Social Enterprise คือ กิจการเพื่อสังคม โดยจะเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์กลับคืนสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรง แน่นอนว่าหลายๆ คนอาจจะยังคงไม่คุ้นเคย และมีคำถามหรือข้อสงสัยกันอยู่บ้างว่า แล้วธุรกิจเพื่อสังคมที่ว่านี้มีรูปแบบการดำเนินการแบบใด แล้วผลประโยชน์ที่จะให้กับสังคมสามารถทำได้จริงหรือไม่ ดังนั้น Cheewid จึงขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Social Enterprise กัน ผ่านบทความนี้
แนวคิดและลักษณะสำคัญของ Social Enterprise
แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม หรือ กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) คือ การแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนในรูปแบบหนึ่ง โดยเกิดขึ้นมาจากการสร้างนวัตกรรมสังคมร่วมกับองค์ความรู้ด้านธุรกิจ เพื่อมุ่งไปสู่การเกิดวิสาหกิจเพื่อสังคม ซึ่งจะนำผลกำไรที่ได้มาจัดการเพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม สามารถนำมาต่อยอดและหมุนเวียนเพื่อโครงการอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม คืนประโยชน์สูงสุดไปสู่สังคมได้
ลักษณะที่สำคัญของ Social Enterprise มี ดังนี้
- เป้าหมายสำคัญก็เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน
- มีความยั่งยืนทางการเงิน เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- รูปแบบการดำเนินการที่โปร่งใส และสอดคล้องไปกับสังคม
- หวังผลกำไรและประโยชน์สูงสุดเพื่อคืนสู่สังคม
ความสำคัญของ Social Enterprise
Social Enterprise หรือ กิจการเพื่อสังคม คือการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่าผลกำไรที่ได้มาจะนำไปคืนสู่สังคม โดยปัจจุบันธุรกิจและองค์กรหลายแห่งก็มีการแบ่งผลกำไรส่วนหนึ่งเพื่อนำไปดำเนินโครงการเพื่อสังคมและอาจได้ผลตอบแทนเป็นการลดหย่อนภาษีจากรัฐ เพื่อการต่อสู้ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี ซึ่งความสำคัญที่มีต่อสังคมของ Social Enterprise มีอะไรบ้าง สามารถอธิบายได้ดังนี้
-
จัดการกับปัญหาทางสังคม
การจัดการกับปัญหาสังคมภายใต้การดำเนินกิจการเพื่อสังคมนั้นสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในสังคมได้อย่างหลากหลาย ตามแต่เป้าหมายการแก้ปัญหาของแต่ละธุรกิจ เช่น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่างๆ ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการศึกษาหรือการเข้าถึงบริการของสถานพยาบาล และรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน
-
การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
การพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนผ่านการทำกิจการเพื่อสังคม จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ดำเนินธุรกิจมีการนำวิทยาการและองค์ความรู้ของแต่ละพื้นที่ชุมชนมาปรับใช้ เพื่อเสริมสร้าง พัฒนา และอนุรักษ์ โดยคำนึงถึงรูปแบบของการพัฒนาที่สอดคล้องกับจริยธรรมและมีการคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวมากกว่าการเล็งเห็นผลประโยชน์ในระยะสั้น
-
คนในชุมชนมีอำนาจตัดสินใจ
การดำเนินวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น มักเป็นการดำเนินการที่ต้องมีความสอดคล้องไปกับพื้นที่และชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำองค์ความรู้ท้องถิ่นมาปรับใช้ร่วมกับองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจ หรือการศึกษาวิถีชีวิตของคนในชุมชนเพื่อดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นคนในชุมชนและผู้ดำเนินกิจการจึงมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และเพื่อประโยชน์ที่จะต้องส่งคืนสู่สังคมจึงทำให้คนในชุมชนที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่ไม่ด้อยไปกว่าเจ้าของทุนผู้ดำเนินธุรกิจเลย
-
การทำงานร่วมกันและการเป็นหุ้นส่วน
การที่จะพัฒนาแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมที่ยั่งยืนและส่งผลดีเพื่อคืนกลับสู่สังคมได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ อาทิ หน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และผู้คนในสังคมชุมชน เพื่อทำให้มีการรวบรวมองค์ความรู้ที่มีประโยชน์และจำเป็นต่อการพัฒนา เนื่องจากแต่ละภาคส่วนต่างมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน การร่วมมือกันจึงจะส่งเสริมให้สามารถดึงเอาองค์ความรู้มาประยุกต์และบูรณาการไปสู่การพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้
-
ความรับผิดชอบต่อสังคม
การดำเนินกิจการเพื่อสังคมนั้นไม่เพียงแต่มุ่งหวังกำไรสูงสุดของการดำเนินธุรกิจเท่านั้น แต่มุ่งหวังว่ากำไรที่สามารถนำไปสู่เป้าหมายของการส่งคืนเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม ซึ่งแตกต่างไปจากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบอื่นๆ โดยการดำเนินกิจการเพื่อสังคมจะเป็นการดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินให้แก่กิจการ ธุรกิจและชุมชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง อีกทั้งกิจการเพื่อสังคมนี้ยังส่งผลทำให้ผู้ดำเนินธุรกิจรายอื่นๆ หรือนักลงทุนหันมาสนใจร่วมมือดำเนินกิจการ เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
Social Enterprise มีประเภทอะไรบ้าง
โดยธุรกิจเพื่อสังคมมีอะไรบ้างนั้น สามารถอธิบายตามประเภทของ Social Enterprise ทั้ง 7 ประเภทได้ ดังนี้
1. Community-based Organization
การดำเนินกิจการโดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือชุมชน ซึ่งชุมชนจะมีบทบาทในการจัดการและดูแลธุรกิจ โดยสมาชิกภายในชุมชนก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันไปเพื่อการควบคุมดูแลกิจการอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน อีกทั้งการดำเนินกิจการในรูปแบบนี้จะเป็นการส่งเสริมทำให้ชุมชนสามารถดูแลและหาเลี้ยงชีพตนเองได้ และเพื่อการพัฒนาชุมชนไปสู่ความก้าวหน้าและคุณภาพที่ดีขึ้นของชุมชน
2. Fairtrade
รูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อเสนอเงื่อนไขทางการค้าที่ดีที่สุดในการส่งออกสินค้าให้ได้ราคาสูงขึ้น ขับเคลื่อนให้มาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยเป็นการสนับสนุนให้ผู้ผลิตจากชุมชนท้องถิ่นมีการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
3. Cooperative
การรวมกลุ่มกันของผู้ที่มีจุดมุ่งหมายในการดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกัน โดยจะเข้ามาร่วมมือกันเพื่อตอบสนองในเรื่องสังคมและเศรษฐกิจ มีการแลกเปลี่ยนในด้านทรัพยากรต่างๆ ระหว่างกัน ส่งผลทำให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อกันและกัน
4. Financial Institutions
สถาบันทางการเงินที่ดำเนินขึ้นสำหรับกิจการเพื่อสังคม โดยผลประโยชน์สูงสุดจะเป็นของสมาชิก และเพื่อช่วยเหลือสมาชิก เช่น การเสนออัตราการออมที่สูง อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ซึ่งสถาบันทางการเงินสำหรับกิจการเพื่อสังคมนี้มักจะไม่เน้นในเรื่องผลกำไรส่วนตัว แต่จะคำนึงถึงสมาชิกเป็นหลัก สถาบันการเงินเพื่อกิจการเพื่อสังคม ได้แก่ สหภาพเครดิต (Credit Unions), ธนาคารสหกรณ์ (Cooperative Banks) และกองทุนเงินกู้หมุนเวียน (Revolving Loan Funds) เป็นต้น
5. Non-Governmental Organizations
Non-Governmental Organizations หรือ NGOs เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมหรือขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในรูปแบบต่างๆ เพื่อเรียกร้องในการเพิ่มโอกาสให้แก่กลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งแหล่งรายได้ขององค์กรไม่แสวงหากำไรนี้มักมาจากการได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสมาชิก รัฐบาล หรือ หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการสนับสนุนกิจกรรมให้เกิดขึ้น
6. Social Firms
การดำเนินการเพื่อกลุ่มคนด้อยโอกาส เด็ก คนยากไร้ คนไร้บ้าน คนว่างงาน หรือคนติดยา หรือประชากรที่อาจเป็นกลุ่มผู้เบี่ยงเบนทางสังคม เพื่อสนับสนุนให้พวกเขาเหล่านี้มีอาชีพ มีรายได้ โดยจะมีการช่วยเสริมสร้างและพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อการประกอบอาชีพให้แก่องค์กร
7. Microfinance
การบริการทางการเงินให้แก่กลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจรายย่อยที่อาจไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการดำเนินธุรกิจ โดยมักจะดำเนินการให้แก่กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจรายเล็กๆ เป็นรายผู้ประกอบธุรกิจที่มาเป็นกลุ่มด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง Social Enterprise
Social Enterprise หรือ กิจการเพื่อสังคม อาจยังไม่เป็นที่คุ้นเคยมากนักในสังคมไทย หรือหลายๆ ท่านอาจจะยังนึกภาพการดำเนินของกิจการต่างๆ ไม่ออก ดังนั้น Cheewid จึงอยากพาทุกคนมาดูตัวอย่างของบริษัทเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมว่ากิจการต่างๆ นั้นดำเนินการแบบใด และมีเป้าหมายเพื่อสังคมอย่างไรบ้าง
insKru
insKru เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ให้บริการในรูปแบบของ Online Community มุ่งเน้นประโยชน์เพื่อการศึกษา โดยเน้นส่งต่อแรงบันดาลใจ สนับสนุน และเติมพลังให้กับคุณครูจากทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงไอเดีย กิจกรรม สื่อ และเทคนิคการสอนที่มาจากการแบ่งปันของคนใน Community เพื่อให้ครู “เป็นครูได้ดั่งใจ” และเป็นแรงบันดาลใจที่สร้างการเปลี่ยนแปลงของนักเรียน ตลอดจนวงการการศึกษาไทยได้
- ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: https://new.inskru.com/idea-library/
- Facebook Page: Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน
Moreloop
Moreloop คือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างโรงงานที่ต้องการขายผ้าที่เหลือจากการผลิต ให้กับนักออกแบบและผู้ผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าส่วนเกินในการผลิตแต่ละครั้ง และลดขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เหลือน้อยที่สุด โดยมีเป้าหมายคือการทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นจริง ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมแฟชั่น ฯลฯ
- ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: https://moreloop.ws/
- Facebook Page: moreloop
บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
บริษัท ออทิสติกไทย วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ ART STORY By Autistic Thai เป็นธุรกิจเชิงสังคมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้โอกาสแก่เด็กออทิสติกได้เรียนรู้ทักษะชีวิตตลอดจนการพึ่งพาตัวเองผ่านสื่อกลางอย่างศิลปะ ที่นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบ งานบริการ เพื่อพัฒนาการด้านต่างๆ ที่เหมาะสม ต่อยอดเส้นทางในอนาคต และส่งเสริมการมีรายได้อย่างยั่งยืน
- ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: https://artstorybyautisticthai.com/
- Facebook Page: Artstory By AutisticThai
YoungHappy (ยังแฮปปี้)
YoungHappy ดำเนินกิจการโดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงวัย เพื่อทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ของตนผ่านแพลตฟอร์มแอปพลิเคชัน เพื่อทำให้ผู้สูงอายุยังคงไม่ลืมถึงคุณค่าในตนเอง ลดโอกาสความเครียดที่อาจเกิดขึ้นหลังเกษียณ และใช้ชีวิตวัยเกษียณได้อย่างมีคุณภาพและความสุข
- ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: https://younghappy.com/
- Facebook Page: ยังแฮปปี้ YoungHappy
a-chieve
a-chieve เป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้นักเรียน โดยเฉพาะน้องๆ มัธยมได้ค้นพบและทำในสิ่งที่ตนเองรักและสนใจ ผ่านการสร้างเสริมการเรียนรู้ด้วยฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์และจัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพ ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite โดยมีกำไรคือการที่เยาวชนได้เรียนรู้ สร้างสรรค์คุณค่าให้ตนเอง และแบ่งปันกลับคืนสู่สังคม
- ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์: https://a-chieve.org/
- Facebook Page: a-chieve
Social Enterprise มีข้อดีอย่างไร
Social Enterprise อย่างที่ได้อธิบายไปบ้างแล้ว ว่าเป็นการลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยผลประโยชน์หลักก็เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเราจะมาดูกันว่านอกจากการคำนึงถึงสังคมเป็นหลักแล้ว Social Enterprise มีข้อดีอย่างไรบ้าง ดังนี้
- ง่ายต่อการระดมทุนจากรัฐ เนื่องจากวัตถุประสงค์และเป้าหมายของกิจการนั้นมักจะคำนึงถึงจริยธรรมทางสังคมอย่างรอบด้านเพื่อการสนับสนุนงานต่างๆ ของสังคม
- มีการดึงดูดผู้คนได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงการดึงดูดสื่อต่างๆ ได้ เพราะการดำเนินการเน้นการแก้ไขปัญหาเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกลุ่มได้จากการที่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน
- สามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ได้ด้วยการจัดรูปแบบการบริการตามแต่สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม
- สร้างความคุ้มค่ากว่าธุรกิจอื่น ๆ เนื่องจากต้นทุนจะถูกวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น
- ส่งเสริมชื่อเสียงให้แก่องค์กรจากการดำเนินกิจการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการช่วยเหลือสังคมและตอบสนองต่อความต้องการของสังคม
- สามารถกระตุ้นและพัฒนาพนักงานได้เมื่อสามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและความสำคัญของการดำเนินการ
- การจ้างงานมีค่าตอบแทนที่ไม่สูงมากนัก
FAQ คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม
Cheewid ได้รวบรวมคำถามและข้อสงสัยเกี่ยวกับ Social Enterprise ที่พบได้บ่อยมาไว้ที่นี่แล้ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มเติมความเข้าใจให้แก่ทุกคนได้ ดังนี้
Social Enterprise เหมือนกับ CRS หรือไม่?
Social Enterprise (SE) และ CSR นั้นต่างกัน เนื่องจาก SE เริ่มต้นทำธุรกิจเพื่อสังคมเป็นเป้าหมายหลักและเป็นเป้าหมายโดยตรง ในขณะที่ CSR คือองค์กรหรือกลุ่มธุรกิจทั่วไปที่มีการดำเนินกิจการ โดยเมื่อได้ผลกำไรแล้วจึงนำกำไรส่วนหนึ่งมาตอบแทนสู่สังคม
Social Enterprise ต่างจากองค์กรการกุศลหรือไม่?
ต่างกัน เพราะว่าองค์กรการกุศลมีแหล่งที่มาของรายได้จากการรับบริจาคเป็นหลัก ซึ่งมีความไม่แน่นอนในจำนวนของยอดบริจาค ในขณะที่กิจการเพื่อสังคมมีแหล่งรายได้หลักมาจากการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม โดยเงินลงทุนที่ได้จะถูกนำมาหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและบริการ ซึ่งผูัที่มาซื้อสินค้าและบริการจะพิจารณาสนับสนุนสินค้าจากคุณภาพ ไม่ใช่ความสงสารและเห็นใจจึงบริจาค
Social Enterprise ต่างจากธุรกิจปกติอย่างไร?
ต่างกันจากเป้าหมายของการประกอบธุรกิจ โดยถึงแม้ว่าธุรกิจทั่วไปก็ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ในด้านของการทำให้เกิดการจ้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ธุรกิจโดยทั่วไปมักหวังผลกำไรสูงสุดเพื่อประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจ แต่ในด้านของกิจการเพื่อสังคมนั้นมีการใช้เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและวัตถุประสงค์ที่แน่ชัดนั่นก็คือผลประโยชน์สูงสุดก็เป็นไปเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ผู้ประกอบการ Social Enterprise ไม่ได้ค่าตอบแทน?
ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ต่างก็ได้ค่าตอบแทนเช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจทั่วไป เนื่องจากกิจการเพื่อสังคมนี้ไม่ใช่กิจกรรมการกุศล ทำให้กิจการเพื่อสังคมมีแหล่งรายได้ที่ชัดเจนจากการประกอบธุรกิจ อีกทั้งการดำเนินธุรกิจยังมีความยั่งยืนเนื่องจากการทำให้ผู้ประกอบการสามารถพึ่งพาตนเองได้
Social Enterprise สนับสนุนแต่ผู้ด้อยโอกาส?
Social Enterprise โดยส่วนมากมักเป็นการดำเนินกิจการเพื่อกลุ่มผู้ด้อยโอกาส แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินกิจการเพื่อผู้ประกอบการอื่นๆ ที่มีเป้าประสงค์เพื่อการช่วยเหลือสังคมและสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น SE จึงไม่ได้มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเพียงแค่กลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคมเท่านั้น แต่ก็ยังมีการคำนึงถึงกลุ่มทางสังคมกลุ่มอื่น ๆ ในภาพรวมด้วยเช่นกัน
สรุป
Social Enterprise คือ แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีจุดมุ่งหมายของการประกอบธุรกิจเพื่อส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง พัฒนาคุณภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่ง SE จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ สามารถผลิตสินค้าและบริการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของคนในชุมชนให้มีความยั่งยืน ผู้คนมีแหล่งรายได้ที่มั่นคง และชุมชนมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีมากยิ่งขึ้น สามารถเลี้ยงชีพตนเองได้อย่างยั่งยืน อีกทั้ง SE ยังมุ่งหวังให้กิจการเพื่อสังคมนี้จะเป็นส่วนช่วยทำให้สังคมในภาพรวมก้าวหน้าและพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้ โดยไม่จำกัดเพียงแค่ชุมชนใดชุมชนหนึ่งเท่านั้น
ดังนั้นหากทุกๆ ท่านสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือและร่วมมือเพื่อการดำเนินกิจการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืน ทุกท่านก็สามารถสนับสนุนกำลังทรัพย์ผ่าน องค์กรเพื่อสังคมของเรา เพื่อส่งต่อความร่วมมือไปยังกิจการเพื่อสังคมต่างๆ อีกทั้งทุกท่านเองก็ยังสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับ Social Enterprise อื่นๆ ผ่าน Cheewid เพื่อเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ทุกท่านพึงพอใจได้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสนับสนุนให้กิจการเพื่อสังคมนี้สามารถดำเนินต่อไปได้เช่นกัน
Reference:
- RBS Rangsit Business School. ธุรกิจเพื่อสังคม ทำแล้วได้กำไรจริงหรือไม่ ?. rbs.rsu.ac.th. Retrieved 21 July 2023.
- SE THAILAND. ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) คืออะไร. Sethailand.org. Published on 09 September 2019. Retrieved 21 July 2023.
- กมลลักษณ์ ไชยวนศิลป์, และขนิษฐา ปาทานศิริกุล.SE ธุรกิจที่อยู่ได้โดยปราศจากกำไร. Bablog.mju.ac.th. Published on July 2010. Retrieved 21 July 2023.
- ปรีดี นุกุลสมปรารถนา. แนวคิดความเป็น Social Enterprise. Popticles.com. Published on 26 December 2021. Retrieved 21 July 2023.
- มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี. Social Enterprise: SE คืออะไร. Se.rbru.ac.th. Retrieved 21 July 2023.