Key Takeaway
|
Gentrification คือ การพัฒนาเมืองที่เคยเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กลายเป็นเมืองโฉมใหม่ที่ได้รับการพัฒนา มูลค่าพื้นที่และการลงทุนในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการพัฒนาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบ ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่จึงควรทำอย่างรอบคอบและมีการวางแผน เพื่อทำให้การพัฒนาเป็นผลดีต่อทุกคนในสังคม และไม่ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบและความเหลื่อมล้ำตามมา
Gentrification ในเมืองใหญ่ คืออะไร?
Gentrification คือ “การทำให้เมืองกลายเป็นย่านผู้ดี” ตามการให้ความหมายโดยอาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนมีฐานะ หรือคนรวย กลุ่มรายได้มากในสังคมหลั่งไหลและย้ายเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของคนชายขอบ เนื่องจากในพื้นที่เดิมเคยเป็นที่เสื่อมโทรมไม่ได้รับการพัฒนาเป็นพื้นที่ที่มีที่ดินและค่าเช่าราคาถูก จึงค่อยๆ ดึงดูดให้กลุ่มนักศึกษา ศิลปิน หรือหลายๆ คนย้ายเข้าไปอยู่
ในขณะเดียวกันพื้นที่ก็ค่อยๆ เกิดการพัฒนาเพราะคนกลุ่มใหม่เหล่านี้ และด้วยเมืองที่ค่อยๆ พัฒนาให้น่าอยู่ กลับกลายเป็นถูกพัฒนามากยิ่งขึ้นจนที่ดินในเมืองมีราคาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลทำให้กลุ่มศิลปินหรือนักศึกษา รวมทั้งคนกลุ่มเดิมที่เคยอาศัยไม่สามารถทนต่อราคาได้จึงต้องย้ายออกไป และถูกแทนที่ด้วยคนชนชั้นนำ กลุ่มผู้มีรายได้ในสังคมเข้ามาแทนที่ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงสถานภาพทางเศรษฐกิจ และพัฒนากลายเป็นเมืองหรูของคนร่ำรวย เกิดการลงทุนและมีนักลงทุนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ปรากฏการณ์ Gentrification ในทั่วโลก
ปรากฏการณ์ Gentrification เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในย่านบุกชน ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีแต่บ้านโบราณเก่าแก่ อยู่ท่ามกลางตึกสูงของกรุงโซล สะท้อนให้เห็นถึงการกลายเป็นเมือง ถูกพัฒนาเป็นย่านเศรษฐกิจและการลงทุน บ้านโบราณบางหลังถูกปรับปรุงให้เหมาะสม เป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยว เพราะกลุ่มคนที่มีรายได้ยังคงสามารถดูแลบ้านได้ ในขณะที่บ้านบางหลังกลายเป็นบ้านรกร้าง เพราะกลุ่มผู้อยู่อาศัยเดิมบางส่วนไม่สามารถต่อสู้กับความพัฒนาและค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้
ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกก็ประสบกับภาวะการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน อาทิ มหานครนิวยอร์ก ย่านแมนฮัตตัน บรุกลิน ควีนส์ หรือในลอนดอน ก็เกิดปรากฏการณ์ในลักษณะของการกลายเป็นเมืองหรู ย่านคนรวยด้วยเช่นกัน ซึ่งเกิดจากการที่ย่านแบ็ตเทิลซีที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกเปลี่ยนให้เป็นย่านของคนมีรายได้ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
ทำไมต้องใช้ Gentrification ในการปรับปรุงพื้นที่เมือง?
Gentrification ได้เปลี่ยนให้เมืองหรือพื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งเสื่อมโทรม ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ กลับกลายเป็นเมืองที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ซึ่งผลดีของ Gentrification คือ สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่เพื่อการค้า การลงทุนทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงการลงทุนทางด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น สามารถสร้างรายได้จากพื้นที่ได้มากขึ้น ทำให้เมืองมีความน่าอยู่อาศัยมากกว่าเก่า มีการปรับปรุงและพัฒนาให้ก้าวหน้า ช่วยลดความเสื่อมโทรมของชุมชน ซึ่งส่งผลให้อาชญากรรมค่อยๆ ลดลงตามไปเช่นกัน อีกทั้งระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่ง และคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนก็เพิ่มขึ้นไม่น้อย
ผลกระทบของ Gentrification ต่อชุมชนดั้งเดิมและวิถีชีวิต
Gentrification หรือการทำให้เมืองเป็นย่านผู้ดี มีทั้งด้านดีและด้านลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเมืองในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป มีดังนี้
ผลักไสผู้คนในชุมชนดั้งเดิม
Gentrification เปรียบเสมือนกับการผลักให้คนในชุมชนดั้งเดิมจะต้องย้ายออกจากถิ่นฐานของตน จากการที่พื้นที่ถูกปรับให้กลายเป็นย่านผู้ดี คนท้องถิ่นที่เคยอาศัยต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตามมา ค่าเช่าพื้นที่สูงขึ้น จึงทำให้คนในชุมชนดั้งเดิมไม่มีความสามารถมากพอในการอยู่อาศัยแบบเก่า และต้องสูญเสียที่อยู่ของตนให้กับกลุ่มคนรวย และนักลงทุนเข้ามาแทนที่
ความเหลื่อมล้ำในที่อยู่อาศัย
การที่พื้นที่ถูกพัฒนา มีความเจริญ และการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มูลค่าของที่ดินและที่อยู่อาศัยมีราคาแพงตามไป ดังนั้นการเป็นเจ้าของหรือครอบครองที่อยู่อาศัยจึงเป็นไปได้ยากสำหรับกลุ่มคนจนเมือง หรือผู้มีรายได้ต่ำ พื้นที่เดิมที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยก็มีราคาแพงขึ้นจนไม่สามารถครอบครองได้ ก็ต้องตกไปเป็นของกลุ่มผู้มีอำนาจ และมีรายได้เข้ามาแทนที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ยังคงผลักให้คนรายได้น้อยไม่มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาและความเจริญ และไม่มีโอกาสยกระดับคุณภาพชีวิตเลย
เมืองมีชีวิตชีวาขึ้น
ในขณะเดียวกันแม้ Gentrification จะดูเหมือนเป็นปรากฏการณ์ร้ายในสังคม แต่ในทางตรงกันข้ามก็ยังส่งผลดีต่อสังคมในด้านการปรับปรุงพื้นที่ให้กลายเป็นพื้นที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาซึ่งนำไปสู่ความเจริญเพิ่มมากยิ่งขึ้นของพื้นที่ จากพื้นที่เสื่อมโทรมจะถูกปรับทัศนียภาพให้ดูน่าอยู่อาศัย กลายเป็นพื้นที่สร้างสีสันและคืนชีวิตชีวาให้กับเมือง และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้คนที่อาศัยโดยรอบได้
เพิ่มมูลค่าทางทรัพย์สิน
เนื่องด้วยความเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาเมืองที่มาพร้อมกับปรากฏการณ์ Gentrification ส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้า ดึงดูดให้นักลงทุนมากมายอยากเข้ามาทำธุรกิจและลงทุนในพื้นที่มากยิ่งขึ้น จึงเรียกได้ว่า Gentrification เป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับที่ดินและเมืองได้ไม่น้อยเลย
แนวทางการพัฒนาเมืองเพื่อความเสมอภาคทางสังคม
เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือละทิ้งใครไว้ข้างหลังจากการพัฒนา Gentrification มีแนวทางในการพัฒนาเมืองพร้อมกับสร้างความเสมอภาคทางสังคม ดังนี้
ระบุพื้นที่ที่จะถูก Gentrification
ต้องมีการระบุอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดบ้างที่จะถูกทำให้เป็น Gentrification พื้นที่ใดที่กำลังได้รับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนระบุพื้นที่ที่ในอนาคตมีแนวโน้มจะพัฒนากลายเป็น Gentrification อีกทั้งต้องระบุให้แน่ชัดถึงประชากรกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบต้องเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่จากการเปลี่ยนแปลง
ดำเนินการไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม
ก่อนการดำเนินการเพื่อการพัฒนาโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ หรือการลงทุนทางพื้นที่ใดๆ จะต้องมีการศึกษาพื้นที่โดยรอบและระบบเศรษฐกิจของพื้นที่ให้แน่ชัด เพื่อให้ผู้คนสามารถรับมือเมื่อกลายเป็น Gentrification ได้ เพื่อเตรียมแผนการในการเยียวยาและบรรเทาความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง
วางแผนประกันอนาคตของผู้มีรายได้ต่ำ
เตรียมแผนการวางแผนประกันแก่คนกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย ให้ยังคงได้รับประโยชน์และสามารถเข้าถึงย่าน Gentrification ที่ตนอยู่อาศัยได้ อีกทั้งการกลายเป็นเมืองผู้ดีนั้นจะต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาและดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาอัตลักษณ์เดิมของพื้นที่ ตามแนว Green Gentrification เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้อยู่อาศัยใหม่สามารถอยู่อาศัยได้โดยไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง
คุ้มครองสิทธิของผู้อยู่อาศัยเดิม
การกลายเป็น Gentrification จะต้องมีการคำนึงถึงและคุ้มครองสิทธิ์ให้แก่ผู้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว กลุ่มผู้อาศัยเดิมเหล่านี้จะยังคงอาศัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
สร้างที่อยู่อาศัยให้ประชาชน
เมื่อดำเนินการเพื่อการเป็น Gentrification แล้ว รัฐบาลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อรับผิดชอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมูลค่าที่ดินสูงขึ้น โดยอาจดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัย ที่พักในพื้นที่เดิม ให้ประชากรกลุ่มเดิมยังสามารถเช่าที่พัก หรือซื้อที่พัก เพื่อให้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ได้
อุดหนุนงบประมาณที่อยู่อาศัย
รัฐบาลอาจจะออกนโยบายหรือช่วยสนับสนุน เพื่อการอุดหนุนงบประมาณที่อยู่อาศัยแก่กลุ่มคนที่อยากจะมีบ้าน กลุ่มผู้เริ่มต้นเพิ่งมีรายได้ ช่วงวัย 18-28 ปี เพื่อให้ประชาชนสามารถมีบ้านและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้
ตั้งราคาและค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม
จะต้องมีการควบคุมและดูแลอัตราราคาเช่า – ขายที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนยังสามารถเป็นเจ้าของ หรือครอบครองที่พักอาศัยของตนได้
ควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย
มีการสนับสนุน ดูแล และควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ให้เป็นไปในอัตราที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน
สรุป
Gentrification เป็นปรากฏการณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมรูปแบบหนึ่ง ที่เปลี่ยนให้พื้นที่ที่เคยเสื่อมโทรม ไร้ซึ่งการพัฒนาที่มีเจ้าของเป็นคนท้องถิ่นเดิมผู้มีรายได้น้อย ถูกแทนที่ด้วยคนกลุ่มใหม่ที่เป็นประชากรผู้มีรายได้สูง กลุ่มนักลงทุน จนที่ดินกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอันรุ่งเรือง ซึ่ง Gentrification ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลเสียต่อคนจน ทำให้ผู้คนที่มีรายได้ต่ำถูกผลักออกจากที่อยู่อาศัยเดิมไปโดยปริยาย เนื่องจากมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นผลดีต่อกลุ่มผู้มีรายได้มาก และกลายเป็นพื้นที่ที่น่าลงทุนสำหรับกลุ่มนักลงทุน และทำให้ Gentrification เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างมากมายต่อสังคม
Cheewid ได้รวบรวมและสนับสนุนมูลนิธิและองค์กรมากมายที่มีส่วนช่วยในการรณรงค์เพื่อรักษาความเท่าเทียมของสังคม ช่วยให้คนที่สนใจอยากเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความเสมอภาคสามารถเข้าร่วมสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิต่างๆ ได้ Cheewid ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมสามารถเดินก้าวหน้าอย่างมั่นคงไปพร้อมกัน โดยจะต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
Reference:
- โตมร ศุขปรีชา. Gentrification: เรื่องของเมืองงามกับความเสื่อมทรามของประชาธิปไตย. the101.world. Published on 9 February 2024. Retrieved 28 February 2025.
- นฤภรกมล แมงกะพรุน. Gentrificatiom เมื่อทุนนิยมเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นย่านผู้ดี เบียดขับผู้คนออกจากพื้นที่. waymagazine. Published on 25 July 2023. Retrieved 28 February 2025.
- อัญชัญ อันชัยศรี. การพัฒนาเมืองไม่เคยยุติธรรมกับคนจน. theactive. Published on 18 August 2023. Retrieved 28 February 2025.
- อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ, ฟงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนกุล. มองเมืองต่างมุม : Gentrification แปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (ย่านผู้ดี). bangkokbiznews. Published on 2 June 2024. Retrieved 28 February 2025