เข้าสู่ระบบ

Table of Contents
Recent Post
เปโดคืออะไร? กฎหมาย บทลงโทษ และวิธีรับมือพฤติกรรมเปโดในสังคม
เปโดคืออะไร? กฎหมาย บทลงโทษ และวิธีรับมือพฤติกรรมเปโดในสังคม

บทความนี้ CHEEWID ชวนทุกคนมาตระหนักรู้เกี่ยวกับ เปโด โดยเปโด นั้นคือ ความสนใจทางเพศต่อเด็กที่ส่งผลกระทบต่อเหยื่อและสังคม การเข้าใจกฎหมาย และวิธีรับมือกับพฤติกรรมเปโด จะช่วยให้เราป้องกันและจัดการกับปัญหานี้ได้ดียิ่งขึ้น

Gentrification การเปลี่ยนแปลงในเมืองที่สร้างความแตกต่างในสังคม
Gentrification การเปลี่ยนแปลงในเมืองที่สร้างความแตกต่างในสังคม

บทความนี้ CHEEWID พาทุกคนมาทำความรู้จักกับ Gentrification คือการพัฒนาพื้นที่ที่มีรายได้ต่ำ โดยดึงดูดกลุ่มคนรายได้สูง สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมและเศรษฐกิจ อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยเดิมต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียม

สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในไทย การคุ้มครองและปัญหาที่เกิดขึ้น
สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติในไทย การคุ้มครองและปัญหาที่เกิดขึ้น

แรงงานข้ามชาติในไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจแต่ขาดการคุ้มครองทางกฎหมาย ในบทความนี้ CHEEWID ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติในไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น ช่องว่างทางสังคมและความไม่เท่าเทียม และประเด็นอื่นๆ

ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมือง สมดุลระหว่างธรรมชาติและชีวิต
ความสำคัญของพื้นที่สีเขียวในเมือง สมดุลระหว่างธรรมชาติและชีวิต

บทความนี้ CHEEWID จะทุกคมาทำความเข้าใจกับพื้นที่สีเขียวในเมืองมีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตประชาชน โดยช่วยสร้างสมดุลระหว่างธรรมชาติและการใช้ชีวิต ส่งเสริมให้เมืองเป็นที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและยั่งยืนในระยะยาว

การส่งเสริมและปกป้องสิทธิเด็กจากความรุนแรงและการเอารัดเอาเปรียบ

บทความนี้ CHEEWID จะพาทุกคนไปรู้จักกับสิทธิพื้นฐานของเด็กมีความสำคัญ เช่น การดูแลจากครอบครัว การเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และการดูแลทางการแพทย์ ช่วยให้เด็กเติบโตและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
การส่งเสริมและปกป้องสิทธิเด็กจากความรุนแรงและการเอารัดเอาเปรียบ
Table of Contents

 

Key Takeaway

  • สิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และรวมไปถึงสิทธิที่จะมีส่วนร่วม 
  • ครอบครัวเป็นกลุ่มสังคมแรกที่เด็กจะต้องพบเจอในการดำรงชีวิต ดังนั้นครอบครัวจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างเด็ก ดังนั้นจึงต้องคอยใส่ใจ ให้การอบรม เลี้ยงดู ตลอดจนให้ความรักและความอบอุ่น และไม่ละเมิดสิทธิเด็ก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ 
  • เพื่อสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของเด็ก สังคมทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันดูแล ไม่ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กต้องตกไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อันตราย ไม่ใช้ความรุนแรง หรือตระหนักถึงสิทธิเด็ก เพื่อช่วยดูแลและส่งเสริมสังคมให้น่าอยู่ ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน 

 

“เด็ก” เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม ดังนั้นสิทธิเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักรู้ เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นส่วนที่ช่วยสร้างให้เด็กๆ สามารถเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งจะสร้างให้เด็กกลายเป็นอนาคตที่เข้มแข็งของชาติต่อไปได้ 

 

สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก สิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจและให้ความสำคัญ

สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก สิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจและให้ความสำคัญ

เด็กทุกคนมีสิทธิโดยสมบูรณ์ (Absolute Rights) ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถละเมิดสิทธิเด็กได้ ดังนั้นสิทธิของเด็กจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีความรู้และความเข้าใจ โดยสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กมี 4 ประการ ดังนี้

1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival)

เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด โดยไม่ว่าเด็กจะเกิดมาภายในสภาพความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ สิทธิของเด็กทุกคนคือต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านสุขอนามัย และสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิต โดยจะต้องมีสันติภาพ ความปลอดภัย และปราศจากจากอันตราย ความรุนแรงทุกชนิด

2. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development)

การพัฒนาอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยเป็นสิทธิเด็กที่จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาความรู้ ร่างกาย อารมณ์ ตลอดจนสภาพจิตใจอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการของช่วงวัย จะต้องได้รับการศึกษาในสถานศึกษาอย่างเหมาะสม ได้รับประทานอาหารที่ดีต่อการเจริญเติบโต และได้รับการดูแล คุ้มครองภายใต้ครอบครัวที่ปลอดภัย 

  3. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)

การปกป้องคุ้มครองเด็กให้พ้นจากภัยและอันตรายทุกชนิด เป็นสิทธิเด็กที่เด็กทุกคนควรจะได้รับ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองเด็กให้พ้นจากความรุนแรง การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ การใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนการคุ้มครองป้องกันเด็กจากการหาผลประโยชน์อันมิชอบในตัวเด็ก 

4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation)

สิทธิการมีส่วนร่วมเป็นสิทธิเด็กที่สำคัญเช่นเดียวกันกับสิทธิอื่นๆ ที่ไม่ควรละเลย โดยเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วม สามารถแสดงออกและได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ และสามารถมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวของเด็กเอง

 

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

เด็ก เป็นมนุษย์คนหนึ่งและเป็นพลเมืองในสังคมที่ควรจะได้รับสิทธิ การคุ้มครองและการดูแลในชีวิตความเป็นอยู่เช่นเดียวกันกับทุกคนในสังคม ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้กล่าวถึงการปกป้องและคุ้มครองเด็กในด้านต่างๆ ดังนี้ 

  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและดูแลให้ปลอดภัยจากความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อร่างกายและจิตใจ หรือการทอดทิ้ง และการกระทำอื่นๆ ที่มิชอบและสร้างโทษให้แก่เด็ก 
  • สิทธิของเด็กควรจะได้รับการคุ้มครองจากการพยายามแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ การศึกษา หรือสำนึกที่ชอบด้านศีลธรรมและความเป็นพลเมืองของสังคม 
  • สิทธิเด็กในการได้รับการคุ้มครองจากการใช้สิ่งผิดกฎหมายหรือสารเสพติดที่ให้โทษต่อประสาท โดยเป็นการคุ้มครองเด็กออกจากการถูกบังคับให้ผลิตหรือค้า
  • เด็กมีสิทธิจะได้รับการคุ้มครองจากการละเมิดสิทธิเด็กทางด้านเพศ และการกระทำที่มิชอบหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก
  • เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองและป้องกันให้พ้นจากการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ การลักพาตัว การใช้แรงงานเด็ก และการละเมิดสิทธิเด็กรวมไปถึงการใช้ความรุนแรง
  • เด็กทุกคนควรจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพในชีวิตและความเป็นอยู่ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเด็ก และเพื่อมิให้ผู้ใดมาแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กในทุกๆ ด้าน 
  • การได้รับการดูแลและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจเป็นสิทธิของเด็กที่จะได้รับ หากเด็กเคยเผชิญกับความยากลำบาก หรือได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยเด็กจะต้องได้รับการดูแล เยียวยา และฟื้นฟูเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติและปลอดภัย
  • เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในทุกๆ ขั้นตอนของการพิจารณาคดี จะต้องถือว่าประโยชน์และสิทธิของเด็กคือสิ่งสูงสุดที่จะต้องให้ความสำคัญ 
  • หากเด็กถูกพลัดพรากจากครอบครัว เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมกับตัวของเด็ก ทั้งการดูแลตามภูมิหลังเดิมทางชาติพันธุ์ ภาษา สังคมและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง
  • ในกรณีที่เกิดภาวะสงครามสิทธิของเด็กคือการถูกคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสงคราม เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองและดูแลให้ปลอดภัยจากการสู้รบ ไม่ถูกเกณฑ์หรือนำไปสู่การร่วมมือในสงคราม
  • เด็กที่เป็นผู้ลี้ภัยมีสิทธิของเด็กที่จะได้รับการดูแลและคุ้มครองภายใต้หลักสิทธิและการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมที่เหมาะสม ตามที่ได้ระบุในอนุสัญญาฯ

 

สิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อสิทธิอันชอบธรรมของเด็ก

สิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อสิทธิอันชอบธรรมของเด็ก

ประเทศไทยได้มีการกำหนดแนวทางเฉพาะเพื่อการพิจารณาถึงสิทธิอันชอบธรรมของเด็ก พ.ศ. 2549 โดยแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การพิจารณาเพื่อสิทธิประโยชน์สูงสุดของเด็กและเพื่อป้องกันความไม่ชอบธรรมที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็ก ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณามีด้วยกัน 17 ข้อ ดังนี้ 

  • ลักษณะเฉพาะตัวของเด็กแต่ละบุคคล
  • ความเหมาะสม ความต้องการ และความจำเป็นของเด็ก 
  • ประโยชน์ของเด็กทางด้านร่างกาย พัฒนาการในการเจริญเติบโต สุขภาพ การดูแลเพื่อสุขภาวะที่เหมาะสม การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการพักผ่อนที่ดี 
  • ประโยชน์ของเด็กทางด้านสติปัญญา การได้รับการศึกษา ข้อมูล ความรู้และเล่าเรียนที่เหมาะสมต่อพัฒนาการและช่วงวัย ได้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาประสบการณ์จริง การลองปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้ 
  • ประโยชน์เพื่อเด็กจะได้รับการพัฒนาทางด้านอารมณ์และจิตใจ ได้รับการเลี้ยงดู การเอาใจใส่ และการอบรมที่เหมาะสมและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเด็ก และเพื่อสร้างให้เด็กเรียนรู้ที่จะแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่างๆ เพื่อการอยู่ในสังคมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
  • ประโยชน์ที่เด็กจะได้ดำเนินชีวิตในสังคมและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อชีวิต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ
  • ประโยชน์เพื่อการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 
  • ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้และการเข้าใจวัฒนธรรม ศีลธรรม จริยธรรมและศาสนา เพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น
  • การเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อการเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ การประกอบอาชีพที่เหมาะสมต่อความถนัด ตามความสามารถ เพศและวัย 
  • เพื่อให้เด็กได้รับผลประโยชน์สูงสุด ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องมีการประสานงานกันอย่างรวดเร็วและถูกต้อง
  • คุ้มครอง ป้องกันเด็กจากความรุนแรงทุกชนิดทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิเด็กทางด้านเพศ และการถูกทอดทิ้ง 
  • ให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์เด็ก อาทิ กลุ่มเด็กชายขอบ เด็กด้อยโอกาส เด็กถูกทอดทิ้ง กลุ่มเด็กพิการบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา หรือกลุ่มเด็กที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือ
  • คุ้มครองเด็กให้พ้นจากการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบทั้งทางเศรษฐกิจ การทำงาน หรือแสวงประโยชน์อื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและผลกระทบด้านลบต่อเด็ก 
  • ป้องกัน คุ้มครอง ไม่ให้เด็กถูกละเมิดสิทธิเด็กในด้านความเป็นส่วนตัวจากการเผยแพร่ทางสื่อ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง การดำเนินชีวิต 
  • ให้เด็กได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ ที่ควรจะได้รับในสังคม เพื่อประโยชน์สูงสุดและสิทธิของเด็ก 
  • เด็กจะต้องได้รับการพิทักษ์สิทธิ์เพื่อให้เด็กยังคงได้รับผลประโยชน์ตามสิทธิเด็กที่ควรจะได้รับ และเมื่อเด็กต้องเผชิญกับปัญหาจะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อสามารถทำให้เด็กสามารถจัดการกับปัญหาและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ
  • เพื่อประโยชน์ของเด็ก สิทธิของเด็กคือการให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำหรับเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก

 

กฎหมายห้ามกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิเด็ก

กฎหมายห้ามกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิเด็ก

เนื่องจากเด็กยังนับว่าเป็นผู้เยาว์ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองและการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการกระทำต่างๆ ที่จะทำต่อเด็กนั้นจะต้องระวังอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เด็กยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทั้งครอบครัวและคนในสังคมเองสามารถช่วยดูแลและป้องกันไม่ให้เด็กถูกละเมิดสิทธิได้ ดังนี้ 

ผู้ปกครองไม่ควรทำเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็ก

  • ไม่ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานพยาบาล หรือไว้กับบุคคลอื่น โดยที่มีเจตนาที่จะทอดทิ้งเด็กและไม่มารับเด็กคืน
  • ละทิ้งเด็กโดยไม่จัดการดูแลสวัสดิภาพของเด็กอย่างเหมาะสม
  • จงใจ ละเลย ให้เด็กดำเนินชีวิตโดยขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพ หรือไม่ดูแลสุขอนามัยให้แก่เด็ก
  • ขัดขวาง หรือปฏิเสธที่จะให้เด็กได้เจริญเติบโตอย่างเหมาะสมทั้งทางร่างกาย จิตใจ พัฒนาการ และสติปัญญา
  • ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ 

บุคคลทั่วไปไม่ควรทำเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็ก

  • กระทำความรุนแรงหรือทารุณกรรมต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก 
  • ละเลย จงใจ ไม่ให้สิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตแก่เด็ก หรือไม่ให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่เด็กในการดูแลของตน จนอาจนำไปสู่อันตรายและชีวิตของเด็ก 
  • บังคับ ข่มขู่ ให้เด็กทำพฤติกรรมที่ไม่สมควร รวมไปถึงการยินยอม และไม่ห้ามปรามให้เด็กทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ 
  • เผยแพร่หรือทำการโฆษณาทางสื่อ เพื่อการรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติของเด็ก ยกเว้นแต่ได้รับการยอมรับหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการ
  • บังคับ ขมขู่ หรือหลอกลวง ชักจูงให้เด็กไปเป็นขอทาน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือเพื่อการขอทาน และแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบจากตัวของเด็ก 
  • จ้าง หรือให้เด็กทำงานที่อันตราย หรืองานที่อาจจะส่งผลต่อการเติบโตของเด็ก 
  • บังคับ ข่มขู่ หรือส่งเสริมให้เด็กเล่นกีฬาเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า ที่จะขัดขวางพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก 
  • ห้ามใช้หรือส่งเสริม ยินยอม ให้เด็กยุ่งเกี่ยวกับการพนัน หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน ตลอดจนสถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก
  • บังคับ ข่มขู่ ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดง หรือกระทำการในลักษณะที่ลามกอนาจาร เพื่อแลกมาด้วยค่าตอบแทน หรือข้อแลกเปลี่ยนใดๆ ก็ตาม
  • ห้ามจำหน่าย หรือแลกเปลี่ยนสุรา บุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่เป็นการปฏิบัติเพื่อการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น

 

 

บทบาทของครอบครัวในการคุ้มครองสิทธิเด็ก

ครอบครัวนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการดูแลบุตรหลาน ช่วยคุ้มครองสิทธิเด็ก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นครอบครัวจึงต้องดูแล ใส่ใจ ให้ความอบอุ่นแก่เด็กและบุตรหลานภายในครอบครัว 

โดยจะต้องดูแลให้เด็กได้รับสิ่งพื้นฐานเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ต้องได้รับการดูแลทางอารมณ์จิตใจและสติปัญญา ซึ่งครอบครัวจำเป็นที่จะต้องอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้ดำเนินชีวิตบนทางที่ถูกต้อง สนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ที่จะใช้ความคิด ตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามและรู้จักแสดงความคิดเห็นอย่างถูกต้องต่อสถานการณ์ต่างๆ 

และสำคัญที่สุดครอบครัวจะต้องใส่ใจและให้ความรัก ความอบอุ่นแก่บุตรหลาน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กเติบโตมาด้วยสภาพอารมณ์และจิตใจที่มั่นคง 

บทบาทของสังคมในการคุ้มครองสิทธิเด็ก

ปัจจุบันสังคมไทยต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงหลากหลายอย่างทั้งจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีและวัฒนธรรม ความเป็นเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น เกิดการพลัดถิ่นและย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมือง อีกทั้งความเป็นโลกาภิวัตน์ จึงทำให้ค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมเปลี่ยนตามไป เกิดวัฒนธรรมย่อยและค่านิยมใหม่ๆ มากมาย 

ซึ่งในบางครั้งค่านิยมใหม่ๆ อาจเป็นค่านิยมที่ผิดเพี้ยนและส่งผลกระทบทำให้สังคมเสื่อมเสีย เกิดปัญหาสังคม การละเลยและทอดทิ้งผู้หญิงและเด็กที่มากขึ้น บวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจึงทำให้ทุกอย่างถูกเผยแพร่ไปได้ง่ายและรวดเร็ว หากนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้องก็จะส่งผลเสียอย่างมากมาย เช่น การเผยแพร่ภาพและวิดีโอการใช้ความรุนแรง สื่อลามกและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ผิดพลาด และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

บทบาทของสังคมในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิเด็ก เพื่อเสริมสร้างให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง คือ การที่ทุกคนในสังคมต้องสนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม อบรม ดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมจะต้องมีการตักเตือนอย่างเหมาะสม และสร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้องให้แก่เด็ก รวมไปถึงช่วยเด็กในการเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเอง และรับมือกับสถานการณ์คับขันอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยลดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและสิทธิเด็ก ลดปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง และความรุนแรง ตลอดจนช่วยฟื้นฟูและดูแลให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปลอดภัย

 

ตัวอย่างสถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กในปัจจุบัน 

ตัวอย่างสถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กในปัจจุบัน

ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาอย่างยาวนาน แม้จะมีการรณรงค์และพยายามสร้างความตระหนักรู้ แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กก็ยังคงมีอยู่มากในสังคมไทย โดยการละเมิดสิทธิเด็กที่พบให้ได้บ่อยในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้ 

การทำร้ายร่างกาย

ในปัจจุบันพบว่าเด็กกว่า 1,700 ล้านคนทั่วโลก กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง รายงานโดย Know Violence in Childhood ได้รายงานผ่านรายงานประจำปี Ending Violence in Childhood แสดงให้เห็นว่ามีเด็กจำนวนมากที่ยังคงตกอยู่ในความยากลำบากจากความรุนแรง และการโดนล่วงละเมิดทางเพศ 

ซึ่งในประเทศไทยเองพบว่าเด็กกว่าร้อยละ 56 ก็กำลังเผชิญกับปัญญาการถูกละเมิดสิทธิเด็ก การใช้ความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและทางเพศ ในปี พ.ศ. 2556-2562 พบว่า มี 1,186 กรณีการใช้ความรุนแรงโดย 482 กรณี เป็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็กโดยบุคคลอื่นเป็นผู้กระทำ มี 464 กรณี คือการใช้ความรุนแรงในเด็กด้วยกันเอง 135 กรณี เป็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และอีก 105 กรณี เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบุคลากรในสถานศึกษา 

ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีทั้งความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย การเจริญเติบโต พัฒนาการ และจิตใจ ที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองกำลังเผชิญอยู่ในความอันตราย และไร้ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต 

การล่วงละเมิดทางเพศ

การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นการละเมิดสิทธิเด็กที่ร้ายแรงและรุนแรงอย่างยิ่ง หากแต่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศยังคงมีอยู่เรื่อยไปในสังคมไทย โดยพบว่า เด็กและเยาวชนมากกว่า 1,000 คน เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และมีอีกมากกว่า 50 % ที่ไม่แจ้งความหรือดำเนินคดี อีกทั้งยังมีมากกว่า 100 รายที่ถูกนำไปค้าประเวณี เปรียบเทียบได้ว่าในแต่ละวัน จะมีเด็กอย่างน้อย 1 คน ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ  

สาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนมากมายถูกหลอกล่อและกลายเป็นเหยื่อของการละเมิดทางเพศนั่นเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ มีผู้ก่อเหตุมากมายที่ล่อลวงให้เด็กและเยาวชนต้องกลายเป็นเหยื่อของสื่อลามกอนาจาร ถูกล่อลวงให้เด็กส่งภาพเรือนร่างของตนเอง หรือถูกล่อลวงไปกระทำชำเราโดยที่เด็กไม่ยินยอม หรือไม่รู้ถึงภัยที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง 

ซึ่งเป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งเพราะผู้ที่ก่อเหตุมักเป็นคนใกล้ตัวของเด็ก ญาติ หรือคนในครอบครัวได้เช่นกัน 

การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม เด็กเองก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่มีสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิด ความเห็น แสดงออกทางคำพูดและอารมณ์ได้ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม แต่ในสังคมเด็กมักถูกผลักให้กลายเป็นชายขอบของสังคม ถูกระบบชนชั้นของสังคมกดขี่จากช่วงอายุที่แตกต่างกัน 

โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีระบบอาวุโส และวลีอย่าง “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” จึงทำให้ในหลายๆ ครั้ง ความคิดเห็นของเด็กถูกปิดกั้นจากคนในสังคม หรือครอบครัวเองก็อาจมีส่วนในการละเมิดสิทธิเด็กทางด้านการแสดงออกอย่างไม่รู้ตัว จากการเลี้ยงดูและการไม่ส่งเสริมให้เด็กได้มีสิทธิพูดหรือคิดเห็นตามความคิดของตนเองได้ 

ซึ่งการลิดรอนสิทธิเด็กทางด้านการแสดงออกนี้เป็นภัยเงียบต่อตัวเด็กมากกว่าที่เราคิด เพราะจะทำให้เด็กกลายเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ไม่มีประสบการณ์ และไม่กล้าตัดสินใจ หรือกังวลใจเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตทางความคิดในอนาคตได้

 

องค์กรที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนสิทธิเด็ก

องค์กรที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนสิทธิเด็ก

ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรช่วยเหลือสตรีและเด็กมากมายที่เข้ามาทำหน้าที่และมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย โดยองค์กรและมูลนิธิที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่องค์กรดังต่อไปนี้

มูลนิธิผู้หญิง

มูลนิธิผู้หญิง เป็นมูลนิธิมีบทบาทและหน้าที่ในการช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้หญิงที่เผชิญกับปัญหาและความยากลำบากในการดำรงชีวิต จากการละเมิดสิทธิเด็กและสตรี อาทิ ช่วยเหลือกลุ่มเด็กและผู้หญิงที่ถูกทารุณกรรมและใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวและสังคม ช่วยเหลือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดจนกลุ่มเด็กและสตรีที่ถูกลิดรอนสิทธิพื้นฐานและถูกกดขี่จากระบบสังคม 

มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรีมีส่วนช่วยสังคมในการให้ความช่วยเหลือและดูแลกลุ่มเด็กและสตรีที่ถูกทำร้ายและโดนกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ และรวมไปถึงกลุ่มเด็กและสตรีที่เป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ การค้าแรงงาน และรวมไปถึงการค้าประเวณี ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่และรุนแรงอย่างมากในสังคม 

มูลนิธิพิทักษ์สตรี

มูลนิธิพิทักษ์สตรีมีบทบาทในการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและสตรี ให้อยู่สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ปราศจากการคุกคาม และความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ รวมไปถึงปกป้องให้เด็กและสตรีห่างไกลจากการบังคับ ข่มขู่เพื่อการล่วงละเมิดทางเพศ หรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการค้าประเวณี การค้ามนุษย์ หรือการขืนใจเพื่อการแต่งงาน และการตั้งครรภ์ 

เพื่อมุ่งหวังให้สังคมมีความปลอดภัยและปราศจากอันตรายในการอยู่อาศัย โดยมูลนิธิพิทักษ์สตรีมีการก่อตั้งทั้งในประเทศไทยและประเทศในเขตภูมิภาค เช่น ลาว และเวียดนาม ด้วยเช่นกัน

 

 

มูลนิธิเพื่อนหญิง

มูลนิธิเพื่อนหญิง มีความมุ่งหวังในการช่วยเหลือ ดูแล และบรรเทากลุ่มเด็กและสตรีที่พบกับปัญหาการคุกคามทางเพศ การละเมิดสิทธิเด็กและสตรี เป็นมูลนิธิที่ให้ความดูแลในด้านกฎหมายสำหรับการร้องทุกข์ ให้ความช่วยเหลือทางด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามต่างๆ ในการดำเนินชีวิต 

คณะภคินีศรีชุมพาบาลแห่งประเทศไทย

คณะภคินีศรีชุมพาบาลแห่งประเทศไทยถูกก่อตั้งโดยกลุ่มนักบวชที่มุ่งหวังในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ชายขอบของสังคม ที่ถูกกดขี่และถูกละเมิดสิทธิเด็กและสตรี ให้ได้รับการช่วยเหลือและดูแลอย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้กลุ่มเด็กและสตรีต้องเผชิญกับความรุนแรง การล่วงละเมิด และการทอดทิ้ง ตลอดจนมุ่งหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อระงับการเกิดการค้ามนุษย์ และการค้าประเวณีทุกรูปแบบ 

สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์

สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีบทบาทในการส่งเสริมกลุ่มสตรีมีอาชีพ รายได้ และมีคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันในสังคม อีกทั้งยังมีการส่งเสริมเพื่อการพัฒนาศักยภาพกลุ่มสตรี ควบคู่กับการส่งเสริมทางด้านประเพณีและวัฒนธรรมเพื่อให้กลุ่มสตรีไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติ 

สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ

สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ มีบทบาทในการรณรงค์เพื่อความเสมอภาคและเพื่อไม่ให้กลุ่มสตรีถูกลิดรอนสิทธิ เนื่องจากผู้หญิงมากมายกำลังเผชิญกับความทุกข์ยากจากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ปัญหาการละเมิดทางเพศจากครอบครัว และคนภายนอก ตลอดจนปัญหาความรุนแรง และความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เป็นองค์กรแรกที่มีการทำบ้านพักพิงชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรีที่ประสบกับวิกฤติชีวิต อีกทั้งยังมีการจัดทำงานพัฒนา ส่งเสริม ฝึกอาชีพ ให้แก่เยาวชนและกลุ่มสตรี 

มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี

มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี เป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนหญิงและสตรี ที่ไร้โอกาสที่ดีในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โอกาสในการทำงาน ตลอดจนขาดคุณภาพชีวิตที่ดี มีการจัดอบรมและส่งเสริมอาชีพ เพื่อการสร้างรายได้และสร้างเสริมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยมูลนิธิมุ่งทำงานในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอุบลราชธานี ในเขตภาคอีสาน เพื่อมอบโอกาสให้มีทางเลือกในการดำเนินชีวิต

สรุป

ปัญญาการละเมิดสิทธิเด็ก ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในทุกๆ วันจะมีเด็กอย่างน้อย 1 คน ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ส่งผลต่อสภาวะความมั่นคงของจิตใจ และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต ซึ่งอาจทำให้ในอนาคตเด็กและเยาวชนไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติในสังคมได้ ดังนั้นสังคมจึงต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิเด็กให้มากยิ่งขึ้น และช่วยกันสนับสนุนองค์กรและมูลนิธิต่างๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งสามารถสนับสนุนได้ผ่านทาง Cheewid   ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนในสังคมจะสามารถปฏิบัติและส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อที่เด็กจะได้กลายมาเป็นอนาคตที่สดใสของประเทศไทย

Reference 

  1. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่8: “หลักการคุ้มครองสิทธิเด็กภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับประโยชน์สูงสุดของเด็ก”. law.tu.ac.th. Published on 24 February 2023.  Retrieved 26 February 2025.
  2. ไทยรัฐออนไลน์. ทุกๆ วัน เด็กและเยาวชน หนึ่งคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ. thairath.co.th.  Published on 15 December 2013. Retrieved 27  February 2025.
  3. มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก. ร่วมปกป้องและคุ้มครองเด็ก ตามสิทธิเด็ก. thaichildrights.org. Published on 23 October 2023. Retrieved 26 February 2025.
  4. มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก. บทบาทของแม่ในการปกป้องลูกให้ปลอดภัย.  thaichildrights.org. Published on 16 April 2015. Retrieved 27 February 2025.
  5. มูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว. สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก 4 ประการ. fordecthai.org. Retrieved 26 February 2025.
  6. มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์. 4 สิทธิเด็กที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ. sosthailand.org. Retrieved 26 February 2025.
  7. มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์. 10 สิ่งที่ห้ามกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม. sosthailand.org. Retrieved 26 February 2025.
  8. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. กฎหมายสิทธิเด็ก. thaihealth.or.th. Published on 15 November 2010. Retrieved 26 February 2025.
  9. Amnesty International Thailand. “ละเมิดสิทธิหนูทำไม?”…เสียงเล็กๆ ที่ถูกมองข้ามในสังคมไทย. Published on 30 April 2021. Retrieved 27 February 2025.

องค์กรเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้อง

logo - inskru

insKru ขับเคลื่อนการศึกษาไทยผ่านพลังของคุณครู

เราเปิดพื้นที่รวบรวมไอเดีย กิจกรรม สื่อ เทคนิคการสอน ที่แบ่งปันโดยคนในคอมมูนิตี้ ส่งต่อแรงบันดาลใจสนับสนุน และเติมพลังใจซึ่งกันและกัน
banner - a-chieve
logo - a-chieve

a-chieve

a-chieve อยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักตัวเองรอบด้าน ออกแบบเส้นทางชีวิต และไปต่อได้ด้วยใจที่แข็งแรง
Laline Space (บ้านละลายสี)
Laline Space

Laline Space (บ้านละลายสี)

Laline Space(บ้านละลายสี) ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา โมุ่งเน้นไปที่กระบวนการศิลปะรูปแบบที่ออกแบบขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมความเป็นตัวตนของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

วิชานอกเส้น

วิชานอกเส้น

วิชานอกเส้น คือองค์กรผู้ผลิตสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการศึกษาให้ไร้ข้อจำกัดทุกประเภท เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะมันไม่มีเส้น

ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์

ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์

พื้นที่ทำกิจกรรมและจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนในชุมชนจ.อุบลราชธานี ใช้วรรณกรรม ศิลปะ ธรรมชาติและอื่นๆ เป็นเครื่องมือ เราทำห้องสมุดในพื้นที่ส่วนตัวจากความฝันของคนเล็กๆ โดยไม่มีทุนสนับสนุนจากองค์ใดๆ