ที่ดินแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย จะมีการกำหนดสีผังเพื่อแบ่งพื้นที่ไว้สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง ซึ่งการแบ่งผังเมืองตามสีมีจุดประสงค์เพื่อให้ง่ายต่อการนำไปตรวจสอบการใช้งานที่ดินตรงนั้น ว่าควรนำไปใช้งานในด้านใดให้ถูกต้อง
ผังเมืองคืออะไร
ผังเมือง คือ ลักษณะโครงสร้างหรือแผนผังที่ถูกจัดทำขึ้นโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยแบ่งเป็นสีผังเมืองต่างๆ ว่าแต่ละพื้นที่ทำอะไรได้บ้าง และควรมีอะไรในที่ดินบ้าง เช่น ระบบคมนาคม ระบบขนส่ง สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ตามความเหมาะสม เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
กฎหมายผังเมืองคืออะไร
กฎหมายผังเมืองในประเทศไทย เป็นกฎหมายที่มีขึ้นเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ของที่ดินต่างๆ ในประเทศ เนื่องจากแต่ละที่พื้นที่มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน จึงต้องมีกฎหมายผังเมือง เพื่อควบคุมให้เป็นระเบียบ
ลักษณะของกฎหมายผังเมือง คือกำหนดประเภทของการก่อสร้างตามสีผังเมืองว่า สร้างอะไรได้บ้าง ห้ามสร้างอะไรบ้าง กำหนดขนาดพื้นที่หรือกำหนดความสูงในการก่อสร้างเพื่อควบคุมให้เป็นระเบียบและสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ซึ่งหากไม่มีการกำหนดสีผังเมืองก็จะทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ เช่น พื้นที่อยู่อาศัยกลายเป็นชุมชนแออัด พื้นที่การเกษตรไม่เพียงพอ หรือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานไม่เหมาะสมกับความต้องการที่มีอยู่
การกำหนดสีผังเมือง
เขตพื้นที่ในประเทศไทยแต่ละเขตจะถูกแบ่งออกเป็นสีต่างๆ ที่เรียกว่า สีผังเมือง เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมดูแลสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่นั้นๆ ซึ่งสีผังเมืองในกรุงเทพมหานคร ถูกแบ่งผังสีออกเป็น 10 สี โดยแต่ละสีจะบอกถึงศักยภาพของพื้นที่ว่าสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างหรือมีข้อห้ามอะไรบ้าง และช่วยกำหนดประเภทของสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงจัดสรรสิ่งปลูกสร้างได้ตรงความเหมาะสม
หากต้องการรู้ว่าเขตพื้นที่ไหนมีสีผังเมืองอะไร และเหมาะกับสิ่งปลูกสร้างแบบได้บ้าง ก็มีวิธีตรวจสอบหรือค้นหาว่าที่ดินแต่ละที่มีสีผังเมืองอะไรด้วยตนเองง่ายๆ ได้ที่ Landuse Plan – ระบบตรวจสอบผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ผังเมืองสีเหลือง
ผังเมืองสีเหลือง (รหัส ย.1-ย.4) หรือเขตพื้นที่สีเหลือง เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นน้อยคือเขตที่มีคนอยู่อาศัยเป็นจำนวนน้อย และเป็นที่ดินอยู่แถบชานเมือง โดยพื้นที่สีเหลืองนี้จะใช้ประโยชน์ในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาสภาพแวดล้อมของการอยู่อาศัย รองรับการขยายตัวของที่อยู่อาศัยในเขตชานเมืองให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีและการให้บริการขนส่งมวลชน เช่น สถานศึกษา สถานสงเคราะห์รับเลี้ยงเด็ก / คนชรา / ผู้พิการ / สัตว์ โรงพยาบาล รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน ตลาด และโรงแรม
ผังเมืองสีส้ม
ผังเมืองสีส้ม หรือ เขตพื้นที่สีส้ม (รหัส ย.5-ย.7) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นปานกลาง ที่ดินอยู่บริเวณพื้นที่ต่อเนื่องกับเขตเมืองชั้นใน สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้เหมือนกับพื้นที่สีเหลือง แต่ไม่สามารถสร้างสถานสงเคราะห์สำหรับเลี้ยงสัตว์ได้ เพราะเสียงของสัตว์จะรบกวนเขตชุมชน ซึ่งผังสีส้มจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่เน้นการรองรับการอยู่อาศัยและการขยายตัวของที่อยู่อาศัยที่ติดกับเขตเมืองชั้นใน ศูนย์ชุมชนชานเมือง เขตอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม และการให้บริการขนส่งมวลชน
ผังเมืองสีน้ำตาล
ผังเมืองสีน้ำตาล (รหัส ย.8-ย.10) เป็นเขตพื้นที่สีน้ำตาล ประเภทที่อยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูงคือเขตที่มีคนอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก อยู่ในเขตเมืองชั้นในใจกลางเมืองกรุงเทพ หรือย่านธุรกิจ และเป็นที่ดินที่มีมูลค่าสูง พื้นที่สีน้ำตาลจะเน้นรองรับการอยู่อาศัยในเขตการให้บริการของขนส่งมวลชน รวมถึงเขตรอยต่อเมืองชั้นในกับย่านธุรกิจด้วย ทำให้ผังสีน้ำตาลอนุญาตให้มีการใช้การใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้ไม่เกิน 10% ของพื้นที่ เช่น โรงงาน หรือ สถานประกอบการต่างๆ เนื่องจาก เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับอยู่อาศัยมากกว่า ทั้งบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโด
ผังเมืองสีแดง
ผังเมืองสีแดง (รหัส พ.1-พ.5) เป็นเขตพื้นที่สีแดง ที่เน้นธุรกิจพาณิชยกรรม ตั้งแต่ระดับชุมชน จนถึงระดับภูมิภาค โดยผังเมืองสีแดงจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า การบริการ และการท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยทุกรูปแบบ และสถานที่ราชการ แต่จะมีข้อจำกัดการสร้างที่อยู่อาศัยน้อยกว่าสีอื่น และผังเมืองสีแดงจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอื่น ไม่เกินร้อยละ 25% ของพื้นที่ทั้งหมด เช่น โรงงานอุตสาหกรรม คลังน้ำมันเชื้อเพลิง ปศุสัตว์ สุสาน สถานีขนส่ง และสถานที่กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล เพราะอาจจะเกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อการอยู่อาศัยและปัญหาสุขภาพของผู้คนในชุมชน
ผังเมืองสีม่วง
ผังเมืองสีม่วง หรือ เขตพื้นที่สีม่วง (รหัส อ.1 – อ.2) คือ พื้นที่สำหรับการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยที่ อ.1 เน้นประเภทอุตสาหกรรมการผลิต ที่มีการปล่อยมลพิษน้อย และอ.2 เน้นประเภทนิคมอุตสาหกรรม เพื่อการผลิตและส่งออก จึงเหมาะสำหรับภาคธุรกิจ เพราะผังเมืองสีม่วงสามารถสร้างโรงงาน สร้างโกดังได้ตลอดทุกพื้นที่โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น อีกทั้งสามารถสร้างที่อยู่อาศัย เช่น บ้าน หอพัก คอนโดขนาดเล็ก และร้านค้า นอกจากนี้พื้นที่มีสีม่วงยังมีการสนับสนุนประเภทย่อยด้วย เช่น โรงแรม สุสาน โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา แต่พื้นที่สีม่วงมีข้อจำกัดการสร้าง คือการใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการอื่น ต้องไม่เกิน 10% ของพื้นที่ และไม่สามารถสร้างอาคารสูงกับคอนโดขนาดใหญ่ได้ เว้นแต่อาคารจะเป็นส่วนหนึ่งของโรงงาน
ผังเมืองสีม่วงอ่อน
ผังเมืองสีม่วงอ่อน หรือ เขตพื้นที่สีม่วงอ่อน (รหัส อ.3) คือ พื้นที่สำหรับคลังสินค้าโดยเฉพาะ ที่ง่ายต่อระบบขนส่งทุกรูปแบบ ในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผังเมืองสีม่วงอ่อนจะมีการใช้ประโยชน์ที่ดิน เกี่ยวกับการบรรจุสินค้า การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ โดยไม่มีการผลิต ทำให้ไม่มีผลพิษที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีเสียงรบกวนต่อชุมชน ที่สำคัญพื้นที่สีม่วงอ่อนคล้ายกับพื้นที่สีม่วงด้วย คือ สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ เช่น บ้าน หอพัก คอนโดขนาดเล็ก และร้านค้า แต่ไม่สามารถสร้างอาคารสูงกับคอนโดขนาดใหญ่ได้
ผังเมืองสีขาว-ลายเส้นทแยงเขียว
ผังเมืองสีขาว-ลายเส้นทแยงเขียว (รหัส ก.1 – ก.3) คือ พื้นที่สีเขียวสำหรับการอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม ซึ่งสีผังเมืองสีขาว-ลายเส้นทแยงเขียว เป็นผังสีที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย จึงส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเค็มและน้ำกร่อย สถานที่ราชการ โรงพยาบาล อีกทั้งการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับกิจการอื่น สามารถใช้ได้ไม่เกินร้อยละ 5 และร้อยละ 10 ของพื้นที่ดิน
ผังเมืองสีเขียว
ผังเมืองสีเขียว หรือ พื้นที่สีเขียว (รหัส ก.4 – ก.5) คือ พื้นที่ในชนบทและเกษตรกรรม ที่คล้ายกับผังเมืองสีขาว-ลายเส้นทแยงเขียว ซึ่งพื้นที่สีเขียวสามารถสร้างอะไรได้บ้างนั้น พื้นที่สีเขียวประเภทนี้ เหมาะกับเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม และยังสามารถแบ่งที่ดินให้เป็นแปลงเล็กที่สุดขนาด 100 ตารางวา เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย หรือสาธารณูปโภคได้อีกด้วย รวมถึง การใช้ประโยชน์ที่ดิน จะใช้ได้ไม่เกินร้อยละ 5 และร้อยละ 10 ของพื้นที่ดินเช่นเดียวกัน และพื้นที่สีเขียวนี้สามารถสร้างโรงงานได้ไหม ตอบได้เลยว่า พื้นที่สีเขียวประเภทนี้ไม่เหมาะกับการสร้างโรงงานเชื้อเพลิง โรงงานน้ำมัน และโรงงานอื่นๆ เช่นกัน
ผังเมืองสีน้ำตาลอ่อน
ผังเมืองสีน้ำตาลอ่อน หรือ พื้นที่สีน้ำตาลอ่อน (รหัส ศ.1-ศ.2) เป็นเขตพื้นที่กรุงเทพชั้นใน บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เป็นผังสีที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของไทย ด้านพาณิชยกรรม การท่องเที่ยวในเขตอนุรักษ์ สถานที่ราชการ และสาธารณูปโภคที่สำคัญ ทำให้พื้นที่สีน้ำตาลอ่อน ไม่สามารถสร้างหอพักได้ สามารถสร้างโรงแรมได้เท่านั้น โดยที่อาคารต้องไม่สูงหรือใหญ่เกินไป
ผังเมืองสีน้ำเงิน
ผังเมืองสีน้ำเงิน (รหัส ส.) คือ เขตพื้นที่สีน้ำเงินที่เป็นที่ดินของรัฐ โดยเป็นสีผังเมืองที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ ซึ่งผังสีนี้จะมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์เท่านั้น เช่น สถานที่ราชการต่างๆ สถานศึกษา วัด โรงพยาบาล สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
จุดประสงค์ของการมีผังเมืองและสีผังเมือง
จุดประสงค์ของการกำหนดผังเมืองและสีผังเมือง ที่แบ่งเป็นพื้นที่สีต่างๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ของประเภทที่ดินได้เหมาะสม โดยการแบ่งพื้นที่นี้ จะทำให้เขตพื้นที่หรือท้องที่ต่างๆ สามารถดูแลได้ง่ายขึ้น ช่วยให้สิ่งปลูกสร้างประเภทอื่นๆ ไม่ปะปนกัน เช่น โรงงานจะไม่สามารถตั้งอยู่ในเขตชุมชนได้ หรือ พื้นที่ชนบทและพื้นที่การเกษตร ไม่สามารถสร้างโรงงานได้ เป็นต้น นอกจากนี้ การกำหนดผังเมืองและสีผังเมือง ยังสอดคล้องกับระบบคมนาคม สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อการพัฒนาผังเมืองในอนาคต ตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองเดิมที่มีอยู่
พื้นที่สีเขียว ผังเมืองที่ควรรักษา
ผังเมืองของแต่ละพื้นที่ต่างก็มีการนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม ซึ่งผังเมืองที่เป็นพื้นที่สีเขียวก็ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องสำคัญ อย่างในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดํารงชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงควรมีผังเมืองที่เป็นพื้นที่สีเขียวเยอะๆ
โดยความสำคัญของการรักษาพื้นที่สีเขียวไว้ ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนได้ในระยะสั้น อย่างเรื่องของสุขภาพ เพราะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวช่วยส่งเสริมสุขภาพจิต ให้ผู้คนได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น ช่วยผ่อนคลายความเครียด ความวิตกกังวล และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น และสุขภาพกาย ทำให้ผู้คนได้ออกกำลังกายทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น ลดอาการเนือยนิ่ง และเสริมภูมิต้านทานร่างกายให้แข็งแรง ส่วนระยะยาวพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ ช่วยทำสภาพแวดล้อมโดยรวมดีขึ้น ต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดปัญหาฝุ่นและควัน ต้นไม้และธรรมชาติโดยรอบช่วยลดไอความร้อน ทำให้ร่มรื่น ร่มเย็นมากขึ้น
สรุป
ผังเมือง คือ โครงสร้างหรือแผนผังของเมืองทั้งหมด โดยมีการกำหนดกฎหมายผังเมือง เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ของที่ดินตามแต่ละสีผังเมืองให้เป็นระเบียบ เนื่องจากกรุงเทพมีการแบ่งสีผังเมือง เป็น 10 สี เพื่อจำแนกสีผังเมืองตามการใช้ประโยชน์ ให้ง่ายต่อการจัดสรรสิ่งปลูกสร้างให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะกับพื้นที่สีเขียวที่ควรรักษา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตั้งแต่เสริมสุขภาพของประชาชน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปถึงลดมลภาวะ โดยมีองค์กรและมูลนิธิที่ส่งเสริมพื้นที่สีเขียว เช่น บริษัท บางกอก รูฟท๊อป ฟาร์มมิ่ง จำกัด และ มูลนิธิโลกสีเขียว หากอยากมีส่วนร่วมในการรักษาพื้นที่สีเขียว สามารถสนับสนุนผ่านทางองค์กรและมูลนิธิเหล่านี้ได้