Key Takeaway
|
เมื่อคนหนุ่มสาวไม่นิยมมีลูก ทำให้เกิดสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ขึ้น ไปทำความรู้จักว่าสังคมผู้สูงอายุว่าคืออะไร มีวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร หรือมีวิธีดูแลผู้สูงอายุอย่างไร เพื่อให้สังคมอยู่ต่อไปได้โดยไม่มีการหยุดพัฒนา
แบบไหนที่เรียกว่า ‘สังคมผู้สูงอายุ’
ตามคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ ‘ผู้สูงอายุ’ หมายถึงประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ผู้สูงอายุตอนต้น (60-69 ปี) ผู้สูงอายุตอนกลาง (70-79 ปี) และผู้สูงอายุตอนปลาย (80 ปีขึ้นไป)
สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ หากมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 20 จะเรียกว่า ‘สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์’ (Aged Society) และหากมากกว่าร้อยละ 28 จะเรียกว่า ‘สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด’ (Super-aged Society) ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ต้องเตรียมรับมือทั้งด้านระบบสาธารณสุข สวัสดิการสังคม และเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังเกิดขึ้น
เมื่อสังคมโลกกำลังเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าแนวโน้มประชากรโลก (World Population Prospects) จะมีจำนวนถึง 8 พันล้านคน โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีประมาณ 10% และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 16% ในปี 2050 ซึ่งจะมีจำนวนมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถึงสองเท่า นอกจากนี้จำนวนผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจาก 157 ล้านคนเป็น 459 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า
จากข้อมูลของเว็บไซต์ Nippon ที่อ้างอิงสถิติจากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นพบว่า 10 ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรอายุเกิน 65 ปีสูงสุด และเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดแล้วทั้งหมด ดังนี้
- อันดับ 1 ญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุ 36.27 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 124.71 ล้านคน คิดเป็น 29.1%
- อันดับ 2 อิตาลี มีผู้สูงอายุ 14.20 ล้านคนจากประชากร 59.04 ล้านคน คิดเป็น 24.1%
- อันดับ 3 ฟินแลนด์ มีผู้สูงอายุ 1.29 ล้านคนจากประชากร 5.54 ล้านคน คิดเป็น 23.3%
- อันดับ 4 เปอร์โตริโก มีผู้สูงอายุ 0.75 ล้านคนจากประชากร 3.25 ล้านคน คิดเป็น 22.9%
- อันดับ 5 โปรตุเกส มีผู้สูงอายุ 2.35 ล้านคนจากประชากร 10.27 ล้านคน คิดเป็น 22.9%
- อันดับ 6 กรีซ มีผู้สูงอายุ 2.37 ล้านคนจากประชากร 10.38 ล้านคน คิดเป็น 22.8%
- อันดับ 7 มาร์ตินีก มีผู้สูงอายุ 0.08 ล้านคนจากประชากร 0.37 ล้านคน คิดเป็น 22.8%
- อันดับ 8 เยอรมนี มีผู้สูงอายุ 18.69 ล้านคนจากประชากร 88.37 ล้านคน คิดเป็น 22.4%
- อันดับ 9 บัลแกเรีย มีผู้สูงอายุ 1.52 ล้านคนจากประชากร 6.78 ล้านคน คิดเป็น 22.4%
- อันดับ 10 โครเอเชีย มีผู้สูงอายุ 0.90 ล้านคนจากประชากร 4.03 ล้านคน คิดเป็น 22.4%
จะเห็นได้ว่า สังคมประชากรผู้สูงอายุของญี่ปุ่นในปัจจุบัน กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอันดับหนึ่ง นับว่าเป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก
สังคมไทย กับแนวโน้มของ ‘สังคมผู้สูงอายุ’
จากรายงานระบบสถิติทางการทะเบียนในปี 2022 พบว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยมีประชากรผู้สูงอายุ 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีประชากรภาพรวมดังนี้
- กลุ่มผู้สูงอายุตอนต้น (60-69 ปี) จำนวน 6,843,300 คน แบ่งเป็นชาย 3,123,517 คน หญิง 3,719,783 คน
- กลุ่มผู้สูงอายุตอนกลาง (70-79 ปี) จำนวน 3,522,778 คน แบ่งเป็นชาย 1,533,624 คน หญิง 1,989,136 คน
- กลุ่มผู้สูงอายุตอนปลาย (80 ปีขึ้นไป) จำนวน 1,750,121 คน แบ่งเป็นชาย 682,451 คน หญิง 1,067,670 คน
สังคมผู้สูงอายุ กับผลกระทบด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย มีทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม โดยปัญหาหลักคือคนไทยส่วนใหญ่มีเงินไม่เพียงพอสำหรับวัยเกษียณ คาดการณ์ว่าครอบครัวผู้สูงอายุจะมีการใช้จ่ายลดลงถึง 30% ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศลดลงและการลงทุนทำธุรกิจยากขึ้น จนทำให้บริษัทใหญ่หันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
ด้านสังคม
เมื่อวัยแรงงานต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น อาจนำไปสู่ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง เกิดภาวะซึมเศร้าและมีปัญหาสุขภาพ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงินและการดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรนี้
ด้านเศรษฐกิจ
เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นขณะที่วัยแรงงานลดลง ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงสูงขึ้น ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและแรงงานต่างด้าวมากขึ้น นอกจากนี้ การออมและการลงทุนลดลง เพราะผู้สูงอายุมีรายได้น้อยลงขณะที่วัยทำงานมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงต้องเพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการและสาธารณสุข ในขณะที่จัดเก็บภาษีได้น้อยลง
วิธีรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
วิธีรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ทำได้หลายๆ ทาง ดังนี้
- ทำแผนสวัสดิการสุขภาพระยะยาว (Long Term Health Plan) โดยตรวจสอบสวัสดิการที่มีและทำประกันสุขภาพเพิ่มเติมให้ครอบคลุมตลอดชีวิต
- เร่งสร้างมูลค่าเงินให้ชนะเงินเฟ้อผ่านการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เช่น RMF, LTF หรือประกันแบบบำนาญ ซึ่งยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
- ขยายอายุเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปี ตามแนวทางต่างประเทศ
- สนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุ ผ่านมาตรการจูงใจทางภาษีและจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานให้ผู้สูงอายุ
- พัฒนาทักษะแรงงานผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดหางานที่เหมาะสม เพื่อให้พึ่งพาตัวเองได้
- ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน ให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุและส่งเสริมการวางแผนทางการเงินผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สวัสดิการที่รองรับผู้สูงอายุในไทย
สิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุตาม พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มี 13 ข้อ ดังนี้
- เบี้ยยังชีพรายเดือนผู้สูงอายุ 60-69 ปี (600 บาท) อายุ 70-79 ปี (700 บาท) อายุ 80-89 ปี (800 บาท) และอายุ 90 ปีขึ้นไป (1,000 บาท)
- ส่วนลด 50% ค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ (ขสมก. เรือ รถไฟฟ้า)
- สิทธิลดหย่อนภาษีสำหรับบุตรที่เลี้ยงดูบิดามารดา 30,000 บาทต่อคน ต่อปี
- ปรับสภาพที่อยู่อาศัยวงเงิน 22,500 – 40,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้น้อย
- กู้ยืมเงินประกอบอาชีพปลอดดอกเบี้ยสำหรับรายบุคคล 30,000 บาท และรายกลุ่ม 100,000 บาท
- ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ และการฝึกอบรม
- จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานที่สาธารณะ
- บริการช่องทางพิเศษในสถานพยาบาลของรัฐ
- สิทธิการช่วยเหลือทางกฎหมาย
- ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ
- สิทธิด้านการศึกษา และกิจกรรมทางสังคม
- เงินช่วยเหลือกรณียากจน 3,000 บาทต่อครั้ง (ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี)
- เงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ 3,000 บาท
รวม 5 องค์กรช่วยสนับสนุนสวัสดิการผู้สูงอายุในไทย
สำหรับองค์กรช่วยสนับสนุนสวัสดิการผู้สูงอายุในไทย มีดังนี้
1. สมาคมบ้านปันรัก
สมาคมบ้านปันรัก ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 โดย ดร. วีรณัฐ โรจนประภา เป็นองค์กรที่มุ่งส่งเสริมให้สถาบันครอบครัวได้บูรณาการความรู้ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดระหว่างกัน รวมถึงดำเนินกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ที่ขยายผลสู่สังคมในวงกว้าง สมาคมให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ภายในชุมชนแบบมีส่วนร่วมและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และในชุมชน
สมาคมเริ่มต้นจากการสอนการใช้คอมพิวเตอร์ให้ผู้สูงอายุโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงวัย รวมถึงขยายการเรียนการสอนไปสู่กิจกรรมที่หลากหลาย เช่น โยคะ มวยจีน ลีลาศ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง และงานหัตถศิลป์ เป็นต้น
- ที่อยู่: ซอยอารีย์ 1 ถนนพหลโยธิน 7 เขตพญาไท กรุงเทพฯ
- เบอร์ติดต่อ: 02-619-6633
- เว็บไซต์: http://www.baanpunrak.org/
2. หุ่นยนต์ดินสอ
องค์กรหุ่นยนต์ดินสอ ก่อตั้งในปี 2009 โดย เฉลิมพล ปุณโณทก เป็นนวัตกรรม AI ที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และงานด้านการแพทย์ มีระบบอัจฉริยะหลากหลาย เช่น การโทรกลับอัตโนมัติเพื่อแจ้งแพทย์หรือญาติ การวัด และส่งข้อมูลสัญญาณชีพต่างๆ ช่วยให้แพทย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล
ปัจจุบันหุ่นยนต์ดินสอพัฒนาถึงรุ่นที่ 4 มีความสูง 1.3 เมตร เคลื่อนที่ได้และถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศไทย เพื่อช่วยบริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เช่น การบันทึกข้อมูล วัดความดัน อุณหภูมิร่างกาย และระดับออกซิเจน ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งให้แพทย์ทันที นับเป็นหุ่นยนต์ให้บริการรายแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว
- ที่อยู่: ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ
- เบอร์ติดต่อ: 02-013-1431
- เว็บไซต์: https://www.dinsaw.com/
3. ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศูนย์ส่งเสริมพฤฒพลังผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการให้บริการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ และเป็นแหล่งรวบรวม เผยแพร่องค์ความรู้ด้านพฤฒพลังผู้สูงอายุ โดยมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนกับมหาวิทยาลัย
ศูนย์แห่งนี้มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งกาย ใจ และสังคมของผู้สูงอายุในไทย ผ่านการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพฤฒพลังและการดูแลตัวเอง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้ทำงานทั้งในรูปแบบจิตอาสาและการจ้างงาน พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับผู้สูงอายุในสังคมด้วย
- ที่อยู่: ถนนเจริญประเทศ ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่
- เบอร์ติดต่อ: 053-904-914
- เว็บไซต์: https://www.swc.cmu.ac.th/
4. บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน Buddy homecare
บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน Buddy homecare ก่อตั้งในปี 2012 เป็นกิจการเพื่อสังคมที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุถึงบ้าน ทั้งด้านสุขภาพและการอยู่เป็นเพื่อน โดยมีจุดเด่นคือการฝึกอบรมเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ รายได้จากการให้บริการแก่ผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่ายจะถูกนำไปปันส่วนเพื่อดูแลผู้สูงอายุยากไร้ในจังหวัดเชียงใหม่
องค์กรใช้ Theory of Change ในการทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ เยาวชนชาติพันธุ์ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา และการทำงานเพื่อความมั่นคงทางการเงิน ผู้สูงอายุยากไร้ที่ได้รับการดูแลเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสิ่งแวดล้อม และกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ต้องการให้ผู้สูงอายุได้อยู่กับครอบครัวอย่างมีความสุขในสภาพแวดล้อมเดิมโดยช่วยลดภาระของครอบครัวในการดูแล
- ที่อยู่: ซอย 17 ถนนนิมมานเหมินท์ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ เชียงใหม่
- เบอร์ติดต่อ: 053-215-671
- เว็บไซต์: https://www.facebook.com/BuddyHomeCare/
5. YoungHappy
YoungHappy เป็นองค์กรเพื่อสังคมที่มุ่งสร้างเครือข่ายสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงมุมมองของสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุ และสร้างพื้นที่ทางสังคมที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ ‘สนุก มีคุณค่า พึ่งพาตัวเองได้’
องค์กรนี้มีการดำเนินงานทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันหลัก โดยมีบริการครอบคลุมทั้งกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสังคมผู้สูงวัย หลักสูตรการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แบ่งปันความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ ผ่านกิจกรรมจิตอาสาและโครงการเพื่อสังคมต่างๆ ภายใต้แนวคิด ‘เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง’
- ที่อยู่: จามจุรีสแควร์ชั้น 24 ถนนพระราม 4 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
- เบอร์ติดต่อ: 065-518-3239
- เว็บไซต์: https://younghappy.com/
สรุป
สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society สร้างผลกระทบทางด้านสังคม โดยกลุ่มแรงงานต้องรับภาระการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อปัญหาการถูกทอดทิ้งและภาวะซึมเศร้า ส่วนในด้านเศรษฐกิจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน การออม และการลงทุนลดลง ซึ่งแนวทางรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุคือการวางแผนสุขภาพในระยะยาว การลงทุนเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ การขยายอายุเกษียณ การส่งเสริมการจ้างงาน และพัฒนาทักษะของผู้สูงอายุ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุด้วย
Cheewid ขอเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนสวัสดิการของผู้สูงอายุเพื่อแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่อาจสร้างผลกระทบต่อประเทศให้เหล่าผู้สูงอายุได้มีบั้นปลายชีวิตที่มีความสุขมากที่สุด
Reference:
- Urbancreature. เมื่อคนเกิดน้อยกว่าคนแก่ ปี 2030 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด. urbancreature.co. Published 27 January 2023. Retrieved 11 November 2024.
- Bangkokbiznews. เช็คลิสต์ ประเทศไหนเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” บ้างแล้ว. bangkokbiznews.com. Published 2 January 2022. Retrieved 11 November 2024.
- กรมกิจการผู้สูงอายุ. อลังการกราฟฟิตี้ พลิกโฉมโคราชเมืองศิลปะ. dop.go.th. Published 21 June 2021. Retrieved 11 November 2024.
- Bangkokbiznews. “13 สิทธิสวัสดิการผู้สูงอายุ” ที่คนไม่รู้ มีเพียง 59 % รับรู้เข้าถึง. bangkokbiznews.com. Published 13 April 2024. Retrieved 11 November 2024.