สุขภาพจิตที่ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันท่ีเต็มไปด้วยความวุ่นวายน่าวิตกกังวล บทความนี้มีคำแนะนำดีๆ วิธีสังเกตตัวเองง่ายๆ พร้อมวิธีดูแลแก้ไข พร้อมทั้งแนะนำแหล่งช่วยเหลือและปรึกษาปัญหาจิตใจ จะมีอย่างไรบ้าง ตามมาดูไปพร้อมกันได้เลย
ความหมายของการมีสุขภาพจิตที่ดี
สุขภาพจิตที่ดี คือ การที่สุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตใจที่เป็นสุข มีความรู้สึกดีต่อตนเอง มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ การมีสุขภาพจิตที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ปัญหาสุขภาพจิตคืออะไร มีอะไรบ้าง?
ปัญหาสุขภาพจิต คือ ปัญหาที่เกิดจากความไม่มั่นคงทางจิตใจ โดยมีสาเหตุจากความคิด อารมณ์ สารเคมีในสมอง รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อสภาพอารมณ์ สภาพจิตใจ การแสดงออกของพฤติกรรมต่างๆ ตลอดจนปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า หมดไฟ ซึ่งปัญหาสุขภาพถือเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ และต้องร่วมกันแก้ไข เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
ข้อสังเกตผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต
ปัญหาสุขภาพจิตในแต่ละบุคคลมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกัน โดยสามารถทำ แบบทดสอบภาวะซึมเศร้า เพื่อตรวจสภาพจิตใจเบื้องต้นก่อนได้ เนื่องจากเป็นแบบประเมินตนเองที่พัฒนาจาก แบบสอบถามสุขภาพผู้ป่วย (Patient Health Questionnaire: PHQ-9) ส่วนขั้นตอนการประเมินทางการแพทย์ ตลอดจนการรักษา ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต หรือคิดว่าต้องการผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือ อาจต้องเข้าพบแพทย์เพื่อยืนยันอาการที่แน่นอน หรือหากอยากขอคำปรึกษาสุขภาพจิตขั้นต้น ก็สามารถติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สายด่วนกรมสุขภาพจิต เพื่อขอคำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเพิ่มเติมได้ โดยทั่วไปแล้ว หากอยากทราบว่ามีปัญหาด้านสุขภาพจิตหรือไม่ อาจลองสังเกตได้จาก 3 อาการ ดังนี้
-
อาการทางด้านร่างกาย
อาการทางด้านกาย คือ การเจ็บป่วยทางกาย หรือเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตไม่ดี เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด และอาการซึมเศร้า ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ เช่น นอนไม่หลับ ใจสั่น ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ท้องเสีย หรืออ่อนเพลียจนไม่มีแรง ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิต
-
อาการทางด้านอารมณ์ และพฤติกรรม
อาการทางด้านอารมณ์ และพฤติกรรม คือ อาการเจ็บป่วยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม หรือสภาวะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกระทบสุขภาพจิต เช่น เครียด เศร้า พูดน้อยลง อ่อนไหว ฟุ้งซ่าน ซึ่งเป็นอาการที่อาจเป็นสัญญาณว่ามีสุขภาพจิตไม่ดี และอาจทำให้เกิดเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตใจได้
-
อาการทางจิตใจ
อาการทางจิตใจ คือ สภาวะการปรับตัวไม่ทันจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม หรืออาจเกิดจากเหตุการณ์ และประสบการณ์ในอดีต ทำให้ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ ความคิด หรือการตัดสินใจ เพราะบางคนมีภาวะเครียดง่าย หรือเครียดยากแตกต่างกันออกไป เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็มีวิธีรับมือที่แตกต่างกัน จนนำไปสู่การมีสุขภาพจิตที่ไม่ดี และมักมีความเครียด กังวล ซึมเศร้า หรืออารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคมได้เช่นกัน
ปัญหาสุขภาพจิตไม่ดีเกิดจากอะไร?
ปัญหาสุขภาพจิตมีปัจจัย หรือสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป โดยสามารถแบ่งปัญหาของสุขภาพจิตไม่ดี ออกเป็น 4 ปัจจัยได้ ดังนี้
-
ปัจจัยทางด้านร่างกาย
ปัจจัยทางด้านร่างกาย อาจเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมเช่นเดียวกับโรคต่างๆ อย่างโรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง เป็นต้น รวมถึงความพิการ และความเครียดที่เกิดจากการทำงานหนักที่ใครหลายคนมักเป็นกัน ปัจจัยเหล่านี้นอกจากส่งผลต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตใจ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตไม่ดีได้
-
ปัจจัยด้านจิตใจ
ตามทฤษฎีของมาสโลว์ ในเรื่องความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ มีด้วยกัน 5 หลัก คือ
- ความต้องการด้านร่างกาย เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
- ความมั่นคงปลอดภัยในเรื่องการใช้ชีวิต
- ความมีชื่อเสียง และการเป็นที่รู้จักของคนในสังคม
- ความต้องการความรักจากคนรอบกาย เช่น ครอบครัว เพื่อน
- ความประสบความสำเร็จในหน้าที่ การงาน
อย่างไรก็ตาม ความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ อาจไม่ได้สมหวังกันทุกคน และเมื่อไม่สมหวัง ก็ทำให้เกิดเป็นความไม่สบายใจ เกิดความทุกข์ทั้งด้านร่างกายไปจนถึงด้านจิตใจ ส่งผลให้กลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตไม่ดีได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า นอนไม่หลับ วิตกกังวล ไม่มีความสุข เป็นต้น
-
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม คือ สภาวะสิ่งแวดล้อม หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือการเกิดสิ่งต่างๆ ที่อาจทำให้คนเรารับมือไม่ทัน เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ หรือแม้แต่ปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และการศึกษา เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลทำให้เกิดสุขภาพจิตไม่ดีตามมา
-
ปัจจัยด้านความสามารถในการปรับตัว
ปัจจัยด้านความสามารถในการปรับตัว คือ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การเรียนที่ต้องปรับตัวกับเพื่อน การทำงานที่ต้องปรับตัวกับสังคมการทำงาน ในทุกสังคมมีวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างกัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการปรับตัว เมื่อไม่สามารถปรับตัวไม่ได้ หรือเกิดปัญหาขัดแย้งกัน ก็อาจส่งผลต่อสภาพอารมณ์ และปัญหาสุขภาพจิตไม่ดีเช่นกัน ซึ่งปัจจัยด้านความสามารถในการปรับตัวนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่
สุขภาพจิตไม่ดี ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง?
ปัญหาสุขภาพจิตส่งผลกระทบหลายด้านทั้งระดับตัวบุคคล ไปจนถึงระดับสังคม ปัญหาเหล่านี้มาจากการสะสมอารมณ์ และความเครียด จนกลายเป็นสุขภาพจิตไม่ดีที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจในหลายๆ ด้าน
-
ผลกระทบในระดับตัวบุคคล
ปัญหาสุขภาพจิตไม่ดี ส่งผลเสียตั้งแต่ระดับตัวบุคคล เช่น คนมีปัญหาสุขภาพจิต ส่งผลให้เกิดความเครียด ขาดสมาธิ ความคิดเปลี่ยนแปลงตามอารมณ์ ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น โรคซึมเศร้า ความวิตกกังวล และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ เบื่อหน่าย น้ำหนักลดลง หรืออาการเหนื่อย อ่อนเพลีย และไม่มีแรง
-
ผลกระทบในระดับสังคม
ปัญหาสุขภาพจิตไม่ดีในระดับสังคม เกิดจากระดับตัวบุคคลในปริมาณมากจนกระจายไปสู่ระดับสังคม ส่งผลตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา โดยกระทบต่อความสามารถในการเรียนรู้ เช่น เกิดความกดดัน ความเครียดสะสม การขาดสมาธิ ซึ่งทำให้ไม่สามารถรับมือกับปัญหา หรือการเปลี่ยนแปลงได้ดีเท่าที่ควร ในวัยทำงานก็อาจกระทบในเรื่องของความสัมพันธ์ การไม่พอใจในตนเอง อาการหมดไฟ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ทำให้องค์กร หรือหน่วยงานไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ รวมถึงผู้สูงอายุเองก็มีอาการ ซึม นอนไม่หลับ และอารมณ์ที่แปรปรวน ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา ส่งผลให้เกิดปัญหาในการดูแล และรับมือจากทางครอบครัว ผู้ดูแล หรือหน่วยงานสาธารณะสุขที่เพิ่มมากขึ้น
สถิติของผู้ป่วยสุขภาพจิตในสังคมไทย
สถิติของผู้ป่วยสุขภาพจิตในสังคมไทย โดยงานวิจัยจาก Mintel กล่าวว่า สุขภาพจิตของคนไทยต่างประสบปัญหา เช่น ความเครียด (46%) นอนไม่หลับ (32%) วิตกกังวล (28%) รวมถึงการทำงาน และการเรียน (48%) โดยเฉพาะ Gen Z ช่วงอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่มักมีความกดดันจากความสำเร็จ หรือความสมบูรณ์แบบที่พบเห็นได้ในโซเชียลมีเดีย ทำให้ชาวไทยที่มีอายุน้อย มักมีปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ดี เช่น อาการซึมเศร้า รู้สึกไม่พอใจในตนเอง และความวิตกกังวล เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้หญิงไทยอายุ 18-34 ปี เกือบ 1 ใน 3 (31%) ต้องสร้างความมั่นคงในหน้าที่การงาน การเงิน และความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อเทียบผู้ชายในวัยเดียวกัน (17%) จึงส่งผลให้ผู้หญิงมีอาการหมดไฟได้ง่ายกว่า
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า คนเมืองมีแนวโน้มมีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าคนชนบท เนื่องจากการทำงานที่กดดัน มีการแข่งขัน และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ต้องรับภาระต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้สุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตไม่ดีตามไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของผู้หญิงที่มีปัญหาสุขภาพจิตมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากภาระต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
แนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต
แนวทางการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต สามารถเริ่มต้นได้ที่ตัวเองง่ายๆ ที่ผู้อ่านสามารถลองทำตามได้ เพื่อการมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี
1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ส่งผลดีต่อสุขภาพกาย และช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตที่ดีได้ โดยมีแนวทางปฏิบัติง่ายๆ ดังนี้
- การออกกำลังกาย เวลาที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนโดรฟิน หรือสารแห่งความสุขที่ช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย ปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น จึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิตที่ดี
- พักผ่อนให้เพียงพอ ควรให้ร่างกายได้พักผ่อนได้เต็มที่ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากหากพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลต่ออารมณ์โดยตรง เช่น หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ อ่อนเพลีย จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
- ผ่อนคลายความเครียด ในแต่ละวันควรมีเวลาอย่างน้อยสัก 30 นาที เพื่อให้ร่างกาย และจิตใจได้ผ่อนคลาย โดยอาจลองทำ Social Detox หางานอดิเรก หรือกิจกรรมที่ทำแล้วมีความสุขทำ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือเดินเล่นกับสัตว์เลี้ยง
- ลองฝึกสมาธิ การฝึกสมาธิจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยจัดระเบียบความคิด และอารมณ์ ไม่ให้ฟุ้งซ่านมากเกินไป อีกทั้งช่วยให้เรารู้ทันอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น โดยสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนั่งสมาธิ การกำหนดลมหายใจเข้า-ออก การฝึกฟังเสียง หรือมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เพื่อให้ตัวเองอยู่กับปัจจุบัน ช่วยให้ไม่คิดฟุ้งซ่านถึงอดีต หรืออนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น
- ไม่ควรเก็บปัญหาไว้คนเดียว หากเกิดปัญหา และเกินกำลังจะแก้ไข ก็ควรปรึกษาครอบครัว หรือคนรอบข้าง เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ถ้าไม่อยากเล่าให้คนรอบข้างฟัง ก็สามารถเลือกพูดคุยกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำปรึกษาได้เช่นกัน
2. การสร้างพลังงานบวกให้กับตัวเอง
การสร้างพลังบวกให้กับตัวเองเป็นสิ่งดี เพราะส่งผลต่อความคิดตัวเราเองเป็นอย่างมาก เมื่อเรามีพลังบวกที่ดี ก็จะทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ โดยสามารถฝึกได้ด้วยตัวเอง ดังนี้
- การมองโลกในแง่ดี เป็นการสร้างพลังบวกในการใช้ชีวิต เพื่อให้พร้อมรับมือกับสิ่งต่างๆ ต่อไปได้ ในทางกลับกันหากเรามองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป ก็อาจส่งผลต่ออารมณ์ให้มีแต่ด้านลบ
- ปล่อยวางเรื่องในอดีต และใส่ใจกับปัจจุบัน เรื่องในอดีตก็มีทั้งดี และไม่ดี หากยังยึดติดกับเรื่องในอดีต ก็มีแต่จะทำให้เกิดความคิดฟุ้งซ่าน อารมณ์ติดลบ จึงควรปล่อยวางอดีต และใส่ใจกับปัจจุบัน คนรอบข้าง สิ่งรอบตัว และโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนสนิท โดยการใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
- แบ่งปันให้กับผู้อื่น เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ โดยการแบ่งปันสิ่งดีๆ อาจเริ่มจากสิ่งเล็กๆ เช่น คำพูด การให้กำลังใจ หรือการช่วยเหลือผู้อื่นที่สร้างความรู้สึกดีกับตัวเองในการแบ่งปันครั้งนี้
- อย่าลืมที่จะตั้งเป้าหมายในชีวิต การใช้ชีวิตแบบไม่มีจุดมุ่งหมาย ก็อาจทำให้เกิดความเครียด ส่งผลให้สุขภาพจิตไม่ดี แต่หากเริ่มตั้งเป้าหมาย และมีเป้าหมายในชีวิต ก็จะทำให้ชีวิตมีกำลังใจ และพลังใจ เพื่อให้เกิดความอยากทำในสิ่งที่คาดหวังเอาไว้ให้สำเร็จ
นโยบายเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
นโยบายเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย ปัจจุบันมีรัฐบาล กรมสุขภาพจิต และกระทรวงสาธารณสุขที่มีหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต เช่น หน่วยบริการสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และสถาบันจิตเวชที่มีบุคลากรด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ และนักกิจกรรมบำบัด คอยให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต คอยช่วยเหลือ และดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงการมีระบบเพื่อนผู้เชี่ยวชาญ โดยให้ผู้มีประสบการณ์ตรง จากการอบรมขั้นพื้นฐานการดูแลสุขภาพจิต มาถ่ายทอดประสบการณ์ และให้ความรู้ที่ได้รับจากการอบรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังมีภาคประชาสังคม ภาคเอกชน หน่วยงาน หรือองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไรมากมาย เข้ามาให้ความช่วยเหลือ หรือจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคม
แนวทางส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี
ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้ทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพจิตให้ถูกต้อง ได้ด้วยวิธีการดังนี้
การประชาสัมพันธ์
การประชาสัมพันธ์ เป็นวิธีการที่ช่วยให้ข้อมูลความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับปัญหาเรื่องของสุขภาพจิตที่ดีว่าควรเป็นอย่างไร วิธีการรับมือ พร้อมทั้งวิธีดูแลสุขภาพจิต ซึ่งสามารถประชาสัมพันธ์ผ่านองค์กรต่างๆ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต โรงพยาบาล คลินิก และสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความตระหนักได้ดีมากยิ่งขึ้น
การสังเกตตัวเอง และคนใกล้ตัว
หลายครั้งคนเรามักแสดงอาการ หรือการกระทำบางอย่างที่ผิดแปลกไป ซึ่งกว่าจะรู้สึกตัว หรือนึกขึ้นได้ก็อาจสายเกินแก้ ดังนั้น การที่เราสังเกตตัวเอง และคนรอบข้างเป็นประจำ ไม่ว่าสุขภาพร่างกาย หรือสุขภาพจิต จึงสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้รับมือกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม และดูแลรักษาสุขภาพจิตได้ทันท่วงที
การสนับสนุนให้กับองค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การสนับสนุนให้กับองค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือว่ามีความสำคัญในการช่วยพัฒนา และส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ สามารถทำเพื่อสังคมต่อไปได้ โดยการสนับสนุนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น บริจาคเป็นเงิน หรือสิ่งของ การช่วยประชาสัมพันธ์โครงการ และการเป็นจิตอาสา เป็นต้น ซึ่งการสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยให้บุคคลอื่นๆ สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้มากขึ้น เช่น การเข้าปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ และส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีกับคนในสังคมได้ นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงาน และองค์กรที่เปิดรับบริจาค เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย ได้แก่
- กำแพงพักใจ แพลตฟอร์มสำหรับนักศึกษาในประเทศไทย เพื่อเข้ารับคำปรึกษาสุขภาพจิต ผ่านวิดีโอคอลโดยจิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ซึ่งในองค์กรเองก็มีการเปิดรับสมัครอาสาโครงการ รวมถึงการช่วยสมทบทุนโครงการอีกด้วย
- สถาบันสุขภาพจิตเด็ก และวัยรุ่นราชนครินทร์ คลินิกสุขภาพจิตสำหรับเด็ก และวัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 2-18 ปี โดยเป็นคลินิกที่ตรวจรักษา และให้คำปรึกษากับผู้ปกครอง เกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ และสามารถโทรปรึกษาได้ฟรีผ่านสายด่วนสุขภาพจิต นอกจากนี้ ทางงค์กรยังมีการเปิดรับบริจาคให้คนที่สนใจเข้าร่วมสมทบทุนได้
- มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตเวชฐานะยากจน ที่เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล รวมถึงสนับสนุนเครือข่ายชุมชนเรื่องการดูแล และมีกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย โดยทางมูลนิธิเองก็ยังเปิดรับสมทบทุน รวมถึงการบริจาคสิ่งอุปโภค และบริโภคอีกด้วย
- มูลนิธิสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง คือ มูลนิธิเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ไม่มีญาติ ไม่มีค่ารักษาพยาบาล โดยช่วยเหลือให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางมูลนิธิเองก็มีการเปิดให้สมทบทุน เพื่อช่วยเหลือค่ารักษา รวมถึงนำไปสนับสนุนการทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน
สรุป
การมีสุขภาพจิตที่ดีมีความสำคัญ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จนนำไปสู่ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตได้ ทุกคนจึงควรให้ความสำคัญ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงคนใกล้ชิดได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้อย่างเหมาะสม และเมื่อได้รับการรักษาสุขภาพจิตใจอย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะทำให้มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ และทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น โดยการช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ทุกคนสามารถทำได้ด้วยการสังเกตตัวเอง และคนรอบข้าง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสร้างพลังบวก รวมถึงสามารถช่วยร่วมส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีได้ด้วยการบริจาคให้แก่องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทำได้เช่นกัน
References
- ทิพวรรณ เมืองใจ. สุขภาพจิตที่เปลี่ยนไป กับสังคมที่เปลี่ยนแปลง. tci-thaijo.org. Published 20 November 2018. Retrieved July 27 2023.
- วิลาสินี ศิริบูรณ์พิพัฒนา. Attitudes towards Mental Health – Thai Consumer – 2022. Store.mintel.com. Retrieved July 27 2023.