สำหรับสวัสดิการที่ผู้พิการได้รับในปัจจุบันยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่พอสมควร เพราะยังมีผู้พิการส่วนมากไม่ได้ลงทะเบียนเพื่อทำบัตรคนพิการ สาเหตุนั้นอาจจะมาจากการไม่ได้รับข่าวสาร หรือผู้พิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่มีผู้ที่สามารถช่วยเหลือ หรือทำธุระแทนได้ โดยผู้พิการมีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการที่มาจากรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกคนพิการ
คนพิการคืออะไร แบบไหนที่เรียกว่าเข้าข่ายผู้พิการ
คนพิการ คือผู้ที่มีความผิดปกติ หรือมีความบกพร่องบนร่างกาย จิตใจ หรือสติปัญญา ซึ่งมีการแบ่งประเภทของคนพิการออกเป็น 9 ประเภท ดังนี้
- บุคคลที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น ก็คือบุคคลที่ไม่สามารถใช้สายตาได้ตามปกติ หรือสูญเสียการมองเห็นจนรักษาไม่ได้ ซึ่งได้แก่ คนตาบอด คือไม่สามารถมองเห็นได้อีกเลย และคนตาบอดบางส่วน คือยังสามารถมองเห็นได้บ้าง
- บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ปัญหาของผู้พิการทางการได้ยิน คือไม่สามารถฟังเสียงได้เหมือนคนปกติ หรือสูญเสียการได้ยินในระดับน้อย จนถึงระดับรุนแรง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ คนหูหนวก คือไม่สามารถได้ยินเสียงเลย ซึ่งอาจจะเป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือเป็นในภายหลังก็ได้ และคนหูตึง คือยังได้ยินเสียงอยู่บ้างเล็กน้อย
- บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา คือบุคคลที่มีพัฒนาการช้ากว่าคนปกติ ไม่ว่าจะเป็นทางอารมณ์ ภาษา ร่างกาย สังคม อย่างเช่น การสื่อสาร หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น
- บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และสุขภาพ คือบุคคลที่สูญเสียอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไป ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ ซึ่งสาเหตุของความบกพร่องนี้ อาจมาจากปัญหาทางระบบประสาท ปัญหาทางระบบกล้ามเนื้อ และกระดูก ปัญหาไม่สมประกอบมาตั้งแต่กำเนิด หรือปัญหาทางระบบร่างกายและสุขภาพอื่นๆ เช่น เกิดจากอุบัติเหตุ โรคติดต่อ เป็นต้น
- บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ปัญหาของผู้พิการทางด้านการเรียนรู้ คือผู้ที่มีปัญหาทางด้านการอ่าน การฟัง การคำนวณ การใช้เหตุผล หรือทางด้านความคิด ซึ่งเกิดจากภาวะทางสมองที่ทำงานผิดปกติ ส่วนมากจะเกิดขึ้นในวัยเด็ก เช่น เด็กบางคนไม่สามารถเข้าใจตัวเลขได้ เป็นต้น
- บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและการใช้ภาษา คือผู้ที่มีปัญหาในเรื่องของการออกเสียงพูด เช่น จังหวะการพูดที่เร็วกว่าคนปกติ ซึ่งรวมถึงปัญหาในเรื่องของความเข้าใจ และการสื่อสารด้วย
- บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ ปัญหาของผู้พิการทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ คือผู้ที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากบุคคลทั่วๆ ไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ ส่งผลให้ไม่เป็นที่ยอมรับภายในสังคม
- ออทิสติก คือผู้ที่มีพัฒนาการทางด้านสังคม พฤติกรรม ภาษา การสื่อสาร จินตนาการ และอารมณ์ต่างไปจากคนปกติ ซึ่งสาเหตุมาจากสมองบางส่วนทำงานผิดปกติไป
- บุคคลที่มีความพิการซ้ำซ้อน คือผู้ที่มีความบกพร่องหลายแบบ ซึ่งอาจจะมีตั้งแต่ 2 แบบขึ้นไป เช่น มีความบกพร่องทางด้านร่างกายร่วมกับความบกพร่องทางด้านสติปัญญา เป็นต้น
การเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ในการจัดการบริการสาธารณะ
จากข้อมูลคนพิการประเทศไทยพบว่า การปฏิบัติต่อคนพิการในไทยนั้น ไม่ว่าจะหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน ก็ต่างให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ทั้งการบริการสาธารณะ และสาธารณูปโภค เช่น มีการสร้างถนนให้แก่ผู้พิการ มีเลนถนนสำหรับวีลแชร์ เพื่อให้ผู้พิการใช้งานได้อย่างสะดวก หรือเลนที่มีอักษรเบรลล์บนพื้น สำหรับผู้พิการทางสายตา หรือการมี Priority Seat ตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้สิ่งอำนวยความสะดวกจะพอมีอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมมากพอ จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้พิการด้วยกันเอง อีกทั้งสภาพแวดล้อมยังไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของผู้พิการ จึงพูดได้ไม่เต็มปากว่า สวัสดิการของผู้พิการในประเทศไทยอยู่ในจุดที่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้พิการง่ายขึ้น
แต่ทั้งนี้ ในต่างประเทศกลับมีการให้สิทธิ์แก่ผู้พิการอย่างหลากหลาย และแตกต่างกันไป เช่น ประเทศออสเตรเลีย มีกฎหมายห้ามกีดกันการจ้างงานสำหรับผู้พิการ หรือประเทศอังกฤษ ที่มีการสนับสนุนทางด้านการศึกษาให้กับผู้พิการ โดยสามารถขอทุนจากรัฐบาล หรือมหาวิทยาลัยได้ หรือที่ประเทศอเมริกา ที่ออกแบบอาคารให้เป็นลักษณะ Universal Design เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการในทุกกระบวนการการใช้ชีวิต เป็นต้น
บัตรคนพิการ มีสวัสดิการอะไรบ้าง
สำหรับผู้ที่เข้าข่ายคนพิการในไทย จะต้องได้รับสวัสดิการต่างๆ จากทางภาครัฐ เพื่อให้การใช้ชีวิตของผู้พิการเป็นไปอย่างราบรื่น แล้วบัตรคนพิการ ให้สวัสดิการอะไรบ้าง มาดูกันเลย
- เบี้ยคนพิการ สำหรับผู้พิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จะมีสิทธิขอรับเบี้ยคนพิการ 800 บาท/เดือน โดยเงินนี้จะจ่ายภายในวันที่ 10 ของแต่ละเดือน ถ้าหากผู้พิการมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็สามารถขอรับได้ทั้งเบี้ยคนพิการ และเบี้ยผู้สูงอายุเลย
- ช่วยเหลือด้านกฏหมาย เป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้พิการ ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย มีการจัดหาทนายความให้ การจัดทำนิติกรรมสัญญา การให้ความรู้ทางกฎหมาย การให้ความช่วยเหลือในทางคดี หรือการไกล่เกลี่ย และประนีประนอมยอมความ
- ผู้ช่วยคนพิการ ผู้พิการสามารถยื่นคำขอใช้บริการผู้ช่วยคนพิการ เพื่อให้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้สะดวก สำหรับผู้พิการที่เป็นผู้เยาว์ ผู้ดูแลคนพิการสามารถยื่นคำขอแทนได้
- สวัสดิการด้านอาชีพ ในภูมิภาคต่างๆ จะมีบริการศูนย์ฟื้นฟูอาชีพสำหรับผู้พิการ มีการอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้พิการ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้พิการ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป
- สวัสดิการด้านการศึกษา ผู้พิการจะได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งผู้พิการสามารถรับบริการนี้ได้ที่ศูนย์การศึกษาประจำจังหวัด โรงเรียน หรือสถานศึกษาต่างๆ
- ลดหย่อนค่าขนส่งสาธารณะ ผู้พิการจะต้องแสดงบัตรประจำตัวคนพิการต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อลดหย่อนค่าขนส่งสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า BTS รถไฟฟ้า MRT บขส. และขสมก.
- บริการล่ามภาษามือ สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยเฉพาะคนหูหนวก สามารถขอรับบริการล่ามภาษามือได้ ซึ่งยื่นได้ที่สมาคมคนหูหนวก พมจ. ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน หรืออบต.
- สิทธิทางการแพทย์ ผู้พิการที่มีบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการได้ที่สาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง เพื่อไปใช้สิทธิบริการทางแพทย์ ได้แก่ การตรวจวินิจฉัย การแนะแนวให้คำปรึกษา การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น
- สวัสดิการที่อยู่อาศัย สำหรับสวัสดิการที่อยู่อาศัย ผู้พิการจะได้รับบริการการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก โดยอัตราตามกฎหมาย เหมาจ่ายคนละไม่เกิน 20,000 บาท
สิทธิผู้พิการ ที่ผู้พิการไม่เคยรู้
รู้หรือไม่? สิทธิของคนพิการในไทยไม่ได้มีเพียงแค่เบี้ยคนพิการเท่านั้น แต่ยังสามารถขอรับสิทธิอื่นๆ ได้อีกหลายอย่าง เพื่อให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น แล้วมีสิทธิอะไรบ้าง มาดูกันเลย
รับบริการผู้ช่วยคนพิการ
สิทธิของผู้พิการที่สำคัญ คือบริการผู้ช่วยคนพิการ เพื่อให้ผู้พิการสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างสะดวกมากขึ้น อย่างเช่น ล่ามภาษามือ โดยสามารถขอให้มาช่วยได้ในเรื่องการสมัครงาน การร้องทุกข์ การสัมมนา หรือการฝึกอบรม เป็นต้น ซึ่งติดต่อขอรับบริการได้ที่ชมรม-สมาคมของคนพิการทางการได้ยิน หรือติดต่อได้ที่ศูนย์บริการคนพิการของจังหวัดที่ผู้พิการอาศัยอยู่
นอกจากนี้ยังมี Service Animal ที่มีหน้าที่นำทางแก่คนพิการทางการมองเห็น คอยช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน รับฟังเสียง และคอยเตือนยามเกิดเหตุร้าย หรือคอยช่วยเหลือในด้านอื่นๆ เช่น เปิดประตู และหยิบของให้ โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีการใช้สุนัชช่วยเหลือค่อนข้างน้อย เพราะกฏหมายยังไม่ครอบคลุม และพื้นที่สาธารณะยังไม่ค่อยอำนวยความสะดวกมากเท่าไร
มีสิทธิ์ขอลดหย่อนภาษี
ผู้ดูแลคนพิการ สามารถใช้สิทธิในการเป็นผู้ดูแลคนพิการไปขอลดหย่อนภาษีได้คนละ 60,000 บาท หรือผู้พิการที่อายุไม่เกิน 65 ปี ก็สามารถใช้สิทธิขอลดหย่อนภาษีของตนเองได้ไม่เกิน 190,000 บาท
มีการช่วยเหลือทางกฏหมาย
โดยคณะกรรมการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติว่าด้วยการช่วยเหลือทางกฎหมาย และการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ กำหนดให้ผู้พิการได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ได้แก่ คดีปกครอง คดีแรงงาน คดีอาญา คดีแพ่ง หรือคดีทรัพย์สินทางปัญญา
มีบริการสาธารณะที่เข้าถึงผู้พิการ
ตามประกาศกฎกระทรวง จัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการภายในสถานที่ อาคาร ยานพาหนะ รวมถึงบริการขนส่ง เพื่อให้ผู้พิการทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก และใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
เข้าถึงการศึกษาจนจบปริญญาตรีฟรี
หรับทางด้านการศึกษา ผู้พิการสามารถเข้าถึงการศึกษาจนจบปริญญาตรีฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งยังสามารถขอรับการศึกษาที่บ้านได้ด้วยเช่นกัน
ข้าถึงเทคโนโลยีและการสื่อสาร
ผู้พิการสามารถยืมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เพื่อนำไปเป็นสื่อการเรียนรู้ พัฒนาความสามารถ หรือเพื่อเป็นประโยชน์ในการเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ มือถือ เครื่องช่วยฟัง โดยสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม แต่สำหรับผู้พิการที่อยู่ต่างจังหวัดให้ติดต่อได้ที่สำนักงานสถิติจังหวัด หรือสมาคมคนพิการ ที่ผู้พิการนั้นสังกัดอยู่
ขั้นตอนการทำบัตรคนพิการ
การที่ผู้พิการจะได้รับสวัสดิการจากรัฐนั้น สิ่งที่สำคัญคือจะต้องลงทะเบียนเพื่อทำบัตรคนพิการก่อน มาดูกันว่ามีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องเตรียม และมีขั้นตอนการทำบัตรอย่างไรบ้าง
เอกสารที่ต้องเตรียม
เอกสารประกอบการยื่นคำขอบัตรประจำตัวคนพิการ มีดังนี้
- บัตรประจําตัวประชาชน
- บัตรประจําตัวข้าราชการ
- สูติบัตรสําหรับบุคคลอายุต่ำกว่า 15 ปี
- หนังสือรับรองการเกิดตามแบบที่กรมการปกครองกําหนด
- ทะเบียนบ้านของผู้พิการ
- รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป
- เอกสารรับรองความพิการ
- สภาพความพิการเป็นที่เห็นได้โดยประจักษ์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน
เอกสารประกอบการยื่นคำขอบัตรประจำตัวคนพิการ สำหรับผู้ดูแลดำเนินการแทน มีดังนี้
- หนังสือรับรองการเป็นผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 1 ฉบับ
- สำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับรอง พร้อมรับรองสําเนา จำนวน 1 ฉบับ
- สำเนาบัตรประชาชนของบุคคลที่ดำเนินการแทน
- หนังสือมอบอำนาจ เป็นหลักฐานว่าได้รับมอบจากคนพิการ
ขั้นตอนการทำบัตร
- ผู้พิการเข้ารับการตรวจ เพื่อขอรับเอกสารรับรองความพิการที่โรงพยาบาล
- ผู้พิการ หรือผู้ดูแล นำเอกสารยื่นเจ้าหน้าที่ ณ ศูนย์บริการคนพิการ
- เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกข้อมูล ออกบัตรประจำตัวคนพิการ
- ยื่นบัตรขึ้นทะเบียน
- รอรับสิทธิเบี้ยความพิการ
สรุป
ประเภทของคนพิการ ที่แบ่งออกเป็น 9 ประเภท สำหรับการปฏิบัติต่อคนพิการในไทยนั้น ไม่ว่าจะหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน ก็ต่างให้ความสำคัญกับการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการ แต่โดยรวมแล้ว สวัสดิการยังไม่ดีเท่าที่ควร ยังเกิดความเหลื่อมล้ำอยู่มาก อาจเพราะคนพิการในไทยไม่ได้รับข่าวสารอย่างทั่วถึง จึงไม่ได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง ซึ่งแตกต่างจากต่างประเทศที่สวัสดิการสำหรับคนพิการนั้นมีความทั่วถึง รับรู้ความต้องการของคนพิการ และมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ไม่กีดกันเรื่องการจ้างงาน แต่ทั้งนี้ การทำบัตรคนพิการก็ยังมีข้อดี คือช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้พิการ ช่วยแบ่งเบาภาระ และค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
Cheewid ร่วมสนับสนุนโครงการและองค์กรเพื่อสังคมที่ให้ความช่วยเหลือผู้พิการมาโดยตลอด ทั้งให้โอกาสในการทำงาน การศึกษา และที่อยู่อาศัย เพื่อผู้พิการที่ไม่มีโอกาสได้รับสิ่งเหล่านี้จากรัฐ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิการได้ใช้ชีวิตที่ดีขึ้น
เราขอเป็นความช่วยเหลือผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้ผู้คนมีการตระหนักรู้ถึงปัญหา และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน
Reference
- สมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล. ความพิการ 9 ประเภท. http://www.apdi2002.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=1249861. Published 13 May 2009. Retrieved 19 February 2024.
- Young Matter. Equality for Disability สำรวจแต่ละประเทศให้สิทธิผู้พิการกันอย่างไร. https://thematter.co/social/equality-disability/28643. Published 7 July 2017. Retrieved 19 February 2024.
- วรัตม์กิตติ์ สหคลินิก.ทําบัตรคนพิการ ได้ที่ไหนบ้าง มีขั้นตอนยังไงและสิทธิประโยชน์ที่ได้รับมีอะไรบ้าง. https://www.varatmkittclinic.com. Retrieved 19 February 2024.
- กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. บัตรประจำตัวคนพิการ. https://www.dep.go.th/th/rights-welfares-services/register-disabled-person-id-card. Retrieved 19 February 2024.
- กรุงเทพธุรกิจ. สิทธิพื้นฐาน ที่ผู้พิการละเลย. https://www.bangkokbiznews.com/social/553. Published 3 July 2018. Retrieved 19 February 2024.