เข้าสู่ระบบ

Table of Contents
Recent Post
กราฟฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะข้างกำแพง รอยขีดเขียนแห่งการเสียดสีสังคม
กราฟฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะข้างกำแพง รอยขีดเขียนแห่งการเสียดสีสังคม

บทความนี้ CHEEWID จะพาทุกคนมารู้จักกับ กราฟฟิตี้ (Graffiti) หรือศิลปะข้างกำแพง ที่ไม่ใช่การขีดเขียนเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังแทรกไปด้วยประเด็นสังคม การเผยตัวตนผ่านศิลปะนี้คืออะไร บทความนี้มีคำตอบ!

รวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์
รวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์

รู้หรือไม่? ทำบุญบริจาคให้โรงพยาบาลสงฆ์ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ บทความนี้ CHEEWID ได้รวบรวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์ มาให้แล้ว!

มัดรวม! 10 องค์กรพัฒนาชุมชน เพื่อให้สังคมก้าวสู่การพัฒนาในอีกระดับ
มัดรวม! 10 องค์กรพัฒนาชุมชน เพื่อให้สังคมก้าวสู่การพัฒนาในอีกระดับ

ใครที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการเพื่อชุมชน และสังคม กิจกรรมจิตอาสาในชุมชน CHEEWID ได้รวบรวมมาให้แล้วถึง 10 องค์กรพัฒนาชุมชน เพื่อการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ขึ้น

สังคมผู้สูงอายุ aging society กับการเปลี่ยนแปลงต่อนาคต ในเชิงสังคม และเศรษฐกิจ
สังคมผู้สูงอายุ กับการเปลี่ยนแปลงต่อนาคต ในเชิงสังคม และเศรษฐกิจ

เมื่อคนหนุ่มสาวไม่นิยมมีลูก จึงเกิดสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ขึ้น CHEEWID ชวนพาทุกคนไปรู้จักกับสังคมผู้สูงอายุ ว่าคืออะไร มีวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร ให้สังคมอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีการหยุดพัฒนา

รู้จักการทำ CSR กิจกรรมจากองค์กรที่คืนกำไรให้สังคม

CHEEWID จะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับการทำ CSR ว่าคืออะไร ประโยชน์ของการทำ CSR มีอะไรบ้าง ส่งผลดีต่อองค์กร และสังคมอย่างไร รวมถึงแนวทางการทำ CSR ว่าสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ไปดูกันได้เลย
รู้จักการทำ CSR กิจกรรมจากองค์กรที่คืนกำไรให้สังคม
Table of Contents

การทำ CSR เริ่มเป็นที่นิยมของหลากหลายองค์กรในปัจจุบัน ไม่ว่าองค์กรขนาดเล็ก หรือองค์กรขนาดใหญ่ โดยมักมีจุดประสงค์เพื่อมอบประโยชน์คืนสู่สังคม หรือเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร อย่างไรก็ตาม การที่องค์กรต่างๆ เริ่มหันมาสนใจการทำ CSR เพิ่มมากขึ้นนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ดีเป็นอย่างยิ่ง

ทำความรู้จัก การทำ CSR คืออะไร สำคัญยังไง

ทำความรู้จัก การทำ CSR คืออะไร สำคัญยังไง

CSR ย่อมาจาก Corporate Social Responsibility หรืออธิบายได้ว่า CSR คือ แนวคิดที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมขององค์กรต่างๆ ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับการประกอบธุรกิจ แต่ต้องบอกก่อนเลยว่าการทำ CSR ของบริษัทเอกชนนั้น มีความแตกต่างไปจากการทำองค์กรเพื่อการกุศล

โดยความสำคัญของการทำ CSR ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีการตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม และต้องการที่จะให้ความช่วยเหลือสังคม เพื่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งผลดี และเป็นการสร้างประโยชน์กลับคืนให้แก่สังคม นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ธุรกิจ หรือองค์กรเป็นที่รู้จักของคนในสังคม และช่วยต่อยอดให้ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน

ประโยชน์ของการทำ CSR ต่อองค์กร

ประโยชน์ของการทำ CSR ต่อองค์กร

การทำ CSR ของธุรกิจ หรือองค์กรนั้นมีประโยชน์ต่อสังคมหลายประการ ในขณะเดียวกันการทำ CSR ก็ยังส่งผลดีต่อองค์กรเช่นเดียวกัน โดยประโยชน์ของการทำ CSR มีดังนี้

  • ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภค

ปัจจุบันผู้คนจำนวนไม่น้อยมีการเลือกซื้อสินค้า และบริการโดยดูจากภาพลักษณ์ขององค์กร ผู้คนจำนวนมากหันมาให้ความสนใจในปัญหาของสังคม และสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจซื้อสินค้า หรือบริการ ก็มักตัดสินใจจากทัศนคติ หรือวิสัยทัศน์ขององค์กรที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผู้บริโภค ยิ่งธุรกิจใดที่มีการแสดงออกถึงการช่วยเหลือสังคมผ่านการขับเคลื่อนสังคม ให้ความช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น หรือแสดงทัศนคติที่ดีต่อการดูแลสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคอยากเข้ามาสนับสนุนสินค้า หรือบริการมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ประโยชน์ของการทำ CSR คือ ช่วยทำให้ธุรกิจ หรือองค์กรเป็นที่ดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจในตัวธุรกิจ อีกทั้งผู้บริโภคก็มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพ จนกลายมาเป็นลูกค้าประจำให้กับธุรกิจในที่สุด 

  • ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้ลงทุน

การทำ CSR ขององค์กร เป็นส่วนช่วยในการดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนกับองค์กร โดยนักลงทุนมักตัดสินร่วมลงทุนกับองค์กรต่างๆ จากการดำเนินการประกอบธุรกิจที่มีคุณภาพภายใต้การคำนึงถึงจริยธรรมขององค์กรต่างๆ ที่มีส่วนในการสร้างสรรค์ หรือพัฒนาสังคม เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี  อีกทั้งการที่บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม มีการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นขององค์กรที่ต้องการช่วยเหลือ และรับผิดชอบต่อสังคมนั้น ก็ช่วยทำให้นักลงทุนตัดสินใจร่วมลงทุนได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากการคาดการณ์ถึงผลประกอบการที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นต่อองค์กร และนักลงทุน

  • ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของพนักงาน

การทำ CSR ในองค์กรจะช่วยสร้างคุณค่า และค่านิยมที่ดีในการทำงานภายในองค์กรให้แก่พนักงาน โดยจะช่วยทำให้บริษัท และพนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ตลอดจนช่วยทำให้พนักงานรู้สึกมีส่วนร่วม และมีความผูกพันเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้ เนื่องจากการตัดสินใจของพนักงานที่มีต่อการทำงานนั้น มีความคล้ายคลึงกับการตัดสินใจบริโภคของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อทัศนคติของตนเองกับองค์กร ดังนั้น ภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของพนักงาน จึงเป็นประโยชน์ของการทำ CSR ที่ส่งผลดีต่อการดำเนินการภายในองค์กรได้ด้วยเช่นกัน 

  • องค์กรมีความเป็นมาตรฐาน

การทำ CSR ส่งผลดีในด้านมาตรฐานองค์กร และเป้าหมายของการดำเนินกิจการเพื่อความเป็นมาตรฐานสากลเนื่องจากในปัจจุบัน การทำ CSR และการพัฒนาอย่างยั่งยืน กำลังถูกสร้างขึ้นโดยองค์กรระดับโลกต่างๆ เช่น The United Nations Global Compact (UNGC), United Nations Sustainable Development Goals (UN SDGs) และ International Sustainability Standards Board (ISSB) ซึ่งจะช่วยทำให้องค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงรายงานทางการเงินที่จะถูกเปิดเผยอย่างโปร่งใส ไร้ความกังวลในการดำเนินกิจการ รวมไปถึงช่วยแนะนำให้องค์กรต่างๆ มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำ CSR หรือการทำอาสาสมัครต่างๆ ตลอดจนการเสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจมีการเปิดเผยการดำเนินการอย่างโปร่งใส เพื่อคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคม และเพื่อให้การดำเนินการตอบแทนสังคมเกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง 

ประเภทของ CSR การทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อม การทำ CSR ด้านจริยธรรม การทำ CSR ด้านการกุศล การทำ CSR ด้านเศรษฐกิจ

ประเภทของ CSR 

การทำ CSR ในองค์กรมีอยู่  4 ประเภทด้วยกัน โดยเราจะยกตัวอย่างการทำ CSR ทั้ง 4 ประเภทให้ผู้อ่านได้ศึกษาเพิ่มเติม ดังนี้

1. การทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อม

การมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบสำคัญที่หลากหลายองค์กรต้องให้ความสนใจ เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นแหล่งกำเนิดทรัพยากรต่างๆ ในการผลิตหลากหลายภาคส่วน โดยการทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมแบบเชิงรุกในการอนุรักษ์ก็เพื่อทำให้ผลกระทบสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยบริษัทหรือองค์กรต่างๆ สามารถสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมได้หลากหลายวิธี 

ตัวอย่างการทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อม

  • ลดการปล่อยของเสีย เนื่องจากการย่อยสลายของเสียต่างๆ จำเป็นต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมากในการย่อยสลาย ซึ่งทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมได้
  • รีไซเคิลวัสดุ สิ่งของต่างๆ ในกระบวนการทำงาน หรือกระบวนการผลิต โดยการใช้วัสดุ และสิ่งของต่างๆ ให้คุ้มค้าตามประสิทธิภาพการใช้งาน หรือหากเกิดการชำรุดเสียหาย ควรเลือกใช้วิธีการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนแปลงสภาพให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้ดั่งเดิม รวมถึงใช้แนวทางการใช้ซ้ำในการโปรโมตให้แก่ผู้บริโภคได้รับทราบ และตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งของได้ด้วยเช่นกัน
  • การชดเชยธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยการเติมเต็มความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้คืน หรือการเรียนรู้ที่จะประหยัดพลังงานต่างๆ ในที่ทำงาน เป็นต้น 
  • ใช้กระบวนการผลิต และกระจายสินค้าที่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างรอบด้าน 
  • ริเริ่มผลิตสินค้ารักษ์โลก สร้างคุณค่าของสินค้า และบริการให้มีภาพลักษณ์ของสินค้าและธุรกิจรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม 

องค์กรที่ทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อม

  • Coca-Cola มีแนวทางการทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมโดยการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีการคำนึงถึงความยั่งยืนของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบริษัทแรกเลยก็ว่าได้ที่มีการใช้ขวดที่สามารถย่อยสลายได้ 100% อีกทั้งยังมีการตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 จะลดปริมาณการปล่อย Carbon Footprint ลง 25%
  • Johnson & Johnson ได้มีการมุ่งเน้นการทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้ประโยชน์จากพลังงานลม และการจัดหาทรัพยากรน้ำเพื่อการผลิต ซึ่งช่วยลดมลพิษทางอากาศได้เป็นอย่างดี โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าในกระบวนการผลิตต้องมีความยั่งยืน และสามารถเติมเต็มความสมบูรณ์สู่สภาพแวดล้อมได้ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2025
  • Ford Motor Company มีการทำ CSR ในองค์กรโดยการลงทุนเพื่อการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากเดิม และมีการตั้งเป้าหมายถึงยานพาหนะภายใต้แบรนด์ไว้ว่าต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจะปรับปริมาณคาร์บอนให้มีความเหมาะสมภายในปี 2050

2. การทำ CSR ด้านจริยธรรม

การทำ CSR ในด้านจริยธรรมเพื่อทำให้บริษัท และองค์กรต่างๆ มีการประกอบกิจการอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นจริยธรรมในการดำเนินการ ความเป็นธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงาน โดยเป็นการมอบโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงมีความเป็นธรรมต่อนักลงทุน ซัพพลายเออร์ รวมถึงลูกค้าด้วยเช่นกัน ซึ่งการทำ CSR ด้านจริยธรรมนี้เองจะส่งเสริมทำให้องค์กรมีการปฏิบัติงานที่สร้างสรรค์ และมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น 

ตัวอย่างการทำ CSR ด้านจริยธรรม

  • มีความเป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านอายุ เชื้อชาติ วัฒรธรรม หรือเพศ 
  • ปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียม ให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ตลอดจนมอบสิทธิ และผลประโยชน์ต่างๆ ให้แก่พนักงานตามความสมควรโดยไม่เลือกปฏิบัติ 
  • ให้ความสำคัญ และความเท่าเทียมต่อซัพพลายเออร์ หรือเลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แม้มีความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ เพศ ประสบการณ์ หรือฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แต่ก็ให้ความเท่าเทียมเพื่อการทำงานร่วมกันได้ 
  • มีการเปิดเผยข้อมูล หรือสถานการณ์ขององค์กรอย่างโปร่งใสต่อนักลงทุน รวมถึงมีการให้เกียรติแก่นักลงทุน โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตัวระหว่างองค์กรกับนักลงทุน 

องค์กรที่ทำ CSR ด้านจริยธรรม

  • Microsoft มีการทำ CSR ด้านจริยธรรมด้วยการร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ด้วยการทำงานระดมทุนผ่านโปรมแกรม ซึ่งระดุมทุนได้มากกว่า 255 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังได้ก่อตั้งโครงการ Microsoft Philanthropies ซึ่งเป็นโครงการที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อให้ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีต่อคนในสังคมด้วยเช่นกัน 
  • LEGO ได้แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทางด้านจริยธรรมด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกเพื่อการใช้พลาสติกหมุนเวียนที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้ง LEGO ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เด็ก และเยาวชนทั่วโลกสามารถเข้าถึงการเล่นไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ผ่าน LEGO ได้ 
  • Google มีการทำ CSR ในองค์กรที่หลากหลาย ไม่เพียงแต่แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้พลังงานน้อยลงกว่าที่อื่นๆ ในโลกมากถึง 50% แต่ในขณะเดียวกัน Google ยังแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการเป็นกระบอกเสียง และยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคมอีกด้วย

3. การทำ CSR ด้านการกุศล

การทำ CSR ด้านการกุศล คือ การที่บริษัทหรือองค์กรต่างๆ นำผลกำไร หรือทรัพย์สินบางส่วนของบริษัทมอบให้แก่สังคมผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือองค์กรบางแห่งอาจมีการจัดตั้งหน่วยงาน หรือแผนกเพื่อการดูแลกิจกรรม CSR โดยเฉพาะ เพื่อมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสังคมให้สอดคล้องกับทัศนคติขององค์กรได้เช่นกัน อีกทั้งบางองค์กรยังมีส่วนช่วยในการทำการวิจัย ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาในสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้เกิดเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคตได้ 

ตัวอย่างการทำ CSR ด้านการกุศล

  • การที่บริษัทหรือหน่วยงานมีการบริจาค หรือสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ให้กับองค์กรการกุศล
  • การให้ความร่วมมือ และส่งเสริมองค์กรการกุศลตามวิสัยทัศน์ หรือทัศนคติของบริษัทที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กรการกุศล 
  • องค์กรให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานอย่างทันท่วงทีตามความเหมาะสมของพนักงาน ก็นับได้ว่าเป็นการทำ CSR ในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เพราะพนักงานทุกคนล้วนเป็นพลเมืองโลก และเป็นบุคลากรที่องค์กรควรให้ความสำคัญไม่ต่างจากพลเมืองคนอื่นๆ 
  • การทำ CSR ด้านการกุศลอีกอย่างหนึ่งสำหรับองค์กร คือ การเข้าไปช่วยเหลือ และระดมทุนเพื่อกิจกรรมงานการกุศลต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือถูกส่งต่อไปยังผู้ที่ต้องการได้ 

องค์กรที่ทำ CSR ด้านการกุศล 

  • Apple ได้ทำกิจกรรม CSR การกุศลผ่านการบริจาครายได้กว่า 125 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ และใช้เวลาเพื่อการทำงานอาสาสมัครมากกว่า 250,000 ชั่วโมง ผ่านการทำโครงการเพื่อการกุศลของบริษัทเพื่อตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่สังคม
  • Walmart เป็นองค์กรที่มีการทำ CSR ผ่านการร่วมบริจาคข้าวของ เครื่องใช้รวมไปถึงอาหารที่ยังคงมีคุณภาพไปสู่ผู้คนในสังคม ผ่านการร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และมีความร่วมมือกับเครือข่ายการขนส่งที่มีคุณภาพ เพื่อทำให้ผู้คนสามารถได้รับอาหารที่มีคุณประโยชน์เพื่อการดำเนินชีวิต 
  • Dell มีการทำ CSR โดยการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เคยถูกทิ้งกลับมาสร้างมูลค่ากว่า 2 พันล้าน ปอนด์ อีกทั้งยังมีการทำกิจกรรมอาสา ซึ่งสะสมเวลาได้กว่า 5 ล้านชั่วโมงในช่วงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา รวมไปถึงมีการบริจาครายได้ให้แก่องค์กรเพื่อการกุศลด้วยเช่นกัน 

4. การทำ CSR ด้านเศรษฐกิจ 

การทำ CSR ด้านเศรษฐกิจ เป็นการแสดงความรับผิดชองทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังต้องมีการผสมผสานการทำงานภายใต้การมีจริยธรรมในการดำเนินการที่ดีด้วยเช่นกัน โดยการดำเนินกิจการแบบนี้จะเป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขององค์กร ร่วมกับการคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน และสังคม เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตไปได้พร้อมๆ กับการช่วยพัฒนาสังคมไปสู่ความก้าวหน้าได้อย่างยั่งยืน 

ตัวอย่างการทำ CSR ด้านเศรษฐกิจ 

  • ทำการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อการก้าวหน้าไปสู่ความยั่งยืน
  • การจัดหาพนักงานที่มีคุณภาพ และมีความสามารถที่หลากหลายเพื่อการพัฒนาธุรกิจ
  • การจัดอบรมพนักงงานให้ตระหนักรู้ถึงปัญหาสังคม และสิ่งแวดล้อม 
  • ลงทุนกับกระบวนประกอบกิจการอย่างคุ้มค่า เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
  • การดำเนินการตรวจสอบ และเปิดเผยความเคลื่อนไหวทางการเงินอย่างโปร่งใส และสม่ำเสมอ ทั้งภายในองค์กร หรือภายนอกองค์กรที่มีส่วนร่วม 

องค์กรที่ทำ CSR ด้านการเศรษฐกิจ

  • Heineken มีการทำ CSR ด้านเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุน และเพิ่มพูนศักยภาพของบุคลากรภายในองค์กร โดยมีการอบรม และให้ความสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะในการทำงานให้แก่พนักงานใหม่ ด้วยความช่วยเหลือ และความร่วมมือจากพนักงานที่มีประสบการณ์ อีกทั้งการทำงานภายในองค์กรยังมีความเสมอภาค และไม่แบ่งแยก เพื่อให้การทำงานของพนักงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • Amazon ได้ดำเนินการจัดทำโครงการฝึกอบรมพนักงานที่อาจขาดทักษะในด้านเทคนิค หรือเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มศักยภาพ และความมั่นใจในการทำงานให้แก่พนักงาน อีกทั้งพนักงานยังได้รับการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพภายใต้บทบาทที่เหมาะสมต่อทักษะของตนเอง โดย Amazon เชื่อว่าการลงทุนเพื่อการเสริมสร้างบุคลากรในองค์กร เป็นหนึ่งในการลงทุนที่มีความคุ้มค่า และสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 
  • City National Bank เป็นองค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น “Best Employers for Women” และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Most Powerful Women in Banking and Finance” ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ภายในองค์กรยังมีโครงพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน เพื่อสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยให้แก่พนักงานในการเรียนรู้ทักษะระหว่างกันอีกด้วย

CSR ของธุรกิจ บริษัททำ CSR

ธุรกิจจะเริ่มทำ CSR ได้อย่างไร 

ขั้นตอนการทำ CSR มี 7 ขั้นตอนหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้ 

  1. ศึกษา และหาข้อมูลเกี่ยวกับการทำ CSR ก่อนการลงมือทำ รวมถึงวิเคราะห์การทำงานที่จะเกิดขึ้นต่อสังคม เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมทั้งในทางตรง และในทางอ้อม ดังนั้น ความรู้และความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการทำ CSR จึงสำคัญอย่างยิ่ง ตลอดจนวิสัยทัศน์ และทัศนคติขององค์กรที่มีต่อปัญหาสังคมเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน 
  2. หาการสนับสนุน และความร่วมมือจากทั้งภายในองค์กร และภายนอกองค์กร โดยเริ่มต้นจากการสำรวจความคิดเห็นของคนภายในองค์กรต่อการทำ CSR และหาการสนับสนุนจากองค์กร หรือชุมชนภายนอกที่มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน เพื่อทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น 
  3. พัฒนาแผนการ และแนวทางในการทำ CSR ซึ่งการวางแผนก็ต้องเป็นไปตามทัศนคติ และวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยอาจเริ่มต้นจากการดำเนินการทีละเล็กทีละน้อย แล้วจึงค่อยๆ สร้างผลลัพธ์ให้ขยายกว้างขึ้นได้ในอนาคต 
  4. สร้างกลยุทธ์ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำ CSR ในประเภทใดก็ตาม ซึ่งการสร้างกลยุทธ์จะช่วยทำให้การดำเนินการมีแนวทางที่ชัดเจน อีกทั้งในระหว่างการดำเนินการก็ต้องมีการตรวจสอบ และวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 
  5. ต้องมั่นใจว่าการทำ CSR ในครั้งนี้จะเป็นการคืนประโยชน์ และสร้างผลลัพธ์ในระยะยาวให้แก่สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การดำเนินการจึงต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนต่อผลลัพธ์ในอนาคต
  6. คำนวณหรือวัดระดับผลลัพธ์ในการทำ CSR อยู่เสมอๆ เพื่อช่วยในการวางแผนในขั้นต่อไป หรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการให้ดีมากยิ่งขึ้น 
  7. มีการติดต่อสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ ที่ร่วมมือกันในการทำ CSR อยู่เป็นประจำ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ในการร่วมมือที่ดี และเพื่อที่ยกระดับ หรือสร้างผลลัพธ์ด้านบวกคืนให้แก่สังคม และสิ่งแวดล้อมต่อไป 

สรุป

Corporate Social Responsibility หรือ CSR คือการที่บริษัท และองค์กรต่างๆ ได้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็เพื่อสร้างผลลัพธ์อันดีให้กับสังคม รวมถึงบางโครงการก็เพื่อช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังช่วยให้เกิดผลประโยชน์ที่ดีต่อการประกอบธุรกิจด้วย โดยหลากหลายบริษัทระดับโลกก็ได้ให้ความสำคัญต่อการทำ CSR เป็นอย่างยิ่ง เช่น บริษัท Microsft, Google หรือ Apple เป็นต้น 

เราทุกคนเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการทำ CSR หรือการช่วยเหลือ และตอบแทนสังคมได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นในนามบริษัทเท่านั้น ซึ่งสามารถทำได้ผ่านการเข้าไปเป็นอาสาสมัคร บริจาคสิ่งของที่ไม่ได้ใช้แล้วแต่ยังมีสภาพดีอยู่ หรือร่วมสนับสนุนเงินทุนผ่านการบริจาคในโครงการต่างๆ โดย Cheewid เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยให้ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CSR ต่างๆ ได้ โดย Cheewid เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และเป็นตัวกลางที่ช่วยให้ความช่วยเหลือของทุกคนถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม และผู้รับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

Reference:

  1. Apiday. 4 reasons companies should adopt Corporate Social Responsibility (CSR). apiday.com. Published on 13 June 2023. Retrieved 22 July 2023. 
  2. Benevity. The 4 main types of corporate social responsibility your business should consider (and why). Benevity.com. Retrieved 22 July 2023. 
  3. Digital Marketing Institute. 16 Brands Doing Corporate Social Responsibility Successfully. Digitalmarketinginstitute.com. Published on 10 November 2022. Retrieved 22 July 2023. 
  4. Hannah Durbin. 12 Socially Responsible Companies to Applaud. Classy.org. Published on 11 April 2023. Retrieved 22 July 2023. 
  5. Indeed Career Guide. 4 types of corporate social responsibility and its benefits. Uk.indeed.com. Published on 23 March 2023. Retrieved 22 July 2023.
  6. Jason Fernado. Corporate Social Responsibility (CSR) Explained With Examples. Investopedia.com. Published on 18 July 2023. Retrieved 22 July 2023.
  7. Lexi Croswell. How to launch a corporate social responsibility program. Cultureamp.com. Retrieved 23 July 2023.
  8. Odyssey Teams. 20 Inspiring Corporate Philanthropy Examples. Published on 02 February 2023. Retrieved 23 July 2023.
  9. Paul Perry. How to Start a CSR (Corporate Social Responsibility) Program. Blog.submittable.com. Published on 12 December 2019. Retrieved 23 July 2023.
  10. Together. 10 Companies with exceptional employee development programs. Togetherplatform.com. Published on 29 April 2022. Retrieved 23 July 2023.
  11. Transparent Hands. Different Types of Corporate Social Responsibility (CSR). transparenthands.org. Published on 10 September 2018. Retrieved 23 July 2023.
  12. UNITED NATIONS INDUSTRIAL DEVELOPMENT ORGANIZATION. Corporate Social Responsibility. Unido.org. Retrieved 22 July 2023.