Key Takeaway
|
ในปัจจุบันเมืองถูกแทนที่ด้วยตึกสูงและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ไม่สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความรู้สึกผ่อนคลายให้กับผู้คนในเมืองได้ ดังนั้นการมีพื้นที่สีเขียวจะช่วยทำให้ผู้คนรับรู้ถึงบรรยากาศที่ดี ผ่อนคลาย และช่วยส่งเสริมสุขภาพและสร้างจิตใจให้แจ่มใส ซึ่งการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ รวมถึงการสนับสนุนให้เมืองพัฒนาไปพร้อมๆ กับการรักษาและสร้างพื้นที่สีเขียวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและไม่ควรมองข้าม
พื้นที่สีเขียวคืออะไร และทำไมถึงสำคัญสำหรับเมือง?
พื้นที่สีเขียว หมายถึง พื้นที่ทางธรรมชาติ หรือเป็นพื้นที่ของการเพาะปลูก ตลอดจนพื้นที่กึ่งธรรมชาติที่ถูกสร้างมาเพื่อเพิ่มทรัพยากรทางธรรมชาติ ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่ไร่และสวน รวมไปถึงสวนสาธารณะ ซึ่งพื้นที่สีเขียวเหล่านี้สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งศึกษาธรรมชาติได้ ในขณะที่พื้นที่สีเขียวในเมือง หรือที่ดินตามสีผังเมือง อย่างสวนสาธารณะก็สามารถเป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อน หรือใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เช่นกัน
ประเภทและรูปแบบของพื้นที่สีเขียวที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต
พื้นที่สีเขียวไม่ใช่แค่เพียงผืนป่าหรือแหล่งรวมพืชพรรณเพียงเท่านั้น แต่พื้นที่สีเขียวสามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. พื้นที่สีเขียวสาธารณะ
พื้นที่สีเขียวสาธารณะ เป็นพื้นที่ที่ถูกจัดหรือสร้างขึ้นมาเพื่อการเพิ่มผืนป่าให้แก่คนในชุมชนสามารถมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เช่น สวนสาธารณะในเมือง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเพิ่มต้นไม้ให้กับเมือง ผู้คนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย ใช้พักผ่อนหย่อนใจ เป็นที่ท่องเที่ยว หรือรวมตัวกันของผู้คน
2. พื้นที่สีเขียวอรรถประโยชน์
พื้นที่สีเขียวอรรถประโยชน์ คือ พื้นที่ที่สามารถนำไปใช้เพื่อประโยชน์ตามความประสงค์ได้ เช่น พื้นที่สีเขียวส่วนบุคคล ตัวอย่างเช่น สวนในโครงการพัฒนาขององค์กรเอกชน สวนในที่พักอาศัย พื้นที่สีเขียวในสถาบัน ตามแหล่งศึกษาของราชการ แหล่งประวัติศาสตร์ และพื้นที่สีเขียวสาธารณูปการ อาทิ เขตท่าอากาศยาน พื้นที่ฝังกลบขยะ เป็นต้น
3. พื้นที่สีเขียวที่เป็นริ้วยาวตามแนวสาธารณูปการ
พื้นที่สีเขียวตามแนวสาธารณูปการ ได้แก่ พื้นที่ตามแห่งสัญจร เช่น เกาะกลางถนน พื้นที่สัญจรริมทาง เขตทางรถไฟ เขตตามทางพื้นที่สัญจรทางน้ำและทางบก คลองชลประทาน เป็นต้น
4. พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจของชุมชน
พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจของชุมชน เป็นพื้นที่สำหรับการเพาะปลูก พื้นที่ที่ดินทำกินสำหรับชาวบ้านและเกษตรกร เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ เช่น สวนผักผลไม้ นาข้าว บ่อปลา หรือพื้นที่เพาะปลูกทาง
การเกษตรอื่นๆ
5. พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ
พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ คือ พื้นที่ทางธรรมชาติดั้งเดิมที่มีขึ้นเอง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ ส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทุกคนจึงควรที่จะช่วยกันรักษาไว้ให้คงสภาพดีดังเดิม เช่น แม่น้ำ ลำธาร คู คลอง ภูเขา ป่าไม้ เป็นต้น
6. พื้นที่สีเขียวที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์
พื้นที่สีเขียวที่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ เป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเอง หากแต่ถูกปล่อยรกร้าง ไร้การพัฒนาพื้นที่ ไม่มีการดูแล ไม่มีบุคคลไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น พื้นที่ป่ารกร้าง
แนวทางการจัดการและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน
พื้นที่สีเขียวเป็นแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญอย่างมากต่อชุมชนและสังคม ดังนั้นต้องช่วยกันดูแลและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวให้สมบูรณ์ ซึ่งแนวทางในการดูแลมีดังนี้
พัฒนาให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ
ในปัจจุบันการขยายตัวของเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เกิดการใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมาก ที่กระทบต่อการลดลงของพื้นที่สีเขียว อีกทั้งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในเมืองยังก่อให้เกิดการปล่อยมลพิษและการเผาผลาญทรัพยากรจำนวนไม่น้อย จากรายงานขององค์การสหประชาชาติติได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่เมืองที่มีขนาดเพียงร้อยละ 2 ของพื้นที่โลก กลับมีการใช้ทรัพยากรมากถึงร้อยละ 75 ของความต้องการในแต่ละวัน และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 80 ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก ดังนั้นการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ จะต้องมีการตั้งเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีการกำหนดนโยบายคาร์บอนเครดิต มาตรการภาษีคาร์บอน มีโครงการพื้นฐานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการกระตุ้นให้คนในสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการใช้พลังงานที่มากเกินความจำเป็น สนับสนุนการทำวิจัย การลงทุน และการพัฒนาเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
เพิ่มเมืองสีเขียว
การเพิ่มพื้นที่เมืองสีเขียว จะเป็นการช่วยให้เมืองสามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ ส่งเสริมการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานสะอาดเพื่อทดแทน และควบคุม ส่งเสริมลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งส่งผลดีต่อการใช้ชีวิตของประชากรในพื้นที่ ในการเพิ่มเมืองสีเขียว จะต้องมีการพิจารณา 4 เรื่อง ดังนี้
- สิ่งแวดล้อมของชุมชน (Urban Environment) เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ดูแลและควบคุมการขยายตัวของเมือง ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน
- ระบบการสัญจร สร้างระบบการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วางระบบให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ที่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก มีโครงการเพื่อการสนับสนุนการเดินทางด้วยการใช้จักรยาน การเดินเท้า ซึ่งเป็นการเดินทางที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
- สาธารณูปโภคของชุมชน มีการจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคเพื่อการขยายเมืองและการจัดการทรัพยากรภายในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ไม่สิ้นเปลือง และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด
- อาคารสีเขียว เป็นการสร้างเมืองสีเขียวให้น่าอยู่ โดยการสร้างสิ่งก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะต้องทำให้การก่อสร้างกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด และเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น กิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในอาคารจะมีการรณรงค์เพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ และการควบคุมของเสียภายในอาคาร การใช้ไฟฟ้าและน้ำอย่างประหยัด รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดทดแทน
สร้างเมือง Eco Town
การเพิ่มเมืองสีเขียวด้วยแนวทางสร้างเมือง Eco Town เป็นการพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวคิดเมืองนิเวศ เพื่อให้ประชากรที่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนไปกับระบบนิเวศที่สมบูรณ์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งการสร้างเมืองนิเวศ ประกอบด้วย 7 แนวทาง ดังนี้
- การปฏิบัติตามหลัก 3 R ได้แก่ Reduce, Reuse และ Recycle ที่เป็นการลดการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง ใช้ทรัพยากรซ้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนวนนำทรัพยากรมาใช้ใหม่
- เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อคุณภาพชีวิตของประชากร ควบคุมการขยายของเมืองไม่ให้รุกล้ำพื้นที่ทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รักษาสมดุลระหว่างเมืองและธรรมชาติ
- ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด
- สร้างระบบขนส่งขนาดใหญ่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสะดวกต่อผู้ใช้บริการ
- ส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ หรือการเดินทางด้วยจักรยาน เพิ่มทางเท้าให้กับประชาชน
- สร้างสิ่งก่อสร้างที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการจัดการระบบปล่อยของเสีย การใช้ทรัพยากรภายในอาคารอย่างคุ้มค่า
- สร้างสาธารณูปโภคและการให้บริการสาธารณะที่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรในพื้นที่ ซึ่งต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
พัฒนาเครือข่ายสีเขียว
การพัฒนาเครือข่ายสีเขียว (Green networks) คือ การเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียวภายในเมืองโดยการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างพื้นที่สีเขียวต่างๆ ภายในเมือง ซึ่งเป็นการเชื่อมกันทางกายภาพของพื้นที่ อีกทั้งยังต้องมีการเชื่อมต่อระหว่างกันของเครือข่ายผู้ปฏิบัติด้านพื้นที่สีเขียวในเมือง ให้เกิดการร่วมมือ การสนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมไปถึงความร่วมมือเป็นเครือข่ายระหว่างองค์กรต่างๆ ในการจัดการดูแลรักษาและสร้างพื้นที่สีเขียว
นโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี
ในการสร้างเมืองให้เป็นพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนและสมบูรณ์ ทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องมีส่วนร่วมเพื่อช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่อาศัย และต้องสร้างความรู้ความใจเกี่ยวกับความสำคัญของพื้นที่สีเขียวให้กับทุกคนในชุมชน โดยนโยบายที่จะเข้ามาช่วยสร้างความตระหนักรู้ มีดังนี้
ให้ความรู้ด้านพื้นที่สีเขียว
ในการจะสร้างสังคมพื้นที่สีเขียว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะต้องร่วมมือกันในการสร้างความตระหนักรู้ องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรจะมีการประชาสัมพันธ์หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชนได้เรียนรู้ มีการปลูกฝังเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบต่อไปในอนาคต
ส่งเสริมการทำพื้นที่สีเขียวต้นแบบ
ในปัจจุบันเขตพื้นที่สีเขียวยังคงมีไม่มากพอในเขตเมือง หรือชุมชน ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวในเมืองที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ให้มากยิ่งขึ้น หรือส่งเสริมให้มีการสร้างสวนสาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น และกระจายโดยทั่วเมือง และจะต้องเป็นการทำพื้นที่สีเขียวที่ช่วยดึงดูดให้ทุกๆ คนในสังคมสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้จริง ช่วยอำนวยความสะดวกและมีความปลอดภัย
ออกแบบพื้นที่สีเขียวให้เข้าถึงประชากรได้ทุกกลุ่ม
ส่วนที่สำคัญในการจะสร้างเมืองสีเขียวให้สำเร็จ คือ การสร้างพื้นที่สีเขียวให้ง่ายต่อการเข้าถึง ประชาชนทุกคนต้องสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวของเมืองได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้นเมืองจะต้องพัฒนาพื้นที่สีเขียวบนพื้นฐานของตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น Central Park ในนิวยอร์ก หรือ สวนลุมพินี ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง พื้นที่ที่ทุกคนสามารถเดินทางเพื่อไปใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย
จัดอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสม
จัดการและดำเนินการในการเพิ่มและอำนวยสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เข้ามาใช้งาน เช่น การสร้างถนนสำหรับการปั่นจักรยาน เพิ่มอุปกรณ์ออกกำลังกายที่เหมาะสม บำรุงดูแลสนามกีฬา สร้างสนามเด็กเล่นเพื่อเด็กๆ หรือแม้แต่กระทั่งการเพิ่มพื้นที่จอดรถ และห้องน้ำ เพื่อรองรับผู้เข้ามาใช้บริการ
ออกแบบพื้นที่ให้สามารถดูแลได้ง่าย
เพื่อให้การจัดการพื้นที่สีเขียวเป็นผลสมบูรณ์ นอกจากการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้เกิดประโยชน์แล้ว จะต้องมีการดูแล บำรุงรักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ให้ยังคงสวยงาม มีความปลอดภัยและน่าเข้ามาใช้บริการ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ามาใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นในระหว่างการสร้างพื้นที่สีเขียวจะต้องคำนึงถึงการเลือกพื้นที่ธรรมชาติที่สามารถเข้าไปดูแลได้ง่ายในทุกฤดู มีการออกแบบตามมาตรฐานของความปลอดภัย
สรุป
พื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเมือง เพราะช่วยสร้างบรรยากาศ และเพิ่มความน่าอยู่อาศัยให้กับผู้คนในเมือง สร้างแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ โดยพื้นที่สีเขียวมีทั้งแหล่งพื้นที่ตามธรรมชาติ แหล่งที่องค์กรรัฐและเอกชนช่วยกันสร้างเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ ซึ่งพื้นที่สีเขียวเป็นพื้นที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเมือง
Cheewid เป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนให้เมืองเกิดการพัฒนาความก้าวหน้าไปพร้อมกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการทำงานขององค์กรและมูลนิธิต่างๆ ในการทำกิจกรรมเพื่อการรณรงค์เพื่อการสร้างเมืองสีเขียว อีกทั้งยังสนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติผ่าน Cheewid เพื่อสร้างเมืองและสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการอยู่อาศัยของทุกคนในสังคม
Reference
- อรณา จันทรศิริ. พื้นที่สีเขียว หัวใจสำคัญของเมืองยั่งยืน. sdgmove.com. Published in January 2023. Retrieved 2 March 2025.
- สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. แนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวสำหรับชุมชนเมืองในประเทศไทย. onep.go.th. Published on 1 August 2017. Retrieved 2 March 2025.
- ชาญวิทย์. พื้นที่สีเขียว. onep.go.th. Published on 1 June 2021. Retrieved 2 March 2025.