กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยหรือที่หลายๆ คนมักเรียกกันว่าชนเผ่า มีในประเทศไทยตั้งแต่อดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 70 กลุ่ม และมีกลุ่มชนเผ่าที่เป็นกลุ่มชนชาวพื้นเมืองกว่า 38 กลุ่ม ซึ่งอาศัยอยู่ตามภาคต่างๆ ของประเทศไทยตั้งแต่ภาคเหนือเรื่อยมาจนถึงภาคใต้ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นที่จับตามองของรัฐบาลไทยและคนในสังคม เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลุ่มชนที่ไร้การพัฒนา บุกรุกพื้นที่ป่า หรือสร้างความเสียหายให้แก่ธรรมชาติ
ในบทความนี้ Cheewid จะพาไปดูว่าแท้จริงแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ เป็นผู้บุกรุกป่า สร้างความเสียหายให้แก่ธรรมชาติ ตามที่รัฐไทยได้สร้างวาทกรรมและหยิบยื่นความเป็นคนป่าคนดอยที่ไร้การพัฒนาให้แก่พวกเขาหรือไม่ อีกทั้ง Cheewid ยังขอเป็นสะพานที่จะเชื่อมต่อความช่วยเหลือไปยังองค์กรเพื่อสังคมที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ถูกต้อง และขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกันกับทุกชีวิต
ชนเผ่าในไทย คืออะไร
ชนเผ่า หรือ กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย คือกลุ่มของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย โดยพวกเขามักมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีวัฒนธรรมย่อยที่แตกต่างกันออกไป โดยความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ได้แก่ ความเชื่อ ประเพณี ภาษา ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ก็จะมีการสืบต่อและถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหนึ่ง และเผยแพร่ไปมากกว่า 6.1 ล้านคน
อีกหนึ่งวัฒนธรรมอันมีค่าที่ชนเผ่าในไทยหลายๆ กลุ่มสามารถรักษาและสืบทอดไว้ได้เป็นอย่างดีคือการส่งต่อให้หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ในกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับป่าและธรรมชาติรอบตัวได้ เนื่องจากตั้งแต่อดีต กลุ่มชนเผ่ามักพึ่งพาธรรมชาติในการเลี้ยงชีพ มีการเรียนรู้วิถีชีวิตที่สร้างความกลมกลืนไปกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และถึงแม้วันเวลาจะผ่านมานานขนาดไหน พวกเขาก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ของกลุ่มตนเองไว้ได้อย่างดี
9 ตัวอย่างชนเผ่าในไทย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่
ชนเผ่าในไทยแต่ละกลุ่มย่อมมีวัฒนธรรม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ถึงแม้ว่าพวกเขาอาจได้ชื่อว่าเป็นคนจากกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน มีเชื้อสายเดียวกัน แต่ถ้าอาศัยอยู่คนละเขตพื้นที่ก็จะทำให้พวกเขามีวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป โดยเราจะมาดูกันว่าความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของแต่ละกลุ่มมีอะไรบ้าง
1. ชนเผ่ากะเหรี่ยง
ชนเผ่ากะเหรี่ยงสืบเชื้อสายมาจากมองโกล ในอดีตมีการย้ายถิ่นฐานไปหลากหลายพื้นที่จากความขัดแย้ง โดยเริ่มจากการอพยพจากทิเบต มาที่มณฑลยูนานของจีน ไปสู่รัฐกะเหรี่ยง หรือคายิน ในประเทศพม่า จนมาสู่ประเทศไทย โดยชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในบรรดากลุ่มชนเผ่าในประเทศไทย ส่วนมากแล้วกลุ่มกะเหรี่ยงในไทยอาศัยอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และกระจายอยู่ในจังหวัดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
ถึงแม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากยังคงติดอยู่ตรงกลางระหว่างความเป็นคนไทยหรือการเป็นคนนอกกลุ่ม เนื่องจากการที่พวกเขาเคยอพยพมาจากเขตประเทศพม่า และย้ายไปมาเนื่องด้วยเหตุสงครามระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า แม้กะเหรี่ยงบางกลุ่มจะบอกว่าตนเองเป็นคนไทยเนื่องจากเกิดและเติบโตในแผ่นดินไทย แต่ด้วยอดีตที่ผ่านมาจึงทำให้บางครั้งพวกเขายังคงไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐไทย
-
การแต่งกาย
ลักษณะเด่นของชนเผ่ากะเหรี่ยงคือการแต่งกาย หลายคนอาจคุ้นเคยและรู้จักกับกลุ่ม “กะเหรี่ยงคอยาว” แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีคนในชนเผ่ากะเหรี่ยงบางกลุ่มที่ไม่ได้แต่งกายประดับด้วยห่วงที่คอ นั่นก็เพราะว่ากะเหรี่ยงคอยาว คือกลุ่มกะเหรี่ยงกะยัน หรือคะยัน ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของชนเผ่ากะเหรี่ยงที่เคยอาศัยอยู่ในรัฐกะยา ประเทศพม่าก่อนอพยพมาที่แม่ฮ่องสอนของไทย ดังนั้นกลุ่มกะเหรี่ยงในแต่ละกลุ่มย่อยจึงมีวัฒนธรรมการแต่งกายที่แตกต่างกันออกไป
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
ชาวกะเหรี่ยงมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับธรรมชาติ ตั้งแต่การหาเลี้ยงชีพไปจนถึงความเชื่อ ชาวกะเหรี่ยงส่วนมากมีการทำอาชีพทางกสิกรรม การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำสิ่งทอจากผลผลิตของพืชไม้ โดยมีการเรียนรู้และถ่ายทอดวิถีชีวิตระหว่างคนกับธรรมชาติไปสู่รุ่นต่อรุ่น
-
ความเชื่อของชนเผ่า
เนื่องด้วยความผูกพันร่วมกันกับธรรมชาตินี้เองทำให้ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากมีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ นับถือผีและวิญญาณบรรพบุรุษ มีการจัดพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันจะพบว่าชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากมีการนับถือศาสนาสากลมากขึ้น เช่น ศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธ และมีการปรับเปลี่ยนการแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาตามความเชื่อของแต่ละกลุ่มด้วยเช่นกัน
-
ข้อควรรู้
วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงยังคงมีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เพราะพวกเขาใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติมาอย่างยาวนาน จึงมีการแสดงออกที่ให้ความเคารพแก่พื้นที่ทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการไม่เข้าไปรุกล้ำในพื้นที่ป่าและใช้ทรัพยากรภายในป่าอย่างรู้คุณค่า เพราะยังคงมีบางส่วนที่เชื่อว่าป่ามีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นพื้นที่ที่ให้ชีวิตแก่พวกเขา
ในด้านของข้อห้ามระหว่างคนในชุมชนก็จะมีกฎของการอยู่ร่วมกัน คือ ห้ามเก็บหน่อไม้เกินกอละสามหน่อ ห้ามเก็บชะอมในฤดูฝน เป็นต้น
-
ปัญหาที่ชนเผ่ากะเหรี่ยงกำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
ปัจจุบันสิ่งที่เป็นประเด็นทางสังคมมาอย่างยาวนาน คือ ปัญหาระหว่างชาวกะเหรี่ยงบางกลอยกับรัฐบาลไทย โดยกะเหรี่ยงบางกลอยคือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่าแก่งกระจานมาอย่างยาวนานหลายชั่วอายุคน ก่อนการถูกประกาศให้กลายเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ชาวบ้านจึงถูกไล่ออกจาก “ใจกลางบางกลอย” หรือพื้นที่อยู่อาศัยเดิม เพราะรัฐบาลไทยต้องการให้เป็น “ป่าปลอดคน”
โดยรัฐบาลได้มีการจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้กับชาวกะเหรี่ยงบางกลอย แต่กลับทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยไม่สามารถใช้ชีวิตได้ดั่งเดิม เนื่องจากสภาพทางธรรมชาติที่เปลี่ยนไป พื้นที่ใหม่ไม่เอื้ออำนวยต่อสภาพการอยู่อาศัยและการทำมาหาเลี้ยงชีพ จึงทำให้ชาวบ้านบางส่วนพยายามที่จะหนีกลับไปอาศัยยังใจกลางบางกลอย สุดท้ายจึงทำให้เกิดเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างชนเผ่ากะเหรี่ยงบ้านบางกลอยและรัฐบาลไทยขึ้น อีกทั้งในด้านปัญหาสาธารณสุขพบว่าชาวกะเหรี่ยงหลายรายต้องเผชิญกับโรคไข้เลือดออก เนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่ใกล้กับพื้นที่ป่า ที่มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นจำนวนมาก
วิธีการแก้ไขปัญหาระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับรัฐบาลไทยนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการพูดคุยและเกิดข้อเรียกร้องที่ดำเนินไปตามหลักสากล เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงดีขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศชาติ ในขณะที่ด้านการดูแลสุขภาพเองก็ควรมีการประกาศ ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้ในเรื่องความอันตรายของไข้เลือดออก และมีการประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยสำรวจและดูแลสุขภาพของชาวกะเหรี่ยงเช่นกัน
2. ชนเผ่าลาหู่ หรือมูเซอ
ชนเผ่าลาหู่ หรือมูเซอ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์แต่เดิมอาศัยอยู่เขตพื้นที่ประเทศจีน ก่อนที่จะอพยพมายังเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า และมายังตอนเหนือของไทยที่มีเขตดินแดนติดกับประเทศพม่า โดยกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิมของพวกเขาเนื่องจากการรุกรานของจีน โดยกลุ่มลาหู่หรือมูเซอ ส่วนใหญ่ตั้งรกรากอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำปาง นอกจากนี้ยังพบว่าชาวลาหู่มักอาศัยปะปนไปกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ รวมไปถึงปะปนกับคนไทยด้วยเช่นกัน
-
การแต่งกาย
การแต่งกายตามประเพณีของชาวลาหู่อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่มย่อย เช่น บางกลุ่มจะมีการแต่งกายโดยชายและหญิงมักจะแต่งกายด้วยเสื้อแขนยาวคอกลมสีดำที่ตกแต่งด้วยลวดลายที่มีสีสัน หากแต่บนเสื้อของผู้ชายจะตกแต่งลวดลายเพียงเล็กน้อย หรือในกลุ่มลาหู่หรือมูเซอแดงจะแต่งกายโดยผู้หญิงจะนุ่งซิ่นสีดำที่มีลวดลายและสวมเสื้อคอกลมสีน้ำเงินตกแต่งลายแดง ในขณะที่ผู้ชายจะสวมชุดเสื้อคอกลมสีน้ำเงิน และกางเกงสีดำที่มีลวดลาย
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่มีวิถีชีวิตที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติ มีการประกอบอาชีพทางการเกษตร โดยมีความเชี่ยวชาญในการล่าสัตว์เป็นพิเศษ ในด้านของการตั้งถิ่นฐานชาวลาหู่มักตั้งบ้านเรือนบนดอยพื้นที่สูง เพราะเชื่อว่าการอยู่บนที่สูงจะทำให้อยู่เหนือกว่าผู้อื่น โดยภายในหมู่บ้านเองก็จะมีผู้ใหญ่บ้าน (คะแซ) พระและนักบวช (โตโบ) และช่างตีเหล็ก (จาหลี) ประเพณีที่ชาวลาหู่สืบทอดต่อกันมา นอกจากจะเป็นความรู้ทางด้านการกสิกรรมแล้ว ยังมีการสืบทอดการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน เช่น การเล่นลูกข่าง หรือการเป่าแคนของลาหู่ เครื่องดนตรีประจำเผ่าที่พวกเขามีความชำนาญ
-
ความเชื่อของชนเผ่า
ชาวลาหู่เดิมมีความเชื่อในเรื่องภูตผีวิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ โดยจะมีสถานที่ทางความเชื่อหรือวัดที่ชาวลาหู่เรียกกันว่า “หอแหย่” เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โดยชาวลาหู่จะมีประเพณีพิธีแซ่ก่อ หรือทรายก่อ ที่ทำขึ้นเพื่อการลบบาปที่พวกเขาทำไปโดยไม่ตั้งใจ และเพื่อเป็นการอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้การผลิตทางการเกษตรได้ผลดี แต่ในปัจจุบันชาวลาหู่มีการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์จากการเข้ามาของหมอสอนศาสนาชาวต่างชาติ
-
ข้อควรรู้
ชาวลาหู่หรือมูเซอมักมีเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางด้านการหาเลี้ยงชีพ โดยเชื่อว่าหากจะไปล่าสัตว์ไม่ควรนำผ้าถุงของผู้หญิงติดตัว เพราะจะทำให้การล่าสัตว์ไม่ราบรื่นและล่าได้น้อย และยังห้ามไม่ให้ผู้หญิงจับอุปกรณ์ อาวุธล่าสัตว์ของผู้ชาย เพราะจะทำให้อาวุธไม่แม่นมือได้
-
ปัญหาที่ชนเผ่าลาหู่หรือมูเซอกำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
ปัญหาใหญ่ที่ชาวลาหู่หรือมูเซอต้องเผชิญมาอย่างยาวนานคือ “อคติทางชาติพันธุ์” เนื่องด้วยแต่ก่อนพวกเขาเคยทำการปลูกและค้าขายฝิ่น ยาสูบ ตลอดจนพืชที่เป็นสารเสพติด เป็นพื้นที่เส้นทางชายแดนแห่งการค้าสารเสพติด ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนไปเป็นการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ และมีการทำลายเส้นทางการค้ายาเสพติดไปได้มากแล้ว แต่ภาพจำและอคติของความเป็นชนเผ่าในไทยที่เฟื่องฟูไปด้วยยาเสพติดนี้เองทำให้เป็นที่จับตาของรัฐบาลไทยเรื่อยมา
กรณีที่สะท้อนให้เห็นถึง “อคติทางชาติพันธุ์” ที่เด่นชัด คือ กรณีการเสียชีวิตของ “ชัยภูมิ ป่าแส” เยาวชนนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวลาหู่ ที่มักทำกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นนักเรียกร้องสิทธิ์ให้แก่ผู้ที่ไร้สัญชาติในประเทศไทย โดยการวิสามัญในชัยภูมิ ทางเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าเป็นเพราะเขาเป็นผู้ครอบครองยาเสพติด และในระหว่างที่ต่อสู้เพื่อจับกุมตัวนายชัยภูมิพยายามที่จะขัดขืนและต่อสู้โดยการพยายามเขวี้ยงปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านในที่เกิดเหตุที่ให้ข้อมูลที่ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าวันเวลาจะผ่านมานานแค่ไหน กรณีการเสียชีวิตของนายชัยภูมิ ป่าแส ก็ยังคงเป็นที่เคือบแคลงใจของผู้คนในสังคม ว่าแท้จริงแล้วการที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการวิสามัญนั้นเป็นเพราะการครอบครองยาเสพติด หรือเป็นเพราะว่าเขาเป็นเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่พยายามเรียกร้องสิทธิ์จากรัฐไทยให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์กันแน่
ในปัจจุบันพบว่าจากการเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงที่มาจากอคติทางชาติพันธุ์ได้ถูกคนในสังคมให้ความสนใจ และตระหนักถึงปัญหาสิทธิความเป็นมนุษย์ มีการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คนมากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้แบ่งแยกความเป็นชนกลุ่มน้อยหรือชนกลุ่มใหญ่ อีกทั้งยังมีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมากมายที่พร้อมจะเข้ามาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยด้วยเช่นกัน
3. ชนเผ่าลีซู หรือ ลีซอ
ชนเผ่าลีซูหรือลีซูก็เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยอีกหนึ่งชนเผ่าที่ย้ายรกรากมาจากประเทศจีน ในมณฑลยูนาน เนื่องด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ทำให้พวกเขาต้องอพยพไปอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ บ้างก็อาศัยพื้นที่สิบสองปันนา ในจีน หรืออพยพย้ายไปในประเทศพม่า และบางส่วนก็มาตั้งรกรากใหม่ในจังหวัดทางภาคเหนือของไทย เช่น เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา ฯลฯ
-
การแต่งกาย
การแต่งกายของชนเผ่าลีซอนั้นมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นมากๆ นั้นคือการที่ผู้ชายจะสวมเสื้อสีดำประดับด้วยเครื่องเงิน คู่กับกางเกงสีดำที่ตกแต่งอย่างมีสีสัน ในขณะที่ผู้หญิงจะสวมเสื้อสีดำแต่ประดับลวดลายด้วยสีสันที่สดใสพร้อมด้วยการตกแต่งจากเครื่องประดับเงิน โดยกางเกงจะเป็นสีดำเท่านั้น หากแต่ความพิเศษคือจะมีหมวกที่ตกแต่งด้วยลูกปัดอย่างสวยงาม ซึ่งข้อควรระวังคือชายและหญิงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะสลับกางเกงกัน
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
อาชีพเกษตรกรรม ทำนา ปลูกไร่หมุนเวียน คืออาชีพหลักของชนเผ่าลีซู โดยพวกเขาจะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ เช่น ข้าวโพด พริก ฝ้าย ขิง เผือก ถั่วแดง ฯลฯ รวมไปถึงมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ไก่ วัว แพะ ด้วยเช่นกัน
ประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาของชาวลีซอก็มีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น วันกินข้าวโพดใหม่ การไหว้ผีไร่ผีนา การต้อนรับแขกโดยการดื่มน้ำชา ซึ่งเป็นผลมาจากวิถีชีวิตทางการเกษตรและการให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพทางการเกษตรที่ส่งต่อไปสู่คนรุ่นต่อรุ่น ผ่านธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นและการประกอบอาชีพ
-
ความเชื่อของชนเผ่า
ชาวลีซูแต่เดิมมีความเชื่อในเรื่องของผีและวิญญาณบรรพบุรุษ จึงทำให้ในพิธีกรรมทางความเชื่อมักมีหมอผี หรือที่เรียกว่า หนี่ผะ เป็นผู้ประกอบพิธี แต่ในปัจจุบันชาวลีซูก็มีความเชื่อที่หลากหลาย เช่น การนับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์ แตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละบุคคล
-
ข้อควรรู้
ชาวลีซูมีแบบแผนในการใช้ชีวิตที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น การให้ความเคารพกับผู้ชาย และควรให้ความสำคัญกับผู้ชาย ซึ่งสืบเนื่องมาจากประเพณีการสืบเชื้อสายที่ให้ความสำคัญแก่ฝ่ายชาย
-
ปัญหาที่ชนเผ่าลีซูกำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
ปัญหาที่ชาวลีซูพบเจอเป็นปัญหาในเรื่องของระบบสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพ เนื่องจากตั้งแต่ในอดีตชาวลีซูอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำ ทำให้ขาดน้ำที่สะอาดต่อการอุปโภคและบริโภค ไม่ได้ดื่มน้ำที่สะอาด และขาดน้ำในการทำความสะอาดร่างกาย รวมไปถึงระบบการชำระและขับถ่ายที่ไม่ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากการขับถ่ายต้องเดินเข้าไปในป่าและขับถ่ายตามธรรมชาติ จึงทำให้ต้องพบเจอกับความเจ็บป่วยได้
ในปัจจุบันพบว่าปัญหานี้ได้ถูกช่วยทำให้ดีขึ้น โดยมีการต่อท่อน้ำ มีห้องน้ำที่เหมาะแก่การชำระร่างกายและการขับถ่าย แต่ระบบการกรองน้ำก็ยังคงปรับปรุงได้ไม่ดีนัก จึงทำให้น้ำไม่สะอาดเท่าที่ควร
4. ชนเผ่าอาข่า
ชนเผ่าอาข่าแต่เดิมอาศัยอยู่ในเขตสิบสองปันนา ก่อนจะอพยพไปยังบริเวณรัฐฉาน เขตชายแดนประเทศพม่าและบางส่วนก็อพยพมายังประเทศไทยทางตอนเหนือ ราวๆ 120 ปีที่แล้ว
-
การแต่งกาย
เครื่องแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่านับได้ว่าเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความโดดเด่นและประณีตงดงาม อีกทั้งหากนำมาตีราคายังมีมูลค่าที่สูงมาก บางชุดอาจมีมูลค่าถึงหลักแสนบาท โดยเครื่องแต่งกายที่พิเศษของชาวอาข่ามีลักษณะคือ จะมีหมวกที่ประดับด้วยเครื่องเงินและลูกปัดสีสันสดใส ที่มักจะได้มาตั้งแต่เกิดเพื่อเป็นของขวัญแสดงการขอบคุณที่พวกเขาเกิดมา ด้วยชุดที่สวมใส่จะมาจากฝ้ายที่พวกเขาปลูกและถักทอขึ้นมาเอง โดยลายที่ประดับบนชุดก็จะมาจากจินตนาการจากการเลียนแบบลวดลายธรรมชาติ เช่น พระอาทิตย์ ก้อนหิน ฯลฯ
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
ชาวอาข่าทำอาชีพทางการเกษตรกันเป็นส่วนมาก มีการปลูกพืชผักในเชิงพาณิชย์ มีการปลูกฝ้ายเพื่อการทำสิ่งทอ และปัจจุบันมีการปลูกกาแฟอาราบิก้าแทนการปลูกฝิ่น รวมไปถึงมีการยังมีการเลี้ยงสัตว์ด้วยเช่นกัน
โดยลักษณะเด่นในวิถีชีวิตของชาวอาข่าคือพวกเขามักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำการเพาะปลูก ผู้ชายและผู้หญิงก็สามารถทำงานได้เท่าเทียมกัน หลายๆ คนอาจเคยเห็นผู้หญิงชาวอาข่าที่ต้องอุ้มผูกลูกไว้บนหลังพร้อมกับการทำไร่
นอกจากนี้แล้วลักษณะที่โดดเด่นอีกอย่างของชาวอาข่าคือพวกเขาเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่เข้าไปผสมผสานกับการเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น การปลูกพืชหลายระดับ ทำนาขั้นบันได การขุดร่องน้ำ การทำฝายกั้นน้ำ ฯลฯ
-
ความเชื่อของชนเผ่า
คนอาข่ามีความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ วิญญาณและสิ่งเร้นลับ โดยเชื่อว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นก็มาจากวิญญาณเหล่านั้น ถ้าใครเจ็บป่วยก็สันนิษฐานกันว่าเป็นเพราะได้ไปทำอะไรให้วิญญาณเหล่านั้นไม่พอใจ และมีประเพณีและพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน เพื่อการระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ และเพื่อเป็นการวิงวอนขอการปกป้องให้พ้นภัยอันตรายต่างๆ
-
ข้อควรรู้
กลุ่มชาติพันธุ์อาข่ามี “บัญญัติอาข่า” เป็นกฎเกณฑ์สำหรับการอยู่ร่วมกัน โดยข้อพึงระวังและควรรักษาเอาไว้ของคนอาข่าคือการให้ความเคารพต่อธรรมชาติ เนื่องจากชาวอาข่าเชื่อว่าทุกๆ อย่างในธรรมชาติมีเทพพิทักษ์รักษาอยู่ เช่น เทพแห่งน้ำ เทพแห่งดิน จึงทำให้พวกเขามีสำนึกต่อธรรมชาติและพึงระวังการกระทำของตนเองต่อธรรมชาติเสมอ
-
ปัญหาที่ชนเผ่าอาข่ากำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
ปัญหาที่กลุ่มชาติพันธุ์อาข่าพบเจอก็คล้ายคลึงกับชนเผ่าลีซอคือการที่พวกเขาพักอยู่อาศัยไกลจากแหล่งน้ำ เพราะชาวอาข่าเชื่อว่าแหล่งน้ำจะนำพาโรคภัยมาสู่พวกเขา จึงทำให้ขาดน้ำในการใช้สอย และรวมไปถึงพบกับปัญหาเด็กไร้โอกาสทางการศึกษา ขาดพ่อแม่ดูแล และมีฐานะยากไร้ ซึ่งปัญหานี้ก็พบได้ในเด็กและเยาวชนจากลุ่มชาติพันธุ์อื่นในไทยด้วยเช่นกัน
ปัญหาเด็กและเยาวชนไร้โอกาสทางการศึกษา ปัจจุบันถูกนำมาพูดถึงและนำมาแก้ไขเพื่อโอกาสทางการศึกษาที่ดีของเยาวชนชาวอาข่า ผ่านโครงการของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อทำให้เยาวชนชาวอาข่าได้รับการศึกษาที่ดี เพื่อนำความรู้ไปต่อยอด และมีทางเลือกอาชีพอื่นในอนาคตได้ หรือแม้แต่นำความรู้กลับไปพัฒนาและสร้างความเจริญภายในชนเผ่าของตนเองได้
5. ชนเผ่ามลาบรี หรือชาวมละ
ชนเผ่ามลาบรี หรือที่คนไทยคุ้นชินกับคำเรียก “ชนเผ่าผีตองเหลือง” โดยชื่อของชนเผ่ามาจากคำว่า มละ ที่แปลว่า “คน” และ บรี ที่แปลว่า “ป่า” จึงกลายเป็น “คนป่า” ชาวมละแต่เดิมมาจากชาติพันธุ์มองโกลอยด์ที่เป็นกลุ่มเร่ร่อนอพยพไปมา ก่อนที่จะอพยพมาอาศัยในประเทศลาว และในจังหวัดน่าน ของประเทศไทย โดยที่คนไทยเรียกว่าผีตองเหลือง เนื่องจากชนเผ่ามลาบรีมักทำที่พักอาศัยจากใบตองสีเขียว และเปลี่ยนที่พักอาศัยไปเรื่อยๆ จนทำให้เหลือไว้แต่ใบตองที่กลายเป็นสีเหลือง โดยไม่เห็นคนที่เคยพักอาศัย
แต่อย่างไรก็ดีชาวมลาบรีไม่พอใจอย่างยิ่งที่จะต้องถูกคนในสังคมเรียกว่าผีตองเหลือง หรือมลาบรีที่หมายถึงคนป่า ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ให้เกียรติพวกเขา จึงทำให้ควรเรียกพวกเขาว่า “ชาวมละ” ที่แปลว่าคน ที่แสดงถึงความเท่าเทียมในฐานะมนุษย์
-
การแต่งกาย
การแต่งกายของชาวมละประกอบด้วยเสื้อผ้าเรียบง่ายที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่สาน ใบไม้ และเปลือกไม้ ผู้ชายมักจะนุ่งโจงกระเบนหรือกางเกงขาสั้น ส่วนผู้หญิงจะนุ่งกระโปรงที่ทำจากเส้นใยพืช
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
ชาวมละมีความชำนาญในการใช้ชีวิตอยู่ภายในป่า มีความสามารถในดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ และหาของป่า และสร้างที่อยู่อาศัยด้วยการใช้ใบตอง แต่ปัจจุบันชาวมละมีการเรียนรู้ในการเพาะปลูก ทำการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงมีการสร้างที่พักอาศัยที่แข็งแรง และอยู่เป็นหลักเป็นแหล่งมากยิ่งขึ้น
-
ความเชื่อของชนเผ่า
ความเชื่อของชาวมละเองก็คล้ายกับกลุ่มชนเผ่าในไทยเผ่าอื่นๆ คือ มีความเชื่อในภูตผีและวิญญาณ และธรรมชาติ รวมถึงความเชื่อในการให้ความเคารพแก่ผู้อาวุโส รวมถึงมีการประกอบพิธีกรรมก่อนออกไปล่าสัตว์หาของป่า รวมไปถึงความเชื่อที่ห้ามตั้งที่อยู่เป็นหลักแหล่งเพราะจะทำให้ผีส่งเสือมาทำร้าย
-
ข้อควรรู้
ข้อห้ามของชนเผ่ามละเกี่ยวข้องกับการครองเรือน หรือการเลือกคู่ครองคือ ห้ามไม่ให้สายเลือดเดียวกันหรือสายเลือดชิดกันแต่งงานกันเด็ดขาด ห้ามไม่ให้มีการมีเพศสัมพันธ์กันก่อนการแต่งงาน หรือมีความสัมพันธุ์กับคู่นอกสมรส อีกทั้งชาวมละยังให้ความสำคัญกับหัวมาก โดยหากมีการลูบหัวกัน หรือจับหัวกันจะถือเป็นการผิดผี และเชื่อว่าจะทำให้มีอาการเจ็บป่วยตามมา
-
ปัญหาที่ชนเผ่ามละกำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
แต่เดิมชนเผ่ามละพบกับปัญหาในด้านการอพยพย้ายที่อยู่อาศัย เนื่องจากแต่ก่อนพวกเขาต่างกลัวคนที่มาจากนอกกลุ่ม เพราะเคยโดนทำร้ายจากคนเมือง ทำให้พวกเขาต้องเร่ร่อนและหลบซ่อนตัวไปมาในป่า แต่ในปัจจุบันพวกเขาได้รับการดูแล และความช่วยเหลือให้มีพื้นที่พักอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง มีการเรียนรู้ในการสร้างอาชีพทางการเกษตร ทำให้พวกเขาไม่ต้องเร่ร่อนและล่าสัตว์หาของป่ามากเท่ากับในอดีต
6. ชนเผ่าไทลื้อ
ชนเผ่าไทลื้อ เป็นกลุ่มของชาวไท ที่เคยอาศัยในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาในประเทศจีน และอพยพไปยังประเทศลาว พม่า เวียดนาม และประเทศไทย ในช่วงอาณาจักรล้านนา จนอพยพเรื่อยมาจนถึงเชียงคำ จังหวัดเชียงราย
-
การแต่งกาย
การแต่งกายของชาวไทลื้อ ผู้หญิงมักสวมเสื้อสีดำที่ทำจากผ้าฝ้ายประดับแถบสี นุ่งซิ่นสีดำที่มีลวดลายตรงกลาง มีเครื่องประดับเงินและผ้าโพกหัวสีอ่อน ส่วนผู้ชายจะสวมเสื้อฝ้ายสีดำคู่กับกางเกงสีดำ และมีผ้าโพกหัวสีอ่อนเช่นกัน
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
ชาวไทลื้อในอดีตประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำไร่ ทำนา ขายใบยาสูบ และเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันชาวไทลื้อหันมาประกอบอาชีพทำการค้าขายกันมากขึ้น และค่อยๆ ปรับวิถีตนเองให้คล้ายๆ กับคนไทย ตามนโยบายวาทกรรมการสร้างชาติไทยในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงทำให้วัฒนธรรมความเป็นไทลื้อถูกกลืน ซึ่งในปัจจุบันวัฒนธรรมไทลื้อถูกรื้อฟื้นและกลับมาโดดเด่นอีกครั้งด้วยอัตลักษณ์พิเศษของผ้าทอไทลื้อ
-
ความเชื่อของชนเผ่า
ปัจจุบันชาวไทลื้อส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธแบบล้านนา และบางส่วนก็นับถือศาสนาคริสต์จากการเผยแผ่ศาสนาของหมอสอนศาสนาและคณะมิชชันนารี แต่อย่างไรก็ตามชาวไทลื้อก็ยังคงมีประเพณีความเชื่อในเรื่องผีบ้านผีเมืองที่คอยดูแลปกปักรักษาพวกเขา
-
ข้อควรรู้
ข้อห้ามสำหรับชาวไทลื้อที่นับถือผีคือ ห้ามให้แขกหรือบุคคลที่ไม่ได้นับถือบรรพบุรุษเดียวกันเข้ามาในห้องนอนของเจ้าของบ้านโดยเด็ดขาด เนื่องจากเชื่อว่าบ้านเรือนของตนจะมีผีเรือนอาศัยอยู่ด้วย หรือการห้ามผู้หญิงเข้าเขตบวงสรวง
-
ปัญหาที่ชนเผ่าไทลื้อกำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
ปัญหาที่ชาวไทลื้อเคยเผชิญคือการที่วัฒนธรรมของพวกเขาต้องถูกกลืนกลายไปกับนโยบายการสร้างชาติไทย และทำให้ความเป็นอื่นหายไปจากสังคมไทย วัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างของชาวไทลื้อถูกทำให้สูญหาย หรือลดค่าความสำคัญลง เพื่อทำให้ทันสมัยตามการพัฒนาของชาติไทย
แต่ในปัจจุบัน มีการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ในไทยที่จังหวัดเชียงราย พื้นที่ที่ชาวไทลื้ออาศัยอยู่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นการศึกษาวัฒนธรรม ภาษา การแต่งกายของชาวไทลื้อ เพื่อเป็นการเผยแผ่และอนุรักษ์ความเป็นไทลื้อได้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และยังมีหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาดูแลและพยายามจะรื้อฟื้นและสืบสานวัฒนธรรมของหลากหลายชนเผ่าไทยในภาคเหนือ ซึ่งวัฒนธรรมของชาวไทลื้อก็ได้กลับมาอยู่คู่กับชาวไทลื้ออีกครั้ง
7. ชนเผ่ามอแกน
ชาวมอแกน หรือ ชาวเล ชาวเกาะ หรือที่รู้จักกันในชื่อของ “ยิปซีทะเล” พวกเขามีเชื้อสายมาจากโปร์โตมาเล ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยอาศัยอยู่ในหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ของไทย
-
การแต่งกาย
เสื้อผ้าแบบดั้งเดิมของชาวมอแกนนั้นเรียบง่ายและใช้งานได้จริง ซึ่งออกแบบมาเพื่อรองรับวิถีชีวิตทางทะเลของพวกเขา
โดยทั่วไปแล้ว ทั้งชายและหญิงจะสวมเสื้อผ้าหลวมๆ ที่ทำจากวัสดุน้ำหนักเบาและระบายอากาศ เช่น ผ้าฝ้ายหรือผ้าลินิน สำหรับผู้ชาย มักจะประกอบด้วยผ้าซิ่นพันรอบที่เรียกว่า ปอดี หรือผ้าขาวม้า ซึ่งผูกไว้ที่เอว พวกเขายังสวมเสื้อหลวมๆ ที่เรียกว่า เสื้อกล้าม หรือผ้าสอ มักทำด้วยผ้าสีสดใส ตามธรรมเนียมแล้วผู้หญิงจะนุ่งซิ่นยาวถึงข้อเท้าที่เรียกว่า โสร่ง หรือผ้าขาว ซึ่งผูกไว้ที่เอวด้วย ใส่คู่กับเสื้อเบลาส์หรือเสื้อแขนกุดที่เรียกว่า “ผ้าสไบ หรือผ้าสไบ โดยทั้งชายและหญิงอาจสวมผ้าคลุมศีรษะหรือหมวกเพื่อป้องกันตัวเองจากแสงแดด
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวมอแกนมีความผูกพันอย่างยิ่งกับท้องทะเล ทำอาชีพทางการประมง มีการลงทะเลไปจับปลา หาปู จับหอย ตามทะเล โดยวิถีชีวิตของพวกเขามีความใกล้ชิดกับทะเลมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน พวกเขารู้ว่าวันใด สภาพอากาศแบบไหนควรออกไปหาของทะเล วันไหนควรจะหลีกเลี่ยงการเดินเรือ เรียกได้ว่าพวกเขามีความสามารถพิเศษสามารถมองทะเลได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เนื่องด้วยไม่เพียงแต่มีการถ่ายทอดวิธีการหาอาหารในท้องทะเลเท่านั้น แต่พวกเขายังมีการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของธรรมชาติทางทะเลให้แก่กันจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ลูกหลานของตนสามารถอยู่ร่วมกับท้องทะเลได้อย่างปลอดภัย
-
ความเชื่อของชนเผ่า
ชาวมอแกนมีความเชื่อในเรื่องของผีและวิญญาณบรรพบุรุษเหมือนกับกลุ่มชนเผ่าในไทยกลุ่มอื่น เชื่อว่าในธรรมชาติมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนควรให้ความเคารพ หากแต่ชาวเลมีความเคารพในธรรมชาติทางท้องทะเลมากยิ่งกว่า
-
ข้อควรรู้
จากความเกรงกลัวในสิ่งเร้นลับทางธรรมชาติของท้องทะเลทำให้ชาวมอแกนเชื่อว่าการออกไปหาอาหารในทะเลก็ควรทำแต่พอดี เพื่อไม่ให้ธรรมชาติไม่พอใจ และถ้าหากใช้ทรัพยากรอย่างไม่ถูกวิธีก็จะถูกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติลงโทษ
-
ปัญหาที่ชนเผ่ามอแกนกำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
ชาวมอแกนมีชีวิตที่อยู่ในแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนาน สามารถพูดภาษาไทยได้ มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากันกับคนไทย หากแต่มีชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์ประมาณ 30 คน เท่านั้นที่ได้รับสัญชาติไทย ในขณะที่ชาวมอแกนคนอื่นๆ ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติ
ดังนั้นชาวมอแกนรวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยกลุ่มอื่นๆ ก็เองยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเป็นคนไร้สัญชาติอยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อที่จะให้พวกเขาเหล่านี้ได้รับสิทธิและความคุ้มครองจากรัฐบาลไทยตามสิทธิของมนุษย์หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรเร่งมือเพื่อแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดและเติบโตในแผ่นดินไทย
8. ชนเผ่าม้ง
ชาวม้งแต่เดิมอาศัยอยู่ในประเทศจีน แต่ด้วยความขัดแย้งทางการเมืองในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้พวกเขาต้องอพยพลงมาทางตอนใต้เรื่อยมาจนถึงประเทศพม่า เวียดนาม ลาว และไทย โดยชาวม้งจะอาศัยกระจายกันไปตามพื้นที่ในเขตภาคเหนือของไทย
-
การแต่งกาย
การแต่งกายของชาวม้งนั้นมีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ โดยผู้หญิงใส่เสื้อสีดำปักประดับด้วยลวดลายที่สวยงาม และสวมกระโปรงสั้นที่มีจีบรอบตัว เหน็บด้วยผ้าที่มีลวดลาย สวมหมวกและเครื่องประดับเครื่องเงินและผ้าปัก ส่วนผู้ชายจำสวมเสื้อดำที่ทำมาจากกำมะหยี่ ตกแต่งลวดลาย ใส่กางเกงขาก๊วยสีดำและมีผ้าเหน็บที่สวยงามและมีสีสัน
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
ชาวม้งมีที่อยู่อาศัยบนภูเขาสูงตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่พวกเขาทำอาชีพเกษตรกร ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ในอดีตชาวม้งมีการปลูกฝิ่นเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อกฎหมายบัญญัติให้ฝิ่นเป็นสารเสพติด ชาวม้งเลยเปลี่ยนมาเป็นการเพาะปลูกชา กาแฟ และพืชเศรษฐกิจต่างๆ แทน
-
ความเชื่อของชนเผ่า
ชาวม้งมีความเชื่อในเรื่องผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยผีบ้านจะเป็นผู้คุ้มครองและปกป้องชาวม้ง ส่วนผีป่าถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ถ้าใครทำอะไรที่ผิดผีก็จะต้องถูกผีลงโทษ เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ปัจจุบันชาวม้งเองก็เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธเช่นเดียวกันกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในไทย
-
ข้อควรรู้
เนื่องด้วยสังคมชาวม้งยึดถือวัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่ จึงทำให้มีกฎข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงชาวม้งที่แต่งงานแล้วเปลี่ยนคู่ครอง แม้ว่าต่างฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกันก็ตาม และภรรยาจะต้องอยู่กับสามีไปตลอดชีวิตของพวกเธอ
-
ปัญหาที่ชนเผ่าม้งกำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
จากการที่ชนเผ่าม้งมีระบบโครงสร้างภายใต้สังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ทำให้ปัญหาที่พบเจอส่วนมากคือการที่ผู้หญิงชาวม้งถูกกดขี่ และจากข้อห้ามเองก็ทำให้เห็นว่าผู้หญิงชาวม้งนอกจากจะเป็นคนชายขอบในสังคมไทยแล้ว พวกเธอยังเป็นคนชายขอบภายในสังคมของชาวม้งด้วยกันเองเช่นกัน เด็กสาวบางคนถูกฉุดและกลายมาเป็นภรรยาของชายอื่นด้วยความจำใจ แต่สังคมกลับต่อว่าพวกเธอ และพวกเธอก็ไม่มีสิทธิที่จะขอหย่าขาดด้วย เพราะถ้าทำเช่นนั้นจะกลายเป็นการละเมิดข้อห้ามของชนเผ่า หรือถ้าพวกเธอทำการหย่าจริงๆ เมื่อต้องออกมาเผชิญหน้ากับคนในสังคม หญิงหม้ายชาวม้งก็จะกลายมาเป็นคนชนชั้นล่างสุดในสังคมทันที
ปัจจุบันปัญหาด้านความเท่าเทียมดังกล่าวถูกพูดถึงมากในสังคม รวมถึงสังคมชาวม้งด้วย มีการก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม ที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อการเรียกร้องสิทธิให้แก่หญิงสาวชาวม้งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งยังมีการผูกเข้ากับพิธีกรรม”การรับลูกสาวกลับบ้าน” เพื่อทำให้สังคมยอมรับและไม่ผลักหญิงสาวชาวม้งที่เคยหย่าร้างให้กลายเป็นคนอื่นในสังคมชาวม้ง
9. ชนเผ่ามานิ (ซาไก)
ชนเผ่ามานิ มักถูกคนในสังคมเรียกพวกเขาว่าชนเผ่าซาไก หรือเงาะป่า ตามลักษณะรูปร่างภายนอกของพวกเขาที่มีสีผิวเข้มและผมหยักศก โดยชื่อของพวกเขาคือ มานิ ที่แปลว่า “คน” แต่กลับถูกเรียกว่า ซาไก ซึ่งในภาษามลายูหมายถึง “ทาส” แสดงให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคกันในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์เอาเสียเลย แต่ในปัจจุบันคำว่าเงาะป่า หรือซาไก ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้เรียกพวกเขาอีกแล้ว โดยชนเผ่ามานิอาศัยตามพื้นที่ในเขตภาคใต้ของไทยเป็นส่วนใหญ่
-
การแต่งกาย
ชาวมานิหรือซาไกนิยมแต่งกายด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้าเปลือกไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ ชุดมักจะประกอบด้วยกระโปรง ซึ่งพันรอบเอวและยาวถึงข้อเท้า ร่างกายท่อนบนมักเปลือยเปล่าหรือห่มด้วยผ้าธรรมดาหรือผ้าเปลือกไม้ พวกเขายังประดับตัวเองด้วยเครื่องประดับต่างๆ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ และที่คาดผมที่ทำจากเปลือกหอย เมล็ดพืช และลูกปัด
-
วิถีชีวิตและความเป็นอยู่
กลุ่มชาติพันธุ์มานิมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ในอดีตพวกเขามีการหาของป่า ล่าสัตว์ ใช้ชีวิตเร่ร่อนไปตามพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในเขตภาคใต้ของไทย แต่ปัจจุบันเนื่องจากจำนวนป่าลดลง และชาวมานิจำนวนมากเริ่มมีการสื่อสารและติดต่อกับคนเมืองมากยิ่งขึ้นจึงทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป บ้างก็มาประกอบอาชีพรับจ้าง ขายของป่า มีการแต่งกายคล้ายกับคนทั่วไปในสังคม เช่น การสวมเสื้อ ใส่กางเกงขายาว สวมรองเท้า ซึ่งแตกต่างไปจากการใช้ชีวิตในอดีตของพวกเขาอย่างยิ่ง
-
ความเชื่อของชนเผ่า
ชาวมานิมีความเชื่อในเรื่องภูต ผี วิญญาณ พวกเขาเชื่อว่าผีมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง จึงทำให้ตามบริเวณที่พักอาศัยของพวกเขาจะมีการจุดกองไฟไว้เสมอเพื่อไม่ให้มืด ในเรื่องความเชื่อหลังความตายพวกเขาเชื่อว่าคนตายไปแล้วจะเหลือวิญญาณ และวิญญาณนั้นถ้าหาครรภ์เข้าไม่ได้ และไม่ได้เกิดใหม่ ก็จะกลายมาเป็นวิญญาณที่คอยหลอกหลอนญาติพี่น้องจนทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนพื้นที่พักอาศัย
-
ข้อควรรู้
กฎของชาวมานิคือผู้ใดที่ยังไม่ได้แต่งงานต้องถือพรหมจรรย์เอาไว้ และหากเมื่อถึงอายุ 16-17 ปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยเจริญพันธุ์ก็ควรที่จะแต่งงานและมีครอบครัวของตนเอง อีกทั้งชาวมานิยังถือว่าเท้าเป็นสิ่งที่สูงกว่าศีรษะ เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับการออกไปเดินป่าเพื่อล่าสัตว์และหาของป่ามายังชีพของตนเอง
-
ปัญหาที่ชนเผ่ามานิกำลังเผชิญและต้องการความช่วยเหลือ
การที่ปัจจุบันชาวมานิจำนวนมากต้องมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ในเมือง เนื่องจากพื้นที่ป่าที่อยู่อาศัยเดิมของพวกเขาถูกทำลาย ป่าจำนวนมากในภาคใต้ถูกแผ้วถาง จึงไม่มีทางเลือกจึงจะต้องออกจากป่าเข้ามาในเมืองเพื่อหาแหล่งที่อยู่และแหล่งอาหารใหม่ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่พลิกผันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งการเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองก็ทำให้ชาวมานิจำนวนไม่น้อยเลยที่ต้องเผชิญกับอคติทางชาติพันธุ์ ถูกดูถูกและเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และถูกเอาเปรียบจากการจ้างแรงงาน
จากอคติทางชาติพันธุ์และการถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ทำให้มีหน่วยงานมากมายให้ความสนใจและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ จนทำให้ชาวมานิบางส่วนได้รับการรับรองสัญชาติไทย ที่สามารถรับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ตามที่พลเมืองไทยคนหนึ่งจะได้รับ แต่อย่างไรก็ดียังคงมีชาวมานิจำนวนไม่น้อยเลยที่ยังคงเป็นคนไร้สัญชาติและถูกเอาเปรียบจากคนในสังคมไทย
เสริมสร้าง สนับสนุนความเข้าใจที่ถูกต้อง ขับเคลื่อนสังคมไปด้วยกันกับทุก CHEEWID
นอกจากปัญหาความไม่เท่าเทียมในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้นำเสนอไปในข้างต้นแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มยังต้องเผชิญกับปัญหาด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เราทุกคนในสังคมไม่ควรมองข้าม เพราะว่าหากพื้นฐานในระบบสาธารณสุขและสุขภาพที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้ทุกๆ คนในสังคมสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพเช่นกัน
จากการนำเสนอก็แสดงให้เห็นว่ากลุ่มชาติพันธุ์ในไทยส่วนใหญ่ที่นอกจากจะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ให้การบริการของหน่วยงานสาธารณสุขแล้ว พวกเขายังคงมีความเชื่อที่ผูกติดกับภูตผีวิญญาณ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เชื่อว่าโรคภัยนั้นมาจากการลบหลู่บรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น ดังนั้นหนทางการรักษาคือการอ้อนวอนเพียงอย่างเดียว และหากไม่ทำเรื่องผิดผีก็จะไม่เป็นอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วหากกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยได้รับข้อมูลความรู้และมีการส่งเสริมด้านสาธารณสุขที่ดีแล้วจะช่วยทำให้พวกเขามีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
Cheewid ให้ความสำคัญแก่การสนับสนุนและผลักดันให้ทุกคนมีส่วนช่วยเหลือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในไทย โดยทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งกับเรา ร่วมกับองค์กร มูลนิธิต่างๆ เพื่อการสนับสนุนและเพิ่มกำลังทรัพย์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในไทยให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อที่พวกเราทุกคนในสังคมไทยจะได้พัฒนาและก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
สรุป
การที่ Cheewid หยิบยกเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 9 กลุ่ม มานำเสนอนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชนกลุ่มน้อยในไทยเท่านั้น ซึ่งยังคงมีกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยอีกจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่เท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกหยิบยื่นความเป็นผู้ร้ายในสังคมไทย ถูกลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต หรือถูกวาทกรรมที่สวยหรูจากสังคมทำให้พวกเขากลายเป็นคนไร้การพัฒนา หนำซ้ำยังถูกแย่งที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินเดิมจากการเข้ามาของทุนนิยม
ปัญหาหลักที่กลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันคือการเผชิญกับอคติทางชาติพันธุ์ ปัญหาการไร้สัญชาติ ถึงแม้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่จะย้ายเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน คนในกลุ่มชาติพันธุ์บางคนก็เกิดและเติบโตในแผ่นดินไทยมาชั่วชีวิตของเขา แต่พวกเขากลับไม่ได้รับสิทธิและเสรีภาพที่จะมีคุณภาพชีวิตของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม และยังถูกรัฐบาลไทยผลักให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้เป็นคนอื่นในสังคมไทย เป็น “พวกเขา” ไม่ใช่พวกเราในสังคมไทย
โดย วันที่ 9 สิงหาคม ของทุกๆ ปี คือวันชนเผ่าสากล Cheewid จึงอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทำให้คนในสังคมมีความตระหนักและให้ความสำคัญแก่ชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่ม โดยไม่เพียงแต่เฉพาะวันที่ 9 สิงหาคม เท่านั้นที่เราจะให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ในทุกๆ วัน เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการบริจาค เพื่อหยิบยื่นกำลังใจและความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์ในไทย เพิ่มกำลังทรัพย์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชนเผ่าไทยให้ดีมากยิ่งขึ้น
Reference:
- BBC News. 9 สิงหา วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก : ไร้สัญชาติ ขาดที่ทำกิน สิ้นโอกาสทางเศรฐกิจ. bbc.com. Published on 18 August 2018. Retrieved 13 July 2023.
- BBC News. รับลูกสาวกลับบ้าน: ขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในชุมชนม้งด้วยพิธีกรรม. bbc.com. Published on 28 November 2017. Retrieved 13 July 2023.
- DailyNews. เครื่อข่ายกะเหรี่ยง ฯ ยื่น สปสช. เขต 5 ช่วยดูแล กรณีกะเหรี่ยงบางกลอยเสียชีวิต. dailynews.co.th. Published on 13 June 2023. Retrieved 13 July 2023.
- Thai PBS. 10 เรื่อง ที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับ “มอแกน”. thaipbs.or.th. Published on 05 February 2019. Retrieved 13 July 2023.
- The Citizen.Plus Thai PBS. ตั้งหลักแก้ปัญหากะเหรี่ยงบางกลอยแบบวิน – วิน. thecitizen.plus. Published on 04 February 2021. Retrieved 13 July 2023.
- The Standard. ครบ 4 ปี ชัยภูมิ ป่าแส ภาพวงจรปิดหาย ทั้งที่นายทหารบอกเคยดูภาพแล้ว. thestandard.co. Published on 16 March 2018. Retrieved 13 July 2023.
- Minimore. รู้จัก 8 ชนเผ่าในไทย เรื่องราวและวิถีชีวิตจากคนห่างไกล. minimore.com. Published on 21 October 2019. Retrieved 13 July 2023.
- กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา. เดินเคาะประตูบ้าน มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา. eef.or.th. Published on 03 February 2021. Retrieved 13 July 2023.
- ธันยพร บัวทอง. บางกลอย : “ป่าปลอดคน” หรือ “คนอยู่กับป่า” อนาคตป่าแก่งกระจานกับการเป็นมรดกโลก. bbc.com. Published on 19 March 2021. Retrieved 13 July 2023.
- มิ่งมงคล หงษาวงศ์. ไทลื้อ : วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม. repository.rmutt.ac.th. Retrieved 13 July 2023.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของผู้สูงอายุชาวเขาเผ่าลีซอที่มีอายุยืนยาว. sac.or.th. Published on 29 June 2017. Retrieved 13 July 2023.
- ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. เงาะป่า – ซาไก นิเชาเมืองไทย ชนป่าที่กำลังสูญสลาย. sac.or.th. Published on 25 July 2016. Retrieved 13 July 2023.
- สถาบันพระปกเกล้า. อีก้อหรืออาช่า (Akha). wiki.kpi.ac.th. Retrieved 13 July 2023.
- สุไวไล เปรมศรีรัตน์, และ ชุมพล โพธิสาร. มานิ (ซาไก) ชนพื้นเมืองในภาคใต้ของไทย. damrong-journal.su.ac.th. Retrieved 13 July 2023.
- หมื่นวลี. ผีตองเหลือง. finearts.go.th. Published on March 1994. Retrieved 13 July 2023.
- อภิชาต ภัทรธรรม. มูเซอ. frc.forest.ku.ac.th. Retrieved 13 July 2023.