ปัจจุบันปัญหาหมาแมวจรจัดล้นเมืองยังไม่ได้รับการแก้ไข แม้จะมีการพูดถึงมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงก่อให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมาไม่เว้นวัน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเห่าหอนที่ถือเป็นมลพิษทางเสียง ปัญหาสิ่งปฏิกูลจากหมาแมวจรจัด ที่ก่อให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คน หรือคนสู่สัตว์ พาหะของโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงอันตรายและอุบัติเหตุจากหมาแมวที่คร่าชีวิตผู้คนทุกปี
ปัญหาหมาแมวจรจัดในสังคมไทย
แม้หมาแมวจะเป็นสัตว์ที่อยู่ใกล้ชิดกับสังคมมนุษย์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่คนเริ่มสนใจเลี้ยงสัตว์แสนรู้เหล่านี้แทนการมีลูก แต่กลับเป็นที่น่าตกใจว่าอัตราของหมาแมวจรจัดยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี
สถิติของหมาแมวจรจัดในประเทศไทย
ฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว ได้มีการรายงานตัวเลขของหมาจรจัด และแมวจรในไทยเอาไว้ในช่วงปี 2562 โดยมีการสำรวจผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่า
-
สัตว์เลี้ยงมีเจ้าของ
หมาที่มีเจ้าของเป็นจำนวน 2,064,876 ตัว
แมวที่มีเจ้าของเป็นจำนวน 799,235 ตัว
-
สัตว์เลี้ยงไม่มีเจ้าของ
หมาจรจัดเป็นจำนวน 109,123 ตัว
แมวจรจัดเป็นจำนวน 55,021 ตัว
ซึ่งการแก้ปัญหานี้ได้ จำเป็นต้องมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทุกคนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง
สาเหตุของปัญหาหมาแมวจรจัด
สาเหตุของปัญหาหมาจรจัด หรือแมวจรจัดในไทยเกิดและมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากหลายประการ โดยจำแนกออกเป็น 5 สาเหตุหลักๆ ดังนี้
1. การขาดจิตสำนึกรับผิดชอบของเจ้าของ
จากการวิจัยพบว่า น่าเศร้าไม่น้อยที่สาเหตุของปัญหาหมาจรจัด หรือแมวจรจัดส่วนใหญ่เกิดจากการขาดจิตสำนึกของผู้เลี้ยงดู การขาดความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ หรือไม่สามารถดูแลในด้านค่าใช้จ่าย พื้นที่อาศัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้สัตว์เลี้ยง หรือรุนแรงถึงขั้นการทำร้ายหมาแมว นำไปสู่การปล่อยปละละเลย จนกลายเป็นปัญหาหมาแมวจรจัดตามมา
2. สัตว์เลี้ยงพลัดหลงออกจากบ้าน
เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าหมาและแมวมักกลัวเสียงดัง ในช่วงเทศกาลจึงเป็นช่วงที่มีข่าวสัตว์เลี้ยงหายออกจากบ้านบ่อยๆ เพราะตกใจเสียงพลุ การแสดง หรือดนตรีต่างๆ ทำให้เกิดปัญหาพลัดหลงของสัตว์เลี้ยง ไม่สามารถตามเจอได้ และกลายเป็นสัตว์จรจัดในที่สุด
3. การขาดความรับผิดชอบของผู้เพาะพันธุ์สัตว์
หลายฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้มีการดูแลหมาแมวอย่างเหมาะสม ทำให้สัตว์เจ็บป่วย หรือมีอันตรายอื่นๆ เกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดปัญหาหมาจรจัด หรือแมวจรจัดได้ เพราะสัตว์เหล่านั้นมักถูกทิ้งขว้าง หรือนำไปปล่อย โดยปราศจากความรับผิดชอบและบทลงโทษ
4. การจัดการที่ไม่เพียงพอจากหน่วยงานของรัฐ
รัฐจำเป็นที่ต้องให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนให้สัตว์เลี้ยงได้ขึ้นทะเบียนสำหรับการดูแล และควบคุมสัตว์จรจัด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมาจากข้อมูลที่ The Standard ได้รวบรวมและสรุปการอภิปรายของคุณ นิภาพรรณ จึงเลิศศิริ (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) ที่กล่าวถึงงบประมาณการจัดทำหมันแมว 1 หมื่นตัว ในปี 2566 ว่า “เราจำเป็นต้องตั้งเป้าไว้ให้สูงกว่านั้น.. ถ้ามีเป้าหมายเพียงเท่านี้ ปัญหาแมวจรจัด หรือสุนัขจรจัดจะไม่มีวันลดลง”
5. การขาดศูนย์ดูแลพักพิงสัตว์จร
เมื่อสัตว์เลี้ยงอย่างหมาแมวถูกทอดทิ้ง หรือพลัดหลงจากเจ้าของ แม้จะเข้าสู่กระบวนการฉีดวัคซีนทำหมันแล้ว จากทั้งเจ้าของเก่าเอง หรือทางหน่วยงานของรัฐจัดสรร แต่หากไม่ได้รับการดูแลต่อจากศูนย์ดูแลพักพิงสัตว์จรจัด ผู้ใจดี และไม่ได้เข้าสู่ระบบการจัดหาบ้านสุนัขจรจัด บ้านแมวจรจัดที่สามารถเลี้ยงดู ให้ที่พักพิงถาวรกับพวกเขาได้ สัตว์เหล่านั้นก็จะถูกส่งกลับสู่สังคมเหมือนอย่างเคย แค่บางตัวเท่านั้นที่จะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ต่อไป แต่แน่นอนว่าปัญหายังคงอยู่ที่เดิม
ผลกระทบจากปัญหาหมาจรแมวจัด
จากปัญหาหมาจรจัด และแมวจรจัดเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่เพียงแค่ผู้อยู่อาศัยในละแวกชุมชนที่มีหมาแมวจรจัดเท่านั้น แต่หมาแมวจรจัดอาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาระดับประเทศได้เช่นกัน โดยผลกระทบจากปัญหาหมาแมวจรจัดนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ
ผลกระทบต่อสวัสดิภาพของสัตว์
สำหรับบางตัวที่เคยถูกเลี้ยงมา เมื่อต้องออกเผชิญโลกภายนอก สวัสดิภาพและความเป็นอยู่พลิกผัน เหมือนกันกับสัตว์จรที่ไม่ได้รับการดูแลจากเจ้าของ หรือไม่เคยมีเจ้าของมาก่อน ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างดิ้นรนด้วยตัวเอง ในสภาพแวดล้อมไม่แน่ไม่นอน เช่น
- การไม่มีที่อยู่อาศัยของหมาแมวจรจัด เห็นได้จากการนอนตามท้องถนน หรือหน้าร้านสะดวกซื้อ
- หมาแมวจรจัดเหล่านั้นมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ไม่ได้กินอาหาร หรือต้องกินเศษอาหารที่ไม่เหมาะสมกับร่างกาย และขับถ่ายไม่เป็นที่ทาง
- เมื่อเจ็บป่วย หมาจรจัดหรือแมวจรจัดจะไม่ได้รับการรักษา หรือต่อให้ตายลงก็อาจไม่ได้มีการจัดการอย่างเหมาะสม จนอาจเป็นพาหะนำโรคอย่างพิษสุนัขบ้าได้อีกด้วย
- ขาดความปลอดภัย ไม่ว่าจะจากหมาจรจัด หรือแมวจรจัดตัวอื่นทำร้าย หรือจากมนุษย์ทำร้าย ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เช่น อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้น หลากหลายกรณีก็เนื่องมาจากหักหลบสัตว์จรจัด เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของหมาแมวจรจัดโดยตรง ผู้คนอาจไม่ได้สนใจความเป็นอยู่ของหมาจรจัด หรือแมวจรจัดมากนัก เพราะคิดว่าเป็นเพียงแค่สัตว์ไร้เจ้าของ และไม่ต้องมีส่วนรับผิดชอบใดๆ แต่อาจลืมไปว่าหมาแมวจรจัดเหล่านั้นก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจ และควรได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน
ผลกระทบต่อคนในสังคม
จากการวิจัยพบว่า เมื่อปัญหาหมาแมวจรจัดไม่ได้รับการดูแลอย่างดีจนเกิดผลกระทบอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ผลกระทบนั้นก็จะถูกส่งต่อมายังมนุษย์ จนถึงระดับสังคม และระดับประเทศได้เช่นกัน ดังนี้
-
ด้านสาธารณะสุข
นอกจากพาหะของโรคพิษสุนัขบ้าที่ติดเชื้อสู่คนได้ง่ายแล้ว ยังมีโรคฉี่หนู โรคกลาก และโรคที่เกิดจากพยาธิในลำไส้ที่มีสาเหตุจากการมีหมาแมว หรือสัตว์จรจัดอื่นๆ อยู่รวมกันได้อีกด้วย เพราะเป็นแหล่งสะสม เพาะเชื้อ และกระจายเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังยากต่อการควบคุมการแพร่ระบาด
-
ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
นอกจากกลิ่นเหม็นที่มาจากกองขยะในบริเวณชุมชนแล้ว การขุดคุ้ยหาเศษขยะจากบรรดาหมาแมวจรจัด อาจส่งผลให้กลิ่นขยะรุนแรงขึ้น และทำให้บริเวณรอบๆ ดูไม่สะอาด ไม่ถูกสุขลักษณะ และยังเกิดเสียงเห่าหอนที่ทำให้เกิดความรำคาญ หรือแม้กระทั่งปัญหาที่เจอได้บ่อยอย่างหมาจรจัด หรือแมวจรจัดวิ่งตัดหน้ารถก็ส่งผลให้ได้รับความเดือดร้อน และอุบัติเหตุทางถนนได้เช่นกัน
-
ด้านเศรษฐกิจ
ค่าใช้จ่ายในการดูแล หรือสร้างศูนย์พักพิงสำหรับหมาแมวจรจัดนั้นค่อนข้างมาก อีกทั้งน่วยงานของรัฐยังต้องให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำหมัน การฉีดวัคซีน หรือการดูแลอื่นๆ จึงส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาเรื่องที่ดินราคาตกเพราะสิ่งแวดล้อมไม่น่าอยู่จากการมีฝูงหมาแมวจรจัดอาศัยอยู่ด้วย
วิธีแก้ปัญหาสุนัขจรจัด และแมวจรจัด
รัฐบาลได้มีการสนับสนุนวิธีแก้ปัญหาสุนัข และแมวจรจัดที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กับภาคประชาชน ดังนี้
- การสร้างจิตสำนึกรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ ทำให้คนที่เลี้ยงสัตว์ได้เรียนรู้วิธีการดูแลสัตว์เลี้ยงที่ถูกต้อง และปลูกฝังให้แสดงความรัก ดูแลเหมือนคนในครอบครัว ไม่ละเลยทอดทิ้ง และต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยง
- การควบคุมสุนัข และแมวจรด้วยการฉีดวัคซีน และทำหมัน ปัจจุบันกรุงเทพฯ ได้มีการลงพื้นที่ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า และมีการทำหมันให้กับหมาแมวจรจัด ซึ่งเป็นการนำร่องนโยบายช่วยลดปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคติดต่อจากสัตว์อื่นๆ ตามมาได้
- การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ช่วยลดปัญหาหมาแมวถูกนำไปปล่อยทิ้ง หรือมีการทำร้ายร่างกายสัตว์เลี้ยงได้เพราะมีการกำหนดโทษแก่เจ้าของ เพื่อให้สวัสดิภาพของสัตว์เลี้ยงจะได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าเดิม
- การบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองสัตว์อย่างเคร่งครัด สิ่งสำคัญ คือ เมื่อเกิดปัญหาแล้วควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อลดช่องโหว่ในการทำความผิดอันก่อให้เกิดปัญหาหมาแมวจรจัดหรืออื่นๆ ตามมา
- วางมาตรการดูแลและควบคุมสัตว์จรจัด รัฐจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และตั้งเป้าหมายในระดับที่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้ผลจริง
- การสนับสนุนและส่งเสริมหน่วยงานดูแลสัตว์จรจัด มูลนิธิที่ให้การช่วยเหลือหมาแมวจรจัดก็มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาบ้านสุนัขจรจัด หรือแมวจรจัด ค่าฉีดวัคซีน ค่าทำหมัน ค่าอาหาร หากมีการสนับสนุนศูนย์ช่วยเหลือหรือหน่วยงานที่ดูแลสัตว์ก็จะทำให้หมาแมวจรจัดได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
- ผลักดันและเปิดโอกาสให้สัตว์จรกลายเป็นสัตว์บ้าน จากบทสัมภาษณ์เรื่องสัตว์จรจัดกับ นัชญ์ ประสพสิน เจ้าของเพจทูนหัวของบ่าว และเจ้าของบ้านพักพิงแมวจร Catster by Kingdomoftiger ใน Urban Creature ให้ความเห็นว่า
“การจะจบกระบวนการเป็นแมวจรได้ แมวที่เราช่วยต้องมีบ้านเป็นของตัวเอง”
อันเป็นกระบวนการสำคัญประการสุดท้ายที่จะทำให้ปัญหาหมา แมว และสัตว์จรจัดต่างๆ หมดไปได้
นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาหมาแมวจรจัดของไทย
ปัจจุบันเรามีหน่วยงานของภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันกำหนดนโยบายเพื่อใช้เป็นแนวทาง และวิธีแก้ปัญหาหมาจรจัด และแมวจรจัดไว้ ดังนี้
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
องค์กรนี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบดูแลครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศสำหรับจัดการปัญหาหมาจรจัด โดยมีการกำหนดให้เจ้าของต้องพาสัตว์เลี้ยงไปขึ้นทะเบียนสัตว์ ต้องได้รับการฉีดวัคซีน และหากสังเกตเห็นว่าหมาแมวของตนมีอาการของโรคพิษสุนัขบ้า เจ้าของต้องแจ้งแก่ราชการส่วนท้องถิ่นทันที เพื่อจะได้ป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการจัดหาที่อยู่อาศัยให้แก่หมาแมวจรจัดด้วย
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมปศุสัตว์มีบทบาทในด้านการควบคุมดูแลการฉีดวัคซีน การทำหมัน เพื่อควบคุมการกำเนิดสัตว์ และหากได้รับแจ้งเหตุว่ามีการทารุณกรรมสัตว์ กรมปศุสัตว์สามารถเรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำ หรือดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือสัตว์ได้ อีกทั้งยังมีอำนาจในการสั่งให้การุณฆาตสัตว์ได้ หากพิจารณาแล้วว่าหมาแมวจรจัดมีการเจ็บป่วย หรือบาดเจ็บสาหัส และสัตวแพทย์ลงความเห็นว่าการอยู่ต่ออาจทำให้ทรมานกว่าเดิม กรณีมีเจ้าของต้องได้รับความยินยอมก่อนด้วย และยังมีบทบาทในด้านการจัดหาบ้านสุนัขจรจัด หรือสัตว์จรจัดอื่นๆ ด้วย
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
บทบาทหน้าที่ของกรมควบคุมโรค คือ การพัฒนางานด้านวิชาการให้ก้าวหน้าเพื่อนำมาปรับใช้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชน ทั้งการศึกษา วิจัย และพัฒนา เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมรักษาโรคภัยที่คุกคามสุขภาพ อย่างโรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดได้จากสัตว์จรจัด จึงเน้นไปที่การให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกวิธี มนุษย์และหมาแมวจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัย
หน่วยงานเอกชน หรือโครงการเพื่อสังคม
นอกเหนือจาก 3 หน่วยงานข้างต้น ก็ยังมีหน่วยงานเอกชน หรือโครงการเพื่อสังคมที่ให้การสนับสนุนการฉีดวัคซีน ทำหมัน หรือให้การดูแลด้านอื่นๆ แก่หมาแมว หรือสัตว์จรจัดอื่นๆ เช่น
- มูลนิธิสงเคราะห์สัตว์พิการ (ในความอุปถัมภ์ของหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
- มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation)
- มูลนิธิ The Voice (เสียงจากเรา)
- สมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย (Thai AGA)
- มูลนิธิสันติสุขเพื่อสุนัขและแมว
- องค์กรการกุศล WVS Care for Dog
- และอื่นๆ อีกมากมาย
สิ่งที่ทุกคนทำได้ เพื่อร่วมแก้ปัญหาหมาแมวจรจัด
ไม่เพียงแค่หน่วยงานรัฐ หรือเอกชนเท่านั้นที่สามารถช่วยเหลือหมาแมวจรจัดได้ เพราะทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาหมาจรจัด และแมวจรจัดได้ โดยทำได้ดังนี้
1. การประชาสัมพันธ์
กระบอกเสียงที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ คือ โซเชียลมีเดีย เราสามารถเผยแพร่ข่าวสาร การประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รับทราบถึงปัญหาหมาแมวจรจัด รวมไปถึงวิธีแก้ปัญหาสุนัขจรจัด การช่วยเหลือสัตว์จรจัด การติดต่อมูลนิธิต่างๆ รวมไปถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ เพื่อจัดหาบ้านสุนัขจรจัด หรือแมวจรจัดให้อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม โดยทุกคนสามารถมาโปรโมตผ่านช่องทางช่องโซเชียลมีเดียได้ เพื่อจะได้เป็นการกระจายข้อมูลแก่คนอื่นต่อไป
2. การสร้างความตระหนักรู้
การที่เจ้าของมีความรัก ความเอาใจใส่ และตระหนักรู้ว่าหากปล่อยปละละเลยหมาแมวของตนไปแล้ว ผลกระทบที่ตามมาอาจทำให้สัตว์เลี้ยง และคนอื่นๆ ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง อาจมีส่วนช่วยลดปัญหาหมาแมวจรจัดได้มากขึ้น สิ่งสำคัญในการเลี้ยงสัตว์ คือ ต้องมีความรู้ และสามารถสนับสนุนในด้านอื่นๆ ได้มากพอ อีกทั้งทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงดูหมาแมวของเจ้าของก็สามารถช่วยลดปัญหาหมาแมวจรจัดเกลื่อนเมืองได้ รวมถึงผู้ที่พบเจอหมาแมวจรจัดก็สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หมาแมวได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม โดยไม่ทอดทิ้งให้เป็นปัญหาสังคมต่อไปได้เช่นกัน
3. การสนับสนุนให้กับองค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การสนับสนุนให้กับองค์กร หรือหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือหมาแมวจรจัด ทำได้โดยการบริจาคเงิน สิ่งของ หรือการเข้าไปเป็นหนึ่งในอาสาสมัครของหน่วยงานนั้น เพราะค่าใช้จ่าย และกำลังคนเป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นต่อการช่วยเหลือหมาแมวจรจัด เช่น
- Thai Love Animal ให้การช่วยเหลือสัตว์จรจัดที่ได้รับบาดเจ็บ สามารถระดมทุนเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ หรือบริจาคสิ่งของอย่างน้ำยากำจัดเห็บก็ได้เช่นกัน
- มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog Foundation) ให้การดูแลรักษาสัตว์จรจัด รวมถึงทำหมัน ฉีดวัคซีน รักษาพยาบาล ให้บ้านแก่สุนัขจรจัด และกำลังต่อสู้เพื่อยุติธุรกิจการค้าเนื้อสุนัขในทวีปเอเชียอีกด้วย ทุกคนสามรถบริจาคค่าอาการ ค่ารักษาพยาบาลได้แบบทั้งรายครั้ง และรายเดือนให้แก่มูลนิธิ
- มูลนิธิรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร เราสามารถเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิรักแมวได้ เพื่อให้การช่วยเหลือหาบ้าน และทำหมันให้แก่แมวจรจัด
สรุป
ปัญหาหมาแมวจรจัดในไทย ส่งผลให้ภาพลักษณ์ในละแวกนั้นไม่น่ามอง อาจเต็มไปด้วยเสียงดัง กลิ่นเหม็น และพาหะเชื้อโรคจากหมาแมวจรจัดที่ไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม การมีหน่วยงานเข้ามาให้การช่วยเหลือ และดูแลในส่วนนี้ จะช่วยลดปัญหาการเกิดขึ้นของหมาแมวจรจัดได้
แต่ที่สำคัญที่สุดคือสุขภาวะและคุณภาพชีวิตของหมาแมวเหล่านั้นที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สิ่งที่พวกเราทำได้เพื่อลดและแก้ปัญหาหมาจรจัด คือ การสร้างความตระหนักรู้แก่เจ้าของให้มีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยง การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง พาสัตว์เลี้ยงของตนไปฉีดวัคซีน และทำหมัน รวมถึงยังมีช่องทางการสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง และแมวจรจัดได้ เช่น การบริจาคเงิน สิ่งของ หรือเข้าเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือร่วมกับองค์กรต่างๆ นั่นเอง
Reference:
- กองบริหารงานทั่วไป มหาวิทยาลัยมหิดล. การเลี้ยงสัตว์ที่จะไม่เป็นปัญหาของสังคม. op.mahidol.ac.th. Published 6 June 2022. Retrieved 7 June 2023
- ปริญญาวัน ชมเสวก. แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสุนัขจรจัด : ศึกษากรณีที่มีการร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน. Ombstudies.ombudsman.go.th. Published 2020.Retrieved 7 June 2023
- โครงการสัตว์ปลอกโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า. ฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว. Retrieved 7 June 2023
- BBC News ไทย. แก้อย่างไร หมา-แมวจรจัดทั่วไทยกว่า 1 ล้านตัว เก็บภาษี กำจัด ไม่ใช่ทางออก. bbc.com/thai. Published 19 March 2018. Retrieved 7 June 2023