ในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยสังคมในรูปแบบระบบทุนนิยมนั้น เหมือนว่าจะทำให้ทุกคนมีโอกาสในการพัฒนาตนเองไปสู่ความมั่งคั่งได้อย่างเท่าเทียม หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ภายใต้เสรีภาพในการพัฒนาอนาคตของตนเองนั้นกลับถูกครอบงำโดยข้อจำกัดมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นฐานที่ไม่เท่าเทียมกันของผู้คนในสังคมตั้งแต่แรก จึงทำให้การพัฒนาไม่สามารถทำให้เกิดเป็นความเท่าเทียมได้ในท้ายที่สุด
การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ หรือ Welfare state คืออีกหนึ่งทางออกที่จะช่วยสร้างความเท่าเทียม และโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ผู้คนในสังคมผ่านระบบสวัสดิการสังคม ที่จะสามารถนำพาให้สังคมก้าวเข้าไปใกล้เคียงกับความเป็นสังคมในอุดมคติมากยิ่งขึ้น
ทำความรู้จัก รัฐสวัสดิการ คืออะไร
รัฐสวัสดิการ คือ รัฐที่ประชาชนในประเทศมีโอกาสใช้บริการ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้เงินของตนเอง โดยรัฐจะเป็นผู้จัดหา และให้บริการสิ่งนั้นๆ กับประชาชนในขณะที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีเพื่อเป็นการสนับสนุนโดยอ้อมต่อระบบสวัสดิการสังคมต่างๆ
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ได้ให้นิยามของรัฐสวัสดิการไว้ว่า “การที่รัฐหาสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสด้านต่างๆ โดยใช้เงินจากภาษีที่เก็บจากประชาชนเป็นหลัก”
ดังนั้นรัฐสวัสดิการ คือการช่วยทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการบริการของรัฐได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น สวัสดิการการรักษาพยาบาล ระบบการศึกษา เงินสนับสนุนบุตร เป็นต้น
รัฐสวัสดิการในโลกตะวันตก
รัฐสวัสดิการในโลกตะวันตกเกิดขึ้นจากการผลักดันโดยภาคประชาสังคม เพื่อทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพทางเศรษฐกิจและสังคมใหม่ภายใต้รัฐในระบบสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรม โดยสามารถแบ่งรัฐสวัสดิการได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้
- เสรีนิยม (Liberal)
เป็นการใช้กลไกตลาดในการจัดสรรสวัสดิการ โดยเอกชนจะเป็นตัวสำคัญในการจัดการกับระบบนี้ ซึ่งรัฐจะทำหน้าที่สนับสนุนเพียงสวัสดิการขั้นพื้นฐานเท่านั้น จึงทำให้สิทธิ และการกระจายอำนาจไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพมากนัก เนื่องจากจะมีการคัดกรอง และแบ่งแยกผู้ที่จะได้รับสิทธิตามกำลังในการเข้าถึงความช่วยเหลือของแต่ละคน
ข้อดีของระบบนี้คือเป็นระบบสวัสดิการสังคมที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างของอาชีพ คน ไม่จำเป็นต้องทำงานทุกประเภทเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการต่างๆ แต่ข้อเสียคือการจะเข้าถึงสวัสดิการได้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของคน และมีการแบ่งแยกชนชั้นผ่านการได้รับสิทธิในสวัสดิการด้วยเช่นกัน โดยประเทศที่มีการใช้รัฐสวัสดิการแบบเสรีนิยม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย เป็นต้น
- อนุรักษ์นิยม (Conservative)
ระบบสวัสดิการสังคมแบบนี้จะใช้อาชีพของคนในการจัดสรรสวัสดิการ ซึ่งสวัสดิการจะถูกจัดผ่านกองทุนสนับสนุนในวิชาชีพของแต่ละคน จึงทำให้แต่ละคนจะได้รับการจัดสรรสวัสดิการที่แตกต่างกันออกไป
ข้อดีของระบบรัฐสวัสดิการแบบนี้คือสิทธิประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับขึ้นตรงตามรายรับตามอาชีพของตน ในขณะที่ข้อเสียคือบริการสาธารณะจะไม่พัฒนาเท่าที่ควร มีการแบ่งชนชั้นทางสังคมที่ชัดเจนตามแต่ละอาชีพ และรายรับของแต่ละคน ประเทศที่มีการใช้ระบบสวัสดิการสังคมแบบอนุรักษ์นิยมได้แก่ อิตาลี และฝรั่งเศส เป็นต้น
- สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic)
รัฐสวัสดิการในรูปแบบนี้ คือการที่รัฐจะเป็นผู้ที่เข้ามาจัดสรรสวัสดิการให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ มากำหนดสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ซึ่งจะแตกต่างออกไปจากรูปแบบเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม ระบบสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้าโดยรัฐนี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนผ่านการเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นข้อเสียของระบบรัฐสวัสดิการแบบนี้
แต่ในขณะเดียวกันข้อดีคือสังคมจะไม่มีการแบ่งชนชั้นทางรายได้ มีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงสวัสดิการ และสิทธิต่างๆ ตามที่แต่ละคนควรจะได้รับ ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการรูปแบบดังกล่าว คือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เช่น เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน เป็นต้น
รัฐสวัสดิการในโลกตะวันออก
รัฐสวัสดิการในโลกตะวันออกเป็นการดำเนินการจากรัฐบาลเพื่อประชาชน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการผลักดันจากบนสู่ล่าง ในช่วงแรกการจัดสรรสวัสดิการเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการรวมชาติ และเพื่อสร้างความเป็นอัตลักษณ์ร่วมกัน โดยรัฐจะเข้าไปแทรกแซงในกิจกรรมต่างๆ ของภาคสังคมเพื่อส่งเสริมสังคม และกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดทั้งทางด้านทรัพยากร และองค์ความรู้ จึงทำให้รัฐไม่สามารถจัดสรรสวัสดิการไปสู่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงเช่นกัน
ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการในโลกตะวันออก โดยรัฐสวัสดิการของไทยเป็นแบบ Particularist กล่าวคือ รัฐจะจัดสรรสวัสดิการให้แก่ประชาชนตามความต้องการของแต่ละกลุ่มตามที่รัฐเห็นสมควร จึงทำให้แต่ละกลุ่มจะได้รับสิทธิที่แตกต่างกันออกไป
รัฐสวัสดิการ ความมั่นคงของมนุษย์ที่รัฐสามารถสร้างได้
รัฐสวัสดิการมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียม และลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นระหว่างคนรวยและคนจน ซึ่งการเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการนี้เองจะช่วยส่งเสริมให้ทุกๆ คนในสังคมมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงช่วงชั้นทางสังคมของผู้คน
ตัวอย่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมได้แก่ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งความเหลื่อมล้ำนี้เกิดขึ้นมาจากโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน คนที่มีฐานะดีกว่าย่อมมีโอกาส และตัวเลือกทางการศึกษาที่ดีมากกว่า ดังนั้น การเกิดขึ้นของสวัสดิการรัฐ จึงเพื่อเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านการออกนโยบายสนับสนุนค่าเล่าเรียน หรือการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนผู้ยากไร้ จึงช่วยให้เยาวชนมีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น
หากไม่มีรัฐสวัสดิการในสังคมจะทำให้เกิดเป็นวงจรของความเหลื่อมล้ำอย่างต่อเนื่อง อธิบายได้จากการยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อแต่ละคนได้รับโอกาสทางการศึกษาไม่เท่าเทียมกัน โอกาสในการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ และความสามารถจึงแตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่การแสวงหารายได้ และทรัพยากรในอนาคตที่ไม่เท่าเทียมกันต่อไป
ดังนั้น การมีขึ้นของรัฐสวัสดิการจะทำให้ผู้คนในสังคมได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิต และการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมในการดำรงอยู่ในสังคม และการที่รัฐสนับสนุนให้มีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าจากการพัฒนาคุณภาพของประชาชนด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างประเทศรัฐสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการเปรียบเสมือนเครื่องยืนยันชั้นดีที่จะทำให้ประชาชนในสังคมมั่นใจได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตายพวกเขาจะได้รับการดูแลที่ดีจากรัฐ และมีความมั่นคงในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองผ่านการได้รับการสนับสนุนปัจจัยขั้นพื้นฐาน ดังนั้น การที่รัฐมอบทั้งความมั่นคงในชีวิต และความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่คนในสังคมได้ก็จะทำให้ประเทศชาติสามารถพัฒนาก้าวไปสู่ความเจริญอย่างมั่นคงในภายภาคหน้าได้
ไปดูกันว่ารัฐสวัสดิการของแต่ละประเทศมีลักษณะเป็นแบบไหน และมีระบบสวัสดิการสังคมอะไรบ้างที่น่าสนใจ
-
ฝรั่งเศส
ระบบรัฐสวัสดิการของประเทศฝรั่งเศส เป็นรัฐสวัสดิการที่สามารถกระจายสวัสดิการสังคมไปได้อย่างทั่วถึง โดยพบว่าประเทศฝรั่งเศสใช้งบประมาณเพื่อโครงการสวัสดิการสังคมถึง 31.1 % ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในโลก โดยระบบสวัสดิการจะมุ่งเน้นไปเพื่อการบริการด้านสุขภาพ และผู้สูงอายุ อีกทั้งยังมีสวัสดิการอื่นๆ เช่น การสนับสนุนการศึกษาฟรีให้แก่ประชาชน และมีเงินอุดหนุนให้แก่ครอบครัวที่มีบุตรเกิน 2 คนด้วยเช่นกัน เนื่องจากสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคม อีกทั้งผู้สูงอายุนั้นเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มวัยที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้แล้ว ดังนั้น การมีอยู่ของรัฐสวัสดิการเพื่อสุขภาพ และผู้สูงอายุจะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้เป็นอย่างดี นับได้ว่าเป็นข้อดีของระบบสวัสดิการสังคมของประเทศฝรั่งเศสเลยก็ว่าได้
ในทางตรงกันข้ามข้อเสียของระบบสวัสดิการของฝรั่งเศส คือการที่รัฐเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูง เพื่อแลกมาซึ่งรัฐสวัสดิการแบบครอบคลุม อีกทั้งรัฐสวัสดิการบางอย่างนั้นเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ผู้คนเลือกที่จะรอการช่วยเหลือจากรัฐแทนการพึ่งพาตนเอง เช่น การให้เงินอุดหนุนครอบครัวที่มีลูกเกิน 2 คน ช่องโหว่นี้เองทำให้บางครอบครัวเลือกที่จะมีบุตรเยอะทั้งที่ครอบครัวไม่พร้อม เพื่อที่จะรอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
-
ฟินแลนด์
ประเทศฟินแลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบสวัสดิการที่ดีมอบให้แก่ประชาชน โดยมีทั้งรัฐสวัสดิการเพื่อการศึกษา และสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ รัฐยังมีการสนับสนุนวันลาคลอดบุตรให้แก่ทั้งพ่อและแม่ และช่วยสนับสนุนดูแลทารกแรกเกิดผ่านการให้ของใช้จำเป็น หรือจะเลือกเป็นเงินสนับสนุนก็ได้ จึงนับได้ว่าข้อดีของรัฐสวัสดิการแบบประเทศฟินแลนด์เป็นการดูแลตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา จนสามารถมอบการศึกษาที่ดีที่สุดให้แก่เยาวชน ไปจนถึงการดูแลในช่วงสุดท้ายของชีวิตด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าข้อเสียของระบบสวัสดิการแบบครอบคลุมเช่นนี้ ตามมาด้วยการที่ประชาชนต้องแบกภาระในการเสียภาษีในอัตราที่มากพอสมควร โดยจากการสำรวจในปี 2018 พบว่าอัตราภาษีเงินได้เฉลี่ยของคนฟินแลนด์คิดเป็นถึงร้อยละ 51.6 แต่อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าอัตราการเสียภาษีจะมาก แต่ก็แลกมาด้วยการพัฒนารัฐสวัสดิการในด้านต่างๆ อย่างเห็นได้ชัด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในสังคม
-
เดนมาร์ก
ระบบสวัสดิการสังคมของประเทศเดนมาร์ก เป็นระบบสวัสดิการที่มีการจัดสรรให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมโดยไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม จึงทำให้ประชาชนทุกคนมีเสรีภาพที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการแจกจ่ายสวัสดิการอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการเพื่อการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือสวัสดิการขั้นพื้นฐานอื่นๆ ที่ประชาชนควรจะได้รับ โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ความจนเลย ซึ่งรูปแบบสวัสดิการนี้เองจะช่วยทำให้ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในสังคมได้เป็นอย่างดี และทำให้สามารถพัฒนาประเทศไปสู่ความก้าวหน้าได้พร้อมๆ กัน โดยที่ไม่ต้องทิ้งคนกลุ่มใดไว้ข้างหลัง
ส่วนทางด้านข้อเสียสำหรับระบบสวัสดิการสังคมที่ครอบคลุมแบบนี้แน่นอนว่าก็ต้องเป็นการที่ประชาชนในประเทศต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงเช่นกัน โดยจากการสำรวจพบว่ารายได้จากภาษีส่วนใหญ่นั้นมาจากภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดามากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 52.2 เลยทีเดียว
-
เบลเยียม
ระบบสวัสดิการในประเทศเบลเยียมมีงบประมาณในการสนับสนุนโครงการระบบสวัสดิการสังคมสูงถึงร้อยละ 28.7 ของ GDP ซึ่งระบบสวัสดิการของเบลเยียมมีทั้งระบบสวัสดิการเพื่อส่งเสริมครอบครัว ช่วยเหลือผู้พิการ และบริการทางด้านสุขภาพให้แก่ประชาชน และที่น่าสนใจคือสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือแรงงาน และกลุ่มคนว่างงาน ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบสวัสดิการสังคมซึ่งจะช่วยทำให้ไม่ต้องกังวลถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต อีกทั้งในช่วงของการว่างงานก็ยังคงมีรัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนในขณะที่กำลังขาดรายได้อีกด้วย
ในส่วนของจุดด้อยของรัฐสวัสดิการของเบลเยียมพบว่า ในขณะที่การบริการทางด้านสุขภาพนั้นรัฐมีการจัดสรรให้แก่ประชาชนอย่างดี ก็ทำให้เกิดเป็นภาวะ Medical shopping หรือเกิดการควบคุมค่าใช้จ่ายทางด้านบริการด้านสุขภาพได้ยาก
-
อิตาลี
อิตาลีมีระบบสวัสดิการสังคมที่ดีในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการเพื่อการศึกษาสำหรับเยาวชนอายุตั้งแต่ 6 – 18 ปี สวัสดิการเพื่อสุขภาพ สวัสดิการที่พักอาศัยราคาถูกแต่เหมาะสมกับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และรวมไปถึงสวัสดิการสำหรับผู้ว่างงาน และเงินบำนาญด้วยเช่นกัน โดยจากการสำรวจพบว่างบประมาณการใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมของอิตาลีมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 27.6 เลยทีเดียว
จุดด้อยในระบบสวัสดิการสังคมของอิตาลี คือสวัสดิการเพื่อการศึกษา โดยพบว่า แม้รัฐบาลอิตาลีจะจัดสรรให้เยาวชนได้รับการศึกษาฟรี แต่ในขณะเดียวกัน รัฐไม่ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียนทั้งหมด จึงทำให้ครอบครัวยังคงต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในอุปกรณ์การเรียน หนังสือเรียน รวมไปถึงเครื่องแบบนักเรียนด้วยเช่นกัน
-
ออสเตรีย
ออสเตรียมีระบบสวัสดิการของรัฐหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโครงการช่วยเหลือผู้สูงอายุ และผู้พิการ การบริการทางด้านสุขภาพ รวมทั้งการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ยากไร้ และประชากรวัยแรงงานด้วยเช่นกัน โดยพบว่ารัฐบาลออสเตรียใช้งบประมาณเพื่อสวัสดิการของรัฐไปมากกว่าร้อยละ 27.3 เลยทีเดียว ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีความใส่ใจที่จะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร และเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
เนื่องด้วยออสเตรียเป็นรัฐสวัสดิการแบบอนุรักษ์นิยม จึงทำให้การจัดสรรสวัสดิการรัฐยังคงแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม และแบ่งแยกสวัสดิการตามอาชีพด้วยเช่นกัน จึงทำให้สิทธิบางอย่างไม่สามารถกระจายไปสู่ทุกคนได้อย่างทั่วถึง
-
สวีเดน
รัฐสวัสดิการของสวีเดน ได้แก่ บริการด้านสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกันสำหรับผู้ว่างงาน และระบบขนส่งสาธารณะที่ดี ซึ่งการที่รัฐสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ให้แก่ประชาชนได้ ทำให้ผู้คนสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และแน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อประเทศเป็นวงกว้างด้วยเช่นกัน
ในส่วนของจุดด้อย คือระบบสวัสดิการสังคมของประเทศสวีเดนนั้นแลกมาด้วยการเสียภาษีที่สูงของประชาชนในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยินดีที่จะเสียภาษีให้รัฐเพื่อแลกมาด้วยสวัสดิการที่เห็นและจับต้องได้ชัดเจนว่าดีต่อการดำเนินชีวิต
-
เยอรมนี
เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุในสังคมสูงเป็นอันดับต้นๆ โดยคิดเป็นร้อยละ 21 จากจำนวนประชากรทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 83 ล้านคน จึงทำให้งบประมาณของรัฐสวัสดิการส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกัน สวัสดิการอื่นๆ ก็ยังคงมีเพื่อตอบสนองคนวัยอื่นๆ ในสังคมเช่นกัน เช่น การศึกษา บริการสาธารณะ การรักษาพยาบาล เป็นต้น ซึ่งภาษีที่ประชาชนจะต้องเสียให้รัฐบาลจะถูกนำมาพัฒนาการบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อทำให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น
โดยจุดด้อยของรัฐสวัสดิการของประเทศเยอรมนี คือการที่รัฐสวัสดิการเป็นการบังคับทางอ้อม กล่าวคือ ภาษีที่เสียไปจะถูกนำไปรวมเป็นกองทุนเพื่อสวัสดิการ โดยผลตอบแทนที่ได้จากการเสียภาษีจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับอัตราการเสียภาษีที่บุคคลเสียไป จึงทำให้เห็นว่ายังคงมีความไม่เท่าเทียมอยู่บ้างในรูปแบบรัฐสวัสดิการของเยอรมนี
-
นอร์เวย์
ระบบสวัสดิการสังคมของนอร์เวย์ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างชนชั้นทางสังคม โดยจะนำสวัสดิการไปเพื่อช่วยเหลือประชากรกลุ่มที่มีรายได้ต่ำสุด ซึ่งรูปแบบสวัสดิการแบบนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาความยากจนในประเทศได้ ในขณะเดียวกันประเทศนอร์เวย์ก็ยังให้บริการรัฐสวัสดิการอื่นๆ ได้ดีไม่แพ้กัน เพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองความต้องการพื้นฐานของผู้คนในสังคมได้เป็นอย่างดี
แต่รูปแบบรัฐสวัสดิการเช่นนี้ทำให้ประชากรในประเทศจำเป็นที่จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง เพื่อการสนับสนุนให้เกิดเป็นสวัสดิการที่ดีต่อตัวของพวกเขาเอง
-
กรีซ
กรีซนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่งบประมาณรัฐสวัสดิการส่วนใหญ่หมดไปกับการให้สวัสดิการประชาชนในด้านสุขภาพ และเงินบำนาญ โดยกรีซใช้งบประมาณด้านระบบสวัสดิการสังคมสูงถึง 24.7 ของ GDP ซึ่งผลในตอนแรกก็ทำให้รัฐบาลของกรีซได้รับความชื่นชม และความไว้วางใจจากประชากรในประเทศ เนื่องด้วยรัฐสวัสดิการสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้เป็นอย่างดี
แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้กรีซมีหนี้สาธารณะจำนวนมาก และประเทศกรีซต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด ทั้งนี้กรีซได้รับเงินช่วยเหลือเป็นจำนวนประมาณ 61.9 พันล้านยูโร ผ่านกลไกการเงินเพื่อเสถียรภาพแห่งยุโรป เพื่อที่จะทำให้วิกฤตทางเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัว และผ่านพ้นไปได้ในที่สุด
ประเทศไทยกับรัฐสวัสดิการ
ประเทศไทยเองก็มีรัฐสวัสดิการที่ถูกจัดสรรโดยรัฐบาล ซึ่งรัฐสวัสดิการแรกที่เราจะพูดถึงคือประกันสังคม โดยประกันสังคมคือสวัสดิการแรกของไทยที่คนจากหลากหลายภาคส่วนรวมตัวกันเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงในชีวิต โดยสิทธิที่จะได้รับผ่านประกันสังคม ได้แก่ การได้รับเงินสนับสนุนในการคลอดบุตร และการสงเคราะห์ตั้งแต่แรกเกิด อีกทั้งจะได้รับการดูแลจากรัฐผ่านการให้เงินทดแทนหากถูกเลิกจ้างงาน หรือลาออก เป็นต้น
สวัสดิการถัดมาคือสวัสดิการเรียนฟรี โดยสวัสดิการนี้ได้กำหนดเพื่อให้เยาวชนได้รับสิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นกฏหมายบังคับ จึงทำให้การศึกษาเป็นสิทธิของเยาวชนไทยทุกคน และสวัสดิการถัดมาคือเบี้ยคนพิการ ซึ่งผู้ที่จะได้รับสิทธิในสวัสดิการส่วนนี้คือผู้ทุพพลภาพ โดยผู้พิการที่ลงทะเบียนจะได้รับเบี้ยยังชีพ 800 – 1,000 บาทต่อเดือน
อีกหนึ่งโครงการที่จะไม่พูดไม่ได้เลยในสวัสดิการของสังคมไทยคือ ‘สวัสดิการแห่งรัฐ’ โดยเป็นสวัสดิการที่เกิดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือบุคคลยากไร้ในสังคม ที่จะทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือบางส่วนจากรัฐบาล โดยจะได้รับเป็น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน เพื่อนำไปใช้ในการจับจ่ายสินค้าอุปโภค และบริโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าการจะเข้าถึงสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐได้ จำเป็นต้องมีการพิสูจน์ตนว่าเป็น ‘ผู้ยากไร้’ และจำต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ โดยจะต้องมีการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของรัฐ โดยเมื่อผ่านการตรวจสอบแล้วก็ต้องเดินทางไปลงทะเบียนที่ธนาคารที่รัฐกำหนดเพื่อยืนยันตัวตนอีกครั้ง
ถึงแม้ว่ารัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นผ่านรัฐสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเห็นได้ว่า ในการยืนยันตัวตนเพื่อพิสูจน์ความยากไร้เองนั้นก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งข้อมูล จึงทำให้ผู้ที่ยากไร้จริงๆ ในสังคมหลุดออกจากระบบสวัสดิการสังคมเหล่านี้ และไม่ได้รับสิทธิตามที่พวกเขาควรจะได้รับอย่างเหมาะสม
จุดอ่อนของรัฐสวัสดิการไทย
จากที่กล่าวมา เราเห็นได้ชัดว่ามีช่องโหว่ของรัฐสวัสดิการของไทยในการช่วยเหลือและสนับสนุนประชาชนในสังคมบางประการ เช่น สวัสดิการเรียนฟรี ถึงแม้ว่ารัฐจะมีนโยบายให้เรียนฟรีได้ถึง 15 ปี แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าตัวเลือกทางการศึกษายังคงมีอยู่อย่างหลากหลาย และโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของแต่ละคนก็ต่างกันไป เนื่องจากบางโรงเรียนมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทางการศึกษาเพิ่มเติม จึงทำให้มีแค่คนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งการศึกษาที่ดีได้ อีกทั้ง การที่รัฐสนับสนุนค่าเรียนนั้นยังคงไม่ครอบคลุมในค่าธรรมเนียมอื่นๆ จึงทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในสังคมไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หรือรัฐสวัสดิการอื่นๆ ก็ยังคงพบช่องโหว่ที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่สามารถใช้สิทธิของตนเองได้ เช่น เบี้ยคนพิการ เราจะเห็นได้ว่าผู้พิการจะต้องมีการลงทะเบียนในระบบเท่านั้นถึงจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐ จึงทำให้ผู้พิการจำนวนมากยังคงไม่ได้รับสิทธิในการดูแลอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นจุดบกพร่องที่ทำให้คุณภาพชีวิตของคนไทยบางส่วนยังคงไม่ได้รับการยกระดับเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่าที่ควร
การแก้ไขสวัสดิการรัฐ
เพื่อให้ได้รัฐสวัสดิการที่ครอบคลุมตามความต้องการของประชาชนนั้น จำเป็นที่จะต้องแก้ไขในหลายๆ มิติไปพร้อมๆ กัน โดยจากบทสัมภาษณ์ของรองศาสตราจารย์ ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถสรุปได้ว่า การให้สวัสดิการตามช่วงอายุเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยอาจารย์ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงเรื่องของสวัสดิการด้านการศึกษา เนื่องจากในปัจจุบันค่าเล่าเรียนนั้นเป็นภาระที่ครอบครัวต้องแบกเอาไว้ โดยรายได้เกือบทั้งหมดของแต่ละครอบครัวจะต้องนำไปทุ่มเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยเฉพาะในระดับการศึกษาที่สูงขึ้นค่าเรียนก็จะสูงขึ้นเช่นกัน จนทำให้บางครั้งค่าเล่าเรียนกลายเป็นหนี้ในอนาคต และเมื่อไม่สามารถเข้าถึงเงินจำนวนนี้ได้ ทำให้เยาวชนต้องถูกปิดกั้นความฝัน และโอกาสต่างๆ อีกมากมายนั่นเอง
สรุป
รัฐสวัสดิการคือการที่รัฐจัดสรรสิทธิต่างๆ ให้แก่คนในสังคมตามสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ โดยประเทศที่มีระบบสวัสดิการสังคมที่ดี ได้แก่ ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย สำหรับประเทศไทย Cheewid ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อช่วยสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ควรจะได้รับการแก้ไข และเพื่อเพิ่มโอกาสที่ดีให้แก่ผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสวัสดิการต่างๆ ทั้งทางด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และเพื่อช่วยทำให้คนในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนยากไร้ที่ขาดแคลนโอกาสได้รับการสนับสนุนตามสิทธิ และเสรีภาพที่พวกเขาควรจะได้รับ
เราได้ร่วมมือกับองค์กร และหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้คนในสังคมตระหนักรู้ถึงปัญหา และเข้าร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อน และแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมให้ยั่งยืน และนำประเทศไปสู่ความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
Reference:
- กระทรวงการคลัง. โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565. welfare.mof.go.th. Retrieved 19 October 2023.
- โกษม โกยทอง. จะมีรัฐสวัสดิการ รัฐบาลต้องทำอะไรบ้าง? : สำรวจการทำงานของรัฐบาลเดนมาร์ก. the101.world. Published on 14 September 2023. Retrieved 19 October 2023.
- ปาริชาติ โชคเกิด. ไม่มีประเทศไหนล่มจม เพราะดูแลเด็กและคนแก่ : ต้องคุยกันเรื่องรัฐสวัสดิการ อย่าปล่อยให้อภิสิทธิ์ชนคิดแทน. braninside.asia. Published on 20 June 2022. Retrieved 18 October 2023.
- พรเทพ โชติชัยสุวัฒน. ระบบสุขภาพเบลเยี่ยม : เป็นธรรม อิสระในการเลือก และการเจรจาต่อรองทุกภาคส่วน. hfocus.org. Published on 27 October 2014. Retrieved 19 October 2023.
- สถาบันพระปกเกล้า. รัฐสวัสดิการ. wiki.kpi.ac.th. Retrieved 18 October 2023.
- BBC. กรีซหลุดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจแล้วหรือ?. bbc.com. Published on 21 August 20218. Retrieved 19 October 2023.
- BBC. ฟิน(แลนด์)ที่สุดในโลก?. bbc.com. Retrieved 19 October 2023.
- PPTV Online. ส่อง 10 ประเทศที่ถูกยกให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” ดีสุดในโลก. pptvhd36.com. Published on 26 July 2021. Retrieved 18 October 2023.
- ThaiPBS. รัฐสวัสดิการ ทางเลือกสู่การสร้างคนให้เท่ากันในสังคม?. theactive.net. Retrieved 18 October 2023.
- The Momentum. กว่าจะมาถึงแนวคิด ‘รัฐสวัสดิการ’ : ความแตกต่างของโลกตะวันออกและตะวันตก. themomentum.com. Published on 29 March 2018. Retrieved 18 October 2023.
Wefair. รัฐสวัสดิการชนะ!. wefair.org. Published on 01 July 2018. Retrieved 18 October 2023.