Key Takeaway
|
“เด็ก” เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม ดังนั้นสิทธิเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักรู้ เพราะสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นส่วนที่ช่วยสร้างให้เด็กๆ สามารถเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งจะสร้างให้เด็กกลายเป็นอนาคตที่เข้มแข็งของชาติต่อไปได้
สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก สิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจและให้ความสำคัญ
เด็กทุกคนมีสิทธิโดยสมบูรณ์ (Absolute Rights) ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งเป็นสิทธิที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถละเมิดสิทธิเด็กได้ ดังนั้นสิทธิของเด็กจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีความรู้และความเข้าใจ โดยสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กมี 4 ประการ ดังนี้
1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival)
เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอด โดยไม่ว่าเด็กจะเกิดมาภายในสภาพความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายหรือจิตใจ สิทธิของเด็กทุกคนคือต้องได้รับการดูแลทั้งทางด้านสุขอนามัย และสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำเนินชีวิต โดยจะต้องมีสันติภาพ ความปลอดภัย และปราศจากจากอันตราย ความรุนแรงทุกชนิด
2. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development)
การพัฒนาอย่างเหมาะสมตามช่วงวัยเป็นสิทธิเด็กที่จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาความรู้ ร่างกาย อารมณ์ ตลอดจนสภาพจิตใจอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการของช่วงวัย จะต้องได้รับการศึกษาในสถานศึกษาอย่างเหมาะสม ได้รับประทานอาหารที่ดีต่อการเจริญเติบโต และได้รับการดูแล คุ้มครองภายใต้ครอบครัวที่ปลอดภัย
3. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)
การปกป้องคุ้มครองเด็กให้พ้นจากภัยและอันตรายทุกชนิด เป็นสิทธิเด็กที่เด็กทุกคนควรจะได้รับ ซึ่งจะเป็นการคุ้มครองเด็กให้พ้นจากความรุนแรง การทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ การใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนการคุ้มครองป้องกันเด็กจากการหาผลประโยชน์อันมิชอบในตัวเด็ก
4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation)
สิทธิการมีส่วนร่วมเป็นสิทธิเด็กที่สำคัญเช่นเดียวกันกับสิทธิอื่นๆ ที่ไม่ควรละเลย โดยเด็กทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วม สามารถแสดงออกและได้รับการตอบสนองที่เหมาะสมจากผู้ใหญ่ และสามารถมีส่วนในการแสดงความคิดเห็นและมีส่วนในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเรื่องที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวของเด็กเอง
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
เด็ก เป็นมนุษย์คนหนึ่งและเป็นพลเมืองในสังคมที่ควรจะได้รับสิทธิ การคุ้มครองและการดูแลในชีวิตความเป็นอยู่เช่นเดียวกันกับทุกคนในสังคม ซึ่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้กล่าวถึงการปกป้องและคุ้มครองเด็กในด้านต่างๆ ดังนี้
- เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและดูแลให้ปลอดภัยจากความรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่อร่างกายและจิตใจ หรือการทอดทิ้ง และการกระทำอื่นๆ ที่มิชอบและสร้างโทษให้แก่เด็ก
- สิทธิของเด็กควรจะได้รับการคุ้มครองจากการพยายามแสวงหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กได้รับผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ การศึกษา หรือสำนึกที่ชอบด้านศีลธรรมและความเป็นพลเมืองของสังคม
- สิทธิเด็กในการได้รับการคุ้มครองจากการใช้สิ่งผิดกฎหมายหรือสารเสพติดที่ให้โทษต่อประสาท โดยเป็นการคุ้มครองเด็กออกจากการถูกบังคับให้ผลิตหรือค้า
- เด็กมีสิทธิจะได้รับการคุ้มครองจากการละเมิดสิทธิเด็กทางด้านเพศ และการกระทำที่มิชอบหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก
- เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองและป้องกันให้พ้นจากการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ การลักพาตัว การใช้แรงงานเด็ก และการละเมิดสิทธิเด็กรวมไปถึงการใช้ความรุนแรง
- เด็กทุกคนควรจะได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพในชีวิตและความเป็นอยู่ เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิเด็ก และเพื่อมิให้ผู้ใดมาแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กในทุกๆ ด้าน
- การได้รับการดูแลและฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจเป็นสิทธิของเด็กที่จะได้รับ หากเด็กเคยเผชิญกับความยากลำบาก หรือได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยเด็กจะต้องได้รับการดูแล เยียวยา และฟื้นฟูเพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติและปลอดภัย
- เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในทุกๆ ขั้นตอนของการพิจารณาคดี จะต้องถือว่าประโยชน์และสิทธิของเด็กคือสิ่งสูงสุดที่จะต้องให้ความสำคัญ
- หากเด็กถูกพลัดพรากจากครอบครัว เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลและเลี้ยงดูอย่างเหมาะสมกับตัวของเด็ก ทั้งการดูแลตามภูมิหลังเดิมทางชาติพันธุ์ ภาษา สังคมและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง
- ในกรณีที่เกิดภาวะสงครามสิทธิของเด็กคือการถูกคุ้มครองเพื่อไม่ให้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสงคราม เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองและดูแลให้ปลอดภัยจากการสู้รบ ไม่ถูกเกณฑ์หรือนำไปสู่การร่วมมือในสงคราม
- เด็กที่เป็นผู้ลี้ภัยมีสิทธิของเด็กที่จะได้รับการดูแลและคุ้มครองภายใต้หลักสิทธิและการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมที่เหมาะสม ตามที่ได้ระบุในอนุสัญญาฯ
สิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อสิทธิอันชอบธรรมของเด็ก
ประเทศไทยได้มีการกำหนดแนวทางเฉพาะเพื่อการพิจารณาถึงสิทธิอันชอบธรรมของเด็ก พ.ศ. 2549 โดยแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่การพิจารณาเพื่อสิทธิประโยชน์สูงสุดของเด็กและเพื่อป้องกันความไม่ชอบธรรมที่อาจเกิดขึ้นต่อเด็ก ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณามีด้วยกัน 17 ข้อ ดังนี้
- ลักษณะเฉพาะตัวของเด็กแต่ละบุคคล
- ความเหมาะสม ความต้องการ และความจำเป็นของเด็ก
- ประโยชน์ของเด็กทางด้านร่างกาย พัฒนาการในการเจริญเติบโต สุขภาพ การดูแลเพื่อสุขภาวะที่เหมาะสม การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการพักผ่อนที่ดี
- ประโยชน์ของเด็กทางด้านสติปัญญา การได้รับการศึกษา ข้อมูล ความรู้และเล่าเรียนที่เหมาะสมต่อพัฒนาการและช่วงวัย ได้เรียนรู้เพื่อการพัฒนาประสบการณ์จริง การลองปฏิบัติเพื่อการเรียนรู้
- ประโยชน์เพื่อเด็กจะได้รับการพัฒนาทางด้านอารมณ์และจิตใจ ได้รับการเลี้ยงดู การเอาใจใส่ และการอบรมที่เหมาะสมและเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของเด็ก และเพื่อสร้างให้เด็กเรียนรู้ที่จะแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่างๆ เพื่อการอยู่ในสังคมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
- ประโยชน์ที่เด็กจะได้ดำเนินชีวิตในสังคมและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อชีวิต เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตที่ดีต่อร่างกายและจิตใจ
- ประโยชน์เพื่อการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้และการเข้าใจวัฒนธรรม ศีลธรรม จริยธรรมและศาสนา เพื่อการดำเนินชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่น
- การเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อการเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ การประกอบอาชีพที่เหมาะสมต่อความถนัด ตามความสามารถ เพศและวัย
- เพื่อให้เด็กได้รับผลประโยชน์สูงสุด ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องมีการประสานงานกันอย่างรวดเร็วและถูกต้อง
- คุ้มครอง ป้องกันเด็กจากความรุนแรงทุกชนิดทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งต่อร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงการละเมิดสิทธิเด็กทางด้านเพศ และการถูกทอดทิ้ง
- ให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์เด็ก อาทิ กลุ่มเด็กชายขอบ เด็กด้อยโอกาส เด็กถูกทอดทิ้ง กลุ่มเด็กพิการบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา หรือกลุ่มเด็กที่จะต้องได้รับการช่วยเหลือ
- คุ้มครองเด็กให้พ้นจากการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบทั้งทางเศรษฐกิจ การทำงาน หรือแสวงประโยชน์อื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายและผลกระทบด้านลบต่อเด็ก
- ป้องกัน คุ้มครอง ไม่ให้เด็กถูกละเมิดสิทธิเด็กในด้านความเป็นส่วนตัวจากการเผยแพร่ทางสื่อ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง การดำเนินชีวิต
- ให้เด็กได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานต่างๆ ที่ควรจะได้รับในสังคม เพื่อประโยชน์สูงสุดและสิทธิของเด็ก
- เด็กจะต้องได้รับการพิทักษ์สิทธิ์เพื่อให้เด็กยังคงได้รับผลประโยชน์ตามสิทธิเด็กที่ควรจะได้รับ และเมื่อเด็กต้องเผชิญกับปัญหาจะต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อสามารถทำให้เด็กสามารถจัดการกับปัญหาและสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ
- เพื่อประโยชน์ของเด็ก สิทธิของเด็กคือการให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำหรับเรื่องที่มีผลกระทบต่อเด็ก
กฎหมายห้ามกระทำการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิเด็ก
เนื่องจากเด็กยังนับว่าเป็นผู้เยาว์ที่จะต้องได้รับการคุ้มครองและการดูแลอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการกระทำต่างๆ ที่จะทำต่อเด็กนั้นจะต้องระวังอย่างยิ่งเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่เด็กยินยอมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทั้งครอบครัวและคนในสังคมเองสามารถช่วยดูแลและป้องกันไม่ให้เด็กถูกละเมิดสิทธิได้ ดังนี้
ผู้ปกครองไม่ควรทำเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็ก
- ไม่ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานพยาบาล หรือไว้กับบุคคลอื่น โดยที่มีเจตนาที่จะทอดทิ้งเด็กและไม่มารับเด็กคืน
- ละทิ้งเด็กโดยไม่จัดการดูแลสวัสดิภาพของเด็กอย่างเหมาะสม
- จงใจ ละเลย ให้เด็กดำเนินชีวิตโดยขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีพ หรือไม่ดูแลสุขอนามัยให้แก่เด็ก
- ขัดขวาง หรือปฏิเสธที่จะให้เด็กได้เจริญเติบโตอย่างเหมาะสมทั้งทางร่างกาย จิตใจ พัฒนาการ และสติปัญญา
- ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ
บุคคลทั่วไปไม่ควรทำเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็ก
- กระทำความรุนแรงหรือทารุณกรรมต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก
- ละเลย จงใจ ไม่ให้สิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตแก่เด็ก หรือไม่ให้การดูแลรักษาพยาบาลแก่เด็กในการดูแลของตน จนอาจนำไปสู่อันตรายและชีวิตของเด็ก
- บังคับ ข่มขู่ ให้เด็กทำพฤติกรรมที่ไม่สมควร รวมไปถึงการยินยอม และไม่ห้ามปรามให้เด็กทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ
- เผยแพร่หรือทำการโฆษณาทางสื่อ เพื่อการรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติของเด็ก ยกเว้นแต่ได้รับการยอมรับหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการ
- บังคับ ขมขู่ หรือหลอกลวง ชักจูงให้เด็กไปเป็นขอทาน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือเพื่อการขอทาน และแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบจากตัวของเด็ก
- จ้าง หรือให้เด็กทำงานที่อันตราย หรืองานที่อาจจะส่งผลต่อการเติบโตของเด็ก
- บังคับ ข่มขู่ หรือส่งเสริมให้เด็กเล่นกีฬาเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า ที่จะขัดขวางพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก
- ห้ามใช้หรือส่งเสริม ยินยอม ให้เด็กยุ่งเกี่ยวกับการพนัน หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน ตลอดจนสถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก
- บังคับ ข่มขู่ ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดง หรือกระทำการในลักษณะที่ลามกอนาจาร เพื่อแลกมาด้วยค่าตอบแทน หรือข้อแลกเปลี่ยนใดๆ ก็ตาม
- ห้ามจำหน่าย หรือแลกเปลี่ยนสุรา บุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่เป็นการปฏิบัติเพื่อการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น
บทบาทของครอบครัวในการคุ้มครองสิทธิเด็ก
ครอบครัวนับได้ว่าเป็นส่วนสำคัญในการดูแลบุตรหลาน ช่วยคุ้มครองสิทธิเด็ก และส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ ดังนั้นครอบครัวจึงต้องดูแล ใส่ใจ ให้ความอบอุ่นแก่เด็กและบุตรหลานภายในครอบครัว
โดยจะต้องดูแลให้เด็กได้รับสิ่งพื้นฐานเพื่อการดำเนินชีวิตอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ต้องได้รับการดูแลทางอารมณ์จิตใจและสติปัญญา ซึ่งครอบครัวจำเป็นที่จะต้องอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้ดำเนินชีวิตบนทางที่ถูกต้อง สนับสนุนให้เด็กเรียนรู้ที่จะใช้ความคิด ตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถามและรู้จักแสดงความคิดเห็นอย่างถูกต้องต่อสถานการณ์ต่างๆ
และสำคัญที่สุดครอบครัวจะต้องใส่ใจและให้ความรัก ความอบอุ่นแก่บุตรหลาน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว ซึ่งจะส่งผลทำให้เด็กเติบโตมาด้วยสภาพอารมณ์และจิตใจที่มั่นคง
บทบาทของสังคมในการคุ้มครองสิทธิเด็ก
ปัจจุบันสังคมไทยต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงหลากหลายอย่างทั้งจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยีและวัฒนธรรม ความเป็นเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น เกิดการพลัดถิ่นและย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมือง อีกทั้งความเป็นโลกาภิวัตน์ จึงทำให้ค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมเปลี่ยนตามไป เกิดวัฒนธรรมย่อยและค่านิยมใหม่ๆ มากมาย
ซึ่งในบางครั้งค่านิยมใหม่ๆ อาจเป็นค่านิยมที่ผิดเพี้ยนและส่งผลกระทบทำให้สังคมเสื่อมเสีย เกิดปัญหาสังคม การละเลยและทอดทิ้งผู้หญิงและเด็กที่มากขึ้น บวกกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจึงทำให้ทุกอย่างถูกเผยแพร่ไปได้ง่ายและรวดเร็ว หากนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้องก็จะส่งผลเสียอย่างมากมาย เช่น การเผยแพร่ภาพและวิดีโอการใช้ความรุนแรง สื่อลามกและพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ผิดพลาด และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ
บทบาทของสังคมในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิเด็ก เพื่อเสริมสร้างให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้อง คือ การที่ทุกคนในสังคมต้องสนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม อบรม ดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมจะต้องมีการตักเตือนอย่างเหมาะสม และสร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้องให้แก่เด็ก รวมไปถึงช่วยเด็กในการเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเอง และรับมือกับสถานการณ์คับขันอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยลดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศและสิทธิเด็ก ลดปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง และความรุนแรง ตลอดจนช่วยฟื้นฟูและดูแลให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างปลอดภัย
ตัวอย่างสถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กในปัจจุบัน
ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมาอย่างยาวนาน แม้จะมีการรณรงค์และพยายามสร้างความตระหนักรู้ แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กก็ยังคงมีอยู่มากในสังคมไทย โดยการละเมิดสิทธิเด็กที่พบให้ได้บ่อยในปัจจุบันมีดังต่อไปนี้
การทำร้ายร่างกาย
ในปัจจุบันพบว่าเด็กกว่า 1,700 ล้านคนทั่วโลก กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง รายงานโดย Know Violence in Childhood ได้รายงานผ่านรายงานประจำปี Ending Violence in Childhood แสดงให้เห็นว่ามีเด็กจำนวนมากที่ยังคงตกอยู่ในความยากลำบากจากความรุนแรง และการโดนล่วงละเมิดทางเพศ
ซึ่งในประเทศไทยเองพบว่าเด็กกว่าร้อยละ 56 ก็กำลังเผชิญกับปัญญาการถูกละเมิดสิทธิเด็ก การใช้ความรุนแรงทั้งทางด้านร่างกายและทางเพศ ในปี พ.ศ. 2556-2562 พบว่า มี 1,186 กรณีการใช้ความรุนแรงโดย 482 กรณี เป็นการใช้ความรุนแรงต่อเด็กโดยบุคคลอื่นเป็นผู้กระทำ มี 464 กรณี คือการใช้ความรุนแรงในเด็กด้วยกันเอง 135 กรณี เป็นการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และอีก 105 กรณี เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบุคลากรในสถานศึกษา
ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีทั้งความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย การเจริญเติบโต พัฒนาการ และจิตใจ ที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองกำลังเผชิญอยู่ในความอันตราย และไร้ความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
การล่วงละเมิดทางเพศ
การล่วงละเมิดทางเพศ เป็นการละเมิดสิทธิเด็กที่ร้ายแรงและรุนแรงอย่างยิ่ง หากแต่ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศยังคงมีอยู่เรื่อยไปในสังคมไทย โดยพบว่า เด็กและเยาวชนมากกว่า 1,000 คน เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ และมีอีกมากกว่า 50 % ที่ไม่แจ้งความหรือดำเนินคดี อีกทั้งยังมีมากกว่า 100 รายที่ถูกนำไปค้าประเวณี เปรียบเทียบได้ว่าในแต่ละวัน จะมีเด็กอย่างน้อย 1 คน ที่ตกเป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ
สาเหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนมากมายถูกหลอกล่อและกลายเป็นเหยื่อของการละเมิดทางเพศนั่นเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ มีผู้ก่อเหตุมากมายที่ล่อลวงให้เด็กและเยาวชนต้องกลายเป็นเหยื่อของสื่อลามกอนาจาร ถูกล่อลวงให้เด็กส่งภาพเรือนร่างของตนเอง หรือถูกล่อลวงไปกระทำชำเราโดยที่เด็กไม่ยินยอม หรือไม่รู้ถึงภัยที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง
ซึ่งเป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่งเพราะผู้ที่ก่อเหตุมักเป็นคนใกล้ตัวของเด็ก ญาติ หรือคนในครอบครัวได้เช่นกัน
การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก
สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม เด็กเองก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคมที่มีสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิด ความเห็น แสดงออกทางคำพูดและอารมณ์ได้ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในสังคม แต่ในสังคมเด็กมักถูกผลักให้กลายเป็นชายขอบของสังคม ถูกระบบชนชั้นของสังคมกดขี่จากช่วงอายุที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มีระบบอาวุโส และวลีอย่าง “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” จึงทำให้ในหลายๆ ครั้ง ความคิดเห็นของเด็กถูกปิดกั้นจากคนในสังคม หรือครอบครัวเองก็อาจมีส่วนในการละเมิดสิทธิเด็กทางด้านการแสดงออกอย่างไม่รู้ตัว จากการเลี้ยงดูและการไม่ส่งเสริมให้เด็กได้มีสิทธิพูดหรือคิดเห็นตามความคิดของตนเองได้
ซึ่งการลิดรอนสิทธิเด็กทางด้านการแสดงออกนี้เป็นภัยเงียบต่อตัวเด็กมากกว่าที่เราคิด เพราะจะทำให้เด็กกลายเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ไม่มีประสบการณ์ และไม่กล้าตัดสินใจ หรือกังวลใจเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตัดสินใจทำอะไรด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตทางความคิดในอนาคตได้
องค์กรที่ช่วยเหลือหรือสนับสนุนสิทธิเด็ก
ปัจจุบันมีหน่วยงานและองค์กรช่วยเหลือสตรีและเด็กมากมายที่เข้ามาทำหน้าที่และมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ และป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย โดยองค์กรและมูลนิธิที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่องค์กรดังต่อไปนี้
มูลนิธิผู้หญิง
มูลนิธิผู้หญิง เป็นมูลนิธิมีบทบาทและหน้าที่ในการช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและผู้หญิงที่เผชิญกับปัญหาและความยากลำบากในการดำรงชีวิต จากการละเมิดสิทธิเด็กและสตรี อาทิ ช่วยเหลือกลุ่มเด็กและผู้หญิงที่ถูกทารุณกรรมและใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวและสังคม ช่วยเหลือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ตลอดจนกลุ่มเด็กและสตรีที่ถูกลิดรอนสิทธิพื้นฐานและถูกกดขี่จากระบบสังคม
มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี
มูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรีมีส่วนช่วยสังคมในการให้ความช่วยเหลือและดูแลกลุ่มเด็กและสตรีที่ถูกทำร้ายและโดนกระทำความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การล่วงละเมิดทางเพศ และรวมไปถึงกลุ่มเด็กและสตรีที่เป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ การค้าแรงงาน และรวมไปถึงการค้าประเวณี ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่และรุนแรงอย่างมากในสังคม
มูลนิธิพิทักษ์สตรี
มูลนิธิพิทักษ์สตรีมีบทบาทในการช่วยเหลือกลุ่มเด็กและสตรี ให้อยู่สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ปราศจากการคุกคาม และความรุนแรงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ รวมไปถึงปกป้องให้เด็กและสตรีห่างไกลจากการบังคับ ข่มขู่เพื่อการล่วงละเมิดทางเพศ หรือแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการค้าประเวณี การค้ามนุษย์ หรือการขืนใจเพื่อการแต่งงาน และการตั้งครรภ์
เพื่อมุ่งหวังให้สังคมมีความปลอดภัยและปราศจากอันตรายในการอยู่อาศัย โดยมูลนิธิพิทักษ์สตรีมีการก่อตั้งทั้งในประเทศไทยและประเทศในเขตภูมิภาค เช่น ลาว และเวียดนาม ด้วยเช่นกัน
มูลนิธิเพื่อนหญิง
มูลนิธิเพื่อนหญิง มีความมุ่งหวังในการช่วยเหลือ ดูแล และบรรเทากลุ่มเด็กและสตรีที่พบกับปัญหาการคุกคามทางเพศ การละเมิดสิทธิเด็กและสตรี เป็นมูลนิธิที่ให้ความดูแลในด้านกฎหมายสำหรับการร้องทุกข์ ให้ความช่วยเหลือทางด้านสังคมสงเคราะห์แก่ผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาภัยคุกคามต่างๆ ในการดำเนินชีวิต
คณะภคินีศรีชุมพาบาลแห่งประเทศไทย
คณะภคินีศรีชุมพาบาลแห่งประเทศไทยถูกก่อตั้งโดยกลุ่มนักบวชที่มุ่งหวังในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรี โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ชายขอบของสังคม ที่ถูกกดขี่และถูกละเมิดสิทธิเด็กและสตรี ให้ได้รับการช่วยเหลือและดูแลอย่างเท่าเทียม อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้กลุ่มเด็กและสตรีต้องเผชิญกับความรุนแรง การล่วงละเมิด และการทอดทิ้ง ตลอดจนมุ่งหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อระงับการเกิดการค้ามนุษย์ และการค้าประเวณีทุกรูปแบบ
สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์
สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีบทบาทในการส่งเสริมกลุ่มสตรีมีอาชีพ รายได้ และมีคุณภาพชีวิตอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกันในสังคม อีกทั้งยังมีการส่งเสริมเพื่อการพัฒนาศักยภาพกลุ่มสตรี ควบคู่กับการส่งเสริมทางด้านประเพณีและวัฒนธรรมเพื่อให้กลุ่มสตรีไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาชาติ
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ มีบทบาทในการรณรงค์เพื่อความเสมอภาคและเพื่อไม่ให้กลุ่มสตรีถูกลิดรอนสิทธิ เนื่องจากผู้หญิงมากมายกำลังเผชิญกับความทุกข์ยากจากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น ปัญหาการละเมิดทางเพศจากครอบครัว และคนภายนอก ตลอดจนปัญหาความรุนแรง และความไม่ปลอดภัยในชีวิต โดยสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ เป็นองค์กรแรกที่มีการทำบ้านพักพิงชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรีที่ประสบกับวิกฤติชีวิต อีกทั้งยังมีการจัดทำงานพัฒนา ส่งเสริม ฝึกอาชีพ ให้แก่เยาวชนและกลุ่มสตรี
มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี
มูลนิธิกลุ่มปรารถนาดี เป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือกลุ่มเยาวชนหญิงและสตรี ที่ไร้โอกาสที่ดีในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา โอกาสในการทำงาน ตลอดจนขาดคุณภาพชีวิตที่ดี มีการจัดอบรมและส่งเสริมอาชีพ เพื่อการสร้างรายได้และสร้างเสริมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยมูลนิธิมุ่งทำงานในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอุบลราชธานี ในเขตภาคอีสาน เพื่อมอบโอกาสให้มีทางเลือกในการดำเนินชีวิต
สรุป
ปัญญาการละเมิดสิทธิเด็ก ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในทุกๆ วันจะมีเด็กอย่างน้อย 1 คน ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ส่งผลต่อสภาวะความมั่นคงของจิตใจ และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโต ซึ่งอาจทำให้ในอนาคตเด็กและเยาวชนไม่สามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติในสังคมได้ ดังนั้นสังคมจึงต้องสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิเด็กให้มากยิ่งขึ้น และช่วยกันสนับสนุนองค์กรและมูลนิธิต่างๆ เพื่อดำเนินกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชน ซึ่งสามารถสนับสนุนได้ผ่านทาง Cheewid ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนในสังคมจะสามารถปฏิบัติและส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อที่เด็กจะได้กลายมาเป็นอนาคตที่สดใสของประเทศไทย
Reference
- คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ความรู้ทางกฎหมายหลากหลายและเข้าใจง่าย ชุดที่8: “หลักการคุ้มครองสิทธิเด็กภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับประโยชน์สูงสุดของเด็ก”. law.tu.ac.th. Published on 24 February 2023. Retrieved 26 February 2025.
- ไทยรัฐออนไลน์. ทุกๆ วัน เด็กและเยาวชน หนึ่งคนถูกล่วงละเมิดทางเพศ. thairath.co.th. Published on 15 December 2013. Retrieved 27 February 2025.
- มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก. ร่วมปกป้องและคุ้มครองเด็ก ตามสิทธิเด็ก. thaichildrights.org. Published on 23 October 2023. Retrieved 26 February 2025.
- มูลนิธิพิทักษ์สิทธิเด็ก. บทบาทของแม่ในการปกป้องลูกให้ปลอดภัย. thaichildrights.org. Published on 16 April 2015. Retrieved 27 February 2025.
- มูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว. สิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก 4 ประการ. fordecthai.org. Retrieved 26 February 2025.
- มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์. 4 สิทธิเด็กที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ. sosthailand.org. Retrieved 26 February 2025.
- มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์. 10 สิ่งที่ห้ามกระทำต่อเด็ก ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม. sosthailand.org. Retrieved 26 February 2025.
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. กฎหมายสิทธิเด็ก. thaihealth.or.th. Published on 15 November 2010. Retrieved 26 February 2025.
- Amnesty International Thailand. “ละเมิดสิทธิหนูทำไม?”…เสียงเล็กๆ ที่ถูกมองข้ามในสังคมไทย. Published on 30 April 2021. Retrieved 27 February 2025.