ในปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรงและรวดเร็วซึ่งผลกระทบของภาวะโลกร้อนเองก็ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตและมนุษย์ ตลอดจนกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน องค์กรต่างๆ จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการไปพร้อมๆ กับการรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม จะมีไอเดียอย่างไรบ้าง ตามมาดูกันเลย
1. ให้ความรู้ เข้าถึงง่ายผ่านโซเชียล
ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียเข้าถึงผู้คนในสังคมได้อย่างกว้างขวางและง่ายดาย การที่คนจะสามารถเรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรได้นั้นการใช้ช่องทางออนไลน์ต่างๆ จึงเป็นอีกหนึ่งที่วิธีที่จะช่วยเป็นกระบอกเสียงไปสู่คนในสังคม ซึ่งจะช่วยให้คนในสังคมได้เห็นและเข้าใจถึงวิธีการรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างธุรกิจ
-
ลุงซาเล็งกับขยะที่หายไป
มีแนวคิดที่ว่า “เพราะขยะเป็นเรื่องของทุกคน” จึงได้ทำเพจที่ให้ความรู้เรื่องขยะอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกขยะแต่ละประเภท นำขยะไปทิ้งอย่างไร จุดรับซื้อขยะ หรือจุดรับบริจาคของเหลือใช้จากภายในครัวเรือน เพราะนอกจากการทิ้งขยะที่ถูกวิธีจะช่วยสร้างรายได้แล้วยังทำให้เกิดการหมุนเวียนของสิ่งของและทรัพยากร ซึ่งเป็นหนึ่งวิธีรักษ์โลกที่ดีอีกด้วย
-
Kong Green Green
อีกหนึ่งครีเอเตอร์ที่สร้างคอนเทนต์เพื่อช่วยให้คนได้ตระหนักถึงการรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการนำเสนอวิธีการจัดการกับขยะอย่างน่าสนใจ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการจัดการกับขยะอย่างเป็นระบบ และจากการช่วยรณรงค์การคัดแยกขยะของ “Kong GreenGreen” มีคนเข้าร่วมโครงการกว่า 2 หมื่นคน และทำให้คนในสังคมหันมาตระหนักถึงปัญหาจากขยะมากขึ้น
2. สินค้าจากธรรมชาติ เพื่อธรรมชาติ
ผลิตภัณฑ์จำนวนมากในโลกของเราใช้วัสดุและองค์ประกอบที่มาจากสารเคมีอันตรายต่างๆ ถึงแม้ว่าในตัวผลิตภัณฑ์จะมีสารเคมีจำนวนไม่มากนัก หากแต่ว่าในอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตการใช้สิ่งอันตรายเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อโลกเราเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการหันมาใช้ผลผลิตจากธรรมชาติเพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์รักษ์โลก จะทำให้ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมได้สร้างคุณค่าให้แก่กันและกัน
ตัวอย่างธุรกิจ
-
ชีวาร์ (Chewa)
“ชีวาร์ (Chewa)”คือวิสาหกิจชุมชนที่ได้ผลักดันให้คนในชุมชนหันมาปลูกพืชสมุนไพร และนำผลผลิตจากพืชไปทำเป็นสินค้ารักษ์โลกต่างๆ ทั้งเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร นอกจากนี้แล้วยังส่งเสริมให้คนในชุมชนสามารถสร้างงานสร้างรายได้และได้ผลกำไรกลับคืนสู่สังคมด้วยเช่นกัน
-
ReReef
ปัจจุบันโลกเรามีการใช้พลาสติกและสารเคมีจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ “ReReef” จึงได้ศึกษาเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตและองค์กรสามารถใช้วัสดุทางเลือกที่ทำมาจากธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ เช่น ครีมกันแดด เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ทั้งกลุ่มผู้ผลิตและผู้บริโภคมีการบริโภคผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยลดความอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราได้
3. เปลี่ยนของเหลือ(ไม่)ใช้ ให้เป็นมูลค่า
ของเหลือใช้หรือของที่ไม่เป็นที่ต้องการในอีกที่หนึ่ง อาจกลับกลายมาเป็นของที่มีคุณค่าและมีคุณประโยชน์ในอีกที่หนึ่ง ดังนั้นการเปลี่ยนของเหลือใช้และนำมาสร้างมูลค่าจะช่วยทำให้ชะลอการเกิดขึ้นของขยะ สร้างมูลค่าให้กับสิ่งของ อีกทั้งยังช่วยทำให้เกิดธุรกิจรักโลก หรือ green business ได้อีกด้วย
ตัวอย่างธุรกิจ
-
หรีดบุญ
พวงหรีดเพื่อสิ่งแวดล้อมโดย “หรีดบุญ” คือการนำสิ่งของต่างๆ มาใช้ซ้ำโดยการทำเป็นพวงหรีดเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่จะช่วยชะลอการสร้างขยะ อีกทั้งยังนำรายได้ 25 % ไปบริจาคเพื่อคืนประโยชน์สู่สังคม ดังนั้นนับได้ว่าหรีดบุญนอกจากจะเป็นหนึ่งในธุรกิจรักโลกแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะช่วยมอบความสุขและคืนผลประโยชน์ให้แก่สังคมด้วย
-
Moreloop
หนึ่งในตลาดออนไลน์ที่ทำให้ผู้ผลิตที่มีผ้าเหลือจากโรงงานในการผลิตมาขายให้แก่ผู้ที่ต้องการนำไปใช้ โดย “Moreloop” จะเป็นส่วนกลางในการอำนวยความสะดวกและประสานระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ อีกทั้งผู้ที่ต้องการซื้อผ้าต่างๆ ก็สามารถเข้าไปเลือกชมตัวอย่างของผ้าได้ที่ออฟฟิศของ Moreloop จึงกล่าวได้เลยว่านี่คือธุรกิจรักโลกที่ได้นำของที่เหลือใช้ให้กลับมามีคุณค่าและไม่ต้องกลายไปเป็นขยะ
4. สร้างความยั่งยืนด้วยเกษตรกรรม
การเกษตรในปัจจุบันที่ผูกติดอยู่กับโลกทุนนิยมนั้นเน้นสร้างผลผลิตให้ได้จำนวนมากๆ จึงทำให้ต้องใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดความอันตรายต่อกระบวนการผลิตและการบริโภค ดังนั้นการเกษตรที่จะสร้างความยั่งยืนผ่านการใช้สารอินทรีย์จะช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวและทำให้เกิดการผลิตแบบรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่เป็นมิตรต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างธุรกิจ
-
FARMTO
เกษตรกรมากมายกำลังต้องเผชิญกับปัญหาจากการผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นรายได้ที่ลดลง หนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น การลงทุนเพื่อผลผลิตมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น หรือโดนกดราคาผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง ดังนั้น “FARMTO” จึงเข้ามาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่จะช่วยทำให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้ใช้การผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ ที่จะช่วยลดความอันตรายจากการใช้สารเคมีในการผลิต นอกจากนี้แล้วยังช่วยทำให้เกษตรกรสามารถทำการค้าขายโดยตรงกับผู้บริโภคได้ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการโดนกดราคาจากคนกลางได้
-
EarthSafe อินทรีย์วิถีไทย
เป็นการทำการเกษตรกรรมโดยการพึ่งพาอินทรีย์และธรรมชาติในการสร้างผลผลิต ตามภูมิปัญญาการผลิตแบบไทยๆ “EarthSafe อินทรีย์วิถีไทย“ ช่วยทำให้ผลผลิตที่ได้ปลอดภัยจากสารเคมี อีกทั้งรูปแบบของการผลิตยังมีความยั่งยืน นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยสร้างความร่วมมือกันระหว่างเกษตรกร ตลาด และผู้บริโภค รวมไปถึงยังเป็นการผลักดันให้วิธีการผลิตเกษตรแบบวิถีไทยนี้มีความเป็นสากลที่พร้อมจะมอบความรู้ ความสุข และแบ่งปันไปสู่เกษตรกรในนานาชาติ
5. ต่อยอดผลผลิต คืนกำไรสู่สังคม
การสร้างผลผลิตโดยการคำนึงถึงผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านธุรกิจเพื่อสังคมต่างๆ นี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคมีความสุขและความมั่นใจในความปลอดภัยจากการจับจ่ายสินค้าและบริการต่างๆ แล้ว ยังช่วยทำให้ผู้คนในท้องถิ่นสามารถมีบทบาทในการผลิต มีความรู้ ทักษะและรายได้เพื่อต่อยอดผลประโยชน์ให้แก่สิ่งต่างๆ ภายในชุมชนและเพื่อการสร้างกำไรหวนคืนสู่สังคมได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างธุรกิจ
-
Akha Ama Coffee
ธุรกิจกาแฟเพื่อสังคม โดยการนำเอากาแฟที่ผลิตอย่างมีคุณภาพโดยพี่น้องชาวอาข่ามาสร้างเป็นธุรกิจกาแฟของชุมชน โดยนอกจาก “Akha Ama Coffee” จะสร้างอาชีพให้แก่พี่น้องชาวอาข่าแล้วยังช่วยให้พวกเขามีความรู้และทักษะโดยการใช้วัตถุดิบที่มีในชุมชนเพื่อการผลิตกาแฟอย่างมีคุณภาพมาผสมผสานไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างความรู้ติดตัวให้แก่พี่น้องในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ความยั่งยืนที่มาพร้อมกับยอดขาย”
-
Hempthai
เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจกัญชงในประเทศไทย โดยใช้การผลิตทางการเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมี โดยผลผลิตที่ได้จะเป็นต้นกัญชงออร์แกนิกปลอดสารพิษ ซึ่งการเพาะปลูกนี้ได้ช่วยเหลือพี่น้องชาวเขาเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะพี่น้องชาวม้งให้ได้รู้จักกับการผลิตและเทคโนโลยีทางการเกษตรจากพลังสีเขียว ซึ่งผลผลิตจากกัญชงที่ได้จะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกต่างๆ เช่น สิ่งทอต่างๆ และบรรจุภัณฑ์ จึงกล่าวได้เลยว่า “Hempthai” นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความรู้ทางการเกษตรแบบสีเขียวให้แก่พี่น้องในชุมชนแล้วยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจรักโลกที่ช่วยต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างยั่งยืน
6. ร้านชำรักษ์โลก
คนส่วนใหญ่มักจะเข้าไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันผ่านร้านของชำ หรือห้างร้านต่างๆ และแน่นอนว่าบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ ที่เราซื้อนั้นได้สร้างขยะจำนวนมากให้แก่โลกเรา ดังนั้นการสร้างธุรกิจที่ช่วยลดขยะและหันมารักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรต่อธรรมชาตินี้ช่วยทำให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างธุรกิจ
-
Happy Grocers
Happy Grocers เป็นตัวกลางที่จะช่วยส่งผลผลิตต่างๆ จากผู้ผลิตไปถึงมือผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเองสามารถหาซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหารได้ง่ายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยสร้างอาชีพเสริมให้แก่ผู้ขับรถขนส่งสินค้าผ่านโครงการ “Grocers Truck” ที่จะช่วยขนส่งวัตถุดิบจากเกษตรกรไปถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ
-
ZeroMoment Refillery
ZeroMoment Refillery คือร้านขายของกินของใช้ที่คุณสามารถนำภาชนะบรรจุภัณฑ์ของคุณมาจากบ้านแล้วเข้ามา “ตัก ตวง เติม” ของกินของใช้ต่างๆ มากกว่า 200 รายการได้ ธุรกิจนี้ช่วยลดจำนวนขยะพลาสติกและยังช่วยลดต้นทุนจากบรรจุภัณฑ์ได้เช่นกัน นับได้ว่านี่คืออีกหนึ่งธุรกิจรักโลกที่จะช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของพวกเราให้ยั่งยืน
7. เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้กำไร
จากการเกิดขึ้นของเมืองและโลกทุนนิยมที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทำให้วิถีชีวิตและพื้นที่สีเขียวทางธรรมชาติลดน้อยลงไป การสร้างธุรกิจที่คำนึงถึงโลกและสิ่งแวดล้อมจึงเข้ามาเพื่อเติมเต็มพื้นที่สีเขียวให้กลับมาและจะช่วยทำให้ผู้คนในสังคมได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้คนมากมายหันมาสนใจในกิจกรรมที่ดำเนินการภายใต้การเป็น green business มากยิ่งขึ้น เพื่อการสร้างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติให้กลับคืนมาสู่สังคมของเรา
ตัวอย่างธุรกิจ
-
Bangkok Rooftop Farming (ฟาร์มบนดาดฟ้า)
ปัจจุบันกรุงเทพเป็นเมืองที่พื้นที่สีเขียวเริ่มลดน้อยลงไปทุกที “Bangkok Rooftop Farming” จึงปิ๊งไอเดียที่จะใช้ประโยชน์จากอาคารสูงเหล่านี้มาเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่เมือง โดยการเริ่มทำโมเดลธุรกิจภายใต้รูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ธุรกิจฟาร์มบนดาดฟ้า ที่จะช่วยจัดการตั้งแต่การกำจัดเศษขยะจากอาหารแปลงเป็นวัสดุปรุงดิน เพื่อนำไปต่อยอดเป็นการเพาะปลูกแบบออร์แกนิก
-
ไร่รื่นรมย์ (Rai Ruen Rom)
ไร่รื่นรมย์ (Rai Ruen Rom) ทำให้คนและธรรมชาติกลับมาคืนดีและเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันผ่านกิจกรรมมากมายภายใต้คอนเซปต์ “กิน อยู่ รู้ นอน” ช่วยทำให้ผู้คนได้เรียนรู้วิถีชีวิตที่ติดกับธรรมชาติตั้งแต่การ Workshop ที่เกี่ยวกับการเกษตร การรับประทานอาหารออร์แกนิก และการได้พักผ่อนแบบใกล้ชิดกับธรรมชาติ และช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อกระจายไปสู่กลุ่มลูกค้าได้อย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน
8. ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
การท่องเที่ยวที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบนั้นช่วยทำให้ผู้คนได้พบกับความผ่อนคลายจากวันที่เหนื่อยล้า ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไม่เพียงแต่สร้างความสุขให้แก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความสุขให้แก่ผู้คนในท้องถิ่น ผู้ดำเนินธุรกิจรายย่อยประจำท้องถิ่นได้กลับมามีความสุขอีกครั้ง รวมไปถึงยังเป็นการท่องเที่ยวที่จะช่วยรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นยังคงดำรงอยู่ได้อย่างสวยงามควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
ตัวอย่างธุรกิจ
-
Local Alike (โลเคิล อไลค์)
Local Alike (โลเคิล อไลค์) เป็นธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมรายได้ให้แก่ท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยว โดยได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อทำให้ผู้ที่สนใจอยากมีประสบการณ์ในการท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ได้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ท้องถิ่นต่างๆ ตามที่ตนเองสนใจ โดยส่งเสริมทำให้คนในชุมชนเองสามารถมีรายได้ที่มั่นคง ลดการย้ายถิ่นฐานเพื่อออกไปหางานในเมืองใหญ่ และช่วยทำให้ผู้คนในสังคมได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่หลากหลายผ่านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์นี้
-
Guide GURU
ช่วยทำให้นักท่องเที่ยวได้มีประสบการณ์ที่ดีกลับบ้าน โดยการท่องเที่ยวผ่าน “Guide Guru” จะเริ่มตั้งแต่การแนะนำวิธีการเดินทาง ไปจนถึงการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ ในรูปแบบที่ช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนให้ผู้คนหันมาสนใจท่องเที่ยวและเลือกบริโภคธุรกิจท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ทำให้ทั้งผู้ท่องเที่ยวและผู้ดำเนินธุรกิจท้องถิ่นต่างมีความสุขและอิ่มเอมใจ
9. จัดกิจกรรม การเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ
ปัจจุบันการผสมผสานระหว่างการเรียนรู้วิถีชุมชนและการลงมือปฏิบัติ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก เพราะคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจวิธีการในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และมีความตระหนักในด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น การจัดกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อการเรียนรู้และการลงมือปฏิบัติในสถานที่จริงๆ จะช่วยทำให้ผู้เข้าร่วมเองได้เรียนรู้และลงมือทำอย่างถูกวิธีภายใต้การดูแลของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ช่วยเสริมสร้างให้การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างธุรกิจ
-
ONE FINE DAY
การท่องเที่ยวผสมผสานการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ที่จะชวนให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้วิถีชุมชนผ่านการลงมือทำจริงๆ อีกทั้ง “ONE FINE DAY” จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะนำเสนอบุคคลที่เป็นตัวอย่างของสังคมเพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ตามวิถีชุมชน ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมได้ทั้งการมาท่องเที่ยวผ่อนคลาย ได้ความรู้พร้อมกับการนำไปใช้เพื่อการรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และชุมชนเองก็สามารถช่วยเหลือดูแลตนเองได้เช่นกัน
-
อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
การที่จะสร้างให้สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติกลับมายั่งยืนอีกครั้งต้องอาศัยความตระหนักรู้ของผู้คนไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติตามวิธีการรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ถูกต้อง “อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม” จึงเชิญชวนให้ทุกคนมาสร้างสรรค์ประสบการณ์และความตระหนักรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การสร้างสวนป่า และป่าชุมชน เป็นต้น
10. นวัตกรรมรักษ์โลกอย่างยั่งยืน
มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้โลกของเราต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลภาวะ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาขยะ เป็นต้น ซึ่งการสร้างนวัตกรรมเพื่อการรักษ์โลกอย่างยั่งยืนจะช่วยบรรเทาให้ปัญหาเหล่านี้ลดลงไปภายใต้ความคิดรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังส่งผลดีต่อผู้คนมากมายจากการเกิดขึ้นของนวัตกรรมต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างธุรกิจ
-
ยุ๊มมาฉ่า เพื่อพี่น้องชาวอาข่า (Yummacha)
สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อทำให้ไม้ไผ่ที่มีอยู่จำนวนมากในหมู่บ้านของชาวอาช่าได้รับการรักษาและยืดอายุของการใช้งาน เนื่องจากแต่เดิมชาวอาข่านิยมสร้างบ้านด้วยไม้ไผ่แต่ระยะเวลาของการคงสภาพของไม้ไผ่นั้นสั้นมากๆ จึงทำให้ “ยุ๊มมาฉ่า” เห็นโอกาสที่จะสร้างบ่อแช่น้ำยาไม้ไผ่เพื่อยืดอายุและรักษาสภาพที่ดีของไม้ไผ่เอาไว้ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เด็กๆ ในชุมชนได้เรียนรู้ที่จะนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นของใช้ต่างๆ หรือสถาปัตยกรรมจากไม้ไผ่ เพื่อส่งเสริมการสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน และช่วยทำให้วัสดุที่มีอยู่มากในชุมชนถูกนำมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
-
Scholars of Sustenance Foundation
ปัจจุบันปัญหาขยะจากอาหารนับว่าส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโลกอย่างมาก เนื่องจากในภาคธุรกิจอาหารมีอาหารจำนวนมากที่ยังคงมีคุณภาพแต่ถูกนำมาทิ้งทั้งๆ ที่ยังไม่ได้นำไปประกอบอาหาร “Scholars Of Sustenance Foundation” จึงจัดตั้งโครงการเพื่อเข้ามาเป็นส่วนกลางที่จะนำอาหารที่เหลือจากภาคธุรกิจอาหารไปส่งต่อให้แก่ผู้ที่ยากไร้และขาดแคลนในคุณภาพที่ยังคงทนดีอยู่ เพื่อช่วยเหลือให้ผู้คนได้มีอาหารเพื่อการบริโภคแล้วยังทำให้ปัญหาขยะอาหารลดน้อยลงได้เช่นเดียวกัน
11. ขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมด้วยพลังงานสะอาด
อีกหนึ่งการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนคือการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้พลังงานสะอาด ที่จะช่วยทำให้การแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างมากมาย สามารถดำเนินขึ้นได้โดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร อีกทั้งยังช่วยต่อยอดสิ่งต่างๆ ได้ อย่างเช่นการแปลงขยะรีไซเคิลเป็นรายได้ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืนผ่านการสร้างจิตสำนึกรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่คนในสังคม เพราะเมื่อคนมีความรู้และความตระหนักถึงปัญหาต่างๆ แล้ว ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
ตัวอย่างธุรกิจ
-
Green Style
เป็นหนึ่งในองค์กรที่จะช่วยผลักดันให้องค์กรและธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงบุคคล มีการคำนึงถึงผลกระทบจากการผลิตที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดย “Green Style” มุ่งที่จะแก้ไขปรับเปลี่ยนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน รวมไปถึงพร้อมที่จะช่วยสร้างเสริมพฤติกรรมของผู้คนให้มีการบริโภคที่ดีและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ภายใต้การให้บริการการอบรมเพื่อเรียนรู้และเข้าใจตามพื้นฐานที่ถูกต้อง
-
Green Link
เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้บ้านเรือนแต่ละหลังสามารถกำจัดกับขยะประเภทรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย “Green Link” จะเป็นตัวกลางระหว่างบุคคลที่ต้องการทิ้งขยะหรือต้นทาง เพื่อส่งขยะรีไซเคิลไปให้แก่ผู้ที่ต้องการนั่นก็คือพี่ซาเล้ง เพื่อจะช่วยทำให้การทิ้งขยะของทุกคนสะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น และช่วยทำให้พี่ๆ ซาเล้งสามารถนำขยะรีไซเคิลไปแปลงเป็นรายได้เช่นกัน
ทำไมธุรกิจต้องหันมารักษ์โลก
กระแสการหันมารักษ์โลกกำลังเป็นที่นิยมของผู้คนในปัจจุบัน และหากธุรกิจใดที่มีภาพลักษณ์ของการรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะด้วยวิธีดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือเป็นผู้นำเทรนด์การอนุรักษ์โลกด้วยวิธีใหม่ๆ ที่เห็นผลจริง และสร้างผลดีแก่สังคมโดยรอบได้อย่างกว้างขวาง สิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้ธุรกิจน่าสนใจและเป็นที่จับตามองมากขึ้น และสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับธุรกิจได้ เนื่องด้วยเหตุผลดังนี้
1. เพื่อรองรับความต้องการของเทรนด์การอุปโภคบริโภคที่เปลี่ยนไป
พฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในปัจจุบันเป็นการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และมักเลือกสินค้าผลิตภัณฑ์รักษ์โลก ซึ่งผู้ผลิตมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องนำแนวความคิดหรือองค์ประกอบต่างๆ มาคิดวิเคราะห์เพื่อผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค
โดยแนวคิดหลักที่สำคัญที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงคือ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งก็คือการทำให้ผู้บริโภคใช้สินค้าได้อย่างยาวนาน และไม่ต้องซื้อสินค้าใหม่บ่อยๆ ทำได้โดยการที่ผลิตสินค้าที่คำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้งานของวัสดุอุปกรณ์การผลิตอย่างสูงสุด เพื่อทำให้ลดพลังงานและส่วนเกินที่อาจมาจากการผลิต ในขณะที่ด้านสินค้าที่ผลิตก็จะต้องได้คุณภาพมาตรฐาน และหากสินค้าได้รับความชำรุดเสียหาย ทางผู้ผลิตก็อาจจะต้องเป็นฝ่ายช่วยดูแลซ่อมแซมสินค้า หรืออาจออกโปรโมชันที่สามารถนำสินค้าเดิมมาแลกสินค้าใหม่เพื่อลดขยะที่อาจเกิดขึ้น
การที่องค์กรหรือผู้ผลิตหลายๆ ราย มีการทำงานอย่างประสานร่วมกันก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ดีเพื่อทำให้เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้มีการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันได้ โดยที่ไม่ต้องไปหาแหล่งทรัพยากรใหม่ และนี่เองคือแนวทางในการผลิตเพื่อทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคพบว่า
- คนช่วงอายุระหว่าง 55 – 73 ปี (ฺBaby Boomer) เป็นกลุ่มคนที่สนใจและบริโภคสินค้ารักษ์โลกมากที่สุด
- ตามมาด้วยคนช่วงอายุ 39 – 54 ปี (Gen x)
- ถัดมาคือคนที่อยู่ในช่วงอายุ 23 – 38 ปี (Gen Y)
- และสุดท้ายคือ กลุ่มผู้ที่อายุต่ำกว่า 23 ปี (Gen Z)
ซึ่งทำให้เห็นว่า “อายุมีผลต่อความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการ” เนื่องจากกลุ่มที่มีอายุสูงก็มีความสามารถในการสร้างรายได้ที่มากขึ้น อีกทั้งเนื่องด้วยวัยวุฒิสูงมากขึ้นอาจทำให้มีความตระหนักและมีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของตนเองมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้จากการสำรวจโดย “คันทาร์” บริษัทผู้ทำการวิจัยตลาด ร่วมกับ GfK และ Europanel ได้นำเสนอผลสำรวจจากการศึกษาผู้บริโภคทั้ง 19 ประเทศ ซึ่งคิดเป็นจำนวนกว่า 80,000 คน ไว้ว่า ภูมิภาคที่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากที่สุดคือทวีปยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี ที่มี Eco – actives มากที่สุด โดยคิดเป็นร้อยละ 25 ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น อย่างไรก็ตามจากการสำรวจโดยรวมของทุกภูมิภาคพบว่าผู้คนจำนวนมากเริ่มมีความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยกลุ่ม Eco – considerers คิดเป็นร้อยละ 39 ซึ่งนี่ถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะทำให้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่ดีมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ผู้บริโภคทุกๆ ท่าน ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ เป็นผู้สนับสนุน “ธุรกิจรักโลก” ได้เช่นกัน ผ่านการหันมาบริโภคหรืออุดหนุนสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์รักษ์โลก หรือไม่ว่าจะเป็นการใช้สินค้าและบริการตามประสิทธิภาพสูงสุดของสินค้า ใช้สินค้าอย่างระมัดระวัง เพื่อทำให้อายุการใช้งานของสินค้าและผลิตภัณฑ์ยาวนานยิ่งขึ้น มีการคำนึงถึงความจำเป็นก่อนที่จะซื้อสินค้า การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสร้างความตระหนักถึงการหันมารักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมของทุกๆ คน นั้นนับได้ว่าเป็นก้าวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ที่จะช่วยให้โลกและสิ่งแวดล้อมกลับหวนคืนความสมบูรณ์และยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้น
2. เพื่อการเพิ่มพูนสิทธิประโยชน์ของธุรกิจ
จากแนวโน้มของพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนที่มีความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น การที่บริษัทผู้ผลิตหันมาใส่ใจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะช่วยทำให้เป็นที่สนใจและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เองก็จะทำให้เกิดผลดีในด้านอื่นๆ ต่อบริษัทตามมาเช่นกัน ดังนี้
- โอกาสในการแข่งขันที่ดีและยั่งยืนกว่าคู่แข่ง เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจรักโลกยังคงมีอยู่ไม่มากนัก ในขณะกลุ่มลูกค้าที่เริ่มหันมาสนใจและมีความต้องการในผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
- เปิดพื้นที่ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังควรทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงความโปร่งใสในการดำเนินงานด้วยเช่นกัน
- ลดต้นทุนและส่วนเกินจากการผลิต ทำให้พลังงานที่ใช้ในการผลิตลดน้อยลงซึ่งจะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรน้อยตามลงไปเช่นกัน
- เสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ เนื่องด้วยแนวทางขององค์กรรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในการดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจแบรนด์เราเพิ่มมากขึ้น
- ลดหย่อนภาษี จากการช่วยเหลือสังคมผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
3. เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนกว่าในทุกด้าน
กระแสการรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมในตอนนี้นับได้ว่าเป็นที่นิยมอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากความแปรปรวนที่เกิดขึ้นต่อโลกและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน สภาพภูมิอากาศและมลภาวะที่แย่ลง ขยะและของเสียที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น หรือแนวโน้มของพลังงานต่างๆ ที่อาจหมดไป จึงทำให้ผู้คนเริ่มมีแนวคิดที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้การที่บริษัทผู้ผลิตหรือองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีการให้ความสำคัญต่อทรัพยากรทางธรรมชาติย่อมส่งผลดีต่อการประกอบกิจการในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการดึงดูดผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี หรือสร้างโอกาสที่ดีในการทำธุรกิจ และนอกจากนี้กระบวนการผลิตที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมเองก็จะก่อให้เกิดผลดีต่อทรัพยากรทางธรรมชาติของโลกเราจากการพยายามใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะทำให้ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมยังคงมีเหลืออยู่ในอนาคต โดยจะทำให้สิ่งแวดล้อมได้รับการฟื้นฟูกลับมาสู่ความสมบูรณ์อย่างทันท่วงที และแน่นอนว่าจะต้องส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในอนาคต
สรุป
เมื่อได้รู้จักกับวิธีรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับธุรกิจเพื่อความสร้างสรรค์และความยั่งยืนไปแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่สิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งทำได้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิ่งที่องค์กรต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้ธุรกิจได้คืนกำไรให้กับสังคม สิ่งแวดล้อม และโลก นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจของคุณดูดีในสายตาของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน โดยแต่ละธุรกิจก็สามารถนำไอเดียเหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ การเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ การผลิตสินค้าและนวัตกรรมรักษ์โลกที่ยั่งยืน รวมไปถึงการจัดอาสาสมัคร ลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
นอกจากนี้แล้วหากคุณมีความสนใจและกำลังมองหาช่องทางที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจรักโลก cheewid เป็นอีกหนึ่งช่องทางดีๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ ที่จะช่วยทำให้คุณสามารถสนับสนุนธุรกิจรักโลกเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะเราเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและรับรองได้เลยว่าเราจะช่วยนำเงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนของทุกคนไปสู่องค์กรต่างๆ โดยตรงด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้
Reference:
- ActionCoach. Benefits of Going Green for Your Business. Actioncoachtampabay.com. Published on 11 January 2016. Retrieved 21 August 2023.
- Positioning. เจาะลึกพฤติกรรม “ผู้บริโภครักษ์โลก” เพิ่มขึ้นเป็น 20% ยังมีช่องว่างให้แบรนด์ทำตลาด.positioningmag.com. Published on 17 September 2020. Retrieved 20 August 2023.
- Solve. 9 Easys Tips to Make Your Business More Eco-Friendly. Solve.co.uk. Published on 7 November 2022. Retrieved 21 August 2023.
- กองนโยบายอุตสาหกรรมมหภาค. ธุรกิจรักษ์โลก เทรนด์ใหม่ภายใต้แนวคิดเศรษญกิจหมุนเวียน. Oie.go.th. Retrieved 21 August 2023.
- ไทยโพสต์.สำรวจคนรุ่นใหม่ พร้อมจ่ายซื้อสินค้ารักษ์โลก แต่ราคาต้องเข้าถึงได้. Thaipost.net. Published on 10 January 2023. Retrieved 20 August 2023.
- ธนาคารกรุงเทพ. แม้ราคาสูงขึ้นก็ยอม! เจาะลึกพฤติกรรม ‘ผู้บริโภค’ พร้อมจ่ายเพื่อสินค้ารักษ์โลก SME ปรับตัวอย่างไรไม่ตกเทรนด์. bangkokbanksme.com. Published on 27 March 2022. Retrieved 20 August 2023.