“คนไร้บ้าน” คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะด้วยการถูกจำกัดด้วยระบบเศรษฐกิจ การศึกษา หรือระบบโครงสร้างของสังคมที่ผลักคนกลุ่มหนึ่งออกจากสังคม ทำให้หมดทางเลือกในการทำมาหากินและการใช้ชีวิต ปัญหาของคนไร้บ้านจึงเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนเกินกว่าจะมองแค่ที่ปัจเจกบุคคล แต่ต้องมองไปถึงระดับโครงสร้างของสังคม ควรที่จะได้รับการแก้ไขจากภาครัฐ ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหาคนไร้บ้านเกิดจากอะไร สามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง มาดูกันได้ผ่านบทความนี้
นิยามของคนไร้บ้าน คืออะไร
คนไร้บ้าน เป็นนิยามที่หมายถึงบุคคลที่ไร้ที่พักอาศัย โดยที่พักอาศัยที่กล่าวถึงคือที่พักอาศัยที่มีขอบเขตและอาณาบริเวณที่ชัดเจน และมีสิ่งปกคลุมกำบังมิดชิด ซึ่งคนไร้บ้านที่ไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งมักจะอาศัยตามพื้นที่สาธารณะ
ในอดีตกลุ่มคนไร้บ้านคือผู้ที่ร่อนเร่ พเนจร กลุ่มคนยากจนที่ไร้แหล่งพักพิง อย่างไรก็ดีหากมองให้ลึกลงไปแล้วกลุ่มคนไร้บ้านนั้นมีความหลากหลายที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของปัจเจกบุคคล เหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือเหตุผลทางโครงสร้างของสังคมก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางสังคมทั้งนั้น
ทั่วประเทศมีคนไร้บ้านอยู่ประมาณ 4,000 คน ที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ได้ และพบว่าในเขตกรุงเทพฯ มีคนไร้บ้านถึง 1,761 คน ซึ่งมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นเนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเป็นจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากเดิมถึงร้อยละ 30 และจากการสำรวจยังพบว่า คนไร้บ้านหน้าใหม่ได้เกิดขึ้นในช่วงโควิดถึง 95% สาเหตุหลักมาจากการถูกเลิกจ้าง งานหายาก ทำให้ผู้คนไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการดำรงชีวิตได้
โลกของคนไร้บ้าน และสังคมของคนไร้บ้าน ในประเทศไทย
กลุ่มคนไร้บ้านเป็นกลุ่มคนจน รายได้น้อย ขาดแคลนโอกาสในการดำรงชีวิต จึงทำให้คนไร้บ้านถูกผลักออกจากส่วนต่างๆ ของสังคม แม้คนไร้บ้านจะถูกผลักออกจากสังคมใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันกลับพบว่ามีโลกของคนไร้บ้าน ที่มีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตในแบบฉบับของตนเองที่ไม่แตกต่างไปจากระบบในสังคมเลย
ระบบเศรษฐกิจของคนไร้บ้าน
คนไร้บ้านเองก็มีการประกอบอาชีพไม่ต่างไปจากคนในสังคม หากแต่อาชีพที่คนไร้บ้านทำนั้นเป็นอาชีพที่ไม่สามารถทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือไม่สามารถเลื่อนสถานภาพทางสังคมได้ เพียงแต่เป็นอาชีพที่พอจะเลี้ยงชีพตนได้ก็เท่านั้น เช่น อาชีพขายของโดยเก็บขยะ เก็บของเก่าขาย ขายของที่แบ่งจากการที่ได้รับมาจากของบริจาค อีกอาชีพที่คนไร้บ้านมองว่ามั่นคงคืออาชีพรักษาความปลอดภัย เพราะพวกเขามองว่า เป็นอาชีพที่มีรายได้มั่นคง หรือหากได้เฝ้าเวรยามตอนกลางคืนก็จะมีที่นอนปลอดภัย บ้างก็ทำอาชีพช่างซ่อมต่างๆ โดยจะเดินไปมาเพื่อหางานซ่อมแซมตามบ้าน แต่หากช่วงไหนไม่มีงานก็จะขาดรายได้ไปเลย อีกอาชีพที่คนไร้บ้านมักจะทำคือขอทาน แม้นี่จะไม่ถูกเรียกว่าเป็นอาชีพแต่ก็ต้องยอมรับว่าการขอทานสร้างรายได้ให้คนไร้บ้านไม่น้อย
การบริโภคของคนไร้บ้าน
เรื่องอาหารการกินเป็นสิ่งที่สำคัญในการดำรงชีวิติ โดยกลุ่มคนไร้บ้านจะมีการ “พึ่งโพย“ คือการไปรับอาหารที่แจกฟรีโดยการดูตามโพยที่มีคนทำมาขาย ราคา 5-10 บาท โดยในโพยก็จะบอกสถานที่ที่แจกไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือของแจกต่างๆ พร้อมกับรายละเอียดสถานที่เวลา ซึ่งคนไร้บ้านก็จะเดินทางไปรับของแจกตามโพยที่ตนซื้อมา สถานที่ที่แจกอาหารและสิ่งของต่างๆ เช่น วัดไตรนิมิตร เยาวราช วัดเจ้าอาม บางขุนนนท์ โบสถ์ซิกข์ พาหุรัด รถแจกข้าวกล่องของมูลนิธิกระจกเงา และเครือข่ายคนไร้บ้านที่ลานคนเมือง เป็นต้น
ศาสนากับคนไร้บ้าน
ศาสนสถานบางแห่งก็ยินดีให้ที่พักกับคนไร้บ้าน โดยคนไร้บ้านบางคนในช่วงแรกๆ ที่ไร้ที่พักอาศัยก็จะไปอาศัยตามวัด เพื่อแลกกับที่นอนและอาหาร โดยอาจจะต้องมีการช่วยทางศาสนกิจหรือเป็นลูกวัดเพื่อเป็นการตอบแทน นอกจากนี้แล้วยังพบว่าในหลายศาสนสถานหรือในหลายศาสนานิกายมักมีการแจกอาหาร ทำโรงทานเพื่อแจกจ่ายอาหารให้แก่คนไร้บ้าน บรรดาคนยากไร้ โดยวัตถุประสงค์ของการแจกจ่ายเพื่อการประกาศศาสนาหรือการทำตามหลักคำสอน
ระบบสาธารณูปโภคของคนไร้บ้าน
การทำกิจวัตรประจำวันของคนไร้บ้าน เช่น การอาบน้ำ ขับถ่าย หรือการซักเสื้อผ้า มักจะใช้พื้นที่ให้บริการของสาธารณะในการทำธุระต่างๆ เช่น ห้องน้ำสาธารณะ สวนสาธารณะ วัด เป็นต้น หรือ ห้องน้ำให้บริการอาบน้ำ ครั้งละ 5-10 บาท อีกทั้งยังมีสถานที่ให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ อย่าง สภาสังคมสงเคราะห์ ที่คนไร้บ้านจะสามารถเข้าไปใช้บริการได้ โดยจะมีบริการห้องน้ำ ซักผ้า ตัดผม รวมถึงมีการแจกจ่ายอาหารด้วยเช่นกัน
สาเหตุของปัญหาคนไร้บ้าน
ปัญหาของการกลายมาเป็นคนไร้บ้านนั้นมีความซับซ้อน เนื่องมาจากเหตุผลของปัจเจกบุคคลที่อาจแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้แล้วยังอาจเกี่ยวโยงกับปัญหาในระดับโครงสร้างของสังคมที่ผลักดันให้คนเหล่านี้ต้องมาพบเจอกับวิกฤตของชีวิต ซึ่งปัญหาของคนไร้บ้านนั้นเกิดจากหลากหลายสาเหตุ หลากหลายมิติ ดังนี้
ปัญหาความเปราะบางของครอบครัว
ความเปราะบางที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ผลักดันให้ผู้คนต้องตัดขาดจากครอบครัว บ้างก็เลือกที่จะมาเป็นคนไร้บ้านด้วยตนเอง โดยพบว่าผู้หญิงและวัยรุ่นส่วนใหญ่มักพบกับปัญหาความรุนแทรงในครอบครัว การทะเลาะ การทำร้ายร่างกายในครัวเรือน บ้างก็อาจจะต้องเผชิญกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จนทำให้รู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยอีกต่อไป จึงเลือทกี่จะออกมาใช้ชีวิตด้วยตนเอง
นอกจากนี้แล้วยังพบว่าบางครอบครัวเกิดการทะเลาะวิวาท เนื่องมาจากการไม่ยอมรับตัวตนของคนในครอบครัวที่อาจเป็นคนข้ามเพศหรือกลุ่ม LGBTQ+ อีกทั้งปัญหายาเสพติดก็อาจผลักดันให้คนออกมาจากบ้านเนื่องด้วยครอบครัวรับไม่ได้ หรือในทางกลับกันอาจเป็นคนในครอบครัวเองที่มีการใช้ยา จนทำให้คนในครอบครัวต้องหนีออกจากบ้าน
ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ผู้คนไม่สามารถครอบครองหรือเป็นเจ้าของทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม เนื่องจากที่อยู่อาศัยย่อมต้องการปัจจัยทางด้านการเงินในการสนับสนุนแหล่งที่พัก ตัวอย่างสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงตั้งในอดีต เช่น วิกฤตต้มยำกุ้ง หรือสถานการณ์โควิด-19 การหางานทำเป็นไปได้ยาก คนถูกปลดออกจากงาน ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต จึงกลายมาเป็นคนไร้บ้าน
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
การศึกษานั้นเรียกได้ว่าเป็นตัวช่วยหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้ผู้คนสามารถเลื่อนสถานภาพทางชนชั้นในสังคมได้ อย่างไรก็ตามพบว่าในสังคมยังคงมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอยู่มาก เนื่องจากเด็กและเยาวชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดีได้ บ้างก็ต้องถูกผลักออกจากระบบเนื่องจากครอบครัวยากจน ทำให้ขาดแคลนค่าเล่าเรียน จึงส่งผลให้กลายเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงต่อกัน คนที่ได้รับผลกระทบนี้ไม่สามารถเป็นแรงงานคุณภาพของสังคมได้ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิตในด้านอื่นๆ ตามมา จึงกลายมาเป็นคนไร้บ้านในที่สุด
ปัญหาคนไร้บ้าน กับหนทางการช่วยเหลือ
ปัญหาคนไร้บ้านเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขที่ระบบโครงสร้างของสังคม จึงจะช่วยให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถกลับมามีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าปัญหาของคนไร้บ้านจะไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมดทุกด้าน หากแต่ยังมีองค์กรหรือหน่วยงานเอกชน อีกทั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ ที่พร้อมจะเข้ามาแก้ไขปัญหาสังคมและเข้ามาเพื่อช่วยอุดรอยรั่ว รวมถึงลดช่องว่างทางความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ โดยองค์กรต่างๆ มีดังนี้
เครือข่ายสลัม 4 ภาค
เครือข่ายสลัม 4 ภาค เป็นองค์กรเอกชนที่มุ่งเน้นในการทำงานด้านขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อเรียกร้องด้านสิทธิในที่พักที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตให้แก่คนในสังคมที่ขาดแคลนแหล่งที่พักอาศัยที่ปลอดภัยและเหมาะสม โดยทำการร่วมมือกับชุมชนกว่า 110 ชุมชน หรือราวๆ 7,000 ครอบครัว เพื่อมุ่งหวังในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย รวมทั้งเรื่องที่พักคนไร้บ้านด้วยเช่นกัน
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่
- Facebook Page : เครือข่ายสลัม๔ภาค Four Regions Slum Network
- Website : https://www.frsnthai.org/
มูลนิธิกระจกเงา
มูลนิธิกระจกเงา เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือสังคมในหลากหลายด้าน หลากหลายมิติ รวมถึงช่วยในการแก้ไขปัญหาของคนไร้บ้าน ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งโครงการ ‘อาหารเพื่อเพื่อน Food For Friends’ เป็นโครงการที่จะเข้าไปมอบอาหารและแจกจ่ายยารักษาโรคให้แก่คนไร้บ้าน โดยแนวทางในการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือจะเป็นการทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ซึ่งจะทำให้คนไร้บ้านได้รับการช่วยเหลือ อีกทั้งยังส่งผลให้คนในสังคมได้รับรู้ข้อมูลและมองเห็นชีวิตของคนไร้บ้านได้เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมีโครงการน่าสนใจอย่าง ‘จ้างวานข้า’ จากมูลนิธิกระจกเงาที่ช่วยผลักดันให้คนไร้บ้านได้มีอาชีพ มีงาน มีรายได้ และให้หลุดจากสภาพการเป็นคนไร้บ้าน
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่
- Facebook Page : มูลนิธิกระจกเงา
- Website : https://www.mirror.or.th/
มูลนิธิบ้านนกขมิ้น
ปัญหาคนไร้บ้านไม่เพียงแต่พบในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่เท่านั้น หากแต่คนเร่ร่อนและคนไร้บ้านยังพบในเด็กและเยาวชน โดยมีเด็กและเยาวชนจำนวนมากที่เป็นเด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาส เด็กยากจนไร้ที่พักอาศัย จึงกลายมาเป็นคนไร้บ้านในที่สุด มูลนิธิบ้านนกขมิ้นที่ถูกจัดตั้งโดยมิชชันนารีชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้เล็งเห็นปัญหา และเข้ามาช่วยเหลือทำที่พักพิงให้กับเด็กและเยาวชนที่ไร้ที่พึ่งพิงได้เข้ามาพักอาศัยและเพื่อให้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นการดูแลให้ความรักแก่เด็กๆ เพราะ “ครอบครัว” คือพื้นฐานที่สำคัญของชีวิต
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่
- Facebook Page : มูลนิธิบ้านนกขมิ้น
- Website : https://www.baannokkamin.org/
เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม
เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม เป็นเครือข่ายที่มุ่งเน้นในการสร้างและผลิตนักวิชาการที่มีคุณภาพให้แก่สังคม ซึ่งมุ่งหวังให้พัฒนาคุณภาพการศึกษา วิจัยและการสำรวจ ที่จะช่วยเข้าไปสำรวจปัญหาสังคมในด้านต่างๆ เพื่อนำผลมาทำการวิเคราะห์และสรุปข้อมูลที่จะเป็นผลต่อการนำไปสู่หนทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป โดยในด้านของการช่วยเหลือคนไร้บ้านจะเป็นการสำรวจสถานการณ์ของคนไร้บ้าน หรือจำนวน สถิติของคนไร้บ้าน เพื่อนำผลที่ได้ไปหาทางแก้ไขและช่วยสร้างโอกาสให้แก่คนไร้บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่
- Facebook Page : เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม
- Website : https://jusnet.wordpress.com/
มูลนิธิอิสรชน
มูลนิธิอิสรชน คือมูลนิธิที่ทำงานเพื่อคนไร้บ้าน ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งเป็นทำงานร่วมกับเครือข่ายของแต่ละจังหวัด เป็นองค์กรเอกชนที่ลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูคนไร้บ้านให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ คือ
- โครงการปันชีวิต ที่ใช้สนามหลวงเป็นพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการลงพื้นที่ดูแลคุณภาพชีวิตให้กับคนไร้บ้าน ผ่านการช่วยเหลือในเรื่องปัจจัย 4
- โครงการปันอิ่ม มีการแบ่งปันอาหารที่สะอาดและถูกหลักอนามัยจำนวน 2,500 ชุดให้แก่คนไร้บ้าน
- โครงการถุงปันสุข เป็นการแบ่งปันถุงที่บรรจุอาหารแห้งและข้าวของเครื่องใช้ประมาณ 500 ถุงต่อเดือน ให้แก่คนไร้บ้านทั่วกรุงเทพมหานคร
- โครงการปันอาชีพ โครงการที่จะช่วยสอนอาชีพและมีทุนด้านอาชีพให้เบื้องต้น สำหรับคนไร้บ้านที่สนใจอยากมีอาชีพเพื่อเริ่มพัฒนาตนเอง
- โครงการปันสุข คือคลินิกเคลื่อนที่ซึ่งได้แพทย์อาสาเข้ามาช่วยเหลือคนไร้บ้าน เพื่อให้ได้รับสิทธิในการรักษาสุขภาพกายและใจ รวมถึงแพทย์ยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนไร้บ้านร่วมกับสังคมอีกด้วย
- โครงการสื่อสานสร้างสุข เป็นโครงการที่มีขึ้นเพื่อให้เด็กมีโอกาสในการศึกษา ป้องกันการออกจากการเรียนกลางคัน จนกลายมาเป็นคนไร้บ้าน ผ่านการสนับสนุนด้วยสวัสดิการขั้นพื้นฐาน อย่างทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียน
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่
- Facebook Page : มูลนิธิอิสรชน
- Website : https://www.issarachonfound.com/
สรุป
คนไร้บ้าน คือบุคคลที่ไร้ที่พักพิง ไร้ที่อยู่แหล่งที่พักอาศัย จึงจำเป็นจะต้องเร่ร่อนไปมาหรืออาศัยตามพื้นที่สาธารณะแทน อย่างไรก็ตามพบว่าการกลายมาเป็นคนไร้บ้านนั้นมีความซับซ้อน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางครอบครัว สภาพเศรษฐกิจ หรือระบบโครงสร้างของสังคม ก็อาจมีความเกี่ยวเนื่องกันและส่งผลกกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพวกเขา หากแต่สังคมของคนไร้บ้านเองก็มีวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มที่ไม่ได้แตกต่างไปจากคนในสังคมปกติมากนัก เพียงแต่มีคุณภาพชีวิตที่ด้อยกว่าและไร้โอกาสที่จะมีความก้าวหน้า โดยในปัจจุบันมีองค์กร หน่วยงานและมูลนิธิต่างๆ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาของคนไร้บ้านจึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือคนไร้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค สนับสนุนแหล่งที่พักอาศัย หรือจัดเตรียมการฝึกอบรวมเพื่อการสร้างอาชีพให้แก่คนไร้บ้าน ได้หารายได้เพื่อเลี้ยงชีพตนเองได้
Cheewid เองก็เป็นหนึ่งในส่วนช่วยและสนับสนุนให้คนไร้บ้านได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการมอบโอกาสที่ดีในการทำงาน การศึกษา และที่พักอาศัย เพื่อโอกาสในการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นที่เหล่าคนไร้บ้านอาจไม่เคยได้รับจากรัฐบาล เราทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อคนไร้บ้าน และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่คนในสังคมถึงปัญหาเหล่านี้ เพื่อที่จะได้เข้ามาร่วมกันช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
Reference:
- ขวัญเรียม แก้วสุวรรณ. ‘คนเร่ร่อนไร้บ้าน’ ปัญหาสังคมที่แก้ไม่หาย เกิดขึ้นซ้ำๆ เหมือนวงเวียนชีวิต. komchadluek.net. Published on 21 March 2023. Retrieved 31 March 2024.
- เฉลิมพล พลมุข. คนไร้บ้าน. cps.chula.ac.th. Retrieved 31 March 2024.
- ธันย์ชนก สายรอด. ความแปลกแยกของคนไร้บ้าน การศึกษาวิถีชีวิตคนไร้บ้านในพื้นที่สนามหลวง-คลองหลอด-ลานคนเมือง. sure.su.ac.th. Retrieved 31 March 2024.
- บุญเลิศ วิเศษปรีชา. โลกของคนไร้บ้าน (พิมพ์ครั้งที่ 2), แก้ไขเพิ่มเติม ; พิมพลักษณ์, กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552.
- Atthasit Mueanmart. “คนไร้บ้าน” ปัญหาเรื้อรัง ที่กัดกร่อนสังคมและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ กับทางออกที่รางเลือน?. salika.co. Published on 24 April 2023. Retrieved 31 March 2024.
- Penguin Homeless. เหตุใดคนจึงไร้บ้าน. Penguin homeless.com. Published on 11 September 2020. Retrieved 31 March 2024.