คนที่ชอบบริจาคเงินเพื่อประโยชน์ของสังคม อาจจะทำการบริจาคด้วยความบริสุทธิ์ใจและไม่ได้หวังอะไรตอบแทนนอกเหนือจากความสบายใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์ต่างๆ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า นอกจากความสบายใจแล้ว ยังสามารถนำเงินบริจาคมาใช้ในการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย โดยในบางกรณีสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าเลยทีเดียว
ซึ่งในปัจจุบันการบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษีนั้นสามารถทำได้ง่ายดาย ผ่านการบริจาคแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบ e-Donation ในบทความนี้ Cheewid จึงอยากพาผู้อ่านทุกคนไปรู้จักว่า e-Donation คืออะไร กฎเกณฑ์ในการบริจาคลดหย่อนภาษี 2 เท่า ปี 2566 นั้นมีอะไรบ้าง รวมไปถึงเกร็ดความรู้อีกมากมายที่นักบริจาคทุกคนควรรู้ พร้อมแล้วไปดูกันเลย
การบริจาคเงิน สามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่
ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร กล่าวถึงสิทธิการหักลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาคทั่วไป สำหรับบุคคลธรรมดาเอาไว้ว่า “เงินบริจาคทั่วไป หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น” กล่าวง่ายๆ ก็คือ การบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น สามารถนำยอดบริจาคมาหักลดได้เต็มจำนวน แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ ออกแล้วนั่นเอง โดยสามารถคำนวณได้ตามสูตร ดังนี้
รายได้สุทธิ = (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนอื่นๆ) – ค่าลดหย่อนจากการบริจาค
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษีจะเป็นการบริจาคให้กับสถานศึกษา โรงพยาบาลองค์กรการกุศล และมูลนิธิต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย
ตัวอย่างในการใช้เงินบริจาคลดหย่อนภาษี
เพื่อให้เห็นภาพของการบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษีให้ชัดเจนขึ้น ขอยกตัวอย่างการบริจาคทุนการศึกษาเพื่อลดหย่อนภาษีของนายเอเป็นกรณีตัวอย่าง โดยนายเอ มีข้อมูลรายได้และค่าลดหย่อนต่างๆ ดังนี้:
- รายได้รวม 500,000 บาทต่อปี
- ลดหย่อนค่าใช้จ่าย 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
- ลดหย่อนสำหรับบุคคลธรรมดา 60,000 บาท
- บริจาคทุนการศึกษา 10,000 บาท
เมื่อนำตัวเลขเหล่านี้มาใส่สูตรคำนวณก็จะได้ผลลัพธ์ ดังนี้
สูตร: รายได้สุทธิ = (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อนอื่นๆ) – ค่าลดหย่อนจากการบริจาค
(500,000 – 100,000 – 60,000) – 10,000 = 330,000 บาท
ในกรณีที่ไม่มีการลดหย่อนอื่นๆ เพิ่มเติม จำนวน 330,000 บาท ก็คือตัวเลขรายได้สุทธิของนายเอ ที่จะถูกนำไปคำนวณภาษีในลำดับต่อไปนั่นเอง
บริจาคเงินแบบใดลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
โดยปกติแล้ว การบริจาคเงินลดหย่อนภาษีแบบทั่วไปนั้น สามารถนำยอดบริจาคมาลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้ หลังจากหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนอื่นๆ แต่ว่า กรมสรรพากรได้มีข้อกำหนดพิเศษ ที่ทำให้ “เงินบริจาคผ่านระบบ
สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน” เพื่อช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการบริจาคให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือในด้านของทุนทรัพย์ และเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยทำให้การบริจาคเงินลดหย่อนภาษีมีความสะดวกสบาย และทำได้ง่ายขึ้น
โดยสามารถเลือกบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ให้กับองค์กรหรือหน่วยงานดังต่อไปนี้ เพื่อรับสิทธิในการลดหย่อน ภาษี 2 เท่า:
1. เงินบริจาคสนับสนุนการศึกษา
สามารถทำได้โดยการบริจาคเงินให้กับ โรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษา ผู้ประสงค์บริจาคสามารถตรวจสอบรายชื่อของสถานศึกษาที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยเงินที่ได้รับบริจาคนั้นจะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ
- การบริจาคสร้างอาคาร หรือห้องเรียน เพื่อใช้สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษา
- การให้ทุนการศึกษาแก่ นักเรียน หรือนักศึกษาในการทำการค้นคว้า วิจัย หรืองานประดิษฐ์ของโรงเรียน
- การจัดหาบุคลากร หรือครูบาอาจารย์ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่
- การจัดซื้อและจัดหาอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ ทั้งตำรา หนังสือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของนักเรียน
ทั้งนี้หากต้องบริจาคเงินลดหย่อนภาษี 2 เท่าจากการบริจาคเงินให้กับสถานศึกษา ต้องทำผ่านการบริจาค อิเล็กทรอนิกส์ หรือ (e-Donation) เท่านั้น
2. เงินบริจาคสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐ
การบริจาคเงินให้กับสถานพยาบาลของทางราชการ หรือโรงพยาบาลรัฐนั้น หากทำการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้เช่นกัน ตัวอย่างรายชื่อของสถานพยาบาลและหน่วยงานที่รับบริจาค อิเล็กทรอนิกส์
- สถาบันประสาทวิทยา
- สภากาชาดไทย
- โรงพยาบาลราชวิถี
- โรงพยาบาลศิริราช
- โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
และโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อของสถานพยาบาลที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรโดยตรง
3. เงินบริจาคศาสนสถาน
การบริจาคเงินให้กับวัดหรือศาสนสถานนั้นสามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษีได้ ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้บริจาคสามารถ “บริจาคให้วัด (ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505) โบสถ์ทางคริสต์ศาสนา หรือมัสยิดตามศาสนาอิสลาม” ตามความเชื่อทางศาสนาของตน โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องมีที่ตั้งอยู่ภายในประเทศไทยเท่านั้น ตัวอย่างของศาสนสถานที่เปิดรับบริจาคอิเล็กทรอนิกส์
- วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร
- วัดพระธาตุพนม นครพนม
- วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เชียงใหม่
- วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
- มัสยิด เอี๊ยะห์ยาอิ้ลอิสลาม กรุงเทพมหานคร
- คริสตจักรแสงแห่งชีวิต สมุทรปราการ
ทั้งนี้ เพื่อรับสิทธิในการลดหย่อนภาษี 2 เท่า ต้องทำการบริจาคเงินลดหย่อนภาษีผ่าน e-Donation เท่านั้น
4. เงินบริจาคองค์กรสาธารณกุศล
ตามข้อกฎหมายของสรรพากร มีการกำหนดให้บุคคลธรรมดาที่บริจาคให้กับ “มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธินำเงินบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 10 ในการคำนวณเงินได้สุทธิ” โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อของมูลนิธิที่สามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษี ได้จากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรโดยตรง ตัวอย่างของมูลนิธิและองค์กรการกุศลที่สามารถนำไปยื่นหักภาษี
- มูลนิธิ สืบนาคะเสถียร
- มูลนิธิ ชัยพัฒนา
- มูลนิธิ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
- มูลนิธิ ช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์
- มูลนิธิ ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก
- มูลนิธิ อาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย
หากมีความต้องการบริจาคเงินลดหย่อนภาษี ให้กับองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ อย่าลืมบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรับสิทธิในการลดหย่อนภาษี 2 เท่า
5. เงินบริจาคสนับสนุนการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554 ได้มีการกำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษีได้สองเท่า แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้สุทธิ หากเป็นการบริจาคเงินให้แก่ “สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาลโรงเรียนเอกชน…หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย…เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน” โดยประเภทของสถานศึกษาที่สามารถทำการบริจาคเพื่อช่วยส่งเสริมการอ่าน
- โรงเรียนรัฐ หรือสถานศึกษาของราชการ
- โรงเรียนเอกชน
- สถาบันอุดมศึกษา
ทั้งนี้ ยังสามารถที่จะทำการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว และยังคงได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษี 2 เท่า เช่นเคย
เงินบริจาคพิเศษคืออะไร ทำไมลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
นอกจากการบริจาคเงินลดหย่อนภาษีแบบทั่วไปแล้ว กรมสรรพากรยังได้มีการกำหนดการบริจาคเงินลดหย่อนภาษีแบบพิเศษ ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี 2 เท่าเอาไว้ในอีกกรณีหนึ่ง คือ การบริจาคเงินเพื่อ “สนับสนุนการศึกษา/กีฬา/พัฒนาสังคม” โดยองค์กรและหน่วยงานพิเศษที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี 2 เท่า
- หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย
- กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้ง
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก
- สถานพักฟื้น บำบัด และฟื้นฟูเด็ก
- กองทุนยุติธรรม
- เงินบริจาคเพื่อคนพิการเพื่อการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ และสภากาชาดไทย
ทั้งนี้รายชื่อขององค์กรที่สามารถทำการบริจาคเงินเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี 2 เท่ามีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ปี หากทำการบริจาคให้กับองค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่อยู่ในรายชื่อก็จะทำให้ลดหย่อนภาษีได้แค่ 1 เท่า เท่านั้น ดังนั้นควรทำการบริจาคผ่านระบบ e-Donation เพื่อป้องกันความผิดพลาด และเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการใช้งานจะดีที่สุด
e-Donation คืออะไร สามารถบริจาคเงินได้อย่างไร
e-Donation คือ ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมสรรพากรได้พัฒนาขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการบริจาคเงินให้กับองค์กรและหน่วยงานต่างๆ โดยผู้บริจาคเองก็จะได้รับประโยชน์จากการที่สามารถนำยอดเงินบริจาคนั้นไปใช้ในการลดหย่อนภาษี 2 เท่า โดยที่ไม่ต้องมีเอกสารประกอบนั่นเอง
ทั้งนี้การบริจาคเงินลดหย่อนภาษีผ่าน e-Donation นั้นจะต้องทำผ่านหน่วยรับบริจาคซึ่งทำการลงทะเบียนกับกรมสรรพากรแล้วเท่านั้น โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อของหน่วยรับบริจาคที่ใช้ระบบ e-Donation ได้ที่นี่
ในการบริจาคเงินลดหย่อนภาษีผ่าน e-Donation นั้น ผู้ประสงค์บริจาค สามารถทำการบริจาคได้สองรูปแบบ คือ เดินทางมาบริจาคที่หน่วยบริจาคด้วยตนเอง และการบริจาคผ่าน QR Code ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ โดยธนาคารที่เข้าร่วมโครงการและให้บริการระบบ e-Donation มีรายชื่อดังต่อไปนี้
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb)
- ธนาคารมิซูโฮ
- ธนาคารออมสิน
และมีแนวโน้มที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จะเข้าร่วมโครงการมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถามธนาคารที่ใช้บริการโดยตรง เพื่อข้อมูลที่ชัดเจนและแม่นยำมากที่สุด เกี่ยวกับการบริจาคเงินลดหย่อนภาษีผ่าน บริการ e-Donation ของธนาคาร
นอกจากสถาบันทางการเงินแล้ว สามารถทำการบริจาคเงินให้กับหน่วยรับบริจาคที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านแพลตฟอร์มของ Cheewid แพลตฟอร์มที่เป็นกระบอกเสียงและตัวกลางในการระดมทุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม โดยเงินทุกบาททุกสตางค์จะเข้าไปยังองค์กรและโครงการเพื่อสังคมโดยตรง และมีทีมงานขององค์กรนั้นๆ เป็นผู้รับยอดการบริจาคด้วยตนเอง
สำหรับโครงการที่มี ‘ลดหย่อนภาษี (Tax Included)’ ทางกรมสรรพากรจะนำข้อมูลของเงินบริจาคนั้นไปคำนวณ พร้อมแสดงยอดบริจาคเมื่อต้องจ่ายภาษีโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมีเอกสารประกอบ ช่วยทำให้การบริจาคกลายเป็นเรื่องง่าย ได้ทั้งความสบายตัวและสบายใจไม่ต้องเก็บเอกสารให้วุ่นวายอีกต่อไป
วิธีแจ้งความประสงค์ความต้องการลดหย่อนภาษี
ผู้ที่มีความประสงค์ในการบริจาคเงินลดหย่อนภาษีผ่าน e-Donation นั้น สามารถทำการบริจาคได้สองช่องทาง คือ:
- เดินทางมาบริจาคที่หน่วยบริจาคด้วยตัวเอง
โดยหลังจากที่ได้รับเงินบริจาคแล้ว หน่วยบริจาคจะต้องทำการบันทึกข้อมูลผ่านระบบบริจาค e-Donation ของกรมสรรพากรด้วย
- บริจาคผ่าน QR Code ของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
ต้องเป็น QR Code จากหน่วยรับบริจาคที่ลงทะเบียนเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นการโอนเงินด้วยเลขบัญชีแบบปกติได้ และต้องมีการระบุข้อความ “e-Donation” ด้วย
ข้อดีของการบริจาคผ่าน e-Donation
เทคโนโลยี e-Donation นั้นช่วยทำให้การบริจาคเงิน และเรื่องการยื่นขอลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลทั่วไปกลายเป็นเรื่องง่าย โดยข้อดีของการบริจาคเงินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ มีดังนี้
- ไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคให้ยุ่งยาก
ช่วยลดภาระของผู้บริจาค โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษี เพราะหากหลักฐานการบริจาคสูญหาย ก็อาจทำให้ไม่สามารถทำการลดหย่อนภาษีได้ แต่สำหรับการบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังระบบ e-Donation ของสรรพากรโดยตรง ทำให้สามารถเรียกดูข้อมูลทั้งหมดจากฐานข้อมูล และไม่ต้องนำหลักฐานมาแสดงในขั้นตอนของการยื่นภาษี
- ได้ลดหย่อนภาษีสองเท่า
การบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษี ผ่านระบบ e-Donation กับสถาบัน องค์กร หรือมูลนิธิที่ได้รับการประกาศจากรัฐบาล สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สองเท่าของจำนวนบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ
- ได้ภาษีเงินคืนเร็วขึ้น
หนึ่งในสาเหตุที่อาจทำให้ได้เงินคืนภาษีช้า เป็นเพราะเอกสารที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้อง อาจมีหลักฐานการขอลดหย่อนภาษีที่หล่นหาย หรือในบางกรณี สรรพากรอาจมีการขอตรวจสอบหลักฐานเพิ่มเติมเสียก่อน แต่หากใช้ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ก็จะทำให้มีหลักฐานอยู่ครบถ้วน ทำให้สรรพากรทำงานง่ายขึ้น ส่งผลให้ได้ภาษีเงินคืนเร็วขึ้นนั่นเอง
- มีความโปร่งใส
มั่นใจว่าเงินที่บริจาคไปนั้น เข้าถึงมูลนิธิหรือหน่วยงานที่ต้องการโดยตรง และสามารถตรวจสอบยอดการบริจาคได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรตลอด 24 ชม.
สาเหตุที่ลดหย่อนภาษีได้ไม่เท่ากัน
ไม่ใช่ทุกองค์กรหรือหน่วยงานที่รับบริจาค จะสามารถทำการบริจาคเงินลดหย่อนภาษี 2 เท่าได้ ในแต่ละปี รัฐบาลอาจมีการประกาศรายชื่อของหน่วยงานหรือองค์กรที่จะสามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษีได้สองเท่า เช่น ในปีนี้ ครม. ได้มีการประกาศขยายเวลาบริจาคลดหย่อนภาษี 2 เท่า 2566 สำหรับ 13 มูลนิธิด้านสาธารณสุขไปจนถึงสิ้นปี 2567 เมื่อทำการบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหลังจากปี 2567 แล้วก็อาจมีการขยายเวลาต่อ หรือสิ้นสุดนโยบายก็เป็นได้ ทั้งนี้หากต้องการข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับมูลนิธิหรือองค์กรที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษี 2 เท่าในแต่ละปี สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากรโดยตรง
หากบริจาคหลายคน จะลดหย่อนได้หรือไม่
ในกรณีที่มีการบริจาคเงินร่วมกันหลายคน โดยมีชื่อทุกคนในใบเสร็จ จะต้องทำการหารยอดเงินบริจาคเท่าๆ กัน ก่อนจะนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยลดหย่อนได้ 1 หรือ 2 เท่า ขึ้นอยู่กับวิธีการบริจาค หรืองค์กรที่เลือกบริจาค แต่หากการบริจาคมีการใช้ชื่อ เช่น “นางบี และครอบครัว” นางบี สามารถที่จะนำยอดบริจาคนั้นไปยื่นลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวน
มีหลักฐานใดบ้างที่ต้องใช้ในการลดหย่อนภาษี
ในการบริจาคเงินลดหย่อนภาษีแบบทั่วไปนั้น จำเป็นต้องทำการเก็บและเตรียมหลักฐานต่างๆ ให้พร้อม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองในการยื่นภาษี หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษีนั้นประกอบไปด้วยใบเสร็จ หรือใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งจะต้องมีการเขียนระบุข้อมูล ดังต่อไปนี้
- ชื่อขององค์กรที่ทำการบริจาค
- วัน เดือน ปี ที่ทำการออกใบเสร็จหรือใบอนุโมทนาบัตร
- ชื่อผู้บริจาคเงิน
- จำนวนที่บริจาค
ทั้งนี้ หากเป็นการบริจาคเงินลดหย่อนภาษีผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Donation จะไม่ต้องทำการเก็บหลักฐาน เพราะข้อมูลการบริจาคจะถูกเก็บอยู่ในฐานระบบของสรรพากรโดยตรง ทำให้การยื่นลดหย่อนภาษีกลายเป็นเรื่องที่สะดวกสบายและง่ายดาย
สรุป
หากเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีผ่านการบริจาคแล้ว การบริจาคเงินให้กับองค์กรหรือมูลนิธิเพื่อสังคม ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ให้และผู้รับบริจาค โดยการบริจาคลดหย่อนภาษี 2 เท่า ปี 2566 นั้นสามารถทำได้สองรูปแบบ คือ การบริจาคผ่านมูลนิธิหรือโครงการที่ได้รับการประกาศให้ลดหย่อนภาษี 2 เท่าจากรัฐบาล หรือการบริจาคเงินออนไลน์ลดหย่อนภาษีผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง ซึ่งระบบ e-Donation นี้จะทำให้เงินบริจาคเข้าถึงองค์กรโดยตรง มีความโปร่งใส และที่สำคัญ ไม่ต้องเก็บหลักฐานในการบริจาค เพื่อนำไปยื่นลดหย่อนภาษี ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับนักบริจาคทุกคนได้เป็นอย่างดี
ในปัจจุบันมีมูลนิธิ และโครงการต่างๆ มากมายที่มีจุดประสงค์ในการช่วยเหลือเด็กยากไร้ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือ สัตว์ ฯลฯ การเลือกบริจาคเงินให้กับองค์กรเหล่านี้เป็นวิธีง่ายๆ ที่ทุกคนจะสามารถช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น มาร่วมสร้างสังคมที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังด้วยพลังของการให้ เพื่ออนาคตที่สดใสและยั่งยืนของทุกคนในสังคม
Reference:
- กรมสรรพากร. การหักลดหย่อน. rd.go.th. Published 13 February 2023. Retrieved 7 June 2023
- กรมสรรพากร. มาตรา 47(7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร. rd.go.th. Published 22 May 2020. Retrieved 8 June 2023
- กรมสรรพากร. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา. rd.go.th. Published 3 December 2021. Retrieved 8 June 2023
- ธนาคารไทยพาณิชย์. e-Donation ศาสนสถาน. scb.co.th. Retrieved 8 June 2023
- กรมสรรพากร. มูลนิธิหรือสมาคมที่ได้รับการยกเว้น. rd.go.th. Published 22 November 2020. Retrieved 8 June 2023
- กรมสรรพากร. พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 515) พ.ศ. 2554. rd.go.th. Published 10 February 2022. Retrieved 8 June 2023
- ฟินโนมีนา. บริจาคอะไร ลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า. finnomena.com. Published 5 March 2021. Retrieved 8 June 2023
- กรมสรรพากร. ระบบ e-Donation คืออะไร. rd.go.th. Retrieved 8 June 2023
- กรมสรรพากร. คำถาม – คำตอบ ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation). rd.go.th. Retrieved 8 June 2023
- iTax Thailand. บริจาคผ่าน e-Donation ลดหย่อนภาษีไม่ต้องเก็บหลักฐาน. itax.in.th. Retrieved 8 June 2023
- รัฐบาลไทย. ครม. ขยายเวลาลดหย่อนภาษี 2 เท่า ถึงสิ้นปี 67. thaigov.go.th. Published 30 January 2023. Retrieved 8 June 2023
- ธรรมนิติ. บริจาคเงินอย่างไร ใช้ลดหย่อนภาษีได้. dharmniti.co.th. Retrieved 9 June 2023
- DD Property. เงินบริจาค ลดหย่อนภาษี 2566 ได้อย่างไร. ddproperty.com. Retrieved 9 June 2023