Key Takeaway
|
ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ผู้คนมักรู้สึกหมดแรง เพราะทำงานหนักไปเท่าไรก็ไม่สามารถรวยได้ตามที่หวังไว้สักที คำสอนที่ว่า ‘ถ้าอยากรวยก็ต้องขยันทำงาน’ ถูกถ่ายทอดมารุ่นสู่รุ่น แต่คำถามสำคัญคือ การขยันทำงานจริงๆ สามารถช่วยให้เราหลุดพ้นจากความยากจนได้หรือไม่?
ความยากจนที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่มีรากฐานหยั่งลึกในโครงสร้างของสังคมไทยและยืดเยื้อมาหลายทศวรรษ การสำรวจปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้เห็นว่าทำไมคนจำนวนมากยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ความเหลื่อมล้ำเป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิต บทความนี้จะมาให้คำตอบว่าทำไมปัญหานี้แก้ไขได้ยาก และขัดขวางการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น
เจาะลึก! ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างไร
ความเหลื่อมล้ำ คือ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งด้านต่างๆ ในสังคม กลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรงจนถึงขั้นลิดรอนสิทธิมนุษยชนได้ ความเหลื่อมล้ำเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ดังนี้
- ด้านรายได้และทรัพย์สิน: ความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนมีมากจนคนรวยมีทรัพย์สินเหลือเฟือ ในขณะที่คนจนแทบไม่มีจะกิน ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นช่องว่างที่ยากสำหรับคนจนที่จะก้าวข้ามไปเป็นคนรวยได้
- โอกาสทางการศึกษา: การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพยังคงไม่เท่าเทียมกัน คนรวยสามารถซื้อความสะดวกสบาย สภาพแวดล้อมที่ดี สังคมที่ดี และคุณภาพการศึกษาที่สูงได้ แต่ขณะที่คนจนบางคนยังไม่มีแม้แต่เงินพอที่จะเข้าเรียนโรงเรียนรัฐด้วยซ้ำ
- การเข้าถึงบริการสาธารณสุข: ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพชัดเจนมากขึ้นเมื่อเจ็บป่วย คนรวยสามารถไปโรงพยาบาลเอกชนที่มีคุณภาพและได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คนจนต้องรอคิวนานตั้งแต่เช้า และอาจต้องนั่งรถหลายชั่วโมงเพื่อไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐ
- โอกาสในการทำงาน: ความไม่เท่าเทียมในการได้รับการจ้างงานหรือการเลื่อนตำแหน่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ เพราะคนที่มีเงินมักมีอำนาจและคอนเนคชันมากกว่า จึงได้รับโอกาสในการทำงานมากกว่าคนอื่น ในขณะที่คนจนมักมีการศึกษาต่ำกว่าและขาดโอกาสในการเข้าถึงงานที่ดี โอกาสพัฒนาตนเองและก้าวหน้าในอาชีพน้อย
- สิทธิทางกฎหมายและการเมือง: ความไม่เท่าเทียมในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตัดสินใจที่สำคัญมักเกิดขึ้น คนจนมักไม่มีสิทธิ์มีเสียงในกระบวนการทางการเมืองและไม่ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกับคนรวย ดังคำกล่าวว่า ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ แสดงถึงความไม่ยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรม
สังคมไทยกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดอันดับแรกๆ ที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูงมากที่สุดของโลกและระดับความเหลื่อมล้ำยังเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งกลุ่มคนรวยเพียง 1% ถือครองทรัพย์สินในประเทศมากกว่าครึ่ง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างรายได้ที่ต่างกันอย่างชัดเจน
หรือความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ที่เห็นได้ชัดเมื่อโรงเรียนในชนบทขาดแคลนคุณภาพ ทั้งงบประมาณไม่เพียงพอ โรงเรียนขาดผู้สอน และเด็กๆ ไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ จึงทำให้ขาดโอกาสในการมีงานที่ดี โดยเฉพาะโอกาสการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง แม้ว่าจะมีทุนหรือเงินกู้เพื่อการศึกษา แต่ก็ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ส่งผลให้เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
นอกจากนี้ยังมีความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข ซึ่งการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนชายขอบหรือผู้ที่อยู่พื้นที่ห่างไกลได้ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เพราะบุคลากรทางการแพทย์มักกระจุกตัวกันในเมืองใหญ่ที่มีรายได้สูงกว่า
สาเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่แก้ไม่ได้สักที
แล้วสาเหตุของความเหลื่อมล้ำเกิดจากอะไรบ้าง? ทำไมปัญหานี้ถึงแก้ไขได้ยากและยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน มาหาคำตอบไปพร้อมกัน ดังนี้
- โครงสร้างทางสังคม: ระบบอุปถัมภ์ที่มีมานานทำให้เกิดการสืบทอดตำแหน่งและอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจำกัดโอกาสของคนอื่นในการยกระดับชีวิตของตัวเอง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการทุจริตที่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มพวกพ้อง
- โครงสร้างทางเศรษฐกิจ: ระบบทุนนิยมทำให้นายทุนสาวได้สาวเอา มีความมั่งคั่งมากกว่า เพราะมีโอกาสเข้าถึงปัจจัยการผลิตและทรัพยากรมากกว่า ความมั่งคั่งจึงไปตกอยู่กับคนกลุ่มหนึ่ง แทนที่จะกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ทำให้คนธรรมดาไม่มีโอกาสสร้างความมั่งคั่งเพื่อหลุดพ้นจากความยากจน
- นโยบายรัฐบาล: การพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ โดยไม่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ชนบทหรือห่างไกล ทำให้เกิดการกระจายรายได้และงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้บริเวณพื้นที่ห่างไกล ขาดการพัฒนาและล้าหลัง
- ระบบการศึกษา: คุณภาพการศึกษาในพื้นที่ห่างไกลยังคงต่ำกว่ามาตรฐาน และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพก็มีไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้เด็กในพื้นที่เหล่านี้ไม่มีโอกาสได้เรียนสูงๆ หรือหาทำงานดีๆ เพื่อยกระดับชีวิตและหลุดพ้นจากความยากจน
ปัญหาความเหลื่อมล้ำกับผลกระทบต่อสังคม
หลายอาจคิดว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริง ปัญหานี้ส่งผลต่อสังคมมากกว่าที่คิด และมีผลกระทบในวงกว้าง แล้วปัญหานี้ส่งผลกระทบในด้านไหนบ้าง ไปดูกัน
1. การเติบโตด้านเศรษฐกิจ
แน่นอนว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เพราะถึงแม้เศรษฐกิจจะมีการเติบโตบ้าง แต่ก็มักเป็นเพียงระยะสั้น ต่างจากสังคมที่มีความเท่าเทียมที่เศรษฐกิจจะเติบโตในระยะยาวมากกว่า และความเหลื่อมล้ำยังนำไปสู่หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ซึ่งสามารถก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะกำลังซื้อของประชาชนลดลง ส่งผลให้การลงทุนในระดับครัวเรือนลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การสูญเสียแรงงานที่มีประสิทธิภาพ เพราะแรงงานคือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากบางคนขาดโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ย่อมส่งผลให้แรงงานเหล่านี้ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังทำให้บางคนต้องออกไปแสวงหาโอกาสในต่างประเทศแทน จนประเทศขาดแรงงานที่มีความสามารถ
2. ช่องว่างทางชนชั้น
ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงจะทำให้เกิดช่องว่างทางชนชั้นที่กว้างขึ้น ทำให้หลายคนไม่สามารถก้าวข้ามความยากจนได้ เพราะคนรวยจะรวยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรและสร้างความมั่งคั่งให้มากขึ้นไปอีก แต่กลับกันคนจนก็จนมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ทำงานหนักแค่ไหนก็ไม่มีโอกาสเลื่อนขั้นทางสังคม หรือที่หลายต่อหลายคนพูดติดปากกันว่า ‘รวยกระจุก จนกระจาย’
3. ปัญหาอาชญากรรม
ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากมักจะมีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงงานที่มีรายได้เพียงพอเพื่อมาเลี้ยงดูจุนเจือตัวเองและครอบครัว ความยากจนที่รุนแรงบีบคั้นให้หลายคนไม่มีทางเลือก นำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายเพื่อความอยู่รอด เช่น การก่ออาชญากรรม รวมถึงการฆาตกรรมและชิงทรัพย์ที่เราเห็นในข่าวบ่อยๆ
ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลต่อสังคมในอนาคตอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่คนจนที่ได้รับผลกระทบ แต่คนรวยหรือคนมีอันจะกินก็จะได้รับผลกระทบด้วย เพราะสังคมที่เต็มไปด้วยคนจนที่ขาดโอกาสจะทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมเพิ่มสูงมากขึ้นอีกในอนาคต ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในสังคม ทำให้ทุกคนต้องเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
4. ปัญหาสุขภาพ
ความเหลื่อมล้ำส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตอย่างชัดเจน คนที่มีปัญหาทางการเงินมักต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน และไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพดีซึ่งจำเป็นต่อการบำรุงสุขภาพได้ การกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรืออาหารที่ไม่ถูกหลักอนามัย ส่งผลให้สุขภาพเสื่อมโทรมได้ง่าย ในขณะที่คนมีเงินสามารถซื้อความสะดวกสบายและอาหารที่ดีเพื่อมาบำรุงและดูแลสุขภาพได้ดีขึ้น เพราะในปัจจุบันอาหารที่คุณภาพมักมีราคาสูงแต่ของที่ราคาถูกมักจะมีคุณภาพต่ำและไม่ดีต่อสุขภาพ
ตัวอย่างเช่น ข้าวไข่เจียว ซึ่งเป็นอาหารที่มีราคาถูกและอิ่มท้องมากกว่าสลัดที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า ทำให้คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อยเลือกที่จะกินอาหารประเภทนี้แทน โดยไม่สนใจว่าเป็นอาหารที่ราคาถูกแต่ไม่ครบถ้วนทางโภชนาการ ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว นอกจากนี้ความจนยังส่งผลต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะความเครียดจากปัญหาทางการเงินและความยากจนเพิ่มมากขึ้น และไม่ใช่ทุกคนที่มีเงินพอจะเข้าถึงการรักษาทางจิตเวชหรือการให้คำปรึกษาได้
ความเหลื่อมล้ำ กับการลิดรอนสิทธิมนุษยชน
ความเหลื่อมล้ำเกิดจากความไม่เทียมกันในหลายด้าน เช่น รายได้และการศึกษา ทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง ‘ผู้มีโอกาส’ กับ ‘ผู้ขาดโอกาส’ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดมุมมองของความเป็นอื่น โดยที่คนมีโอกาสอาจมองคนที่ไม่ได้รับโอกาสอย่างไม่เท่าเทียมกัน ส่งผลให้เกิดการกดขี่และการทำร้ายคนที่มีสถานะต่ำกว่า ตัวอย่างเช่น การที่คนรวยอาจรังแกพนักงานหรือทำร้ายร่างกายพนักงานเพราะคิดว่าอีกฝ่ายมีสถานะต่ำกว่า
หรือแม้แต่การปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียม ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดในซีรีส์เรื่อง ‘สืบสันดาน’ ที่เป็นกระแสให้หลายคนพูดถึง ตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมสามารถลิดรอนสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร การบางคนต้องยอมโดนกดขี่และเสียศักดิ์ศรีเพียงเพื่อมีเงินพอจะเลี้ยงครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ในขณะที่มุมมองของคนรวยที่ไม่มองคนจนอย่างที่ควรจะเป็น ก็ทำให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมกันในสังคม
ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงไม่ใช่เรื่องที่เราควรปล่อยผ่านอีกต่อไป เพราะผลกระทบที่ตามมานั้นอันตรายกว่าที่คิด การเคารพสิทธิมนุษยชนและการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องเป็นเป้าหมายที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป เพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรม และมอบศักดิ์ศรีให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม
ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แก้ยาก แต่แก้ได้
ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกมาหลายทศวรรษ แม้จะมีความซับซ้อนและการแก้ไขอาจไม่ง่าย แต่ก็มีวิธีที่สามารถทำได้จริง เพื่อสร้างความหวังให้กับสังคม หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่พิสูจน์แล้วในหลายๆ ประเทศว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้คือ การนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้
- โครงการสวัสดิการแห่งรัฐ: ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากไร้หรือกลุ่มเปราะบางในสังคม โดยเฉพาะสวัสดิการที่มอบปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น ที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อสนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ลำบากสามารถมีโอกาสยกระดับความเป็นอยู่ของตัวเองให้ดีขึ้นได้
- ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า: เป็นนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อให้การเข้าถึงบริการสุขภาพมีความเท่าเทียมและครอบคลุมทุกพื้นที่ มีคุณภาพดี และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลด้วย
- นโยบายการศึกษาฟรี: เป็นแนวทางที่มุ่งหวังให้การศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับชีวิต จุดประสงค์หลักคือการลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยให้เด็กหลายๆ คนไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา สามารถศึกษาต่อในระดับที่สูง เพื่อสร้างโอกาสในการทำงานที่ดียิ่งขึ้น
- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท: ควรเน้นพัฒนาในทุกๆ ด้านให้ไปถึงพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกลเช่นเดียวกับเมืองใหญ่ เพื่อลดภาวะคนล้นเมืองใหญ่ เพราะคนจากชนบทไม่จำเป็นต้องย้ายเข้ามาในเมืองใหญ่เพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิต
อ่านเพิ่มเติม : ทำความรู้จักรัฐสวัสดิการคืออะไร หนทางสู่ความเท่าเทียมในสังคม
สรุป
ปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงปัญหาด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ระบบทุนนิยม และระบบอุปถัมภ์ ซึ่งส่งผลต่อหลากหลายระดับ ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่ควรหาแนวทางแก้ไข ไม่ควรมองข้าม เพราะใกล้ตัวเราทุกคน แม้วิธีการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในไทยจะเป็นความท้าทายที่สำคัญ แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในระยะยาว เราสามารถเอาชนะปัญหานี้ได้ในที่สุด
เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ร่วมบริจาคที่ Cheewid ช่วยลดความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางชนชั้น ให้คนยากไร้ได้ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การศึกษา และการรักษาพยาบาลคุณภาพ แม้จะเป็นการช่วยเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีความหมายใหญ่หลวง
Reference
- เพ็ญพิชชา มุ่งงาม. โฉมหน้าใหม่ของความเหลื่อมล้ำ: ตีโจทย์ความเหลื่อมล้ำไทยในยุคสมัยโลกล้ำ คนล้า. the101.world. Published 19 October 2023. Retrieved 30 August 2024.
- ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร. “ความเหลื่อมล้ำ” คืออะไร ทำความเข้าใจ “ความไม่เท่าเทียมกัน”. prachachat.net. Published 1 Jun 2018. Retrieved 30 August 2024.
- ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์. 4 เหตุความเหลื่อมล้ำไทยที่ไม่ได้เกิดจากความจน แต่ทำให้คนไทยจนลงเรื่อยๆ. thestandard.co. Published 22 April 2021. Retrieved 30 August 2024.
- The Active. ไม่แก้ ‘เหลื่อมล้ำ’ ปัญหาอะไรจะตามมาอีกบ้าง. theactive.net. Published 17 November 2022. Retrieved 30 August 2024.