เข้าสู่ระบบ

Table of Contents
Recent Post
11 องค์กรช่วยเหลือสตรีและเด็กในไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิที่ควรได้รับ
11 องค์กรช่วยเหลือสตรีและเด็กในไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิที่ควรได้รับ

CHEEWID พาทุกคนมาทำความเข้าใจกับปัญหาความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นปัญหาที่ผู้หญิงและเด็กพบเจอมาตลอด จึงเกิดองค์กรหรือมูลนิธิ เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีในไทย ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

รู้ทัน ป้องกันได้! ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาที่สังคมต้องช่วยแก้ไข
รู้ทัน ป้องกันได้! ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาที่สังคมต้องช่วยแก้ไข

บทความนี้ CHEEWID จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาจมาในรูปแบบการทำร้ายทางร่างกาย หรือทำร้ายจิตใจ บทความนี้จะเสนอว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีอะไรบ้าง และมีแนวทางการป้องกันอย่างไร

กราฟฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะข้างกำแพง รอยขีดเขียนแห่งการเสียดสีสังคม
กราฟฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะข้างกำแพง รอยขีดเขียนแห่งการเสียดสีสังคม

บทความนี้ CHEEWID จะพาทุกคนมารู้จักกับ กราฟฟิตี้ (Graffiti) หรือศิลปะข้างกำแพง ที่ไม่ใช่การขีดเขียนเพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังแทรกไปด้วยประเด็นสังคม การเผยตัวตนผ่านศิลปะนี้คืออะไร บทความนี้มีคำตอบ!

รวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์
รวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์

รู้หรือไม่? ทำบุญบริจาคให้โรงพยาบาลสงฆ์ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ บทความนี้ CHEEWID ได้รวบรวม 11 แหล่งบริจาคโรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อสวัสดิการที่ดีของพระสงฆ์ มาให้แล้ว!

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหา และแนวทางแก้ไข

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และยังคงอยู่มาอย่างยาวนาน Cheewid จะมาดูสาเหตุและแนวทางแก้ไขพร้อมกันได้ในบทความนี้ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้น
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหา และแนวทางแก้ไข
Table of Contents

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และยังคงอยู่มาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ เช่น คุณภาพของโรงเรียนที่แตกต่าง การศึกษาไม่ทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล การขาดแคลนทุนการศึกษา ปัญหาเศรษฐกิจ และโรคระบาด เป็นต้น จึงส่งผลทำให้เยาวชนไทยจำนวนมากถูกช่วงชิงสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่จะได้รับความรู้ และถูกผลักออกจากระบบการศึกษาในที่สุด

เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคประชาชน ควรมีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลง เพื่ออนาคตที่ดีของเยาวชน และสังคมไทยในภายภาคหน้า

ปัญหาด้านการศึกษาในสังคมไทย

ปัญหาด้านการศึกษาในสังคมไทย

เมื่อกล่าวถึงความไม่เท่าเทียม และความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาอาจทำให้มองเห็นภาพของความเหลื่อมล้ำไม่ชัดเจนมากนัก แต่เมื่อมองปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียม อาจทำให้ภาพของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแสดงออกมาได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยสะท้อนผ่านปัญหาในมิติต่างๆ ซึ่งแม้มีการพยายามแก้ไขเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำ แต่กลับพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยปัญหาที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา มีดังต่อไปนี้

1. ปัญหาคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานต่ำ

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้มีการจัดสอบวัดระดับความรู้ระดับชาติในทุกๆ ปีให้แก่นักเรียนไทย แต่ผลการสอบวัดระดับมักต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดอยู่เสมอ สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพในการศึกษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะแม้ว่านักเรียนไทยจะใช้เวลาไปกับการศึกษาในโรงเรียนไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ผลลัพธ์จากการสอบวัดระดับกลับสวนทางกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งปัญหามาตรฐาน และคุณภาพทางการศึกษาดังกล่าวก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในปัจจุบัน

 

 

นอกจากนี้ เพื่อให้ได้ผลการสอบที่น่าพึงพอใจ ทำให้นักเรียน หรือผู้ปกครองหลายคน จำเป็นต้องเสียเงินจำนวนมากเพื่อเรียนพิเศษเพิ่มเติม สิ่งนี้เองทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สืบเนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันในด้านฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว จึงทำให้การเข้าถึงการศึกษาของนักเรียนไทยแตกต่างกัน 

2. ปัญหาขาดแคลนครูผู้สอน

การขาดแคลนครูผู้สอนเป็นปัญหาที่สะท้อนให้เห็นถึงระบบโครงสร้างในการผลิตครู เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางการศึกษา เนื่องจากอัตราการแข่งขันในการสอบบรรจุข้าราชการครูที่สูงมาก ในขณะที่อัตราการรับเข้าบรรจุเองก็น้อยมาก ส่งผลให้ขาดแคลนครูผู้สอนในบางรายวิชาอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังพบว่าครูจำนวนมากต้องแบกรับภาระหน้าที่ที่หลากหลาย สวนทางกับอัตราค่าจ้างที่ควรจะได้รับ รวมถึงสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ชนบท จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่เลือกประกอบอาชีพครู ทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ และไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง จากปัญหาข้างต้นก็อาจสะท้อนได้ในอีกแง่มุมหนึ่งว่า ครูเองก็อาจเป็นผลผลิตมาจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอดีตด้วยเช่นกัน

3. ปัญหาขาดแรงงาน มีผู้เรียนเยอะ แต่ยังตกงาน

แม้ในแต่ละปีมีบัณฑิตที่จบการศึกษาเป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ซึ่งเป็นผลพวงมาจากระบบการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่สอดรับกับความต้องการขององค์กรต่างๆ เนื่องจากระบบโครงสร้างทางการศึกษาไทย ทำให้นักเรียน หรือนักศึกษาขาดประสบการณ์ในการเรียนรู้ และการทำงาน 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีสาขาแยกย่อยและเฉพาะทางมากมาย จึงทำให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าศึกษาในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานจำเป็นต้องเรียนรู้งานใหม่เมื่อเข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ ในขณะเดียวกันโครงสร้างของบางองค์กรก็อาจไม่มีทรัพยากรณ์เพียงพอที่จะนำไปใช้ลงทุนกับนักศึกษาที่ขาดประสบการณ์ หรือพนักงานใหม่

4. ปัญหาคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ปัจจุบันสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษาหลายแห่งมีการเปิดรับนักศึกษาเป็นจำนวนมาก และเริ่มดำเนินการจัดการระบบคล้ายกับการประกอบธุรกิจ กล่าวคือมีสถาบันทางการศึกษาเป็นผู้ให้บริการ ในขณะที่นักเรียน หรือนักศึกษาเปรียบเสมือนกลุ่มลูกค้าที่เข้ามารับบริการ จึงทำให้สถาบันในระดับอุดมศึกษาหลายแห่งรับนักศึกษาโดยเน้นปริมาณของจำนวนนักศึกษามากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพทางด้านการศึกษา โดยในบางสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานกลับมีอัตรารับเข้าเรียนที่น้อย      

ในสถานศึกษาบางแห่งมีการปรับรูปแบบหลักสูตร เพื่อทำให้ง่ายต่อการเข้าศึกษาของนักเรียน เช่น การเปิดโครงการพิเศษต่างๆ ที่มีค่าเทอมที่สูงขึ้น และลดจำนวนนักศึกษาของสาขาวิชาปกติลง นอกจากนี้ ยังพบปัญหาของการขาดแคลนบุคคลากร อาจารย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในบางสาขาวิชา จนทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยไม่สามารถผลิตบัณฑิตให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตได้

5. ปัญหาการขาดวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนา

จากการสำรวจพบว่าในประเทศไทยยังขาดการจัดทำ และเผยแพร่ผลงานวิจัย หรือนวัตกรรม ทำให้ขาดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ในสถาบันการศึกษา และทำให้การพัฒนาของสถาบันทางสังคมอื่นๆ ต้องหยุดชะงัก หรือเกิดการพัฒนาอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาภายในประเทศ และทำให้การพัฒนาระบบการศึกษา ตลอดจนคุณภาพการศึกษาของไทยไม่เท่าเทียมกับนานาประเทศอีกด้วย 

สาเหตุความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย

สาเหตุความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ การที่บุคคลมีความสามารถในการเข้าถึงการศึกษาแตกต่างกัน เนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมอันส่งผลให้เกิดปัจจัยส่วนบุคคลที่แตกต่างกัน โดยผู้ได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงการศึกษาที่ดีกว่า ย่อมมีโอกาสในการเลือกระดับคุณภาพของการศึกษาที่มากกว่าผู้ที่มีปัจจัยและทรัพยากรที่น้อย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • ภูมิลำเนา และสภาพแวดล้อมของผู้เรียน

ภูมิลำเนา และสภาพแวดล้อมของผู้เรียนที่แตกต่างกัน อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาได้ เนื่องจากองค์ความรู้ และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ มักถูกพัฒนา และกระจุกตัวอยู่ภายในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าชนบท อีกทั้งอัตราการแข่งขันทางการศึกษาที่สูงมากในพื้นที่เขตเมือง ทำให้เกิดเป็นสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่ดี ในขณะที่พื้นที่ชนบทไม่ได้มีบรรยากาศ และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้มากนัก

  • ฐานะทางสังคม และเศรษฐกิจ

ฐานะทางสังคม และสภาพเศรษฐกิจที่แตกต่างกันทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจส่งผลต่อความสามารถของครอบครัวในการสนับสนุน หรือส่งเสริมด้านการเรียนของบุตรหลานได้มากน้อยแตกต่างกันไป อาจกล่าวได้ว่าครอบครัวใดที่มีฐานะทางสังคม และสภาพทางเศรฐกิจที่ดี ย่อมมีตัวเลือกในการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพมากกว่า ในขณะที่ครอบครัวที่มีสภาพคล่องทางเศรษฐกิจที่น้อยลงมา อาจทำให้โอกาสทางการศึกษาถูกจำกัดให้น้อยลงตามไปด้วย 

นอกจากนี้ ความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้นในสังคมไทยก็ทำให้การเข้าถึงการศึกษาแตกต่างกันไป เช่น การที่ผู้ปกครองทำอาชีพเกษตรกรรมในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ และได้ผลผลิตไม่ดี ทำให้รายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้บุตรหลานที่กำลังอยู่ในวัยเรียนต้องรับภาระในการหาค่าใช้จ่าย เพื่อมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวควบคู่ไปกับการเรียน  ซึ่งในบางกรณีทำให้เด็กนักเรียนต้องออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด

โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ขนาดใหญ่ของระบบการศึกษา ก่อให้เกิดเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมทางการศึกษา เนื่องจากความพร้อมในการเรียนที่แตกต่างกัน และผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียนที่เพิ่มขึ้น เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต เป็นต้น หากนักเรียนคนใดที่ไม่มีอุปกรณ์เหล่านี้ ก็อาจทำให้พลาดโอกาสในการเรียนไป

  • วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของครอบครัว

ครอบครัวเปรียบเสมือนทุนทางสังคมและวัฒนธรรมของบุคคล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการให้ความสำคัญกับการศึกษา โดยครอบครัวที่มีการดูแลเอาใจใส่ และเลี้ยงดูบุตรหลานมาอย่างมีคุณภาพ มักมีการส่งเสริม หรือแสวงหาโอกาสทางการศึกษาที่ดีให้ลูกหลาน ในทางตรงกันข้าม หากครอบครัวใดที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา หรือไม่ได้ใส่ใจบุตรหลานมากเพียงพอ อาจมีแนวโน้มว่าบุตรหลานจะไม่ใส่ใจ และไม่ให้ความสำคัญกับการศึกษา ดังนั้น การที่เด็กแต่ละคนเติบโตมาในสภาพสังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน อาจได้รับการขัดเกลาทางสังคมในด้านการให้ความสำคัญกับการศึกษาที่แตกต่างกัน

ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาในไทย เกิดขึ้นมาจากทั้งสาเหตุปัจจัยในระดับโครงสร้างทางสังคม และปัจจัยส่วนบุคคล ทำให้เด็ก และเยาวชนจำนวนมากต้องเสียโอกาสที่ดีในการได้รับการศึกษา ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่ควรได้รับ อีกทั้งการพัฒนา และการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่เท่าเทียมกัน อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตด้วยเช่นกัน 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งผลอย่างไรต่อสังคม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ และความก้าวหน้าของสังคมไทยในหลากหลายประการ ดังนี้

1. การขาดแคลนแรงงานฝีมือคุณภาพ

ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ส่งผลให้คุณภาพการเรียนการสอนไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ สถานศึกษาบางแห่งไม่ได้พัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงทำให้องค์กรหลากหลายแห่งขาดแคลนแรงงานฝีมือคุณภาพ หรือต้องลงทุนไปกับทรัพยากรเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาพนักงานด้วยตนเอง 

ในขณะเดียวกัน ผู้ที่มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่า หรือเป็นแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ กลับแสวงหาโอกาสในการทำงานในองค์กรต่างประเทศ เนื่องจากมีโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความก้าวหน้าทางอาชีพที่สูงมากกว่าในประเทศนั่นเอง

2. ขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ และประเทศชาติ

สืบเนื่องมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ตลอดจนการขาดแคลนแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจ และประเทศชาติต้องสะดุด หรือหยุดชะงักไป เนื่องจากตลาดแรงงานไม่สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาธุรกิจ และเศรษฐกิจภายในประเทศได้ 

3. เกิดปัญหาสังคม และอาชญากรรม

การที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะแก่การศึกษา การสนับสนุนของครอบครัวไม่เอื้ออำนวย หรือการขาดคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลให้เด็ก และเยาวชนไทยบางส่วนถูกผลักให้ออกไปจากระบบการศึกษา ขาดการเรียนรู้ในวิชาชีพ การเรียนรู้ทางสังคม หรือการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้เด็ก และเยาวชนบางรายกลายเป็นประชากรที่ไร้คุณภาพ นำไปสู่การเกิดปัญหาสังคม และปัญหาอาชญากรรมตามมา

สถิติของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย

สถิติของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้รายงานความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ก่อให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาตามมา โดยจากการรายงานพบว่า ในปีการศึกษาที่ 1/2561 ครอบครัวของนักเรียนยากจนพิเศษ มีรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนต่อเดือนอยู่ที่ 1,289 บาท ในปีการศึกษาถัดมาพบว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 1,250 บาท และในปีการศึกษาที่ 1/2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่ 1,044 บาท หรือคิดเฉลี่ยเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งลดลงมาถึงร้อยละ 5 จากเดิม 

อีกทั้งการรายงานยังพบว่า ในปีการศึกษาที่ 1/2565 มีนักเรียนที่ยากจนพิเศษจำนวนมากถึง 1,307,152 คน กระจายอยู่ทุกพื้นที่ในประเทศไทย จากสถานการณ์ความยากจนนี้ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีเพิ่มสูงขึ้น ครอบครัวไม่สามารถสนับสนุนการศึกษาที่ดีให้แก่บุตรหลานของตนเองได้ จึงทำให้เด็กที่ครอบครัวยากจนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานไป และอาจกลายเป็นการผลิตซ้ำถึงปัญหาความเลื่อมล้ำทางการศึกษาในอนาคต 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังพบว่าเด็กนักเรียนยากจนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 29.9 หรือคิดเป็นจำนวนนักเรียนมากถึง 2.1 ล้านคน จากนักเรียนทั้งหมด และมีเด็กนักเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษามากถึง 4.3 แสนคน โดยในช่วงหลังโควิดที่ผ่านมา มีการรายงานให้เห็นว่า นักเรียนยากจนพิเศษที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบทางการศึกษาเพิ่มมากขึ้นถึง 300,000 ราย โดยโอกาสในการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของเด็กนักเรียนยากจนคิดเป็นเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแตกต่างจากนักเรียนในครอบครัวที่มีฐานะปานกลางมากถึง 20 เท่า

แนวโน้มปัญหาด้านการศึกษาของไทย

แนวโน้มปัญหาด้านการศึกษาของไทย

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยมีทั้งปัจจัยระดับโครงสร้าง และปัจจัยระดับปัจเจกบุคคล จึงทำให้ทิศทางการศึกษาของไทยยุคใหม่มีแนวโน้มทั้งทิศบวก และทิศทางลบ ดังนี้

แนวโน้มด้านบวก

  • มีหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้น 

จากการขาดแคลนแรงงานฝีมือ และความต้องการพัฒนาประเทศ จึงทำให้สถานศึกษาหาแนวทางการแก้ไข เพื่อทำให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการขององค์กรต่างๆ โดยได้มีการพัฒนาหลักสูตร คุณภาพ และการบูรณาการ เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของผู้เรียน 

  • หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น 

เนื่องจากในอนาคตมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆ จะมีการติดต่อทำธุรกิจ และกิจกรรมต่างๆ อย่างเสรี ทำให้สถาบันทางการศึกษาหลายแห่งมีการเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งสาขาตามความถนัด และทักษะด้านภาษาควบคู่กันไป เพื่อทำให้อนาคตของการติดต่อสื่อสารระหว่างต่างประเทศมีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น

  • การศึกษามีความเป็นสากล

ปัจจุบันโลกมีความเป็นโลกาภิวัตน์ หรือการติดต่อสื่อสารสามารถทำได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว และขยายขอบเขตของการติดต่ออย่างกว้างขวาง ทำให้สถาบันทางการศึกษาตระหนักถึงการพัฒนาหลักสูตรร่วมกับการอ้างอิงหลักสูตรจากสถาบันทางการศึกษาในต่างประเทศ เพื่อให้นักเรียนสามารถขยายพื้นที่ในการหาองค์ความรู้ได้กว้างขวางมากขึ้น และช่วยลดปัญหาด้านการศึกษา อีกทั้งยังทำให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในโลกของความเป็นสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลง 

ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงสิทธิ และเสรีภาพของเยาวชนในประเทศมากยิ่งขึ้น ทำให้สังคมเรียนรู้ว่าเยาวชนทุกคนควรได้รับสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการที่จะได้รับความรู้ ภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ จึงมีการเข้าไปสนับสนุน และดูแลโรงเรียนที่ขาดแคลนให้สามารถเข้าถึงแหล่งการศึกษาที่มีประสิทธิภาพได้ อย่างไรก็ตาม นักเรียนที่ยังคงมีฐานะยากจนก็ยังถูกจำกัดให้มีตัวเลือกเพียงแค่การเข้าถึงสถาบันการศึกษาของรัฐ เนื่องจากสถานศึกษาของเอกชนยังคงมีอัตราค่าเล่าเรียนที่สูง

  • สร้างโอกาสทางการศึกษามากขึ้น 

สืบเนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ และเสรีภาพทางการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ทำให้สถาบันทางการศึกษาทั้งภายใน และนอกประเทศมีการแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพหลักสูตร เพื่อดึงดูดนักศึกษามากขึ้น อีกทั้งสถาบันทางการศึกษาจากต่างประเทศยังมีการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน และนักศึกษาได้เข้าไปเรียนในสถาบันที่ต่างประเทศ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ ในขณะเดียวกันสถาบันการศึกษาของไทยก็เริ่มมีการตื่นตัวที่จะพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาให้มีความทันสมัย และเทียบเท่ากับสถาบันทางการศึกษาในระดับนานาชาติ 

แนวโน้มด้านลบ

  • เกิดช่องว่างด้านคุณภาพการศึกษา 

แม้ว่าปัจจุบันการแข่งขันเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยจะเป็นไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น แต่ช่องว่างระหว่างการพัฒนาก็ขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น จากการที่สถาบันการศึกษาบางแห่งยังขาดแคลนบุคลากรทางการศึกษา อุปกรณ์ และงบประมาณในการสนับสนุนเพื่อการพัฒนา จึงทำให้การพัฒนาต้องหยุดชะงัก โอกาสในการพัฒนาให้เทียบเท่ากับสถานศึกษาที่มีคุณภาพแห่งอื่นก็ลดน้อยลงด้วย

  • บัณฑิตเกินความต้องการของตลาด 

ปัจจุบันค่านิยม และความต้องการในการเรียนระดับอุดมศึกษามีเพิ่มสูงมากขึ้น อีกทั้งสถาบันการศึกษาหลายแห่งมีอิสระในการบริหาร และจัดการตนเองมากยิ่งขึ้น จึงทำให้ผลิตบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในแต่ละปีได้เยอะขึ้น แต่ในบัณฑิตที่จบออกมากลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่องค์กรต้องการ ทำให้ถูกผลักออกจากตลาดแรงงานในที่สุด ทำให้บัณฑิตเหล่านี้มีความต้องการที่จะแสวงหาการเรียนในระดับที่สูงมากขึ้น ซึ่งก็อาจทำให้เกิดเป็นบัณฑิตในระดับปริญญาโท และปริญญาเอกที่ไม่มีคุณภาพตามมา

  • ขาดประสิทธิภาพการสอนทักษะการคิด และอารมณ์ 

สังคมไทยยังคงเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญ และให้คุณค่ากับการเรียนการสอนในเชิงทักษะทางด้านวิชาการมากกว่าทักษะทางด้านสังคม รวมถึงระยะเวลาที่ยาวนานในการเล่าเรียน จึงทำให้เยาวชนขาดทักษะทางด้านสังคม ขาดการเรียนรู้เพื่อการเสริมสร้างทักษะชีวิต และสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ทำให้แม้ว่าจะมีความรู้ และทักษะที่ดีในเชิงวิชาการ แต่กลับไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

  • ขาดประสิทธิภาพการสอนด้านจริยธรรม 

ในลักษณะเดียวกันที่สถาบันทางการศึกษามุ่งเน้นแต่ความเป็นเลิศในเชิงวิชาการ อาจทำให้ผู้เรียนขาดการขัดเกลาทางสังคม คุณธรรม และจริยธรรม อีกทั้งสถาบันการศึกษาบางแห่งยังขาดบุคลากรที่ดีในการช่วยขัดเกลาผู้เรียน จึงทำให้ผู้เรียนขาดการเรียนรู้ทางด้านคุณธรรม และจริยธรรมที่ดี

  • การสอนด้านภาษาต่างประเทศยังไม่มีคุณภาพ

แม้ว่าสถาบันทางการศึกษาของไทยเริ่มมีการตื่นตัว และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเรียนการสอนในวิชาภาษาต่างประเทศแล้ว แต่ในความเป็นจริงสถานศึกษาหลายแห่งยังขาดแคลนครู หรืออาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ และมีคุณภาพในการสอนภาษาต่างประเทศ จึงทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีความล้าช้า และเสียเปรียบในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ในทักษะภาษา รวมไปถึงการเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติที่ยังคงจำกัดอยู่แค่กลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย

นโยบายการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

นโยบายการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และแม้ว่าจะมีการพยายามออกนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด โดยนโยบายลดปัญหาในสถานศึกษา และแนวทางการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มีดังนี้ 

มาตรการลดความเหลื่อมล้ำจากรัฐบาล

มาตรการการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากรัฐบาล เป็นการออกนโยบายเพื่อเข้ามาช่วยเหลือดูแลให้เด็ก และเยาวชนมีโอกาสได้รับสิทธิ และเสรีภาพที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เช่น มีนโยบายการกำหนดให้เด็ก และเยาวชนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการสนับสนุนค่าเล่าเรียนให้แก่นักเรียน เป็นต้น อีกทั้งปัจจุบันภาครัฐยังมีการสนับสนุน และดูแลให้โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล สามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนได้อย่างเท่าเทียมกับโรงเรียนในพื้นที่เขตเมือง โดยมีการช่วยเหลือในการจัดหาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการติดตั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อทำให้ขอบข่ายการเรียนรู้ขยายกว้าง และมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น 

สนับสนุนการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง

การสนับสนุนการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง เปรียบเสมือนการช่วยเหลือทางอ้อม เพื่อให้เด็ก และเยาวชนสามารถมีโอกาสที่ดีทางการศึกษาได้ เนื่องจากเมื่อผู้ปกครองมีความรู้ หรือมีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งต่างๆ รวมไปถึงมีความเข้าใจในความสำคัญของการศึกษา ก็จะช่วยให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนการศึกษาให้แก่บุตรหลานของตน อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้บุตรหลานของตนเอาใจใส่การเรียนได้อีกด้วย 

ขยายขนาดโรงเรียนให้เหมาะสม

การขยายขนาดโรงเรียน สามารถช่วยให้เด็กนักเรียนจำนวนมากมีโอกาสได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ช่วยลดความต่างของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เนื่องจากเด็กนักเรียนได้รับการเรียนการสอนภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และยังช่วยลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากคุณภาพของโรงเรียนได้ 

ส่งเสริมกิจกรรม หรือทักษะ

การส่งเสริมกิจกรรม และการส่งเสริมทักษะพิเศษต่างๆ นอกจากช่วยให้เด็ก และเยาวชนได้เรียนรู้ และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่รอบด้าน และหลากหลาย นอกเหนือไปจากทักษะทางด้านวิชาการแล้ว การส่งเสริมกิจกรรมยังช่วยทำให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสผ่อนคลายจากเรียน และทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของโรงเรียนลดลงไปได้เช่นกัน 

การเพิ่มจำนวนครูต่อนักเรียน

การเพิ่มจำนวนครูต่อนักเรียนจะทำให้นักเรียนได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ช่วยลดปัญหาเด็กนักเรียนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และช่วยส่งเสริมให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน 

การจัดสรรกองทุนเพื่อการศึกษา

เนื่องจากปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีเด็ก และเยาวชนไทยจำนวนมากที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน โอกาสในการศึกษาจึงมีน้อย เพราะขาดทุนการศึกษา และค่าเล่าเรียน ดังนั้น จึงควรมีกองทุนเพื่อการศึกษา เพื่อช่วยเหลือปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากการขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษาเล่าเรียน และให้โอกาสเด็ก หรือเยาวชนได้รับการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อวางรากฐานให้คุณภาพชีวิตเยาวชนให้ดีขึ้นต่อไป

การแก้ปัญหาด้านการศึกษา

สิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อร่วมแก้ปัญหาด้านการศึกษา

การแก้ไขปัญหาด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา มีดังนี้

1. การประชาสัมพันธ์

การประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สามารถทำให้ผู้คนตระหนัก และเข้าใจถึงปัญหาได้ดีมากยิ่งขึ้น การแพร่กระจายข่าวสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ อาจทำได้โดยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เช่น โซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้คนได้อย่างหลากหลาย ง่ายดาย และรวดเร็ว หรืออาจเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่านโครงการ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ และมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถูกสื่อสารไปถึงประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

2. การสร้างความตระหนักรู้

ผลจากการเผยแพร่ข่าวสาร และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ จะช่วยให้ผู้คนในสังคมไทยมีความเข้าใจ และได้เรียนรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งการสร้างความตระหนักรู้จะช่วยทำให้มีการส่งเสริม เรียกร้อง และสนับสนุนให้ภาครัฐ หรือทุกๆ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาให้ลดลง จนหมดสิ้นไปจากสังคมไทย 

3. การสนับสนุนให้กับองค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

การที่เราอยากมีส่วนร่วมในการสนับสนุน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อาจทำได้ผ่านการสนับสนุนเป็นทุนทรัพย์ หรือการบริจาคอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นต่อการศึกษาผ่านทางสถานศึกษาโดยตรง หรือผ่านทางโครงการของหน่วยงาน และองค์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การช่วยเหลือไปถึงเด็กนักเรียน และโรงเรียนที่ยังขาดแคลนได้มีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีขึ้น

โดย Cheewid เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้ผู้คนมีการตระหนักรู้ถึงปัญหา และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างยั่งยืน โดยมีตัวอย่างองค์กรที่มีส่วนในการสนับสนุนเพื่อการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนี้

  • มูลนิธิสร้างเสริมไทย ช่วยดำเนินการในการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ให้แก่เยาวชนไทย  โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชนบทที่ด้อยโอกาส และห่างไกล
  • มูลนิธิบ้านเด็กบุญทอง เป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็กกำพร้า และเด็กที่ด้อยโอกาส ในการสนับสนุนให้ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และช่วยสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นต่อการศึกษา
  • มูลนิธิบุญศิริ เป็นองค์กรที่ช่วยในการสนับสนุนให้เด็กที่ยากจนได้มีทุนการศึกษา โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อให้โอกาสแก่นักเรียนที่ยากไร้ได้มีโอกาสทางการศึกษาที่ดี เพื่อที่จะได้เติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในสังคมไทย

สรุป

ปัญหาด้านการศึกษาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และมีอยู่มาอย่างยาวนาน แม้ปัญหาดังกล่าวจะถูกนำมาเสนอ และหาแนวทางในการแก้ไข แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด Cheewid จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อช่วยหยิบยกปัญหาดังกล่าวมานำเสนอ เพื่อหวังให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษาถูกทำให้บรรเทาลงไป เพื่อช่วยส่งเสริมให้เด็ก และเยาชนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนสามารถเติบโต และพัฒนาไปเป็นประชากรที่มีคุณภาพในสังคมไทย เพื่อพัฒนาประเทศชาติอย่างมั่นคง และยั่งยืนในอนาคต

Reference:

  1. The Visual by Thai PBS. เปิดรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2565. thevisual.thaipbs.or.th. Published on 22 December 2022. Retrieved 11 July 2023.
  2. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. ภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา. eef.or.th.  Published on 15 October 2020.  Retrieved 10 July 2023.
  3. ทิพย์พาพร ตันติสุนทร. การลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา. fpps.or.th. Retrieved 11 July 2023.
  4. ธีรภัทร ถิ่นแสนดี, และภิญญา อนุพันธ์. ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. so07.tci-thaijo.org. Published on 06 August 2021. Retrieved 10 July 2023.
  5. นณริฏ พิศลยบุตร. ‘ ความเหลื่อมล้ำ’ ทางการศึกษาของไทย. tdri.or.th. Published on 29 January 2015. Retrieved 11 July 2023.z
  6. ประหยัด พิมพา. การศึกษาไทยในปัจจุบัน. So01.tci-thaijo.org. Published on January 2020. Retrieved 10 July 2023.
  7. ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย. เปลี่ยน ‘เหลื่อมล้ำ’ เป็น ‘เสมอภาค’ : มองปัญหาการศึกษาไทยกับ ดร.ไกรยศ ภัทราวาท. eef.or.th. Published on 18 June 2021. Retrieved  10 July 2023.
  8. มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี. ข้อปัญหาของการจัดการศึกษาในระบบไทย. legal.sru.ac.th/. Published on 27 July 2016. Retrieved 10 July 2023.
  9. มูลนิธิยุวพัฒน์. คลื่น “ความเหลื่อมล้ำ” ทางการศึกษา ซัดเด็กไทยให้หายไประหว่างทาง ความยากจนซ้ำเติม “เด็กหลุดจากระบบ”. Yuvabadhanafoundation.org.  Published on 26 April 2023. Retrieved 11 July 2023.
  10. รัฐบาลไทย. มาตรการ “ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา”.  thaigov.go.th/. Published on 12 September 2022. Retrieved 11 July 2023.

องค์กรเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้อง

banner - ร้อยพลังการศึกษา
logo - ร้อยพลังการศึกษา

โครงการร้อยพลังการศึกษา

โครงการความร่วมมือเชื่อมร้อยพลังผู้คนในสังคมไทยที่มีเป้าหมาย พัฒนาคุณภาพการศึกษาและช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย
banner - saturday school
logo - saturday school

มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์

มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์ หรือ Saturday School เกิดจากการรวมตัวกันของคนในสังคมจากหลากหลายอาชีพ ด้วยความมุ่งมั่นเดียวกัน ว่าเด็กทุกคนนั้นมีศักยภาพ ควรได้รับโอกาสในการพัฒนาสูงสุดตามความสนใจของเขา

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา เด็กที่อยู่ในสภาวะยากลำบากในพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และได้มาตรฐานตามหลักสูตร