Key Takeaway
|
ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทำให้เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆ ได้ เพราะการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุดและการเรียนรู้ก็ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ด้วย มาทำความรู้จัก Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตว่าคืออะไร สำคัญต่อการพัฒนาตัวเองในอนาคตอย่างไร ไปดูกัน!
Lifelong Learning การเรียนรู้ตลอดชีวิต คืออะไร
การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) คือรูปแบบการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องโดยไม่จำกัดอายุ และไม่ได้จบแค่การศึกษาในระบบโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตเพื่อบรรลุเป้าหมายของแต่ละคน การเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้พัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างดี
Lifelong Learning สำคัญต่อการใช้ชีวิตในอนาคตอย่างไร
Lifelong Learning สำคัญต่อการใช้ชีวิตในอนาคตมากๆ เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจึงช่วยให้เราสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ นอกจากนี้ การเรียนรู้ตลอดชีวิตยังช่วยให้เรามีเป้าหมายในการใช้ชีวิตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เปิดโอกาสให้ได้มุ่งเรียนรู้ไปในสิ่งที่สนใจจริงๆ และช่วยเติมเต็มคุณค่าในการใช้ชีวิตให้มีความหมายมากขึ้น
Lifelong Learning กับทักษะที่ควรมี
สำหรับ Lifelong Learning จำเป็นต้องมีทักษะสำคัญๆ ดังนี้
Creativity
ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถเรียนรู้ได้อย่างไร้ขอบเขตและไม่มีข้อจำกัด เมื่อมีความคิดสร้างสรรค์เราจะมองเห็นโอกาสในการพัฒนาและต่อยอดความคิด ไปสู่แนวทางใหม่ๆ ได้อย่างหลากหลาย ช่วยเปิดมุมมอง และขยายขอบเขตการเรียนรู้ให้กว้างขึ้นได้
Problem Solving
การแก้ปัญหา (Problem Solving) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะพื้นฐานที่มีความสำคัญมากในการดำเนินชีวิตและพัฒนาการด้านการเรียนรู้ ช่วยให้เราสามารถรับมือกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเราฝึกฝนทักษะนี้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ และความสามารถในการจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญได้อย่างเหมาะสม
Critical Thinking
การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่าง ช่วยให้เรามีความกล้าที่จะคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถามในแง่มุมที่แปลกใหม่ ทักษะนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ให้ลึกซึ้งและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะไม่ได้เป็นเพียงการรับข้อมูลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการตั้งข้อสังเกตและการแสวงหาคำตอบในมิติที่หลากหลายอีกด้วย
Leadership
ภาวะผู้นำ (Leadership) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะที่ช่วยเสริมสร้างความกล้าคิดกล้าทำและยังเป็นคุณสมบัติสำคัญที่ช่วยให้เราถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ไปสู่ผู้อื่นได้อีกด้วย ทักษะนี้ไม่เพียงช่วยในการพัฒนาตัวเองเท่านั้น แต่ยังสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมผ่านการแบ่งปันความรู้และการชี้นำผู้อื่นไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
Communication
การสื่อสาร (Communication) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในทุกด้านของชีวิต โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน ที่การเรียนรู้ และการทำธุรกิจส่วนใหญ่ ดำเนินการผ่านช่องทางออนไลน์ ความสามารถในการสื่อสารที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสำเร็จ ทั้งในด้านการเรียนรู้ และการทำธุรกิจในภายภาคหน้า
Collaboration
การประสานงาน (Collaboration) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะที่สำคัญนอกเหนือจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะการทำงานร่วมกับผู้อื่นช่วยเปิดโอกาสให้เราได้พัฒนาตัวเองด้วย ช่วยให้เรียนรู้มุมมองใหม่ๆ และเข้าใจภาพรวมของงานได้ชัดเจนขึ้น การมีทักษะด้านการประสานงานที่ดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า ทั้งในด้านการทำงาน และการพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
Information Management
การจัดการข้อมูล (Information Management) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะที่สำคัญอย่างมากในยุคนี้ เพราะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีมากมายและเข้าถึงได้อย่างไม่จำกัด ความสามารถในการคัดกรอง จัดการ และประยุกต์ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ได้หลายมิติ อีกทั้งยังสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมในอนาคต
Adaptability
การปรับตัว (Adaptability) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะที่มีความสำคัญมากในยุคที่โลก และเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ความสามารถในการปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตได้อย่างดี ทักษะนี้จึงเป็นเสมือนเกราะป้องกันที่ช่วยให้สามารถประสบความสำเร็จได้ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
Curiosity
ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือทักษะที่ช่วยขับเคลื่อนการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ การมีความกระหายใคร่รู้จะเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เราพัฒนาและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ความอยากรู้อยากเห็นจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
Lifelong Learning สร้างได้อย่างไร
การเรียนรู้ตลอดชีวิต คือทักษะที่สามารถสร้างได้ง่ายๆ ด้วยกระบวนการสร้าง ดังนี้
- มี Growth Mindset เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเราสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ ไม่ว่าจะยากเพียงใด ผู้ที่มี Growth Mindset มักจะมี Curiosity Mindset หรือความอยากรู้อยากเห็น ที่คอยผลักดันให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง จนพัฒนาเป็น Lifelong Learner ในที่สุด
- เข้าใจหลัก Learning How to Learn หรือวิธีการเรียนรู้อย่างถูกวิธี เพราะแม้จะมีเป้าหมายชัดเจน แต่บางครั้งความยากของเนื้อหาอาจทำให้ล้มเลิกได้ การเข้าใจวิธีการเรียนรู้ที่ถูกต้องจึงเป็นกุญแจสำคัญสู่การเป็น Lifelong Learner ที่แท้จริง
- เรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-Learning) เป็นหัวใจสำคัญของ Lifelong Learning เพราะเป็นการแสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ด้วยตัวเอง แล้วมาทดลองปฏิบัติ ลองผิดลองถูก จนเกิดความชำนาญ และประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย
- มี Active Learning เพื่อเน้นลงมือปฏิบัติจริง นำความรู้มาทดลองใช้จริง เพื่อให้เข้าใจความเชื่อมโยงของแนวคิดต่างๆ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์อื่นได้
Lifelong Learning ตอบโจทย์คนกลุ่มไหนบ้าง
การฝึกทักษะ Lifelong Learning จำเป็นมากในอนาคต คนทุกกลุ่มจำเป็นต้องฝึกเรียนรู้ไว้เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น
เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา
ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตช่วยเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาได้ เพราะเปิดโอกาสให้เรียนรู้ได้อย่างอิสระโดยไม่จำกัดรูปแบบและเวลา เลือกเรียนในสิ่งที่สนใจหรือตรงกับความถนัดของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะอาชีพ งานฝีมือ หรือความรู้เฉพาะทาง
Lifelong Learning ช่วยสร้างความมั่นใจและแรงบันดาลใจ ไม่มีกรอบหรือการประเมินผลแบบเดิมๆ ส่งผลให้คนกลุ่มนี้กล้าที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง นำความรู้ไปต่อยอดในการประกอบอาชีพหรือสร้างรายได้โดยตรง ซึ่งเป็นทางเลือกที่สำคัญสำหรับคนที่ไม่สามารถเรียนในระบบการศึกษาปกติได้
นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา
ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีบทบาทสำคัญในการพัฒนานักศึกษาระดับอุดมศึกษา ช่วยส่งเสริมให้เรียนรู้นอกห้องเรียนให้ค้นคว้าและพัฒนาตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การฝึกทักษะ Lifelong Learning ในระดับอุดมศึกษา จะส่งเสริมผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเรียนรู้แบบ Active Learning การฝึกงาน โครงการแลกเปลี่ยน และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะและทัศนคติที่จำเป็น
กลุ่มคนทำงาน
การเรียนรู้ตลอดชีวิตช่วยส่งเสริมกลุ่มคนทำงานโดยการพัฒนาทักษะและความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการปรับตัวในโลกการทำงานที่มักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะช่วยให้คนทำงานสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน พัฒนาความก้าวหน้าในอาชีพ และรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดแรงงานได้
นอกจากนี้ ยังช่วยเปิดโอกาสในการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กับผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสทางอาชีพใหม่ๆ หรือการพัฒนาธุรกิจของตัวเอง การเรียนรู้แบบนี้ยังช่วยเพิ่มความมั่นใจ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่องค์กรต่างๆ ต้องการในปัจจุบัน
กลุ่มผู้สูงอายุ
การเรียนรู้ตลอดชีวิตช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ให้พวกเขายังมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล และปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ การเรียนรู้แบบนี้ยังช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง ลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม เป็นแหล่งสร้างเครือข่ายทางสังคมและส่งเสริมสุขภาพจิตผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่าและมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตมากขึ้น
รวม 4 องค์กรสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตในไทย ที่น่าสนใจ
เพื่อฝึกทักษะ Lifelong Learning จึงทำให้เกิดองค์กรต่างๆ ในไทย เพื่อการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
1. หิ่งห้อยน้อย
หิ่งห้อยน้อย เป็นเว็บไซต์และเพจเฟซบุ๊กที่ก่อตั้งโดย รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความรู้ และแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นอ่อนไหวในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศศึกษา การคุกคามทางเพศ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม อนามัยเจริญพันธุ์ การหย่าร้าง การกลั่นแกล้ง ความหลากหลายทางเพศ และความตาย
แพลตฟอร์มนี้เน้นการสร้างการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) สำหรับเยาวชน โดยผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา นอกจานนี้ทุกคนจะเป็นผู้ใช้นิรนามที่ไม่ต้องระบุตัวตน เพศ หรืออายุ ในการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อความปลอดภัยของผู้เขช้าใช้งาน
- ที่อยู่: –
- เบอร์ติดต่อ: –
- เว็บไซต์: https://hinghoynoy.org/
2. SPARK club
SPARK Club เกิดขึ้นจากความตั้งใจของกลุ่มนักศึกษา ที่ต้องการช่วยเพื่อนๆ ให้ค้นพบตัวตน โดยเน้นการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงออกและพัฒนาทักษะในสิ่งที่ชอบ ผ่านการจัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมการค้นหาตัวเอง การมีชีวิตที่มีความสุข และการเตรียมพร้อมสู่การทำงานที่ชอบ
องค์กรนี้มีส่วนช่วยให้เยาวชนเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้นำในอนาคต ผ่านกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และเสริมสร้างทักษะสำคัญ เช่น การจัดการตัวเอง การวางแผนอาชีพ และการพัฒนาภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสังคมที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ
- ที่อยู่: ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล นครปฐม
- เบอร์ติดต่อ: 095-898-8245
- เว็บไซต์: https://www.facebook.com/profile.php?id=61555363706265
3. Let’s play more เล่นเปลี่ยนโลก
Let’s play more เล่นเปลี่ยนโลก เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ส่งเสริมการเล่นอิสระ (Free Play) ของเด็กในประเทศไทย โดยใช้การเล่นเป็นเครื่องมือพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างมีความสุขและพร้อมรับมือกับยุค VUCA World องค์กรมุ่งเน้นการผสมผสานการศึกษาและการเล่นให้ไปด้วยกัน ด้วยการเพิ่มกิจกรรมการเล่นในการเรียนการสอนทุกระดับชั้นตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยม
การเล่นอย่างอิสระจะช่วยพัฒนาเด็กในด้านต่างๆ ทั้งทักษะชีวิตและสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ได้แก่ ร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ใหญ่เข้าใจ และเห็นแนวทางการพัฒนาเด็กมากขึ้น เด็กได้ฝึกพัฒนาการ สมองและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบการเล่นด้วยตัวเอง ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง มั่นคงในจิตใจ และรู้จักบริหารจัดการอารมณ์ได้ดีในอนาคต
- ที่อยู่: –
- เบอร์ติดต่อ: 02-617-1919
- เว็บไซต์: http://www.letsplaymore.org
4. เครือข่ายสาธารณศึกษา (Feel Trip)
เครือข่ายสาธารณศึกษา (Feel Trip) ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเชื่อมโยงพื้นที่เรียนรู้หลากหลายรูปแบบ โดยมีแนวคิดในการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และคนรุ่นใหม่ค้นพบตัวเอง พัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้และสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองตามความสนใจและต้นทุนของชุมชน เพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองที่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งระดับปัจเจกและครอบครัว เชื่อมโยงสู่ชุมชน สังคม และโลกบนพื้นฐานของการเคารพความหลากหลาย
องค์กรให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ การทดลอง และการวิเคราะห์สถานการณ์ ที่เชื่อมโยงตัวเองกับสังคม โดยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการออกแบบพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีอิสระในการออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองให้เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมและสะท้อนความรู้ผ่านผลงานสื่อสารสาธารณะได้
- ที่อยู่: –
- เบอร์ติดต่อ: –
- เว็บไซต์: https://www.facebook.com/FeelTripTH/
สรุป
Lifelong Learning คือแนวคิดการศึกษาที่ไม่จำกัดอายุ เน้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้จบแค่การศึกษาในระบบโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญมากในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร เพราะจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเรียนรู้ตลอดชีวิตยังช่วยกำหนดเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ในสิ่งที่สนใจ และเติมเต็มคุณค่าในการดำเนินชีวิตให้มีความหมายมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาตัวเองได้อย่างยั่งยืน
Cheewid ขอเป็นอีกหนึ่งแรง ที่จะช่วยพัฒนาทักษะ Lifelong Learning ของคุณให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด พัฒนาตัวเองในแบบที่ตัวเองพอใจ และเพื่อความสุขในอนาคตที่จะเกิดขึ้น
Reference:
- มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning). hcu.ac.th. Published 18 September 2023. Retrieved 11 November 2024.
- สอวช. Lifelong Learning แผนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้คนไทยพร้อมรับทุกวิกฤตการณ์โลก. nxpo.or.th. Published 10 November 2021. Retrieved 11 November 2024.
- Chulalongkornuniversity. อุปนิสัย “ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต” สร้างได้ นักวิจัย ครุศาสตร์ จุฬาฯ แนะวิธี. chula.ac.th. Published 17 August 2022. Retrieved 11 November 2024.
- contentbooknotes. Lifelong learning คือ? ทำไมใครๆ ก็อยากเป็น Lifelong learner. contentbooknotes.com. Published 27 November 2022. Retrieved 11 November 2024.