Key Takeaway
|
---|
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องด้วยอัตราการเกิดของคนในประเทศที่ลดน้อยลงกว่าครึ่งหนึ่ง จึงทำให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ (Migrants Workers) เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภาคส่วนต่างๆ ของการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานจากประเทศในเขตภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ลาว กัมพูชา และเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก และเนื่องจากจำนวนแรงงานที่เพิ่มมากขึ้นนี้เอง จึงทำให้รัฐบาลไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก เพื่อการควบคุมดูแลแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานในไทยได้อย่างลงตัว และไม่ขัดแย้งต่อระบบสังคมต่างๆ
แรงงานข้ามชาติคืออะไร และมีบทบาทอย่างไรในสังคม
องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ได้ให้คำนิยามของแรงงานข้ามชาติ หมายถึง บุคคลที่ถูกว่าจ้างหรือทำงานโดยได้รับค่าตอบแทนจากรัฐที่ตนไม่ได้เป็นสมาชิกหรือไม่ใช่คนในชาตินั้น โดยแรงงานข้ามชาติมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยในการเติมเต็มตำแหน่งในการทำงาน เพิ่มผลผลิต และสร้างรายได้ให้แก่สังคมและรัฐนั้นๆ ช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และช่วยเพิ่มปริมาณเงินตราต่างประเทศในการส่งออก
โดยไทยพบแรงงานข้ามชาติมากกว่า 3.9 ล้าน คน จึงนับได้ว่าแรงงานข้ามชาติเป็นแรงงานสำคัญภายในประเทศ แต่เนื่องจากจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ค่อนข้างมาก ทำให้รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมในการดูแล บริหาร รวมไปถึงจัดการสวัสดิการอย่างเหมาะสมให้กับคนในประเทศ และแรงงานข้ามชาติด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทย
แรงงานข้ามชาติเป็นบุคคลที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจของไทย ซึ่งสามารถวิเคราะห์สาเหตุแรงงานข้ามชาติออกมาเป็น 2 สาเหตุหลักด้วยกัน ประการแรก คือ การที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อัตราการเกิดมีน้อยลง และคนวัยแรงงานของไทยมีแนวโน้มและมีความต้องการที่จะย้ายประเทศเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ไทยต้องพึ่งพาและมีการจ้างแรงงานข้ามชาติ
ในขณะที่สาเหตุอีกประการ ได้แก่ การที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติต้องการทำงาน เพื่อแสวงหารายได้ที่จะช่วยพัฒนาโอกาสและคุณภาพชีวิตให้ดีมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานไปทำงานในต่างแดน เพื่อให้สามารถตอบสนองและเติมเต็มแรงจูงใจในการดำเนินชีวิตที่ดี
ผลกระทบของแรงงานข้ามชาติ
จากการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติมากกว่าหลายล้านคน ทำให้รัฐบาลไทยต้องเผชิญกับความท้าทายไม่น้อย เนื่องจากจะต้องมีการบริหารจัดการกลุ่มแรงงานข้ามชาติให้สามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างสันติ จึงจำเป็นต้องรับภาระทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อการสร้างสวัสดิการ และบริการสาธารณะแก่แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศ
แต่การที่รัฐพยายามบริหารจัดการและดูแลแรงงานข้ามชาติได้ส่งผลกระทบทำให้คนไทยในสังคมโดยเฉพาะคนไทยชายขอบ หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลับรู้สึกว่าตนถูกละเลยและไม่ได้แม้แต่สิทธิ สวัสดิการที่ดีเทียบเท่าแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นรัฐจึงต้องรับภาระที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อการบริหารแรงงานข้ามชาติให้ดี และดูแลคนในชาติให้ดีมากยิ่งขึ้น
สถิติแรงงานข้ามชาติในไทย
- แรงงานต่างด้าวมาตรา 59 คือ แรงงานรูปแบบตลอดชีพ มีจำนวน 5 คน คิดเป็นร้อยละ 0.0002 ของแรงงานข้ามชาติทั้งหมด
- แรงงานข้ามชาติทั่วไป คือ แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศเป็นการชั่วคราวตามกฎหมาย ซึ่งต้องมิใช่การเข้ามาในประเทศในฐานะนักท่องเที่ยว มีจำนวน 110,529 คิดเป็นร้อยละ 4.03
- แรงงานนำเข้าตาม MOU คือ แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งสามารถเข้าทำงานตามข้อตกลงระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลประเทศต้นทางได้ มีจำนวน 567,684 คน คิดเป็นร้อยละ 20.68
- แรงงานต่างด้าวมาตรา 62 คือ กลุ่มแรงงานมีฝีมือ ผู้ชำนาญการ หรือผู้เข้ามาลงทุนภายในประเทศ หรือแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม มีจำนวน 48,272 คน หรือร้อยละ 1.76
- แรงงานต่างด้าวมาตรา 63/1 คือ ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย จำนวน 92,440 คน คิดเป็นร้อยละ 3.37
- แรงงานต่างด้าวมาตรา 63/2 คือ แรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในไทยและทำงานเป็นการชั่วคราว จำนวน 1,912,031 คน คิดเป็นร้อยละ 69.65
- แรงงานต่างด้าวมาตรา 64 คือ แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดน เป็นการทำงานลักษณะไป-กลับ ตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดน จำนวน 14,262 คน คิดเป็นร้อยละ 0.52
สิทธิแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
แรงงานข้ามชาติมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการดูแลและการคุ้มครองต่างๆ ตามสิทธิ ดังต่อไปนี้
สิทธิด้านสหภาพแรงงาน
เป็นอนุสัญญาที่กำหนดมิให้มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลด้านสัญชาติ หรือเลือกปฏิบัติเพราะเข้าประเทศผิดกฎหมาย สำหรับแรงงานที่ต้องการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรแรงงานหรือต้องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
- จัดตั้งและเป็นสมาชิกสหภาพหรือสมาคมที่แรงงานข้ามชาติเป็นผู้เลือก
- เข้าร่วมกลุ่มเพื่อเจรจาในเรื่องที่มีผลต่อสภาพการทำงานแและเงื่อนไขในการจ้างงาน
- เลือกบุคคลมาเป็นผู้แทน
- ใช้กลไกทางอนุญาโตตุลาการและการไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อโต้แย้ง
- นัดหยุดงาน
แรงงานข้ามชาติควรได้รับสิทธิพลเมืองพื้นฐานที่จำเป็น ได้แก่
- สิทธิเสรีภาพและความปลอดภัยของบุคคล และเสรีภาพจากการถูกจับกุมและกักขังโดยไม่เป็นธรรม
- สิทธิในการมีความคิดเห็นและแสดงความเห็น โดยเฉพาะสิทธิในการมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และการแสวงหา รับ และให้ข้อมูลและความคิดผ่านสื่อใด ไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม
- สิทธิในการชุมนุม
- สิทธิในการรับการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมโดยคณะตุลาการที่อิสระและเป็นกลาง
- สิทธิในการที่ทรัพย์สินของสหภาพแรงงานจะได้รับการคุ้มครอง
สิทธิในการทำงานด้วยความสมัครใจ
แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานจะต้องเป็นแรงงานที่มาทำงานด้วยความสมัครใจของตน ที่ต้องมิใช่การบังคับ ข่มขู่ เช่น
- แรงงานข้ามชาติจะต้องไม่ถูกกดดันให้ทำงานด้วยการข่มขู่หรือการบีบบังคับ
- แรงงานข้ามชาติจะต้องไม่ถูกกักขัง
- แรงงานข้ามชาติจะต้องสามารถยุติการจ้างงานของตนได้ โดยแจ้งล่วงหน้าต่อนายจ้างตามที่กฎหมายของประเทศกำหนด
- การลงโทษแรงงานข้ามชาติ (ในกรณีที่แรงงานข้ามชาติทำผิดกฎระเบียบความปลอดภัยและสุขอนามัยของสถานที่ทำงาน) จะต้องไม่กระทำโดยบังคับให้ทำงานเพิ่ม
- แรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมในการนัดหยุดงานอย่างถูกกฎหมาย จะต้องไม่ถูกบังคับให้กลับเข้าทำงาน
โดยหลักทั้งหมดนี้จะต้องใช้กับแรงงานข้ามชาติทั้งหมดอย่างเท่าเทียม เพื่อไม่ให้แรงงานข้ามชาติถูกบีบบังคับให้ทำงานที่มีความเสี่ยงสูงต่อความปลอดภัย และต้องไม่บีบบังคับให้ทำงานล่วงเวลามากเกินควร เนื่องจากแรงงานข้ามชาติมีโอกาสถูกบีบบังคับและมีความเสี่ยงสูงในการให้ทำงานอย่างไม่เป็นธรรม รัฐบาลของทุกประเทศจึงได้ระบุข้อมูลเพื่อป้องกัน ปราบปรามการลงโทษและการค้ามนุษย์ ดังต่อไปนี้
- มาตรการทางกฎหมาย เพื่อต่อต้านการเกณฑ์แรงงานบังคับในแรงงานข้ามชาติทั้งจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน โดยเฉพาะในโรงงาน งานขายบริการทางเพศ งานบริการ งานรับใช้ภายในบ้าน ตลอดจนงานในภาคการเกษตร
- มาตรการในทางปฏิบัติ รวมทั้งการดำเนินคดีความในชั้นศาล การอนุญาตให้อยู่ในประเทศนับจากขั้นตอนการเริ่มคดีความ จนถึงเมื่อจบสิ้นคดีความได้ อย่างน้อยในช่วงเวลาที่มีการพิจารณาคดี และให้ความคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ และมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างการสืบสวนเครือข่ายอาชญากรรมอย่างจริงจัง
การคุ้มครองเด็กที่มาพร้อมแรงงานข้ามชาติ
เด็กหรือเยาวชนที่ติดตามแรงงานข้ามชาติ หรือเป็นบุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ มีความเสี่ยงสูงมากที่จะกลายเป็นผู้ที่ถูกมองข้าม และถูกกระทำอย่างไม่เหมาะสมต่อเด็กและเยาวชน ดังนั้นเด็กและเยาวชนจะต้องไม่ถูกเกณฑ์หรืออนุญาตให้ทำงานก่อนอายุถึงเกณฑ์แรงงานขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอายุขั้นต่ำในการทำงานควรไม่ต่ำกว่าอายุสำหรับการศึกษาภาคบังคับ หรือราวๆ 15 ปี และสำหรับงานบางประเภทอายุขั้นต่ำที่ 18 ปี และเพื่อเป็นการคุ้มครองและดูแลเยาวชน จะต้องมีการอำนวยความสะดวก มีระบบการแจ้งเกิดให้แก่เด็กที่มากับแรงงานข้ามชาติ
อีกทั้งเด็กและเยาวชนของแรงงานข้ามชาติ มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกบีบบังคับให้ทำงานโดยมิชอบ เช่น การทำงานหนัก การทำงานใช้หนี้ การค้ามนุษย์ การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ และเสี่ยงต่ออันตรายในชีวิตและการเจริญเติบโต ดังนั้นเด็กและเยาวชนจึงต้องได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานตามสิทธิเด็กที่ควรจะได้รับ
ห้ามเลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติ
แม้เป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเข้ามาทำงานในเงื่อนไขใด หรือลักษณะใด จะต้องไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สีผิว เพศ หรือสถานะทางสัญชาติ ภูมิหลังทางสังคม วัฒนธรรม ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการกระทำดังต่อไปนี้
- การแบ่งสี แบ่งแยกระหว่างแรงงานข้ามชาติ แบ่งแยกตามลักษณะสีผิว หรือเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ หรือภูมิหลังทางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
- เลือกปฏิบัติจากภาพเหมารวมและอคติทางเพศ ความเป็นชาย-หญิง การตั้งครรภ์ สถานะทางครอบครัว
สิทธิประกันสังคม
แรงงานข้ามชาติที่มีรายชื่อขึ้นเป็นพนักงานองค์กรอย่างชัดเจน จะต้องถูกขึ้นทะเบียนประกันสังคมและชำระเงินสมทบเช่นเดียวกับแรงงานไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ต้องจ่ายเงินสมทบเมื่อขึ้นทะเบียนประกันสังคม จำนวน 5% ของเงินเดือน (ไม่เกิน 750 บาท) ซึ่งนายจ้างจะสมทบ 5% และรัฐบาลไทยสมทบอีก 2.75%
- แรงงานจะได้รับสิทธิประโยชน์ 7 รายการ ได้แก่ เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต ที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และการว่างงาน
- มีกองทุนเงินทดแทนโดยนายจ้างจะเป็นผู้จ่ายในอัตรา 0.2-1% ของค่าจ้างตามประเภทความเสี่ยง ซึ่งแรงงานจะได้รับต่อเมื่อประสบกับเหตุอันตราย เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตจากการทำงาน
สิทธิประกันสุขภาพ
แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้เข้าตาม MOU ที่ประกอบอาชีพแม่บ้าน เกษตรกร เลี้ยงสัตว์ ทำประมง หรือการค้าที่ไม่ใช่ธุรกิจของตน จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม หากแต่ยังได้รับประกันสุขภาพตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งจะมีค่าตรวจสุขภาพปีละ 500 บาท และค่าประกันสุขภาพปีละ 1,600 บาท หลังจากนั้นจะได้รับการบันทึกไว้ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นเดียวกับคนไทย
กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ
แรงงานข้ามชาติเองก็มีกฎหมายที่คอยคุ้มครองดูแล เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงานได้ ซึ่งนายจ้าง ผู้ว่าจ้างแรงงานต่างด้าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ เพื่อให้การดำเนินการว่าจ้างเป็นไปอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีดังต่อไปนี้
- นายจ้างต้องปฏิบัติต่อแรงงานชายและหญิงอย่างเท่าเทียม เว้นแต่ในสภาพของลักษณะงานที่ไม่สามารถปฏิบัติได้
- งานทุกประเภทจะต้องทำไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน หากเป็นงานที่อันตราย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยจะทำได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน
- หากมีการทำงานล่วงเวลาจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน เว้นแต่กรณีที่ลูกจ้างหยุดงานเป็นเวลานานและต้องทำงานชดเชย หรือมีงานเร่งด่วนฉุกเฉินที่กระทบต่อการดำเนินงาน นายจ้างสามารถให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้ภายใต้ระยะเวลาที่เหมาะสม
- ลูกจ้างจะต้องได้รับเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากที่มีการทำงานแล้วติดต่อกัน 5 ชั่วโมง ในกรณีที่เป็นลูกจ้างเด็กติดต่อกัน 4 ชั่วโมง
- หากมีการทำงานในวันหยุดจะต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน เว้นในกรณีที่เป็นวันหยุดต่อเนื่อง หากหยุดงานอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้ เช่น งานโรงแรม ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนส่ง สถานพยาบาล เป็นต้น ซึ่งต้องจัดให้ทำงานล่วงเวลาตามความเหมาะสม
- ทุกสัปดาห์ลูกจ้างจะต้องมีวันหยุดไม่น้อยกว่า 1 วัน และวันหยุดตามประเพณี ไม่ต่ำกว่า 13 วัน/ ปี (รวมวันแรงงานแห่งชาติ)
- หากแรงงานต่างด้าวทำงานครบ 1 ปี จะต้องได้รับสิทธิ์ลาพักร้อนอย่างน้อย 6 วัน/ปี
- ลาป่วยตามวันป่วยจริง ไม่เกิน 30 วัน/ปี และยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ
- ลากิจได้ตามข้อกำหนดขององค์กร
- ลูกจ้างหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน โดยจะนับรวมวันหยุดพิเศษระหว่างลาคลอดด้วยเช่นกัน และได้ค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน
- ค่าแรงขึ้นต่ำจะต้องไม่น้อยกว่าตามที่กำหนด จ่ายอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ค่าล่วงเวลาทำงานต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างทำงานปกติ/ชั่วโมง
สรุป
แรงงานข้ามชาติ คือ กลุ่มแรงงานช่วยเข้ามาเติมเต็มระบบเศรษฐกิจ และเพิ่มกำลังแรงงานในกระบวนการผลิตต่างๆ ให้แก่ประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน อย่างเช่นประเทศไทยที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ และขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาว ดังนั้นแรงงานข้ามชาติจึงเป็นแรงงานสำคัญในไทย และเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การดูแลและมอบสิทธิ์ให้แก่แรงงานข้ามชาติจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องคำนึงถึงอย่างละเลยไม่ได้ Cheewid จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่จะช่วยดำเนินการเพื่อสนับสนุนสิทธิ์แรงงานข้ามชาติ ผ่านองค์กรและมูลนิธิต่างๆ ให้สามารถทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง และเพื่อไม่ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องกลายเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ และเหยื่อของการถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ และเพื่อสนับสนุนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน
Reference
- แพรวรรณ ศิริเลิศ. สำรวจกระแสการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ-เมื่อไทยอาจเผชิญปัญหา ‘ขาดแคลนแรงงาน’. sdgmove.com. Published on 28 September 2023. Retrieved 28 February 2025.
- เอมพิกา ศรีอุดร. แรงงานข้ามชาติ : ชีวิต สิทธิ และความหวัง. masscomm.cmu.ac.th. Published on 3 August 2023. Retrieved 28 February 2025.
- สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ. มาตรการแรงงานระหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิแรงงานข้ามชาติ. ilo.org. Retrieved 28 February 2025.
- JOBSWORKER. สิทธิแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย (ตามกฎหมายแรงงาน สุขภาพและความปลอดภัย). jobsworkerservice.com. Retrieved 28 February 2025.