เข้าสู่ระบบ

Table of Contents
Recent Post
รวมงานผู้สูงอายุทำที่บ้านได้ ทำงานคลายเหงา พร้อมส่งเสริมสุขภาพจิต
รวมงานผู้สูงอายุทำที่บ้านได้ ทำงานคลายเหงา พร้อมส่งเสริมสุขภาพจิต

บทความนี้ CHEEWID จะพาไปอัปเดตสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในไทย พร้อมรวมไอเดียงานสำหรับผู้สูงอายุวัย 50-60 ปีที่ยังมีไฟอยากทำงานอยู่ จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน

รวม 10 แบรนด์สุราไทย เมรัยรสเลิศถูกปากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
รวม 10 แบรนด์สุราไทย เมรัยรสเลิศถูกปากทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ

บทความนี้ CHEEWID จะพาไปทำความรู้จักประวัติความเป็นมาของสุราไทย พร้อมทำความรู้จักประเภทสุราไทยที่น่าสนใจ และแบรนด์สุราไทยรสเลิศที่น่าจับตามอง

ผลิตภัณฑ์ชุมชน ตัวช่วยกระจายรายได้สู่ครัวเรือนผ่านสินค้าในท้องถิ่น
ผลิตภัณฑ์ชุมชน ตัวช่วยกระจายรายได้สู่ครัวเรือนผ่านสินค้าในท้องถิ่น

บทความนี้ CHEEWID จะพาไปทำความรู้จักว่าผลิตภัณฑ์ชุมชนคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร พร้อมแนะนำเพื่อนำไปต่อยอดไอเดีย สร้างรายได้ให้แก่คนในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น

รวม 20 หนังสะท้อนสังคมไทย มุมมองที่ถูกซ่อนไว้วิพากษ์วิจารณ์สังคม
รวม 20 หนังสะท้อนสังคมไทย มุมมองที่ถูกซ่อนไว้วิพากษ์วิจารณ์สังคม

สำหรับบทความนี้ CHEEWID ขอแนะนำหนังเสียดสีสังคม ที่เปรียบเป็นกระจกสะท้อนความจริงที่ไม่มีใครกล้าพูด! ดำดิ่งสู่โลกแห่งหนังสะท้อนสังคมไทย ชวนตั้งคำถามกับความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรมที่กัดกินสังคม มีเรื่องไหนที่น่าสนใจบ้างมาดูกัน

ชวนรู้จัก LGBTQIA+ ค้นหาความหมาย ภายใต้ความหลากหลายทางเพศ

CHEEWID ชวนทุกคนมาทำความรู้จักความหมายของ LGBTQIA+ ที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยแต่ละตัวว่าคืออะไร หาคำตอบกันได้ในบทความนี้!
ชวนรู้จัก LGBTQIA+ ค้นหาความหมาย ภายใต้ความหลากหลายทางเพศ
Table of Contents

 

Key Takeaway

  • ทางชีววิทยาแบ่งเพศออกเป็นชาย และหญิง ตามลักษณะทางกายภาพ แต่อัตลักษณ์ทางเพศมีความซับซ้อน และมีหลากหลายมากกว่านั้น คำว่า LGBTQIA+ จึงถูกนำมาใช้เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
  • L หมายถึงผู้หญิงที่มีความสนใจต่อเพศเดียวกัน G หมายถึงผู้ชายที่มีความสนใจต่อเพศเดียวกัน B คนที่มีความสนใจต่อเพศชายและเพศหญิง T คนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศที่ถูกกำหนดตอนแรกเกิด Q คนที่ไม่ได้ถือว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือคนที่รักคนต่างเพศ 
  • I คือบุคคลมีลักษณะทางเพศของทั้งชาย และหญิงในร่างเดียวกัน A คนที่ไม่มีความต้องการ หรือแรงดึงดูดทางเพศ และ + ที่สื่อถึงความเป็นไปได้อันหลากหลาย และไม่มีที่สิ้นสุดของอัตลักษณ์ทางเพศ
  • ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญาสากล ที่ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพ โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง พื้นเพทางสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่นใด”

 

วิวัฒนาการของมนุษย์หลายต่อหลายรุ่น มีกลุ่มหลากหลายทางเพศมานานจนจำไม่ได้ เพียงแต่สมัยนั้นยังไม่เปิดกว้างเท่าในปัจจุบัน ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่ไลฟ์สไตล์ยอดฮิตที่เพิ่งจะมีกันตอนนี้ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์มานานมากแล้ว 

ชวนมารู้จักความหมายของ LGBTQIA+ แต่ละตัวอักษรว่าคืออะไรได้ในบทความนี้! พร้อมทั้งความหมายของเพศวิถีอื่นๆ ที่ไม่ได้ปรากฎในตัวอักษรเหล่านี้ รวมถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างความหลากหลายทางเพศ และสิทธิมนุษยชน พร้อมทำความเข้าในกฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทย ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้กันในเร็วๆ นี้ด้วย

 

LGBTQIA+ คืออะไร?

LGBTQIA+ คืออะไร?

แม้ว่าทางชีววิทยาจะแบ่งเพศออกเป็นชายและหญิง ตามลักษณะทางกายภาพ แต่อัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์นั้นมีความซับซ้อนและหลากหลายมากกว่านั้น คำว่า LGBTQIA+ ได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศทางเลือกเหล่านี้

ในอดีต สังคมมักมองกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่ต่างไปจากบรรทัดฐาน ด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร พวกเขามักถูกตีตราว่าเป็น ‘ตัวประหลาด’ และถูกกีดกันจากสังคม ในกรณีที่รุนแรง บางคนถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกายเลยก็มี ความสัมพันธ์จึงเป็นไปอย่าง ‘ลับๆ’ 

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความลื่นไหลทางเพศมีมานานแล้ว อย่างเช่น ในช่วงยุค 1394 อีลีนอร์ ไรเคนอร์ ถูกจับกุมตัว หลังถูกจับได้ว่ากำลังมีความสัมพันธ์กับผู้ชาย และบางครั้งก็มีความสัมพันธ์กับผู้หญิง หรือจะในช่วง 1950 ผู้ชายชนชั้นแรงงานในยอร์กเชียร์ที่ได้แอบมีสัมพันธ์ลับๆ กับผู้ชายด้วยกันโดยไม่ให้คนในครอบครัวรู้ และในช่วง 1954 ที่มีนิตยสารที่ชื่อว่า ฟิล์มแอนด์ฟิล์มมิ่ง (Film & Filming) นำมาวางขาย โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชาย เป็นต้น

 

ทำไมสัญลักษณ์ LGBTQIA+ ต้องเป็นสีรุ้ง?

ทำไมสัญลักษณ์ LGBTQIA+ ต้องเป็นสีรุ้ง?

‘ธงสีรุ้ง’ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของกลุ่ม LGBTQIA+ ทั่วโลก โดยสะท้อนถึงความหลากหลาย และความเป็นหนึ่งเดียวของกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับที่สีรุ้งได้รวมสีสันต่างๆ เข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียว 

จุดกำเนิดของธงสีรุ้งมาจากการสร้างสรรค์ของ Gilbert Baker ศิลปินชาวอเมริกัน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของชุมชนเกย์ในปี 1978 ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธงชาติสหรัฐอเมริกาในโอกาสครบรอบ 200 ปีของประเทศ เมื่อปี 1976 ในแรกเริ่มธงจะประกอบไปด้วย 8 สี แต่ละสีมีความหมายเฉพาะ ดังนี้

  1. สีชมพูเข้ม: สื่อถึงเรื่องเพศ
  2. สีแดง: สื่อถึงตัวแทนของชีวิต
  3. สีส้ม: สื่อถึงการเยียวยา
  4. สีเหลือง: สื่อถึงแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
  5. สีเขียว: สื่อถึงตัวแทนของธรรมชาติ
  6. สีฟ้าเทอร์ควอยซ์: สื่อถึงเวทมนตร์ หรือศิลปะ
  7. สีน้ำเงินม่วง: สื่อถึงความสามัคคี
  8. สีม่วง: สื่อถึงจิตวิญญาณอันแน่วแน่

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดในการผลิต ธงได้ถูกปรับให้เหลือเพียง 6 สี โดยตัดสีชมพูเข้ม และสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ออก เพราะเป็นสีที่ผลิตได้ยากในสมัยนั้น แม้จะมีการลดจำนวนสีลง แต่ความหมาย และพลังของธงยังคงอยู่ ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลาย ความหวัง และความภาคภูมิใจของชาว LGBTQIA+ เสมอ

ปัจจุบัน ธงสีรุ้งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่รู้จักกันทั่วโลก ปรากฏในงาน Pride การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ และในชีวิตประจำวันของผู้คนมากมาย เป็นเครื่องหมายของการยอมรับ ความเท่าเทียม และการเฉลิมฉลองความหลากหลายของมนุษยชาติ ธงสีรุ้งไม่เพียงแต่เป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม LGBTQIA+ เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่เปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่างของทุกคนอีกด้วย

 

รู้จักความหมาย LGBTQIA+ แต่ละตัว

รู้จักความหมาย LGBTQIA+ แต่ละตัว

หลายๆ คนอาจสงสัยว่าตัวอักษร LGBTQIA+ แต่ละตัวหมายถึงอะไร มาทำความรู้จัก LGBTQIA+ แต่ละตัว เพื่อให้เข้าใจความหมายในเพศทางเลือกอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

 

L — Lesbian

คำว่า ‘เลสเบี้ยน’ มีที่มาจากชื่อเกาะ ‘เลสบอส’ (Lesbos) ในประเทศกรีซ เกาะนี้เป็นบ้านเกิดของแซปโฟ (Sappho) กวีหญิงชาวกรีกโบราณ ผู้มีชื่อเสียงจากบทกวีที่แสดงถึงความรัก และความปรารถนาระหว่างผู้หญิง เนื่องจากอิทธิพลของแซปโฟ คำว่าเลสเบี้ยน จึงถูกนำมาใช้เพื่อหมายถึงผู้หญิงที่มีความสนใจทางเพศต่อเพศเดียวกัน โดยการใช้คำนี้ในความหมายดังกล่าวได้เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา

 

G — Gay

คำว่า ‘เกย์’ ในภาษาอังกฤษเดิม หมายถึงความสนุกสนาน หรือความรื่นเริง แต่ความหมายได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 20 คำว่าเกย์ เริ่มถูกใช้เพื่อหมายถึงผู้ชายที่มีความสนใจทางเพศต่อเพศเดียวกัน ต่อมาผู้หญิงที่มีความสนใจในเพศเดียวกันก็เริ่มใช้คำว่าเกย์เพื่อบ่งบอกตัวตนของตัวเองด้วย ทำให้คำนี้มีความหมายกว้างมากขึ้น

ปัจจุบัน เกย์ กลายเป็นคำที่มีความหมายครอบคลุม (Umbrella Term) สำหรับคนที่มีความสนใจทางเพศต่อเพศเดียวกัน แม้ว่าในบางบริบท คำนี้อาจยังคงถูกใช้เฉพาะสำหรับผู้ชายที่มีความสนใจในเพศเดียวกัน ขณะที่ผู้หญิงที่มีความสนใจในเพศเดียวกันมักจะใช้คำว่าเลสเบี้ยนมากกว่า

 

B — Bisexual

คำว่า ‘ไบ’ (Bi) มาจากภาษาละติน และกรีก แปลว่า ‘สอง’ ในช่วงศตวรรษที่ 19 นักวิทยาศาสตร์ และแพทย์ใช้คำว่า ไบ เพื่ออธิบายถึงคนที่มีลักษณะทางกายภาพของทั้งเพศชายและเพศหญิง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘อินเตอร์เซ็กส์’ (Intersex) ต่อมา ความหมายขยายไปถึงคนที่แสดงออกถึงความเป็นชาย (Masculine) และความเป็นหญิง (Feminine) ในคนเดียวกัน โดยไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะทางกายภาพ

ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 สังคมเริ่มเปิดกว้างขึ้น คำว่า ‘ไบเซ็กชวล’ (Bisexual) เริ่มถูกใช้เพื่ออธิบายถึงคนที่มีความสนใจทางเพศ หรือความรู้สึกโรแมนติก ต่อทั้งเพศชาย และเพศหญิงนั่นเอง

 

T — Transgender

คำว่า ‘Transgender’ ปรากฏครั้งแรกในวงการวิชาการในทศวรรษ 1960 โดยถูกใช้ในหนังสือชื่อ ‘Sexual Hygiene and Pathology’ เพื่ออธิบายถึงคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศต่างจากเพศกำเนิด ปัจจุบัน Transgender เป็นคำที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในการอธิบายถึงคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศที่ถูกกำหนด ณ แรกเกิด โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ หรือรักษาทางการแพทย์ใดๆ

 

Q — Queer

ในภาษาอังกฤษ คำว่า ‘Queer’ แปลว่า ‘แปลกประหลาด’ หรือ ‘ผิดปกติ’ จึงถูกใช้เป็นคำดูถูกเหยียดหยามผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสังคม โดยเฉพาะในสังคมที่ยึดถือระบบเพศแบบทวิลักษณ์ (ชาย-หญิง) มาเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางถึงปลายศตวรรษที่ 20 เมื่อการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศเริ่มมีพลังมากขึ้น กลุ่ม LGBTQIA+ ได้ ‘ยึดคืน’ (Reclaim) คำว่าเควียร์ (Queer) แล้วเปลี่ยนสถานะจากคำดูถูกที่สร้างความเจ็บปวด ให้กลายเป็นคำที่ใช้ระบุอัตลักษณ์อย่างภาคภูมิใจ โดยแปลอีกอย่างว่า คือบุคคลลื่นไหลทางเพศ หรือผู้ที่ไม่ได้ถือตัวเองว่าเป็นผู้ชาย ผู้หญิง หรือผู้ที่รักคนต่างเพศนั่นเอง

 

I — Intersex

คำว่า ‘Intersex’ มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-17 แต่ความหมายเดิมนั้นต่างจากปัจจุบันมาก โดยความหมายแต่เดิม หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเพศ ต่อมาในปี 1917 ริชาร์ด โกลด์ชมิดต์ (Richard Goldschmidt) นักพันธุศาสตร์ชาวเยอรมัน ได้ให้ความหมายใหม่ว่า เป็นภาวะที่บุคคลมีลักษณะทางเพศของทั้งชาย และหญิงในร่างเดียวกัน เช่น มีอวัยวะสืบพันธุ์ที่ไม่ตรงกับเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ และนิยามนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มบุคคลที่มีภาวะดังกล่าวในเวลาต่อมาด้วย

 

A — Asexual

คำว่า ‘Asexual’ ถูกนิยามโดย แมกนัส เฮิร์ชเฟลด์ (Magnus Hirschfeld) นักเพศศาสตร์ชาวเยอรมัน ในช่วงปลายทศวรรษ 1890 เพื่ออธิบายถึงบุคคลที่ไม่มีความต้องการ หรือแรงดึงดูดทางเพศ ตั้งแต่นั้นมา Asexual ได้กลายเป็นศัพท์ที่ใช้กันทั่วไป ทั้งในวงการแพทย์ และสังคม โดยหมายถึงคนที่อาจรู้สึกถึงความรักในเชิงอารมณ์ แต่ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ หรือไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับใครหรือเพศใดก็ตาม

ในปัจจุบัน Asexual เป็นที่ยอมรับว่า เป็นอัตลักษณ์ทางเพศรูปแบบหนึ่งในสเปกตรัมความหลากหลายทางเพศ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่กว้างขึ้น เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศของมนุษย์นั่นเอง

 

+ — Plus

การเคลื่อนไหวด้านสิทธิ และความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบัน ได้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลให้ผู้คนหันมาสำรวจ และเข้าใจอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองมากขึ้น ทำให้เกิดการนิยามอัตลักษณ์ทางเพศใหม่ๆ ที่นอกเหนือจาก LGBTQIA อยู่เสมอ 

เครื่องหมาย ‘+’ ที่ต่อท้ายตัวย่อเหล่านี้ จึงถูกใช้เพื่อสื่อถึงความเป็นไปได้อันหลากหลาย และไม่มีที่สิ้นสุดของอัตลักษณ์ทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง

รู้จักเพศวิถีอื่น นอกเหนือจาก LGBTQIA+

รู้จักเพศวิถีอื่น นอกเหนือจาก LGBTQIA+

ต่อมา มารู้จักเพศวิถีรูปแบบอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก LGBTQIA+ เพื่อทำความเข้าใจในความหลากหลายของเพศทางเลือกที่แท้จริง ดังนี้

 

Non – Binary

Non-Binary คือกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศนอกเหนือจากการแบ่งเพศแบบทวิลักษณ์ (Binary) ที่จำกัดเพียงชายและหญิง Non-Binary จะไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นเพศชาย หรือเพศหญิงโดยเฉพาะ อาจรู้สึกว่าตัวเองมีลักษณะของทั้งสองเพศหรือไม่มีเพศใดเลย และมองว่าเพศเป็นสเปกตรัมที่มีความหลากหลายมากกว่าแค่สองขั้ว (ชาย-หญิง)

โดยแนวคิดนี้ เป็นการท้าทายระบบเพศแบบดั้งเดิม ที่เชื่อว่ามีเพียงสองเพศ และเรียกร้องการยอมรับในความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศที่อยู่นอกกรอบแบบเดิมด้วย 

 

Pansexual

คำว่า ‘Pan’ มาจากภาษากรีก แปลว่า ‘ทั้งหมด’ สะท้อนถึงการเปิดกว้างต่อทุกเพศสภาพ Pansexual จึงเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ ที่หมายถึงบุคคลที่มีความสนใจทางเพศ หรือมีความรู้สึกโรแมนติกต่อผู้อื่น โดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพ สามารถรู้สึกดึงดูดต่อคนจากทุกอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ว่าจะชาย หญิง นอนไบนารี และเพศสภาพอื่นๆ Pansexual มองว่าบุคลิกภาพ และคุณสมบัติของคนๆ หนึ่ง สำคัญกว่าเพศสภาพ Pansexual จึงเป็นอัตลักษณ์ที่แสดงถึงความเปิดกว้าง และการยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างไม่มีขีดจำกัดนั่นเอง

 

Two-spirit

คำว่า ‘Two-spirit’ มีรากฐานมาจากของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน ที่ไว้ใช้ยกย่องผู้ที่มีบทบาทพิเศษในสังคม เช่น เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ หรือผู้ประกอบพิธีกรรมสำคัญ

ปัจจุบัน Two-spirit หมายถึง บุคคลที่มีทั้งลักษณะความเป็นชายและหญิงในคนเดียวกัน ทั้งด้านจิตวิญญาณ และการแสดงออก โดยเป็นแนวคิดที่แสดงถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศในวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนพื้นเมือง เป็นอัตลักษณ์ทางเพศ และบทบาททางสังคม ที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองอเมริกันหลายเผ่าในอดีตเลยทีเดียว 

 

Questioning

Questioning เป็นผู้ที่ยังไม่แน่ใจ หรือกำลังค้นหาความเข้าใจเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ หรือเพศสภาพของตัวเอง อยู่ในกระบวนการตั้งคำถาม และสำรวจความรู้สึก ความต้องการ และการแสดงออกทางเพศของตัวเอง เป็นช่วงเวลาของการเปิดใจยอมรับความเป็นไปได้ต่างๆ เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ และการยอมรับว่าอัตลักษณ์ทางเพศอาจเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาได้ในอนาคต

Questioning เป็นส่วนสำคัญของการค้นพบตัวตน และเป็นกระบวนการที่ควรได้รับการเคารพ และสนับสนุน โดยไม่เร่งรัดให้ต้องนิยามตัวเองอย่างชัดเจน หรือถาวร

 

LGBTQIA+ กับสิทธิมนุษยชน

‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 2 ที่ระบุว่า “ทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพ โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ สีผิว เพศ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง พื้นเพทางสังคม ทรัพย์สิน ถิ่นกำเนิด หรือสถานะอื่นใด”

ในอดีต กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มักถูกบังคับให้ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมดั้งเดิม เช่น การถูกให้แต่งงานกับเพศตรงข้าม เพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล หรือรักษาเกียรติของครอบครัว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ตกเป็นเหยื่ออีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สังคมในปัจจุบัน ได้เริ่มเปิดกว้าง และยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่มากขึ้นต่อความซับซ้อนของอัตลักษณ์ทางเพศของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศรู้สึกได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ยังช่วยสร้างสังคมที่เปิดกว้าง และเท่าเทียมสำหรับทุกคนอีกด้วย

 

พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ความสำเร็จครั้งใหญ่ของชาว LGBTQIA+

พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ความสำเร็จครั้งใหญ่ของชาว LGBTQIA+

พ.ร.บ. คู่ชีวิต นิยามคู่รัก LGBTQIA+ เป็น ‘คู่ชีวิต’ โดยให้สิทธิ และสวัสดิการแค่บางประการเท่านั้น ไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม นิยามคู่รัก LGBTQIA+ เป็น ‘คู่สมรส’ ให้สิทธิ และสวัสดิการเท่าเทียมกับคู่สมรสทั่วไป โดยยึดหลักความเสมอภาค ไม่มีการแบ่งแยกใดๆ ซึ่งครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • กรณีการหมั้น ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ (มาตรา 1435)
  • กรณีการสมรส ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นกรณีพิเศษที่ศาลอนุญาต (มาตรา 1448)
  • กรณีการจดทะเบียนสมรส ต้องแสดงความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน (มาตรา 1458)
  • กรณีการหย่า ต้องจดทะเบียนหย่าเพื่อให้มีผลสมบูรณ์ (มาตรา 1515)
  • การจัดการทรัพย์สิน และหนี้สินร่วมกัน
  • สิทธิรับสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส
  • การให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล
  • การเป็นผู้อนุบาล หรือผู้พิทักษ์ (มาตรา 1463)
  • การอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส (มาตรา 1598/38)
  • การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

 

เมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีผลบังคับใช้ในอีก 120 วันข้างหน้า หรือในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2568 นั่นเอง

เพราะความคิดนั้นเปลี่ยนยาก การเกิดขึ้นของ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจึงถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่มากให้กับประเทศไทย เพราะขนบธรรมเนียมแบบไทยๆ ที่ขึ้นชื่อว่ายึดแต่แนวคิดเดิมๆ การที่ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมถูกยอมรับในเชิงกฎหมายจึงถือเป็นความหวังให้กับชาว LGBTQIA+ หลายๆ คน ว่าประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่อีกระดับนั่นเอง

 

สรุป

แม้ว่าในปัจจุบัน จะมีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่เราก็ยังมีภารกิจอีกมากมาย ที่ต้องทำเพื่อสร้างสังคม ให้สังคมปราศจากการเลือกปฏิบัติ หรืออคติใดๆ ต่อกลุ่ม ชาว LGBTQIA+ โดยการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เราทุกคนมีแนวคิด และเคารพในความแตกต่างของคนอื่น เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี และเท่าเทียมนั่นเอง

Cheewid ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ ที่เป็นช่องทางให้ทุกๆ คนได้ร่วมบริจาค เพื่อเป็นแรงสนับสนุนในการเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQIA+ เพื่อที่จะสร้างโลกแห่งความหลากหลาย ที่ผู้คนไม่มีอคติต่อกันและกัน 

 

Reference:

  1. Amnesty. ทำไมสัญลักษณ์ LGBTQ จึงเป็นสีรุ้ง. amnesty.or.th. Published 23 June 2021. Retrieved 30 September 2024.
  2. อธิเจต มงคลโสฬศ. LGBT+ โลกนี้มีความหลากหลายมากกว่าชาย-หญิง. thaipbs.or.th. Published 31 May 2024. Retrieved 30 September 2024.
  3. BBCNEWS. LGBT: เรื่องราวในอดีตของความหลากหลายทางเพศที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้. bbc.com. Published 4 June 2021. Retrieved 30 September 2024.
  4. CENTRALinspirer. ทำความรู้จักเทศกาล Pride Month ทำไมต้องสีรุ้ง?. central.co.th. Published 12 June 2024. Retrieved 30 September 2024.
  5. THEMOMENTUM. The ABCs of LGBTQIA+ ค้นหาความหมายภายใต้ ‘ความหลากหลาย’ ทางเพศ. themomentum.co. Published 11 June 2022. Retrieved 30 September 2024.
  6. กรุงเทพธุรกิจ. เปิดตัวย่อ “LGBTQIA+” คืออะไร มาจากไหน . central.co.th. Published 5 June 2022. Retrieved 30 September 2024.
  7. ไทยรัฐ. “สมรสเท่าเทียม” คืออะไร ประโยชน์ที่ LGBTQIA+ จะได้รับมีอะไรบ้าง?. thairath.co.th. Published 16 June 2022. Retrieved 30 September 2024.

องค์กรเพื่อสังคมที่เกี่ยวข้อง

logo - inskru

insKru ขับเคลื่อนการศึกษาไทยผ่านพลังของคุณครู

เราเปิดพื้นที่รวบรวมไอเดีย กิจกรรม สื่อ เทคนิคการสอน ที่แบ่งปันโดยคนในคอมมูนิตี้ ส่งต่อแรงบันดาลใจสนับสนุน และเติมพลังใจซึ่งกันและกัน
banner - a-chieve
logo - a-chieve

a-chieve

a-chieve อยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักตัวเองรอบด้าน ออกแบบเส้นทางชีวิต และไปต่อได้ด้วยใจที่แข็งแรง
Laline Space (บ้านละลายสี)
Laline Space

Laline Space (บ้านละลายสี)

Laline Space(บ้านละลายสี) ธุรกิจเพื่อสังคมที่สร้างพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ในจังหวัดนครราชสีมา โมุ่งเน้นไปที่กระบวนการศิลปะรูปแบบที่ออกแบบขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมความเป็นตัวตนของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

วิชานอกเส้น

วิชานอกเส้น

วิชานอกเส้น คือองค์กรผู้ผลิตสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ที่มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนการศึกษาให้ไร้ข้อจำกัดทุกประเภท เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีจุดสิ้นสุด เพราะมันไม่มีเส้น

ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์

ห้องสมุดแมวหางกิ้นส์

พื้นที่ทำกิจกรรมและจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนในชุมชนจ.อุบลราชธานี ใช้วรรณกรรม ศิลปะ ธรรมชาติและอื่นๆ เป็นเครื่องมือ เราทำห้องสมุดในพื้นที่ส่วนตัวจากความฝันของคนเล็กๆ โดยไม่มีทุนสนับสนุนจากองค์ใดๆ