ปัญหาเด็กด้อยโอกาส เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบเจอมาอย่างยาวนานในสังคมไทย หากแต่ปัญหาดังกล่าวกลับไม่สามารถแก้ไขให้หมดสิ้นไปได้ เนื่องการเป็นผู้ด้อยโอกาสนั้นมาคู่กับความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเข้ามาปรับปรุงและเพิ่มโอกาสในการดำเนินชีวิตให้หลุดพ้นจากความจนได้
แต่โอกาสในการเข้าถึงสิทธิทางด้านต่างๆ ยังคงถูกจำกัดสำหรับเด็กบางกลุ่มเช่นกัน เด็กและเยาวชนหลายๆ คนกลายเป็นเด็กด้อยโอกาส ทำให้ขาดโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นิยามของเด็กด้อยโอกาส คืออะไร
เด็กด้อยโอกาส คือ เด็กที่ต้องเผชิญกับความยากลำบากมาตั้งแต่เกิด ไม่ได้รับการพัฒนาและเสริมสร้างชีวิตเหมือนกับเด็กและเยาวชนคนอื่นๆ ในสังคม มีชีวิตความเป็นอยู่หรือมีต้นทุนชีวิตที่ด้อยกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวอื่นๆ จึงส่งผลให้เด็กเหล่านี้ไร้โอกาส ไร้ซึ่งหนทางในการจะมีชีวิตที่ดี เพื่อที่จะเติบโตไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต
เด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย
การเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้สังคมไทยต้องพบกับปัญหาเด็กด้อยโอกาสที่สูงขึ้น เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ จึงทำให้เด็กเหล่านี้ไม่ได้รับสิทธิที่ตนควรจะได้รับเพื่อนำไปพัฒนาตนเอง
จากการสำรวจพบข้อมูลว่าจำนวนเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทยมีมากถึง 1 ใน 3 ของจำนวนเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ เด็กนักเรียนจำนวนกว่า 4,892,063 คนเป็นเด็กด้อยโอกาส ที่มาจากครอบครัวยากไร้
กลุ่มเด็กด้อยโอกาส สามารถแยกออกมาได้ทั้งหมด 4 ประเภท
- กลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่มีความเปราะบางในด้านระบบเศรษฐกิจ เป็นเด็กยากจนจำนวนประมาณ 4,585,207 คน หรือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลประมาณ 160,000 คน
- กลุ่มเด็กที่ต้องการการเรียนรู้แบบพิเศษ คิดเป็นราวๆ 2 ล้าน คน ที่มีการเรียนรู้และระบบพัฒนาการที่บกพร่อง
- กลุ่มเปราะบางทางสังคมรวมไปถึงกลุ่มเด็กใช้สารเสพติด ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเด็กกำพร้าราวๆ 88,730 คน
- กลุ่มที่พบปัญหาเฉพาะพิเศษ เช่น ไร้สัญชาติราวๆ 200,000-300,000 คน กลุ่มเด็กเร่ร่อน ประมาณ 30,000 คน กลุ่มเด็กติดเชื้อเอดส์ 50,000 คน กลุ่มแรงงานเด็ก 189,633 คน และกลุ่มเด็กถูกบังคับให้ค้าประเวณี ราวๆ 25,00 คน โดยเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้มักเป็นเด็กที่อาศัยอยู่ตามสลัม ชุมชนแออัด หรือในพื้นที่ห่างไกล ตามเขตชายแดน
เด็กด้อยโอกาส วัฎจักรปัญหาที่ไม่เคยสิ้นสุด
ปัญหาเด็กด้อยโอกาสเป็นปัญหาที่ยังคงไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ แม้จะพบปัญหานี้มาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกวิธี ซึ่งสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้ปัญหายังคงเกิดซ้ำไปมา ได้แก่
ปัญหาพ่อแม่วัยใส
ปัญหาพ่อแม่วัยรุ่นหรือพ่อแม่วัยใส ส่งผลทำให้เด็กที่เกิดมาอาจไม่ได้รับการดูแลและการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมต่อพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็ก อีกทั้งด้วยสภาพของความไม่พร้อมในการมีบุตร จึงอาจทำให้เด็กที่เกิดมากลายเป็นลูกกำพร้าได้ โดยพ่อแม่วัยใส จากการสำรวจในปี 2555 พบว่ามีสตรีที่อายุต่ำกว่า 20 ปีให้การคลอดบุตร ถึง 133,027 คน และพบว่าเป็นคุณแม่วัยใสที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 3,707 คน
ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
เด็กด้อยโอกาสบางคนต้องเผชิญกับการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ทั้งการทะเลาะ การทำร้ายร่างกา่ย การหย่าร้างของพ่อแม่ ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบทางตรงอย่างรุนแรงต่อจิตใจเด็ก จนทำให้เด็กๆ เหล่านี้รับมือไม่ไหว จนอาจหนีออกจากบ้าน กลายเป็นเด็กด้อยโอกาสและเร่ร่อนในที่สุด
ปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาเศรษฐกิจส่งผลกระทบไม่น้อยต่อการดำเนินชีวิตของครอบครัว จนกระทบมาสู่เด็กในครอบครัวด้วยเช่นกัน เนื่องจากเด็กด้อยโอกาสต่างมากจากครอบครัวที่มีฐานะยากไร้ จึงทำให้ขาดโอกาสทางการศึกษาและขาดกำลังทรัพย์ สำหรับการดำเนินชีวิตและการพัฒนาตนเองอย่างมีคุณภาพ
ปัญหาเด็กพิการ
กลุ่มเด็กพิการเป็นกลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อการกลายเป็นกลุ่มเด็กด้อยโอกาส เนื่องจากการดูแลและเลี้ยงดูเด็กที่มีความบกพร่อมทางร่างกาย หรือมีสติปัญญาและพัฒนาการที่บกพร่อง จึงจำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่สูงกว่าเด็กทั่วไป อีกทั้งยังต้องการการรักษาที่พิเศษและการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ทำให้เด็กพิการที่เกิดมาในครอบครัวยากไร้ ยิ่งขาดโอกาสในการดำเนินชีวิต ขาดโอกาสในการศึกษา และถึงแม้ว่าจะเกิดในครอบครัวที่ไม่ได้มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามสภาพสังคมและระบบการศึกษากลับไม่รองรับหรือมีพื้นที่ให้กับกลุ่มเด็กพิการมากเท่าที่ควร
ทำไมการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสจึงสำคัญ
การช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้พวกเขาได้กลับมามีชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือพัฒนาศักยภาพ เป็นสิ่งหนึ่งที่เราควรตระหนัก เนื่องจากปัญหาเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดหลายๆ อย่างในสังคม เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาด้านการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ หรือปัญหาครอบครัวด้วยเช่นกัน การที่เรายื่นมือเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าเด็กด้อยโอกาสให้ได้กลับมามีชีวิตที่สดใสเหมือนกับเด็กๆ ทั่วไปอีกครั้ง ช่วยให้เขาได้มีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการเรียนรู้ของตน ซึ่งนี่ไม่ได้ส่งผลแค่ตัวของเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่ออนาคตของประเทศชาติด้วย
เด็กด้อยโอกาสกับหนทางในการช่วยเหลือ
ปัจจุบันมีหลากหลายองค์กรและหน่วยงานที่ได้ทำงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กด้อยโอกาสในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตน และเพื่อมอบโอกาสใหม่ให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน โดยองค์กรต่างๆ ที่เปิดช่องทางการบริจาคเพื่อเด็กยากไร้ มีดังนี้
1. มูลนิธินิมิตใหม่เพื่อชีวิต
โรงเรียนคริสต์เตียนศึกษาสงเคราะห์นิมิตใหม่เพื่อชีวิต ก่อตั้งโดยมูลนิธินิมิตใหม่เพื่อชีวิต เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเด็กด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงระบบการศึกษาได้ โดยมีทั้งการสนับสนุนด้านการศึกษา ที่พักอาศัย และอาหาร เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่โดนทำร้ายจากสังคมได้มีโอกาสมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
2. มูลนิธิสันติสุข
การดูแลเด็กให้เติบโตแข็งแรงคือสิ่งสำคัญในสังคม มูลนิธิสันติสุขได้จัดทำโครงการซื้อนมผงและนมกล่องให้กับเด็ก เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับพวกเขา เนื่องด้วยสถานกาณ์โควิดทำให้หลายครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาทางด้านการเงิน ขาดรายได้ในการเลี้ยงดูบุตร และด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงสำหรับการเลี้ยงดูจึงทำให้เด็กหลายคนต้องขาดสารอาหาร โครงการนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จะมอบนมให้แก่เด็กและครอบครัวเพื่อช่วยให้เด็กได้ดื่มนมเพื่อสารอาหารที่ครบถ้วนและเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ครอบครัวได้ด้วยเช่นกัน
3. มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย
มูลนิธิศุภนิมิต เป็นองค์กรคริสเตียนที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัว โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กเปราะบางและเด็กด้อยโอกาส เพื่อบรรเทาความยากลำบาก ซึ่งโครงการภายในมูลนิธิมีทั้งการสนับสนุนให้เด็กๆ ได้มีครอบครัวอุปการะเพื่อดูแลเด็กๆ ด้วยความรัก ให้การส่งเสริมชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเด็กและเยาวชน สนับสนุนให้เด็กๆ ได้มีการพัฒนาตนเองและทักษะในการดำรงชีวิต รวมทั้งช่วยเหลือด้านสิทธิที่เด็กและเยาวชนควรจะได้รับ
4. มูลนิธิกระจกเงา
มูลนิธิกระจกเงา นอกจากจะเป็นมูลนิธิที่คอยช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสแล้วยังช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสด้วยเช่นกัน โดยมีทั้งโครงการที่ให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนและชุดนักเรียน การดูแลด้านการศึกษาให้แก่เด็กยากไร้ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่คอยสนับสนุนให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลได้มีอุปกรณ์เพื่อการศึกษาที่เพียงพอ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา
5. มูลนิธิธรรมรักษ์
มูลนิธิธรรมรักษ์ เป็นโครงการโดยวัดพระบาทน้ำพุที่จัดทำโครงการเพื่อให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่ต้องพบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิตและการเข้าสังคม นอกจากนี้แล้วยังมีการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาโรคเอดส์ทั้งจากครอบครัวและจากการติดต่อจากพ่อและแม่มาสู่เด็ก โดยโครงการจะเข้าช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ให้รู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งไปจากสังคม
สรุป
เด็กด้อยโอกาสคือเด็กที่ต้องเผชิญกับปัญหาในการดำเนินชีวิต ไม่ได้รับการดูแล การเลี้ยงดู หรือไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนพึงได้รับอย่างเท่าเทียม โดยส่วนมากแล้วกลุ่มเด็กยากไร้มักเป็นเด็กที่เกิดมาในครอบครัวยากจน ขาดทุนทรัพย์ในการดำเนินชีวิตและการพัฒนาตนเอง ซึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ค่อนข้างยาก และยังคงไม่หมดสิ้นไปจากสังคม แต่อย่างไรก็ตามการที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเด็กด้อยโอกาสได้มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ก็เป็นสิ่งดีที่จะส่งผลกระทบด้านบวกต่อสังคมโดยรวม
โดย Cheewid เองเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนและส่งเสริมให้กลุ่มเด็กด้อยโอกาสได้มีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานได้อย่าเท่าเทียม โดยการร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กด้อยโอกาสให้ดีขึ้นได้
Reference:
- ไทยโพสต์. เด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย. thaipost.net. Published on 25 June 2018. Retrieved 1 April 2024.
- สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. ‘เด็กกำพร้า’ ผู้ด้อยโอกาสในระบบการศึกษาที่รัฐต้องเร่งเยียวยา. .research.eef.or.th. Published on 18 October 2021. Retrieved 1 April 2024.
- อมรวิชช์ นาครทรรพ. เด็กด้อยโอกาส จุดพลิกผันอนาคตของชาติ. dol.thaihealth.or.th. Retrieved 1 April 2024.
- Daniel Neiditch Charitable Foundation. Why We Should Care About Underprivileged Children. danneiditch.org. Published on 15 January 2016. Retrieved 1 April 2024.
- Our Father’s House. Underprivileged Children: What Can We Do For Them?. ofhsoupkitchen.org. Published on 26 July 2021. Retrieved 1 April 2024.