เข้าสู่ระบบ

Table of Contents
Recent Post
9 มูลนิธิช่วยเหลือแมวจรจัด สถานที่รับเลี้ยงแมว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
9 มูลนิธิช่วยเหลือแมวจรจัด สถานที่รับเลี้ยงแมว เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เพราะปัญหาแมวจรจัดมีอยู่ทั่วไทย จึงเกิดมูลนิธิช่วยเหลือแมวจรจัด บทความนี้ CHEEWID จะมาทุกมาทำความรู้จักกับสถานที่รับแมวจรมาเลี้ยง เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของแมวจร หรือเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์เองด้วย

9 มูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทย ช่วยเหลือช้าง ฝ่าวิกฤตปัญหาทารุณกรรรมสัตว์
9 มูลนิธิอนุรักษ์ช้างไทย ช่วยเหลือช้าง ฝ่าวิกฤตปัญหาทารุณกรรรมสัตว์

CHEEWID พาทุกคนมารู้จักกับ ศูนย์ช่วยเหลือช้างขึ้นมา เพื่ออนุรักษ์ช้างไทยให้อยู่คู่กับคนไทยให้นาน เพื่อช่วยเหลือช้าง และป้องกันปัญหาทารุณกรรมช้างมาให้เห็นทุกวัน

แจกพิกัด 10 แหล่งบริจาคหนังสือ เพื่อส่งเสริมการอ่าน อัปเดตปี 2567
แจกพิกัด 10 แหล่งบริจาคหนังสือ เพื่อส่งเสริมการอ่าน อัปเดตปี 2567

เพราะการอ่านให้อะไรมากมายกับชีวิต บทความนี้ CHEEWID ได้รวม 10 แหล่งบริจาคหนังสือ เพื่อให้ห้องสมุด หรือโรงเรียนบนดอย ได้ส่งเสริมทักษะการอ่าน หาประสบการณ์มากมายจากหนังสือ

มัดรวม 9 องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน
มัดรวม 9 องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน

CHEEWID ชวนทุกคนมาสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ด้วยการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม กับ 9 องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อการขับเคลื่อนโลกใบนี้ให้เป็นมิตรกับทุกชีวิต จะมีองค์ไหนบ้าง ติดตามได้ในบทความนี้!

มูลนิธิอิสรชน โอกาส ความหวัง และเพื่อนของคนไร้บ้าน

CHEEWID ชวนทุกคนมาสำรวจผู้คนนอนหลับไหลอยู่ตามท้องถนน ตามพื้นที่สาธารณะในเมืองหลวงของไทย สะท้อนปัญหาที่มีรากเหง้ามาจากความยากจน และความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย
มูลนิธิอิสรชน โอกาส ความหวัง และเพื่อนของคนไร้บ้าน
Table of Contents

เราสามารถพบเห็นผู้คนนอนหลับไหลอยู่ตามท้องถนน นอนหนุนฟุตบาท หรือพื้นที่สาธารณะเกือบทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย ภาพเหล่านี้คือวิถีชีวิตของคนไร้บ้าน การไร้ที่อยู่อาศัยถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทั้งยังเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของปัญหาที่มีรากเหง้ามาจากความยากจน และความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

กรุงเทพมหานคร Civilize ที่ “ไร้”บ้าน

“กรุงเทพมหานครเมือง Civilize” ประโยคชวนคิดที่แสดงให้เห็นถึงภาพความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาที่เป็นศูนย์รวมของสถานศึกษาชื่อดัง ติด Top 5 ของประเทศ มีทางเลือกของการคมนาคมที่สะดวกสบาย เช่น รถไฟฟ้า BTS หรือ MRT แหล่งรวมการจัดแสดงพื้นที่ศิลปะแขนงต่าง ๆ การเข้าถึงเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ทุกพื้นที่และรวดเร็วกว่า รวมถึงความก้าวหน้าทางด้านอาชีพที่สูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ  นี่คือภาพจำของคนหลายคนเมื่อได้ยินคำว่ากรุงเทพมหานคร แต่ ในมุมกลับกันกรุงเทพมหานครกลับพบสถิติคนไร้บ้านมากที่สุด สูงสุดถึง 1,271 คน คิดเป็นสัดส่วน 50.86% เมื่อเทียบกับ จังหวัดอื่นๆ

กรุงเทพมหานครมีโอกาสในด้านอาชีพและความก้าวหน้ามากกว่าในพื้นที่อื่นๆ  ทำให้มีผู้คนจากเกือบทุกจังหวัดโยกย้ายการทำงานหาเลี้ยงชีพและมาอาศัยอยู่ที่นี่ แต่ทว่าการหางานที่มีรายได้มั่นคงเพื่อให้เพียงพอกับค่าครองชีพในเมืองหลวงแห่งนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับคนส่วนมาก เพราะทุกอาชีพและโอกาสมักจะมีการแข่งขันที่สูง อาจทำให้บางกลุ่มคนไม่สามารถเข้าถึงงานที่มั่นคงและยืนยาวได้ ส่งผลถึงการเข้าถึงที่พักอาศัย เนื่องจาก ค่าเช่าที่ในกรุงเทพฯ  มีเรทราคาที่ค่อนข้างสูงทำให้บางกลุ่มไม่สามารถจ่ายค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับที่พักอาศัยได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ปัญหาคนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ปัญหาคนไร้บ้าน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกสังคมทั่วโลก ซึ่งมีปัจจัยที่คล้ายคลึงกัน 2 ปัจจัย คือ ปัญหาเชิงปัจเจกระดับบุคคล  (lndividual Problem) ได้แก่ ภาวะอาการเจ็บป่วย ติดสารเสพติด ความพิการ หรือมีอาการทางจิต ปัญหาเชิงระบบ (Systematic Problem) ได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ และการถูกผลักออกจากระดับชุมชน

จำนวนคนไร้บ้านในกรุงเทพ

คุณอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เคยอธิบายไว้ว่า “ปัญหาของคนไร้บ้าน คือปลายทางของปัญหาโครงสร้าง เริ่มตั้งแต่การเข้าไม่ถึงระบบสวัสดิการ การถูกกีดกันโดยทัศนคติจากคนในสังคม ไปจนถึงนโยบายการพัฒนาประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่ไม่สามารถดูแลคนได้อย่างทั่วถึง”

โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้จำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20% – 30% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประมาณ 1,800 คน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไร้บ้าน อีกทั้งยังมีสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเข้าสู่สังคมสูงวัย กลุ่มคนเปราะบางที่ขาดโอกาสในชีวิต ทำให้ต้องตกอยู่ในสภาพของคนไร้บ้าน

หากไม่รีบให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการเพื่อเร่งฟื้นฟูคนกลุ่มนี้ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นคือ คนไร้บ้านหน้าใหม่อาจกลายเป็นคนไร้บ้านถาวร และยากที่จะกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนเดิม

คนไร้บ้านเป็นงานของใคร?

คนไร้บ้านเป็นงานของใคร?

หน่วยงานภาครัฐ

  • กรุงเทพมหานคร จากการประชุมหารือแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพมหานครได้ข้อสรุปว่าจะมีการเปิด “บ้านอิ่มใจ” ณ การประปาแม้นศรี เพื่อรองรับคนไร้บ้าน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีงบประมาณ 2567 โดยมีแนวทางดำเนินการด้านคนไร้บ้านทั้งหมด 6 มิติ ได้แก่
    1. ด้านฐานข้อมูล: ปัจจุบันแต่ละหน่วยงาน มูลนิธิต่าง ๆ มีการเก็บข้อมูลคนไร้ที่พึ่งไว้ จึงได้เสนอให้มีการทำฐานข้อมูลร่วมกัน โดยจะต้องมีการหารือกันเพื่อจัดรูปแบบ (format) หัวข้อการเก็บข้อมูลต่าง ๆ วิธีการติดตาม (tracking) วิธีการอัปเดตข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้และเกิดประโยชน์
    2. ด้านที่พักอาศัยที่ปลอดภัย: การเป็น Emergency Shelter หรือ ที่พักพิงฉุกเฉิน และการจัดหาที่พักเพิ่มเติม เช่น บ้านเช่า ห้องเช่าราคาถูก
    3. ด้านการรักษาสิทธิและการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน: การมีพื้นที่สวัสดิการและพื้นที่แห่งโอกาส ให้คนไร้บ้านสามารถเข้าห้องน้ำ อาบน้ำ ซักผ้า พักผ่อนหย่อนใจ
    4. ด้านอาชีพ ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง: ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง เป็นงานรับจ้างทั่วไป ได้เงินเป็นรายวัน ได้เงินทันทีหลังจบงาน
    5. ด้านสุขภาพ: กรณี long term care/nursing home ดูแลคนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยทางกายและจิต ควรจัดหาพื้นที่สำหรับดูแลเป็นการเฉพาะ
    6. การบูรณาการช่วยเหลือของหน่วยงานสนับสนุนและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความรู้เรื่องสิทธิประโยชน์ และช่วยประสานในเรื่องของการย้ายสิทธิการรักษา เพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก
    • สามารถติดต่อได้ทางสายด่วน สปสช. 1330
    • Line ID: @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6
    • Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
  • กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แนะนำสวัสดิการและสมัครงาน ติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคมได้ที่สายด่วน 1300
  • สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนานวัตกรรมการจัดบริการที่อยู่อาศัยและความช่วยเหลือฉุกเฉิน บนฐานการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน
  • สำนักพัฒนาสังคม จัดกิจกรรมออกหน่วยบริการ โดยนำวิทยากรให้บริการฝึกอาชีพแก่คนไร้บ้าน
  • กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้มุ่งเน้นให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน และพัฒนาสู่การพึ่งพาตนเอง
    • โทรศัพท์ : 0 2659 6399
    • โทรสาร : 0 2659 6025
    • E-mail Address : dsdw@dsdw.go.th

ภาคประชาสังคม

Non Governmental Organizations (NGOs) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรสาธารณะประโยชน์ หรือ องค์กรพัฒนาเอกชน (อพช.) อยู่ในหมวดขององค์กรเอกชน ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากแหล่งเงินทุนทั้งจากภายนอกและภายในประเทศที่มีระเบียบวาระ การกำหนดทิศทางและนโยบายขององค์กรเพื่อมุ่งบริการสาธารณะประโยชน์โดยไม่แสวงหาผลกำไร

  • มูลนิธิอิสรชน: เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เล็งเห็นปัญหาของกลุ่มคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่งในพื้นที่สาธารณะ ที่ยังไม่ถูกเเก้ปัญหาอย่างจริงจัง และเติบโตเป็นมูลนิธิอิสรชนเมื่อ ปี พ.ศ. 2554 จากการระดมทุนของผู้มีน้ำใจ มูลนิธิอิสรชนทำงานลงพื้นที่ติดตามช่วยเหลือฟื้นฟูคนไร้ที่พึ่งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด (ร่วมกับเครือข่ายตามต่างจังหวัด) มานานกว่า 15 ปี เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์พัฒนาสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ให้มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น
  • มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย: เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ทำงานกับกลุ่มคนจนในเมือง ทั้งคนในชุมชนแออัด และคนไร้บ้านที่อยู่อาศัยตามที่สาธารณะ โดยร่วมกับชุมชนแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต พื้นที่ทำงานของมูลนิธิเริ่มจากพื้นที่ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร และขยายไปตามภูมิภาค มีแนวคิดสำคัญเน้นที่การสนับสนุนให้เกิดองค์กรชาวบ้านที่เข้มแข็ง เพื่อให้มีศักยภาพในการแก้ปัญหาของตัวเองได้ สนับสนุนการเชื่อมประสานระหว่างองค์กรชาวบ้านระหว่างภูมิภาค ให้เป็นเครือข่ายใหญ่ เพื่อร่วมกันนำเสนอการแก้ปัญหาในระดับนโยบาย และมูลนิธิยังประสานงานกับองค์กรทางสังคมอื่น ๆ เพื่อให้องค์กรชุมชนเข้าร่วมเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคม
  • มูลนิธิกระจกเงา: ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยช่วงแรกตั้งชื่อกลุ่มว่า กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา เพื่อทำงานค่าย สื่อ หวังที่จะสะท้อนปัญหาสังคม ก่อนเปลี่ยนเป็นชื่อ “มูลนิธิกระจกเงา” ในปี พ.ศ. 2534 จึงทำให้มูลนิธิแห่งนี้เป็นแหล่งรวมคนที่มีความฝันอยากช่วยเหลือสังคมที่สวยงาม น่าอยู่ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย มูลนิธิกระจกเงาลงพื้นที่ทำงานกับทุกภาคสังคม ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองและสังคมชนบท อีกทั้งยังเป็นกระจกที่พยายามสะท้อนแสงให้สังคมเห็นว่ายังมีคนที่สังคมมองไม่เห็นและต้องการความช่วยเหลือ โดยมีโครงการที่ทุกคนคุ้นหูเป็นอย่างมากในช่วงโควิดคือ โครงการจ้างวานข้า โครงการช่วยเหลือคนไร้บ้านให้มีรายได้ และมีอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตัวเอง

 

ปัญหาคนไร้บ้านในระบบคุ้มครองของรัฐ

ปัญหาคนไร้บ้านในระบบคุ้มครองของรัฐ

คนไร้ที่พึ่งที่นิยามโดยทั่วไปหมายถึง คนที่ไม่สามารถดูแลจัดการชีวิตของตัวเองได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม จึงก่อให้เกิดสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขึ้นมากมาย โดยในประเทศไทยมีอยู่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ มีภารกิจหลักคือ การดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง ด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ และการส่งเสริมคุณภาพชีวิต คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น เกินกว่า 70% เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เรียกได้ว่าเรื้อรัง บางสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 90% ขึ้นไป โดยคนเหล่านั้นอาจมีความพิการทางร่างกายอื่น ๆ และส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ

โดยส่วนใหญ่ที่พักอาศัยในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ไม่ได้มีการจัดเตรียมและอำนวยความสะดวกรูปแบบของการนอนที่เหมาะสม เช่น เบาะรองนอน ซึ่งไม่ใช่ 1 เบาะต่อ 1 คน และต้องนำเบาะมาชิดกันเพื่อให้เบาะนอนพอกับจำนวนคน อีกทั้งผู้รับความคุ้มครองหลายคนเป็นผู้พิการและผู้สูงอายุ การนอนในรูปแบบนั้นอาจไม่เหมาะสมต่อสภาพร่างกาย สาเหตุที่ต้องจัดรูปแบบการนอนเช่นนั้นมาจากจำนวนคนที่รับการคุ้มครองเกินขีดจำกัด เกินขีดความสามารถการดูแลของเจ้าหน้าที่ภายใน บางแห่งมีจำนวนมากถึง 500 ราย ซึ่งหลายสถานคุ้มครองฯ มีความสามารถรับคนเข้ารับการคุ้มครองจริง ๆ อยู่ที่ประมาณ 300 กว่ารายเท่านั้น ซึ่งข้อจำกัดการรับเข้านั้นมาจากงบประมาณ จำนวนบุคลากร และทรัพยากรที่จำกัด ในหลายสถานคุ้มครองฯ นั้นพบปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง เช่น ไม่มีนักจิตวิทยา พยาบาลวิชาชีพ และนักกายภาพบำบัด ในขณะที่มีผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งอยู่เกินกว่า 70-80% และมีจำนวนเคสที่มีแนวโน้มปัญหาโรคทางกายและผู้พิการทางร่างกายอยู่ไม่น้อย

ในกฎหมายของผู้สูงอายุและผู้พิการระบุไว้ว่า สวัสดิการอย่างหนึ่งที่รัฐพึงจัดสรรให้ คือสิทธิในการได้เข้ารับดูแลในสถานสงเคราะห์ตามความเฉพาะ แต่ในความเป็นจริงนั้นกลับมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้ผู้เข้ารับบริการไม่สามารถใช้สิทธิ์เพื่อรับบริการในสถานสงเคราะห์ตามความเฉพาะของตนได้ เช่น สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งอาจมีผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถส่งต่อผู้สูงอายุเหล่านี้ไปยังสถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงได้ เช่นเดียวกับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่มีกลุ่มผู้พิการและไม่สามารถส่งไปยังสถานสงเคราะห์ผู้พิการได้ในทันที เนื่องจากจำนวนคนที่รอเข้ารับการดูแลตามกฎหมายเฉพาะนั้นมีจำนวนมากเกินไป และผู้รอเข้ารับบริการที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับบริการตามสิทธิในฐานะพลเมืองควรได้รับ จึงนับได้ว่าเป็นความล่าช้าของการได้มาซึ่งสิทธิ ที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานกับกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง

และอีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่สำคัญคือ คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้นไม่ได้ประสบปัญหาทางสังคมเพียงอย่างเดียว พวกเขาอาจเป็นผู้ป่วยทั้งทางกายและทางจิตใจ เป็นผู้พิการ หรือ เป็นผู้สูงอายุ หลายคนมีความซ้ำซ้อนรวมกันของทุกอย่างที่กล่าวมา อีกทั้ง สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีรูปแบบของผู้เข้ารับการคุ้มครองที่หลากหลาย แต่งบประมาณและทรัพยากรที่ได้รับในการนำมาบริหารจัดการระบบภายในอาจไม่สอดคล้องกับจำนวนของผู้เข้ารับการคุ้มครอง ซึ่งงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้เพื่อดูแลคนไร้ที่พึ่งตาม พรบ. คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ในสถานสงเคราะห์ ของทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปีงบประมาณ 2566 จัดอยู่ในแผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันทางสังคม โครงการสวัสดิการลดความเหลื่อมล้ำ ได้รับงบประมาณ 480 ล้านบาท มีจำนวนผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ 98,930 คน แบ่งสัดส่วนงบประมาณได้ 4 ประเภท ดังนี้

  1. ให้การช่วยเหลือในรูปแบบเงินอุดหนุนต่างๆ เช่น เงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง เงินสงเคราะห์ เงินทุนประกอบอาชีพฯ (เอดส์) เงินสงเคราะห์ผู้ตกทุกข์ได้ยากกลับภูมิลำเนาเดิม เงินเยียวยาตามหลักมนุษยธรรม
  2. การปรับรูปแบบการสงเคราะห์เฉพาะหน้าเป็นการแก้ไขปัญหามุ่งเป้า ให้หลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน
  3. ให้การคุ้มครองสวัสดิภาพและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตกลุ่มเป้าหมายในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาทักษะชีวิต
  4. ขับเคลื่อนงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2557 และ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน 2559

จากการแบ่งสัดส่วนงบประมาณข้างต้น หากนำมาคิดเฉลี่ยกับจำนวนผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลแล้วอาจไม่เพียงพอต่อการดูแลคนไร้ที่พึ่งได้อย่างทั่วถึง จากการเปรียบเทียบเส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) ของคนไทย อยู่ที่ 2,803 บาท/คน/เดือน (อ้างอิงจากแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ) ขณะที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งปทุมธานี มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารให้ผู้ใช้บริการ 30,000 บาท/ปี โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย 17 คน คิดเป็น 1,764 บาท/คน/ปี ซึ่งหมายความว่าคนไร้ที่พึ่งในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีงบประมาณที่ใช้จ่ายในด้านอาหาร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความยากจนของคนไทยมากถึง 20 เท่า

มูลนิธิอิสรชนเพื่อน ผู้ผลักดันเพื่อน

มูลนิธิอิสรชน คน=คน

‘คน = คน’ ทัศนคติของ มูลนิธิอิสรชน องค์กรที่ไม่เเสวงผลกำไรเเต่แสวงผลลัพธ์เชิงบวกทางสังคมเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกัน พวกเขาแนะนำตนเองว่า  “เพื่อนของคนไร้ที่พึ่ง พัฒนาระบบสวัสดิการไทย เพื่อให้ทุกคนเท่าเทียมกัน” ปัจจุบันแนวโน้มของคนไร้ที่พึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัย 4 อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่ศัย เป็นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดและสิ่งเหล่านี้ก็ขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนไร้ที่พึ่งเช่นกัน มูลนิธิอิสรชนมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในการทำงานเชิงรุกและเชิงรับ การพัฒนา ฟื้นฟู เยียวยา ให้แก่คนไร้ที่พึ่ง

ตัวอย่างคนไร้ที่พึ่ง 5 ประเภท โดยมูลนิธิอิสรชน

ตัวอย่างคนไร้ที่พึ่ง 5 ประเภท โดยมูลนิธิอิสรชน

  1. ผู้พ้นโทษ เมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษไปแล้ว แต่สังคมไม่ยอมรับ ไม่มีงานไม่มีรายได้ จำต้องออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ
  2. คนเร่ร่อน คนที่ตกงาน ผู้มีปัญหาครอบครัว หรือรักการใช้ชีวิตอิสระ อาจจะมีรายได้จากการทำงานเล็กๆ น้อยๆ โดยมักอาศัยใกล้กับแหล่งงาน
  3. ผู้ใช้ที่สาธารณะชั่วคราว เช่น คนที่มาทำธุรกิจต่างถิ่น แต่ไม่มีเงินเช่าที่พักจึงต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะเป็นที่หลับนอนชั่วคราว
  4. ต่างชาติตกยาก อาจเป็นนักท่องเที่ยวที่ถูกโกงเงิน หรือถูกขโมยเงินจนหมดตัว ไม่สามารถกลับประเทศของตัวเองได้
  5. คนไร้บ้าน คนที่ถูกไล่ที่ หรือไม่มีที่ทำกิน

 

ยึดมั่นศักดิ์ศรี คนไร้บ้านทุกคน ไม่ใช่ "ผีชนตังค์"

ยึดมั่นศักดิ์ศรี คนไร้บ้านทุกคน ไม่ใช่ “ผีชนตังค์”

หลายคนคงสงสัยว่า “คนไร้บ้านดำรงชีวิตให้รอดในแต่ละวันได้อย่างไร” ในเขตกรุงเทพมหานคร มักพบคนไร้บ้านอาศัยหลับนอนตามป้ายรถเมล์หรือสถานที่ที่มีแสงสว่าง เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนเคยให้ข้อมูลว่า “ไม่ใช่คนไร้บ้านทุกคนจะสร้างความเดือดร้อน สร้างความหวาดกลัวให้กับคนในสังคม คนไร้บ้านบางกลุ่มดำรงชีวิตได้เก่ง บางคนหาเงินใช้เองจากการเก็บขวดหรือของเก่าขาย เป็นแรงงานรับจ้างรายวันทั่วไป หรือค้าขาย ไม่ใช่คนไร้บ้านทุกคนจะเป็นขอทานและแบมือขอเงินคนอื่น ซึ่งต่างจากผีชนตังค์ที่วัน ๆ ไม่ทำอะไร นอกจากเดินขอเงินจากคนทั่วไป”

ซึ่งหลายคนมักตีภาพเหมารวมว่าคนไร้บ้านทุกคน คือ “กลุ่มผีชนตังค์” แท้จริงแล้วไม่ใช่คนไร้บ้านทุกคนจะเป็นผีชนตังค์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางส่วนก็เป็นคนไร้บ้าน ซึ่งวิธีการหาเงินเพื่อดำรงชีวิตของคนไร้บ้านก็แตกต่างกันออกไปตามตัวบุคคล สำหรับการกินอาหารในบางมื้อของคนไร้บ้านอาจเลือกกินเศษอาหารที่เหลือตามท้องถนนหรือตามถังขยะ บางคนยอมอดมื้อให้ได้กินมื้อ เพราะอยากประหยัดเงินให้มากที่สุด หรือไปต่อแถวรับของกินที่แจกตามงานบุญ ตามจุดที่คนช่วยเหลือนำอาหารมาแจกให้ฟรี เช่น มูลนิธิอิสรชน ที่ลงพื้นที่ทุกวันอังคารในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน เวลา 17.00 – 18.00 น. คนไร้บ้านมักปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้า ทำให้การช่วยเหลือต้องมีลักษณะเป็นมิตร เพราะบางคนอาจมีอาการคล้ายผู้ป่วยทางจิตเวชไม่มากก็น้อยที่เกิดจากความเครียดต่อสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย

มูลนิธิอิสรชน “เพื่อน” ผู้ผลักดัน “เพื่อน”

ตลอด 27 ปีที่ผ่านมาของมูลนิธิอิสรชนได้ช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์คนไร้บ้านให้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามความเหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 600 คน/ปี โดยจัดทำโครงการที่มาจากการสะสมประสบการณ์ของมูลนิธิอิสรชน จนถึงปัจจุบันมูลนิธิอิสรชนยังคงผลักดันให้เกิดโครงการเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือเพื่อให้โอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้ โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

เชิญชวนทุกคนมารู้จักโครงการในปัจจุบันของมูลนิธิอิสรชน ดังนี้

  • “1 อิ่ม 1 สะอาด FOOD FOR FRIENDS” แบ่งปันอาหาร ทุกวันอังคารในสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของทุกเดือน เวลา 17.00 – 18.00 น. เนื่องจากมีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะบางคน ค้นหาอาหารในถังขยะเพื่อนำมากิน แล้วมีสารปนเปื้อน จนทำให้เสียชีวิต มูลนิธิอิสรชน จึงอยากสร้างพื้นที่แบ่งปัน อย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน ให้คนที่อยากแบ่งปัน มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบอาหารให้แก่คนไร้ที่พึ่ง
  • “ถุงปันสุข” ในสถานการณ์ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องออกจากงาน และกลายมาเป็นผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวนมาก รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ลดถอยลง บางคนไม่มีเงินที่จะซื้ออาหารประทังชีวิต มูลธิอิสรชนจึงจัดทำถุงปันสุขเพื่อแบ่งปันตามจุดต่างๆ พร้อมทั้งเก็บข้อมูล พูดคุย เยียวยาเบื้องต้น ช่วยประคับประคองเพื่อให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีแรงสู้ต่อไป
  • “ปลูกปันอิ่ม Farm for Friends” เป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนไร้ที่พึ่ง โดยใช้พื้นที่เหลือว่างของสวนมะพร้าวที่ได้รับความอนุเคราะห์มาจากเจ้าของสวนให้ใช้ประโยชน์เพื่อ “เปิดสวนว่าง สร้างแหล่งอาหาร เสริมความมั่นคงในชีวิต ให้คนไร้ที่พึ่ง” ด้วยการชวนคนไร้ที่พึ่งมาปลูกพืชผักสวนครัว และการเกษตร
  • “หมอกระเป๋า First Aid Mobile” โครงการที่พัฒนาและสร้างอาสาสมัครด้านหมอในการลงมาดูแลคนไร้ที่พึ่ง เมื่อคนไร้ที่พึ่งเกินครึ่งเจ็บป่วย แต่ไม่กล้าเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เนื่องจากอุปสรรคด้านสิทธิ เรื่องค่าใช้จ่าย ทัศนคติในการให้บริการ ทำให้บุคคลากรทางการแพทย์กลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ให้บริการ และเรียนรู้ไปพร้อมกับภาคประชาสังคม

โดยโครงการล่าสุด คือ โครงการ 1 บัตร 1 สะอาด เพื่อสุขภาวะที่ดี สนับสนุนคูปองอาบน้ำเพื่อคนไร้บ้าน เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคนั้นยากสำหรับคนไร้บ้าน หากเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดจะส่งผลต่อสุขภาวะทางร่างกายและความเสี่ยงต่อการเกิดโรค

“ห้องอาบน้ำ” สวัสดิการทั่วไป ที่ใช่ว่าใครจะเข้าถึง!! 

หลายคนในสังคมอาจมองว่า คนไร้บ้านค่อนข้างสกปรก สร้างความเดือดร้อน ทำให้พื้นที่สาธารณะไม่สะอาด ไม่สวยงามและมีกลิ่นเหม็น แต่เราเคยตั้งคำถามกันบ้างหรือเปล่าว่า คนไร้บ้านกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานได้หรือไม่ จะเข้าห้องน้ำหรืออาบน้ำที่ไหน
“ห้องอาบน้ำ” สวัสดิการทั่วไป ที่ใช่ว่าใครจะเข้าถึง เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก คืออาการเจ็บป่วยและแผลเรื้อรัง ใครบ้างไม่อยากมีสุขภาพร่างกายที่ดี ร่างกายที่สะอาด แต่ทุกการเข้าถึงนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย มูลนิธิอิสรชนจึงเป็นทั้งเพื่อนและอาสาที่แบ่งปันความสุข ความสะอาด สร้างสุขอนามัยที่ดี ให้แก่คนไร้บ้าน ให้เพื่อนของพวกเขาได้อยู่อย่างสะอาด สร้างการเข้าถึงสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยโครงการ 1บัตร 1สะอาด เพื่อสุขภาวะที่ดี

โครงการ 1บัตร 1สะอาด เพื่อสุขภาวะที่ดี

จากการทำงานของมูลอิสรชนนั้น ได้เล็งเห็นปัญหาด้านสุขภาวะของกลุ่มคนไร้บ้าน จึงได้ทำการสำรวจปัญหาและพบว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพ ร่างกายและการดำเนินชีวิตคือเรื่องของ “น้ำ” ไม่ใช่เฉพาะ น้ำสะอาดในการบริโภค แต่การเข้าถึงน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคนั้นกลับยากกว่า หากเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดในการชำระล้างร่างกายจะส่งผลต่อความสะอาด หากเข้าไม่ถึงน้ำสะอาดจะส่งผลต่อสุขภาวะทางร่างกายและความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ดังนั้นมูลนิธิอิสรชนจึงต้องการช่วยเหลือและสะท้อนปัญหาเรื่อง “น้ำสะอาด” ที่ซ่อนอยู่ในสังคมเมืองผ่านทาง “โครงการ 1 บัตร 1 สะอาด เพื่อสุขภาวะที่ดี”

ร่วมสนับสนุนคูปองอาบน้ำเพื่อคนไร้ที่พึ่งและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาด รวมถึงสนับสนุนการดำเนินโครงการตามแนวทางด้านความยั่งยืนในการเข้าถึงน้ำสะอาดและมีสุขภาวะที่ดี (SDG3, SDG6)

จึงอยากชวนทุกคนมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการทางสังคมด้านความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงน้ำสะอาดอย่างทั่วถึงในคนทุกกลุ่ม เพราะทางมูลนิธิฯ เชื่อว่า “การเข้าถึงน้ำที่ดี คือสวัสดิการพื้นฐานของคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกัน” ผ่านการเป็นเจ้าภาพคูปองห้องน้ำ คูปองละ  20 บาท

สามารถสนับสนุนโครงการได้ทางบัญชีเลขที่ 182-2-16241-6 ธนาคารทหารไทย สาขาทองหล่อ หรือผ่านเว็บไซต์ CHEEWID โครงการ 1 บัตร 1 สะอาด เพื่อสุขภาวะที่ดี

สรุป

หน่วยงานภาครัฐที่ช่วยเหลือและเกี่ยวข้องกับการทำงานนโยบายด้านสวัสดิการของคนไร้บ้าน มีหลายหน่วยงาน แต่ดูเหมือนว่าการเเก้ไขต้นตอของปัญหานั้นยังคงเป็นเรื่องที่ยาก ในขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันมีจำนวนคนไร้บ้านเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของภาครัฐ เนื่องจากบางคนถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก บางคนไม่กล้าที่จะเข้าไปหาหน่วยงานภาครัฐ เพราะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี จึงไม่อยากที่จะขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อคนไร้บ้านในเเง่ลบ ถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นปัญหาสังคม อยู่ใกล้แล้วรู้สึกไม่ปลอดภัย สกปรก และมองด้วยสายตาที่ดูถูกเหยียดหยาม

จากตัวอย่างประเภทของคนไร้ที่พึ่ง 5 ประเภทข้างต้น ที่ถูกบริบทของสภาพแวดล้อมผลักไสให้กลายมาเป็นคนไร้บ้านแล้วนั้น การเข้าถึงสวัสดิการสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนไร้บ้านนั้นเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก ทำให้คุณภาพชีวิตคนไร้บ้านแย่ลงเรื่อย ๆ จึงเกิดการรวมตัวกันของกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เล็งเห็นปัญหาของกลุ่มคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง ในพื้นที่สาธารณะ จัดตั้งเป็นมูลนิธิอิสรชนจนถึงปัจจุบัน มูลนิธิอิสรชนพยายามผลักดันให้เกิดโครงการเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้าน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือเพื่อให้โอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปได้

ประโยคที่มูลนิธิอิสรชนกล่าวไว้ว่า ‘เราทำงานจากเงินบริจาคของประชาชน’ เป็นประโยคที่ทำให้เห็นถึงภาพการดำเนินงานของมูลนิธิส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่ขับเคลื่อนได้จากการบริจาคจากภาคประชาชนเป็นหลัก CHEEWID จึงอยากเป็นกระบอกเสียงเพื่อช่วยสะท้อนการให้ความช่วยเหลือกับกลุ่มคนไร้บ้าน ที่ภาครัฐและมูลนิธิต่าง ๆ ในไทย พยายามผลักดันให้กลุ่มคนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานผ่านการทำโครงการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของพวกเขาต่อไป

Reference:

  1. พิชญาพร โพธิ์สง่า. คนไร้บ้าน : ชีวิตดี ๆ ในที่สาธารณะ. https://theactive.net/. Published 22 August 2022.  Retrieved 16 February 2024
  2. ผู้จัดการออนไลน์. กทม. ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนแก้ปัญหาคนไร้บ้านและขอทาน ดันประปาแม้นศรีสู่บ้านอิ่มใจ. https://mgronline.com/. Published 4 December 2023.  Retrieved 16 February 2024
  3. ไทยโพสต์. จ้างวานข้า คนไร้บ้านมีงานทำ ได้ชีวิต(ใหม่). https://www.thaipost.net/. Published 3 September 2023.  Retrieved 19 February 2024
  4. ไทยรัฐออนไลน์. เปิดชีวิตคนไร้บ้าน. https://www.thairath.co.th/. Published 21 November 2022.  Retrieved 16 February 2024
  5. สำนักข่าวอิสรา. มูลนิธิอิสรชน 27 ปี ของการขับเคลื่อนเเก้ปัญหา เพื่อความหวังของคนไร้ที่พึ่ง. https://www.isranews.org/ . Published 15 June 2023.  Retrieved 16 February 2024
  6. เจาะลึกระบบสุขภาพ. สำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ พบกรุงเทพฯ มากสุด. https://www.hfocus.org/. Published 22 November 2023.  Retrieved 16 February 2024
  7. Atthasit Mueanmart. “คนไร้บ้าน” ปัญหาเรื้อรัง ที่กัดกร่อนสังคมและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ กับทางออกที่รางเลือน. https://www.salika.co/ . Published 24 April 2023.  Retrieved 16 February 2024
  8. Mirror blog. ปัญหา “คนไร้ที่พึ่ง”. https://mirror.or.th/. Published 20 February 2023.  Retrieved 16 February 2024
  9. Thai PBS. เปิดจุด Drop in รับบริจาคสิ่งของเพื่อคนไร้บ้าน. https://theactive.net/. Published 27 January 2023.  Retrieved 16 February 2024
  10. Thai PBS. คนไร้บ้าน : ชีวิตดี ๆ ในที่สาธารณะ. https://theactive.net/. Published 20 August 2022.  Retrieved 16 February 2024