึ้นแต่ก็ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก แต่สำหรับผู้ที่ต้องทำงานตากแดดตลอดทั้งวัน เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เนื่องจากร่างกายจะต้องปรับสภาพร่างกายให้ทัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในแต่ละวันต่อไปได้

วิเคราะห์ผลกระทบในอนาคต

หากประเทศไทยและต่างประเทศ ยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กันอย่างต่อเนื่อง และปราศจากการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสม จะทำให้สุขภาพและคุณภาพของมนุษย์แย่ลงไปเรื่อยๆ จะเกิดปัญหาสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม จะเกิดปัญหาลมแดดจนไปถึงปัญหาโรคระบาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยอ้างอิงการคาดคะเนจากสถาบันวิจัย Verisk Maplecroft ที่ระบุว่าในปี 2045 แรงงานไทยอาจต้องทำงานในวันที่มีภาวะเครียดจากความร้อน (Heat Stress Days) มากถึงปีละ 289 วันเลยทีเดียว

เกษตรกรรม

เมื่อสภาพอากาศเกิดภาวะแปรปรวน จะทำให้ความสมดุลของธรรมชาติถูกทำลาย ปัญหาอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดปัญหาในภาคเกษตรกรรมตามมา ให้ลองนึกภาพเหตุการณ์ภัยแล้งของไทยที่ข้าวไม่เจริญเติบโต พื้นที่ไร่นาขาดน้ำ ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ฝนไม่ตกจนเกิดภาวะแล้ง ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสในการทำการเกษตร อีกทั้งส่งผลต่อภาวะอาหารขาดแคลนในที่สุด 

อาหารขาดแคลน

เมื่อผลผลิตทางการเกษตรพังทลาย นำไปสู่ปัญหาอาหารขาดแคลน ซึ่งปัญหาอาหารขาดแคลนเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในไทย มักเป็นเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น ปัญหาข้าวแพงหรือปัญหาเนื้อหมูแพง ยกตัวอย่างเมื่อช่วงปลายปี 2022 ที่จะเห็นข่าวราคาเนื้อหมูพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นนั้นเป็นเพราะปัญหาการเลี้ยงดู รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย การเกิดโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งนับว่าเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงในหมูมาหลายครั้ง ก็กลับมาเกิดขึ้นอีก

ความยากจนและการพลัดถิ่น

ปัญหาความยากจนและการพลัดถิ่น เป็นปัญหาที่สังเกตเห็นได้ชัดกับผู้ที่มีฐานะยากจน เกิดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น ผู้คนเริ่มอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในตัวเมือง เนื่องจากนอกเมืองเกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้เกิดการว่างงาน จนนำไปสู่ปัญหาแรงงานย้ายถิ่นฐานเข้ามาในตัวเมือง ส่งผลให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดตามมา ประชาชนที่มีฐานะยากจนต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนที่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

เศรษฐกิจ

ผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้น ไม่เพียงส่งผลกับปัญหาความยากจน ยังส่งผลกับปัญหาเศรษฐกิจของไทย และปัญหาเศรษฐกิจโลกอีกด้วย โดยอ้างอิงผลการศึกษาจาก Swiss Re Institute รายงานว่า หากไทยยังไม่มีมาตรการปรับตัวใดๆ แล้วอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกปรับขึ้น 2 องศาเซลเซียส จะส่งผลให้รายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) ของไทยก็จะลดลงไปถึง 4.9% และหากปล่อยไว้นานขึ้น จนอุณหภูมิเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 3.2 องศาเซลเซียส  GDP ของไทยจะลดฮวบไปถึง 43.6% 

แรงงาน

ผลกระทบของภาวะโลกร้อนยังส่งผลต่อภาคแรงงานเช่นกัน ไม่เพียงส่งผลโดยตรงกับแรงงานที่เป็นเกษตรกร ยังส่งผลกับแรงงานที่อยู่ในตัวเมืองอีกด้วย เมื่อผลกระทบของภาวะโลกร้อนขยายตัวขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาสภาพอากาศ จนส่งผลถึงภาคเกษตรกรรม ทำให้เกิดปัญหาความแออัดภายในเมืองตามมา ผู้คนจะแห่เข้ามาทำงานในตัวเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นแรงงาน เนื่องจากนอกเมืองเกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน จนนำไปสู่การย้ายถิ่นฐานเข้ามาในตัวเมือง

วิเคราะห์ผลกระทบในอนาคตต่อมนุษย์ในภาพรวม 

จะเห็นได้ว่าผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลต่อมนุษย์ทุกเชื้อชาติ ทุกแห่ง เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องตามมา โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ผลกระทบของโลกร้อนจะยิ่งทำให้ประเทศไทยมีปัญหารายล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่รวมทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดแคลนอาหาร รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งจะเห็นได้ชัดกับประชาชนที่มีฐานะยากจนหรือชนชั้นแรงงาน ที่ต้องทำงานนอกอาคารท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต

แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบของภาวะโลกร้อน

แนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบของภาวะโลกร้อน

การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนหรือการชะลอความรุนแรงของผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้น เป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าปัญหาผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้นเป็นปัญหาไกลตัวหรือเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ต้องรอรัฐบาลหรือองค์กรระดับโลกเข้ามาแก้ไข

แต่ที่จริงแล้วปัญหาเหล่านี้อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และมนุษย์ทุกคนควรมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหา หรือการชะลอผลกระทบของภาวะโลกร้อน สามารถเริ่มทำได้ง่ายๆ แม้แต่ตัวผู้อ่านเอง ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน เพียงเลือกใช้เทคโนโลยีและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง

1. เลือกใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการแก้ปัญหา

ในปัจจุบันปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูงถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มนุษย์เราจึงมีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เพื่อลดการเกิดผลกระทบของภาวะโลกร้อนหลายแบบ ‘รถยนต์ EV’ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มาแทนการใช้รถยนต์ทั่วไป ซึ่งตัวรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ EV ช่วยในการประหยัดพลังงาน รวมถึงลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากขึ้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้มีการเปรียบเทียบการใช้งานระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ทั่วไป พบว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 64% 

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดผลกระทบภาวะโลกร้อนด้วยตนเอง

จริงๆ แล้วตัวผู้อ่านเอง ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน ซึ่งนับเป็นวิธีลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนได้ดีที่สุด นั่นคือการเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อชะลอผลกระทบโลกร้อนและช่วยให้โลกของเราให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น 

  • ช่วยประหยัดพลังงานที่บ้าน

เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือเครื่องทำความร้อนภายในบ้านส่วนใหญ่ใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ หากสามารถลดการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้า ถือเป็นช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ดี

  • เลือกวิธีการเดินทางในชีวิตประจำวัน 

การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนใหญ่ใช้เชื้อเพลิงด้วยน้ำมันเบนซินหรือดีเซล ซึ่งเชื้อเพลิงเหล่านี้จะเป็นการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ โดยหากสามารถเปลี่ยนเส้นทางการเดินทางด้วยการนั่งรถไฟฟ้าหรือการนั่งรถโดยสารประจำทาง ก็สามารถช่วยลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

  • ปรับพฤติกรรมการทานอาหาร ให้ทานอาหารให้หมด 

การทานอาหารไม่หมด เศษอาหารเหล่านี้ จะกลายเป็น ‘ขยะอาหาร’ ซึ่งอาหารที่เน่าเสียจะเกิดเป็นก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ควรตักอาหารมาในปริมาณที่พอดี พยายามทานให้หมด เพื่อลดโอกาสการเกิดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

  • ลดการเปลี่ยนของใหม่ๆ อยู่ตลอด 

อุปกรณ์ไฟฟ้า เสื้อผ้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งนั้น เนื่องจากกระบวนการผลิตสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ต้องผ่านหลายขั้นตอนทั้งการหาวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การจัดจำหน่าย การขนส่งสินค้า โดยหากเราสามารถลดการซื้อของ ลองซ่อมแซมหรือนำมาใช้ซ้ำ ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบโลกร้อนได้เช่นกัน

องค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน

องค์กรที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน

ผลกระทบโลกร้อนนั้น ส่งผลเป็นวงกว้างขนาดใหญ่ทั้งต่อชีวิตและสังคม ทำให้การแก้ไขปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาที่มนุษย์ทุกเชื้อชาติ ทุกประเทศต้องเข้ามาดูแลร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่จะตามมา ซึ่งองค์กรที่คอยดูแลปัญหาภาวะโลกร้อนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระดับด้วยกัน ได้แก่ 1. องค์กรระดับนานาชาติ และ 2. องค์กรระดับประเทศ

องค์กรระดับนานาชาติ

องค์กรระดับนานาชาติถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางการแก้ไขและลดผลกระทบโลกร้อน ซึ่งองค์กรเหล่านี้จะทำหน้าที่ติดต่อ สื่อสาร พร้อมกับกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนแบบยั่งยืน โดยมีองค์กรหลักๆ ดังนี้

  • คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (Intergovernmental Panel on Climate Change; IPCC) เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อหารือ เปลี่ยนแปลง จัดทำนโยบายต่างๆ ให้แก่ผู้นำรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อลดผลกระทบโลกร้อน ทั้งในด้านเกษตรกรรม สุขภาพ รวมถึงด้านป่าไม้
  • อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention On Climate Change; UNFCCC) เป็นอนุสัญญาที่ต้องการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจก ที่เกิดขึ้นจากการสะสมของก๊าซต่างๆ ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ฯลฯ
  • การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Conference of the Parties; COP) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของ UNFCCC โดยจุดประสงค์หลักมีเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อให้สภาพอากาศในโลกดีขึ้น

องค์กรในประเทศไทย

ในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการจัดตั้งองค์กรที่เข้ามาดูแลด้านภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย ดังนี้

  • สำนักงานนโยบายธรรมชาติและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการติดตาม ประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
  • มูลนิธิส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจก (ส.ล.จ.) เป็นมูลนิธีที่ส่งเสริมการรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ รวมถึงการสนับสนุน พัฒนาความรู้ ให้การศึกษา จนถึงการสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อให้เห็นความสำคัญของปัญหา รวมถึงตระหนักถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน

นอกจากนี้ เรายังมีหน่วยงานและองค์กรเพื่อสังคมอีกจำนวนมาก ที่เป็นกระบอกเสียง และคอยขับเคลื่อนสังคมให้ตระหนักรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อนที่ขยับเข้าใกล้วิถีชีวิตและสังคมของไทยเรามากขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และร่วมพัฒนาสังคม ลดผลกระทบของภาวะโลกร้อน เช่น ReReef, Green Link, Food Loss Food Waste เป็นต้น

สรุป

ผลกระทบของภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และยิ่งเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบโลกร้อนได้ เพียงเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น เลือกทานอาหารให้หมด ลดการใช้พลังงานตั้งแต่วันนี้ หรือการบริจาคให้แก่องค์กร มูลนิธิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องโลกร้อน เท่านี้เราก็สามารถเป็นอีกหนึ่งส่วนเล็กๆ ที่ช่วยผลักดันที่ทำให้สภาพแวดล้อมในของโลกเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น เพื่ออนาคตที่สมบูรณ์และยั่งยืนของทุกคนในสังคม

 

Reference:

  1. Greenpeace. ผลกระทบของภาวะโลกร้อน. Greenpeace.org. Retrieved 07 June 2023.
  2. Greenpeace. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ. Greenpeace.org. Retrieved 07 June 2023.
  3. GreenDigitalLibrary. WWF เผย อาหารถูกทิ้งเป็นขยะกว่า 2.5 พันล้านตันต่อปี. Greendigitallibrary.deqp.go.th. Published on 27 July 2021. Retrieved 07 June 2023.
  4. Germanwatch. Climate Change Performance Index 2023. Germanwatch.org. Published on 11 November 2022. Retrieved 07 June 2023.
  5. กรมอุตุนิยมวิทยา. สภาวะโลกร้อน. Climate.tmd.go.th. Retrieved 07 June 2023. Retrieved 07 June 2023.
  6. มูลนิธิสืบนาคะเสถียร. ปะการังฟอกขาว. Seub.or.th. Published on 07 June 2021. 
  7. สหประชาชาติประเทศไทย. 10 วิธีแก้วิกฤตโลกร้อนด้วยตัวเรา. Thailand.un.org. Published on 12 March 2022. Retrieved 07 June 2023.
  8. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). Climate change ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร. Tgo.or.th. Published on 24 February 2021. Retrieved 07 June 2023.

แคมเปญและองค์กรเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้อง

logo - positive group guide guru

POSITIV GROUP Social Enterprise / GuideGURU

กิจกรรมให้ความรู้ 6 ชุมชนด้านการจัดการเครื่องมือประมงและการนำเที่ยว พร้อมถ่ายทำสารคดีอนุรักษ์ทางทะเล
banner - กลุ่มใบไม้
logo - กลุ่มใบไม้

กลุ่มใบไม้

องค์กรอิสระ ที่ให้ความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม งานอนุรักษ์และกิจกรรมอาสาสมัคร
banner - lead boon
logo - lead boon

หรีดบุญ Lead Boon

พวงหรีดเพื่อการทำบุญและสิ่งแวดล้อม โดยเป็นพวงหรีดที่นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) เราลดขยะ 100% และนำรายได้ 25 % กลับคืนสังคม